8 ก.พ. 2021 เวลา 11:01 • อาหาร
3 หัวใจหลัก! ของเหล่าเชฟมืออาชีพ🧑🏼‍🍳
สวัสดีค่าา ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ธุรกิจอาหารนั้นได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ทำให้เรามีเทรนด์และพฤติกรรมการบริโภคที่หลากหลายมากขึ้น และแน่นอนค่ะ เทรนด์ที่
เด็กครัวกำลังจะพูดถึงนั้นคงไม่พ้น Fine dinning หรือการรับประทานอาหารในร้านสุดหรู ที่มีเชฟมืออาชีพเป็นผู้รังสรรค์เมนูสุดพิเศษให้กับทุกคน แต่ทุกคนรู้ไหมคะว่ากว่าจะมาเป็นเชฟได้เนี่ย ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ซึ่งในวันนี้เด็กครัวจะพาทุกคนไปดูกันค่ะว่า อะไรคือสกิลพื้นฐานที่เชฟทุกคนต้องมี เรียกได้ว่าเป็นเบสิคสำคัญที่ต้องรู้ก่อนจะเริ่มปรุงอาหารจริงๆค่ะ
1. ทักษะการใช้มีด (Basic Knife Skills)🔪
 
ถ้าจอมยุทธ์มีกระบี่คู่ใจแล้วล่ะก็ เชฟเองก็มีมีดเป็นอาวุธประจำตัวเหมือนกันค่ะ หลายๆคนอาจคิดว่ามีดคมๆเนี่ยน่าหวาดเสียวจะตายเวลาหยิบจับ แต่จริงๆแล้วมีดยิ่งคมเท่าไหร่ยิ่งปลอดภัยในการใช้งานมากเท่านั้น! เพราะความคมนั้นทำให้การทำงานลื่นไหล แข่งกับความเร่งรีบในครัวได้เป็นอย่างดี หากมีดไม่คม การทำงานก็้ช้าลงและมีโอกาสที่จะแฉลบทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ (งานช้ากว่าเดิมอีก) นี่คือสาเหตุที่มีดของเชฟนั้นคมเอามากๆ ชนิดที่ว่าตัดผ่านกระดาษได้แบบไม่ต้องออกเเรงใดๆเลยค่ะ
แน่นอนค่ะ เมื่อต้องทำงานอยุ่กับของมีคม นักเรียนเชฟหรือเด็กครัวนั้นต้องเรียนรู้ความปลอดภัยในการใช้งาน ตั้งแต่การจับมีดที่ถูกต้อง การวางมีดบนสเตชั่น การล้างและการเก็บรักษา ซึ่งทั้งหมดนั้นคือมาตฐานในการทำงาน จะวางหรือใช้มั่วๆไม่ได้ (อาจารย์ดุแน่นอน)
รวมถึงรูปทรงหรือ Pattern การหั่นสับซอยที่เป็นมาตฐานสากล มีขนาดชัดเจน ตอนสอบคืออาจารย์เชฟจะหยิบไม้บรรทัดออกมาวัดกันเลยทีเดียว
มันฝรั่งไซส์ Pont-Nuef ในวันสอบ
2. ความเข้าใจในอุปกรณ์🍳
 
