12 ก.พ. 2021 เวลา 15:29 • อาหาร
ขนมเข่ง-ทำได้มากกว่าที่คุณคิด
เมื่อเอ่ยถึง “ขนมเข่ง” เชื่อว่าทุกคนไม่มีใครไม่รู้จัก ขนมแป้งสีขาวใส่กระทง หน้าตาแสนจะธรรมดา ในเมืองไทยก็กินกันแบบเปล่า ๆ หรืออย่างดีก็เอาไปชุบไข่ทอด แต่แท้จริงแล้วขนมเข่งนำไปทำอาหารได้หลากหลายทั้งคาวและหวาน
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.gqthailand.com/
ราชบัณฑิตยสภาได้อธิบายความของ “ขนมเข่ง” ไว้อย่างดีมากว่า
“ขนมเข่ง เป็นชื่อขนมในเทศกาลตรุษจีน ภาษาจีนกลางเรียกขนมเข่งตามลักษณะว่า เหนียนเกา (อ่านว่า เหฺนียน-เกา) แปลว่า ขนมกวนเหนียว ๆ หรือขนมเค้กเหนียว ๆ เหตุที่ใช้เป็นขนมในเทศกาลตรุษจีนเพราะชื่อของขนมเข่งในภาษาจีนกลางพ้องเสียงกับคำ ๒ คำในคำอวยพรว่า “เหนียนเหนียนเกาเซิง” แปลว่า ขอให้เจริญยิ่งขึ้นทุกปี ๆ ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกขนมชนิดนี้ตามรสชาติว่า ตีก้วย แปลว่า ขนมที่มีรสหวาน
ขนมเข่งมีส่วนผสมหลักคือ แป้งข้าวเหนียวกับน้ำตาลเทใส่กระทงใบตองแห้งที่วางบนเข่งเล็ก ๆ สานโปร่ง ๆ จึงเรียกว่า ขนมเข่ง. ขนมเข่งทำด้วยแป้งข้าวเหนียวขาวหรือแป้งข้าวเหนียวดำ เดิมมี ๒ สี คือ ขนมเข่งสีขาวกับขนมเข่งสีดำ แทนสัญลักษณ์หยินกับหยาง. ขนมเข่งสีขาวทำจากแป้งข้าวเหนียวขาวกับน้ำตาลทรายขาว ส่วนขนมเข่งสีดำทำจากแป้งข้าวเหนียวดำผสมแป้งข้าวเหนียวขาวกับน้ำตาลทราย. นอกจากนี้ยังมีขนมเข่งสีออกน้ำตาลที่ใช้แป้งข้าวเหนียวขาวกับน้ำตาลทรายแดง”
มีตำนานมากมายหลายเรื่องที่บอกที่มาของขนมเข่ง เรื่องแรกเป็นตำนานจากเว็บไซต์ “ศูนย์วัฒนธรรมจีน ณ กรุงเทพฯ” เป็นเรื่องของอสูรร้ายมีชื่อว่า “เหนียน” โดยทางเว็บไซต์บอกว่า
“年 เหนียน” คือ ปี ของภาษาไทยในปัจจุบัน แท้จริงคำนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ “เหนียน” หรือ “年兽 เหนียน โซ่ว” เป็นสัตว์ประหลาดตัวใหญ่แสนดุร้ายในตำนานความเชื่อของคนจีน…..ตำนานถูกเล่ามาในหลากหลายรูปแบบ โดยในตำนานหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า
ในปีหนึ่ง ขณะที่ชาวบ้านกำลังแตกตื่น อลหม่านเก็บข้าวของหลบหนี เจ้าเหนียนไปในป่า แต่กลับมีชายชราเดินสวนกับผู้คน แววตาเป็นประกาย ประกาศหากให้ที่พักข้าหนึ่งคืน รับรองว่าที่แห่งนี้จะปลอดภัย หญิงชราผู้หนึ่งได้ฟังก็นึกสงสัย แต่ก็จัดหาข้าวหาน้ำให้ แล้วก็รีบหนีไป
1
ในคืนนั้น เมื่อ เจ้าเหนียน อสูรกายร่างยักษ์มาถึงหน้าบ้านของหญิงชรา สอดส่ายสายตาหาสิ่งมีชีวิต แต่แล้วกลับเจอสิ่งไม่คาดคิด ลักษณะเหมือนยันต์ เป็นกระดาษแดงกลอนคำขวัญคู่ติดไว้ที่หน้าบ้าน ในบ้านจุดเทียนสว่างไสว แต่เสียงเงียบสงัด อสูรร้ายคำรามเตรียมพุ่งเข้าใส่ ทันใดนั้น จู่ ๆ ก็เกิดเสียงระเบิดดัง ปัง! ปัง! ปัง! สุดท้ายประตูบ้านถูกเปิดออก เจ้าเหนียนจึงพบกับผู้เฒ่าส่วมชุดแดงที่กำลังเดินออกมาจากในบ้าน มันตกใจมาก เกิดอาการผวา จึงรีบวิ่งเผ่นหนีไป
1
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://tatcomic.com/
