13 ก.พ. 2021 เวลา 16:58 • สุขภาพ
การง่วงนอนมากผิดปกติในช่วงเวลากลางวัน (Excessive Daytime Sleepiness)
เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง และสาเหตุที่พบบ่อยในประชากรทั่วไป
ภาพประกอบจาก https://favpng.com/download/2qBPPbrg
ภาวะง่วงนอนมากผิดปกติ ในช่วงเวลากลางวัน หรือ Excessive daytime sleepiness (EDS) นั้น เป็นอาการหลักที่พบในผู้ที่ปัญหาเกี่ยวกับการนอนต่างๆ ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 20 ในประชากรทั่วไป ผู้ที่มีภาวะ EDS นั้น จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในการใช้รถใช้ถนน หรือเครื่องจักรมากกว่าคนทั่วไป หรืออุบัติเหตุจากงาน นอกจากนี้ ยังพบว่ามีคุณภาพชีวิตที่แย่กว่าผู้ที่ไม่มีปัญหา EDS อย่างชัดเจน
สาเหตุที่พบได้บ่อย ของภาวะง่วงนอนมากผิดปกติในช่วงเวลากลางวัน
1. การอดนอนในช่วงเวลากลางคืน (sleep deprivation) ซึ่งส่วนใหญ่คือปัญหาการนอนไม่หลับ จากสาเหตุต่างๆ แต่ถ้าเป็นกลุ่มวัยรุ่นหรือวัยทำงาน การอดนอน มักเกิดจากการทำงานหรือเรียน (behavioral sleep deprivation)
2. โรคทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น (obstructive sleep apnea, OSA) พบได้บ่อย ราว 2% ในผู้หญิง และ 4% ในผู้ชาย ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป
3. ผลของยานอนหลับที่ใช้ช่วงกลางคืน (sedating medications) หรือยาชนิดอื่นๆ ที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง
4. สาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ เช่น ปัญหาโรคทางกาย หรือโรคทางจิตใจบางอย่าง โดยเฉพาะ ปัญหาโรคซึมเศร้า หรือ กลุ่มโรคความผิดปกติของการนอนหลับ โดยเฉพาะ โรคลมหลับ Nacrolepsy
ยาที่ทำให้มีผลทำให้เกิด ภาวะง่วงนอนมากผิดปกติในช่วงกลางวัน (excessive daytime sleepiness, EDS)
ตารางแสดง ยาที่มีผลต่อภาวะ EDS จาก www.aafp.org/afp
ยาที่พบได้บ่อย คือกลุ่มยานอนหลับ โดยเฉพาะ long acting benzodiazepine ยาต้านเศร้า (anti-depressants) ยาแก้แพ้ ส่วนยาชนิดอื่นๆ ที่มีผลต่ออาการง่วงนอนมากผิดปกติในช่วงเวลากลางวัน เช่น กลุ่มยาต้านอาการจิตและประสาทหลอน ยากันชัก กลุ่มยารักษาโรคพาร์กินสัน เป็นต้น
การประเมินอาการง่วงนอนมากผิดปกติในช่วงเวลากลางวัน สามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งสามารถเริ่มจาก ประวัติ การง่วงนอนผิดปกติ โดยเฉพาะเวลาที่ทำกิจกรรมใดๆ อยู่แล้วมีอาการง่วงมากผิดปกติ จนไม่สามารถต้านทานได้ หรือมีอาการผลอยหลับ ขณะขับรถ เป็นต้น หรือสามารถทำแบบทดสอบ เพื่อประเมินอาการ ง่วงมากผิดปกติในภาวะต่างๆ (Epworth Sleepiness Scale) ซึ่งจะเป็นการให้คะแนน โอกาสในการผลอยหลับในสถานการณ์ต่างๆ จาก 0- 4 โดยที่ 0 คือไม่มีการผลอยหลับ จนถึง 4 คือมีโอกาสผลอยหลับสูงมาก
Epworth Sleepiness Scale
ภาพประกอบ  Epworth Sleepiness Scale จาก www.aafp.org/afp
โดยผู้ที่ประเมินได้ คะแนนรวมมากกว่า 10 -12 ขึ้นไป ถือว่ามีปัญหาภาวะง่วงนอนมากผิดปกติในช่วงเวลากลางวัน (EDS) ควรได้รับการตรวจประเมินปัญหาการนอน อย่างละเอียดต่อไป
ขั้นตอนต่อไปของการประเมินอาการง่วงนอนมากผิดปกติในช่วงเวลากลางวัน คือ การตรวจการนอนหลับ (sleep test, polysomnography test) เป็นการตรวจการนอนที่มีความจำเพาะต่อโรคการนอนหลับต่างๆ เช่น โรคทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น (OSA) โรคขากระตุก หรือขยับผิดปกติ ตอนนอน โรคนอนกัดฟัน โรคการนอนหลับมากผิดปกติ ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นสาเหตุของการง่วงนอนมากผิดปกติในช่วงกลางวันได้ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป
ด้วยความปรารถนาดี Better Sleep Better Life
โฆษณา