16 ก.พ. 2021 เวลา 07:19 • การเมือง
รู้จักรองประธานสภาฯ คนที่ 2 "ศุภชัย โพธิ์สุ" ผู้ควบคุมความร้อนแรงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
นายศุภชัย โพธิ์สุ หรืออดีตสหายแสง ในอดีตได้ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง และเคยหนีเข้าป่า เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2519
ถือเป็นนักสู้ทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่เป็นนักศึกษา จนประสบความสำเร็จ และก้าวสู่เส้นทางชีวิตทางการเมือง เป็นผู้แทนหลายยุคหลายสมัย
นายศุภชัย พื้นฐานเป็น ลูกชาวไร่ชาวนา ครอบครัวยากจน ต้องดิ้นรนต่อสู้ชีวิต หลังจบการศึกษา มศ.3 ในยุคจากโรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษฏ์ อ.ศรีสงคราม เข้ารับการศึกษาต่อ ที่วิทยาลัยครูสกลนคร
แต่ด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง และต้องการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ในยุคสงครามประชาชน ของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ประมาณปี 2519 จึงหยุดเรียนกลางคัน ตัดสินใจเดินเข้าป่า เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยกับกลุ่มสหาย ดาวแดง ในพื้นที่ สีแดง อ.นาแก จ.นครพนม
รูปวาดสหายแสง ขณะ อยู่ในป่
นายศุภชัย โพธิ์สุ ใช้เวลาร่วม 4 ปี เรียกร้องประชาธิปไตยกับกลุ่มสหาย ดาวแด แต่ไม่สำเร็จ จึงตัดสินใจออกจากป่า มาศึกษาต่อจนจบหลักสูตร และสามารถสอบบรรจุรับราชการครูได้ ประมาณ ปี 2524 แต่ยังไม่ละทิ้งอุดมการณ์ทางการเมือง นอกจากยึดอาชีพเรือจ้าง ครูบ้านนอก ยังเป็นแกนนำสมาพันธ์ประชาธิปไตย จ.นครพนม แกนนำครู มาโดยตลอด จนกระทั่งก้าวขึ้นสู่ครูใหญ่ ของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เมื่อประมาณปี 2529
ต่อมาภายหลัง ปี 2535 เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ถูกขับไล่ เกิดการปะทะ ระหว่างทหาร ตำรวจ กับประชาชน จนเกิดการสูญเสีย ทำให้ นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือ สหายแสง ตัดสินใจลาออกจาก ข้าราชการครู เพื่อก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง ในสังกัดพรรคพลังธรรม มี พลตรี จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค ทาบทาม นายศุภชัย ลงสมัคร เขต 2 นครพนม เป็นครั้งแรก แต่สอบตก ได้อันดับ 3
จากนั้นหลังสอบตกถึง 4 ครั้ง ในการชิงตำแหน่งผู้แทน นายศุภชัย โพธิ์สุ จึงหันมาสร้างฐานการเมืองท้องถิ่น ลงสมัคร ส.อบจ.นครพนม เขต อ.ศรีสงคราม ในช่วงปลายปี 2538 ได้รับการเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่ง ยาวถึง 4 ปี หลังจากนั้น พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ในนามพรรคความหวังใหม่ ลงชิงตำแหน่ง ส.ส.นครพนม เมื่อปี 2544 ได้รับคะแนนอย่างท่วมท้น ได้รับตำแหน่ง สส. เป็นครั้งแรก
ต่อมาเมื่อปี 2545 ความหวังใหม่ ยุบรวม พรรคไทยรักไทย ยุคนายทักษิณ ชิณวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จึงย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย และถูกยุบมาเป็นพลังประชาชน รวมเป็น ส.ส.ถึง 3 สมัย จนถึง ปี 2551 พรรคพลังประชาชน ถูกยุบ จึงย้ายไปสังกัดกับ พรรคภูมิใจไทย จากการนำของ นายเนวิน ชิดชอบ ที่ก่อตั้งพรรค พร้อมได้รับตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั่งตำแหน่งตั้งแต่ปี 2552 – 2554 ในยุคของนายอภสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
ในการเป็นสส. นายศุภชัย โพธิ์สุ ถูกโจมตีทางการเมือง กล่าวหาว่า ขายตัว เพื่อแลกตำแหน่ง และเป็นที่มาของการพ่ายแพ้ศึกเลือกตั้ง ในปี 2554 ให้กับผู้สมัครพรรคเพื่อไทย แต่ยังคงเดินหน้าต่อสู้ ลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน รับทราบปัญหา แสดงออกถึงอุดมการณ์ทางการเมืองมาต่อเนื่อง รวมเกือบ 8 ปี ในยุคของการรัฐประหาร ของ คสช. โดยเน้นความใกล้ชิด เข้าถึงชาวบ้าน
นายศุภชัย โพธิ์สุ สส. พรรคภูมิใจไทยในปัจจุบัน
จนปี 2562 นายศุภชัย โพธิ์สุ สามารถล้มแชมป์เก่า ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย สำเร็จ ได้กลับมานั่งตำแหน่ง ส.ส.เขต 1 นครพนม พรรคภูมิใจไทย ด้วยคะแนนนิยมส่วนตัว ท่วมท้น และได้รับการเลือกให้เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ ในปี 2563 ได้มีการปะทะคารมระหว่าง นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาคนที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม กับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย โดยพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ พยายามจะอภิปรายปมถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนายกรัฐมนตรี แต่นายศุภชัย ไม่อนุญาต
จนกระทั่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ พูดว่า “เดี๋ยวเราเจอกันนอกสภา” นายศุภชัย พูดว่า “ผมไม่กลัวท่านเสรี ท่านเป็นวีรบุรุษนาแก ผมก็สหายแสง” จนเป็นประเด็นในครั้งก่อน
การปะทะคารมระหว่าง นายศุภชัย และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ครั้งก่อน
ส่วนวันนี้ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ระหว่างที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้ลุกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ สหายแสง หรือ นายศุภชัย โพธิ์สุ ก็เป็นผู้ควบคุมการอภิปรายอีกเช่นเคย
ซึ่งในครั้งนี้ก็มีการประท้วงจากฝ่ายรัฐบาลเป็นระยะๆ สลับกับฝ่ายค้านประท้วงอีกเช่นเคย
โฆษณา