วันรุ่งขึ้น ขณะที่ชาวบ้านเดินทางกลับ หญิงชราได้กลับมาที่บ้านพบว่า ข้าวของในบ้านทุกอย่างถูกวางไว้อย่างเดิม มองไปรอบ ๆ เจอซากเผาไหม้ที่คาดว่าจะเป็นกระบอกไม้ไผ่ และชุดกี่เพ้าสีแดง หลังจากนั้น คนในหมู่บ้านได้หารือกัน ก็ค้นพบวิธีการรับมือกับเจ้าอสูรกายร้ายได้ในเวลาต่อมา
1
สรุปที่ได้คือ เจ้าเหนียนกลัว 3 สิ่ง นั่นคือ “สีแดง แสงไฟ เสียงดัง” ปัจจุบันเมื่อใกล้ถึงวันตรุษจีน ชาวจีนมักจะส่วมใส่เสื้อผ้าสีแดง โดยหน้าบ้านจะประดับด้วยกระดาษแดงกลอนคำขวัญคู่ และยังจุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย สิ่งอัปมงคลตามความเชื่อของชาวจีน”
3
เรื่องที่ 2 มาจากคอลัมน์ “บรรณาลัย” เขียนโดยคุณ “โชติช่วง นาดอน”ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับประจำวันที่ 20 มกราคม 2562 ว่า
“ในยุคชุนชิว ราชาแคว้นอู๋ – อู๋อ๋อง มอบหมายให้ “อู๋จื่อซี” ก่อสร้างกำแพงเมือง อู๋จื่อซีใช้เวลาถึงสามปีจึงสร้างเสร็จ อู๋อ๋องขึ้นไปบนกำแพง ชื่นชมดีใจมาก เราจะจัดงานเลี้ยงฉลองให้เจ้า ในงานเลี้ยง อู๋อ๋องสำราญใจเมามายมาก อู๋จื่อซีเห็นพระราชอู๋อ๋องสุรุ่ยสุร่ายมาก จึงคาดว่าพระราชาชอบดื่มสุราเสพสำราญ ต่อไปภายหน้าย่อมเกิดพิบัติภัย เขาจึงสั่งเสียบ่าวที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งว่า
“หากเราตายไปก่อน ชาวแคว้นอู๋จะทุกข์ยากแสนสาหัส จะอดอยากไม่มีอะไรกิน ถึงตอนนั้นเจ้าจงนำพาราษฎรขุดลงไปใต้กำแพงเมือง เจ้าจงขุดลงไปสามเชี้ยะจะพบอาหาร”
ต่อมา อู๋จื่อซีก็ถูกใส่ร้ายโจมตีจนต้องฆ่าตัวตาย…..ราชาอู๋อ๋องเพิ่งตายไป แคว้นเยวี่ยศัตรูคู่ปรับเก่าก็บุกโจมตีแคว้นอู๋ ราชธานีแคว้นอู๋ถูกปิดล้อม ราษฎรภายในราชธานีต้องอดอาหารทุกข์ยากแสนสาหัส
บ่าวของอู๋จื่อซีผู้นั้นก็ติดอยู่ในราชธานี เขานึกถึงคำสั่งเสียของอู๋จ่อซีขึ้นได้ จึงนำพาราษฎรไปขุดฐานกำแพง เมื่อขุดลงไปสามเชี้ยะ พบว่าอิฐตรงนั้นทำจากข้าวเหนียว นับว่าอู๋จื่อซีได้ช่วยชีวิตราษฎรไว้ ชาวบ้านนำเอาอิฐทำจากข้าวเหนียวมากินกันจึงรอดพ้นจากภัยอดอยากได้
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.foodnetwork.com
ภายหลังต่อมา ทุกวันปีใหม่ชาวบ้านจึงทำขนมเข่งรูปแบบก้อนอิฐเพื่อรำลึกถึงอู๋จื่อซี”
ส่วนเรื่องที่ 3 มาจากเว็บ “Museum Thailand” บอกว่า
“สมัยก่อนมีเทพเจ้าจีนซึ่งคอยปกปักรักษามนุษย์ มีหน้าที่ต้องขึ้นไปรายงานความดีและความชั่วที่ของมนุษย์ให้กับองค์เง็กเซียนฮ่องเต้บนสวรรค์ พอในช่วงก่อนที่จะถึงวันตรุษจีน ก็มีมนุษย์ที่ไม่ค่อยได้ทำความดีก็หัวหมอ ได้คิดทำขนมเข่งขึ้นมาให้กับเทพเจ้าได้กิน เพื่อหวังให้ขนมเข่งช่วยปิดปากเทพเจ้าให้ไม่สามารถรายงานความชั่วได้ เพราะขนมเข่งมีลักษณะเหนียวหนืด เมื่อเคี้ยวในปากแล้วจะพูดไม่ถนัด เพราะขนมนี้ทำจากแป้งกวนกับน้ำตาลทรายแล้วนำไปนึ่งจนสุก มนุษย์นี้เข้าใจคิดจริง ๆ”
นี่แหละครับตำนานของขนมเข่ง ท่านผู้อ่านเชื่อเรื่องไหนครับ?