ว่าด้วยเรื่องข้อมูลและรายละเอียดของอุปกรณ์ต่างๆ (Equipments) แล้วเนี่ย คงอธิบายกันไม่หวาดไม่ไหวกันเลยทีเดียว เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่เชฟต้องรู้คุณสมบัติและเข้าใจในอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ใช้ ตั้งแต่เขียงธรรมดาๆ (ที่ไม่ธรรมดา) หลากหลายสีสันที่ต้องเลือกใช้ให้ถูกเพื่อสุขอนามัยที่ดี หรือประเภทของมีดต่างๆ ที่มีเป็นสิบๆแบบ ไปจนถึงเครื่องสูญญากาศ (Vacuum Machine) ที่ใช้ก่อนนำไป Sous vide*
มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่น่าสนใจค่ะ หลายคนอาจเคยรู้มาบ้างว่าเครื่องครัวที่เชฟใช้นั้น มีความหนาและหนักกว่าที่เราใช้กันตามปกติ โดยเฉพาะหม้อสต๊อกทั้งหลาย (Stock pot) เหตุผลที่มันต้องก้นหนาและหนักนั้น เป็นเพราะว่าประสิทธิภาพในการนำความร้อน และความคงที่ของอุณหภูมิมีความเสถียรมากกว่าหม้อกระทะบางๆ ซึ่งนี่เป็นปัจจัยที่สำคัญมากในหลายๆขั้นตอน เช่น การเคี่ยวน้ำสต๊อก การขึ้นซอส หรือการผัด (Sauté) เป็นต้น
หลังจบบทความนี้ เด็กครัวคงต้องไปยกเวทสร้างกล้ามแขนเพิ่ม! จะได้ยกหม้อกระทะไหว
*Sous-vide(ซู-วี) คือ การปรุงอาหารชนิดหนึ่ง วัตถุดิบจะถูกใส่ถุงสุญญากาศ และผ่านความ ร้อนในอ่างน้ำทีมีอุณหภูมิคงที่(ประมาณ 60 องศา)จนกว่าจะสุก
เครื่องสูญญากาศ Vacuum machine (https://images.app.goo.gl/78qKubAuSA4enP1T7)
3. น้ำสต๊อก (Stock)🥘
 
น้ำสต๊อกนั้นถือเป็นหัวใจหลักของเมนูต่างๆเลยก็ว่าได้ จะอร่อยไม่อร่อยก็อยู่ที่ตรงนี้แหละค่ะ น้ำสต๊อกเกิดจากการนำกระดูกสัตว์และผักต่างๆ (Mirepoix) มาเคี่ยวให้ความเข้มข้นและรสอูมามิจากวัตถุดิบออกมาให้ได้มากที่สุด ระหว่างนี้จะมีการใส่สมุนไพรต่างๆลงไปด้วย เช่น ใบกระวาน (Bay leaves) ซึ่งกระบวนการนี้จะกินเวลานานตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงไปจนถึงเป็นวันก็มี ซึ่งก็แล้วแต่ประเภทของน้ำสต๊อกและวัตถุดิบที่ใช้ด้วย น้ำสต๊อกจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ White stock และ Brown stock ความแตกต่างก็คือ Brown stock จะเอากระดูกและผักที่ใช้ไปย่างหรือทำให้เกรียมก่อนลงไปต้ม ทำให้สีของน้ำมีความเข้มกว่าตัว White stock ค่ะ
หลังจากนั้นน้ำสต๊อกจะถูกนำไปแปลงร่างเป็นเมนูหรือส่วนประกอบต่างๆบนจาน ไม่ว่าจะเป็น เบสสำหรับทำซุป(Soup) และซอสชนิดต่างๆ(Sauce)นั่นเองค่ะ
Brown stock (ที่เห็นดำๆนี่ไม่เรียกไหม้นะคะ5555)
จบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะคะสำหรับ 3 หัวใจหลักของเชฟมืออาชีพ! เด็กครัวหวังว่าบทความชิ้นแรกนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจนะคะ😊
ยังมีอีกหลายเรื่องในรอบรั้วโรงเรียนเชฟที่น่าสนใจเอามากๆเลยค่ะ ในโพสต์นี้เองก็มีอีกหลายจุดที่มีเรื่องให้เล่าอีกเพียบ5555 อย่างเช่น ประเภทของมีดและสีของเขียงที่ใช้ ยังไงก็ฝากติดตามเพจของเด็กครัวคนนี้ และบทความต่อๆไปด้วยนะคะ ขอบคุณค่าา✨
โฆษณา