อย่างที่บอกมาตอนต้น วิธีการกินขนมเข่งนั้นในบ้านเรานั้นทำกันแบบง่าย ๆ คือตัดมากินเลยแบบเหนียวหนุบหนับ ถ้าจะให้หรูหราขึ้นมาหน่อยก็เอาไปชุบไข่ทอด ก็จะได้ความอร่อยไปอีกแบบเพราะได้ความหอมของไข่
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.sgfoodonfoot.com และ www.straitstimes.com
แต่ในบ้านเมืองอื่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นในประเทศจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือไต้หวัน เขามีวิธีการที่รับประทานขนมเข่งที่หลากหลายกว่าของเราอยู่มาก นับตั้งแต่เขาจะทำขนมเข่งเป็นรูปปลาคาร์ฟสวย ๆ ไว้เป็นของขวัญไปมอบให้กัน ไม่ได้ทำใส่กระทงหน้าตาพื้น ๆ แบบบ้านเรา
บางคนก็ทำขนมเข่งเป็นรูปสี่เหลี่ยม(เหมือนกับก้อนอิฐตามตำนานข้างต้น) และทำเป็นรสต่าง ๆ เช่นรสดั้งเดิม ใบเตย งาดำ ฯลฯ
หรือนำไปทำเป็นแซนด์วิช โดยเอาขนมเข่ง ฟักทองหรือมันหวานหรือเผือก(หรือทุกอย่างก็ได้) หั่นเป็นแผ่นเท่า ๆ กันเอามาประกบกันแล้วเอาไปทอด ก็จะได้แซนวิชขนมเข่งรสอร่อยไปอีกแบบหนึ่ง
ขนมเข่งไม่ได้ทำแต่อาหารหวานได้เท่านั้น มีการนำขนมเข่งไปทำเป็นอาหารคาวอยู่อีกหลายชนิดเช่น เอาขนมเข่งฝานเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วเอาไปผัดกับเนื้อกับบล็อคเคอรี่ หรือเอาไปผัดกับผักกาดขาว เห็ดหอม แล้วใส่กุ้ง ที่เอิกเกริกหน่อยก็เห็นจะเป็นผัดขนมเข่งกับปูทะเล
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.hwcmagazine.com
วิธีทำก็คือเอาขนมเข่งมาหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ลวกน้ำร้อนแล้วตั้งพักไว้ เอาปูทะเลหรือปูม้าก็ได้ตามอัธยาศัยมาแกะกระดองออก หั่นเป็นซัก 4 ท่อนคลุกกับแป้งข้าวโพดเล็กน้อย เอาน้ำมันใส่กระทะ ใส่ขิง กระเทียม และต้นหอมส่วนหัวลงไปผัดให้หอม แล้วก็เอาปูทั้งเนื้อทั้งกระดองใส่ลงไปผัดจนเปลือกของปูเป็นสีแดง ใส่เหล้าเฉาชิง(เป็นเหล้าจีนใช้ทำอาหาร หาซื้อได้ไม่ยาก) ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ แล้วก็เอาขนมเข่งที่หั่นไว้นั้นใส่ลงไป ผัดอีก 2-3 นาทีจนสุก สุดท้ายใส่ต้นหอมส่วนสีเขียวลงไปผัดอีกทีก็เป็นอันเรียบร้อย
ไม่ยากใช่ไหมครับ? ตรุษจีนปีนี้เรามาแปลง “เหนียนเกา” หรือขนมเข่งของเราให้เป็นอาหารคาวหวานที่แปลกใหม่กว่าทุก ๆ ปีดีไหมครับ? เป็นเคล็ดด้วยว่าทำอะไรก็ต้องรู้จักเปลี่ยนแปลงจะได้ความเจริญก้าวหน้า
“เหนียนเหนียนเกาเซิง” (年年高升) ขอให้เจริญยิ่งขึ้นทุกปี ๆ นะครับ
อ่าน Gourmet Story ตอนก่อนหน้านี้เรื่อง "Yu Sheng - อาหารวันตรุษจีนยุคใหม่" ได้ที่
Gourmet Story - เรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่เป็นเกร็ดความรู้ เล่าสู่กันฟัง เพิ่มความอร่อยของอาหารที่เรารับประทาน ติดตามได้ที่
โฆษณา