16 ก.พ. 2021 เวลา 23:00 • ความคิดเห็น
คำปฏิญาณก่อนรับประทานอาหารของเหล่าทหารเกณฑ์
ช่วงปี 56-57 ผมประจำการอยู่ที่ค่ายสุรสีห์ จังหวัดกาญจนบุรี
ทหารเกณฑ์ทุกคนต้องเข้ารับการฝึก ณ หน่วยฝึกทหารใหม่เป็นเวลานาน 10 เดือน โดยจะฝึกความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่างๆ ในการทำหน้าที่เป็นรั้วของชาติ
ช่วงรับประทานอาหาร (วันละ 3 มื้อ) เราจะไปรวมตัวกันที่โรงเลี้ยง (เขาเรียกกันแบบนั้น) บรรดาทหารเกณฑ์ที่ประจำการตามกองร้อย (ฝึกจบแล้ว) จะได้สิทธิ์กินก่อนทหารเกณฑ์
ก่อนเริ่มรับประทานอาหารทุกอย่างจะถูกจัดเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การวิ่งเข้าไปยืนที่โต๊ะอาหารแต่ห้ามนั่งก่อนได้รับอนุญาต เพราะก่อนจะนั่งก็มีขั้นตอนต่างๆ เช่น การยืนพักตามระเบียบ การถอดหมวก ฯลฯ
เมื่อได้รับอนุญาตให้นั่งแล้วเราก็ต้องนั่งตามระเบียบ จะมีคำสั่งให้ "ขัดฉาก" แล้วเราก็ต้องกล่าวทวนคำสั่งดังๆ เป็นเสียงเดียวกันว่า "ขัดฉาก" พร้อมกับยกแขนทั้งสองข้างตั้งฉากกับลำตัวแล้วใช้ท่อนแขนขวาตีลงไปที่ท่อนแขนซ้ายให้เกิดเสียง ก่อนจะวางทับไว้แบบนั้น
ขั้นตอนต่อไปคือการกล่าวคำปฏิญาณ หลายคนอาจเคยได้ยินมาบ้างตอนเข้าค่ายลูกเสือหรือเรียนร.ด.
"ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง
อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า
ผู้คนอดอยาก มีมากหนักหนา
สงสารบรรดา เด็กตาดำๆ
ขอขอบพระคุณชาวนาทุกคน
ที่ลำบากยากล้น ปลูกข้าวให้เรากิน
เราจะกินไม่ให้เหลือ แม้แต่เม็ดเดียว"
3
ถ้าเรากล่าวได้แคล่วคล่องและมีพลังเสียงหนักแน่นในระดับที่ครูฝึกพอใจก็จะได้รับอนุญาตให้กินอาหารที่อยู่เบื้องหน้าได้ แต่ถ้าไม่... เราก็จะต้องกล่าวใหม่ หรือหนักกว่านั้นอาจถูกสั่งให้ลุกและวิ่งออกไปจัดแถวหน้าโรงเลี้ยง!
ทหารเกณฑ์จะถูกแบ่งเวรสำหรับล้างจาน เพื่อให้กลุ่มที่เหลือได้กลับสู่การฝึกตามตาราง เวรล้างจานก็จะเคลียร์จานทั้งหมดให้เรียบร้อยก่อนจะตามไปฝึกพร้อมเพื่อนๆ
อ่อ อย่าคิดว่าจะได้อู้เชียว เพราะมีผู้ช่วยครูฝึกคอยกำกับการล้างจานอยู่ทุกย่างก้าว อาจมีหยวนๆ หน่อยถ้าเขาใจดีและสนิทกับเรา แต่หยวนมากก็ไม่ได้เพราะเขาอาจเจอเล่นงานเสียเอง
ในช่วงที่เป็นเวรล้างจานคือช่วงที่ผมได้พบความจริงที่ว่า "คำปฏิญาณนั้นเป็นเพียงลมปาก" เพราะอย่างรุ่นผมที่มีกำลังพลราว 100 นาย กลับผมว่าเศษอาหารเหลือนั้นล้นถังขยะ 200 ลิตรแทบทุกมื้อ
"เราจะกิน ไม่ให้เหลือ แม้แต่เม็ดเดียว" ที่เราแหกปากกันวันละ 3 เวลานั้นไม่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติเลยแม้แต่น้อย 😥
ทั้งนี้มีปัจจัยหลายอย่างประกอบ
1️⃣ ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของครูฝึก บางวันนึกอยากจะให้เลิกกินก็สั่งลุกและรวมพลหน้าโรงเลี้ยงเอาดื้อๆ อย่างนั้นแหละ
2️⃣ อาหารอาจไม่ถูกปาก ข้าวอาจจะแข็งไป
3️⃣ กำลังพลส่วนใหญ่อาจไม่คุ้นเคยกับการกินจนเกลี้ยงจานมาก่อน (ส่วนตัวผมกินหมดเกลี้ยงตลอดเพราะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เล็ก ถ้าข้าวเหลือโดนที่บ้านฟาดแน่ๆ)
4️⃣ ครูฝึกก็ไม่เคยมาตรวจการกินจนเกลี้ยงชามตามคำปฏิญาณเสียที
พ่อแม่สอนให้ผมกินแบบนี้ตั้งแต่เด็กครับ
เมื่อกลางปี 63 ที่ผ่านมาสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศแคมเปญแก้ปัญหา "อาหารเหลือทิ้ง" (Food waste) ซึ่งไม่ใช่ปัญหาระดับชาติแต่เป็นระดับโลก
สี จิ้นผิง ระบุไว้ช่วงหนึ่งในแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 63 ว่า "การทิ้งขว้างมันน่าละอายมาก และการประหยัดเป็นสิ่งที่น่านับถือ”
1
ท่านผู้นำต้องกล่าวเช่นนั้นเพราะปริมาณอาหารเหลือทิ้งในประเทศนั้นมีมากจนน่าตกใจและน่ากังวลเพราะตามรายงานของ China Academy Science สถาบันวิจัยในกรุงปักกิ่งเมื่อปี ค.ศ.2015 ชี้ว่าในเมืองใหญ่ของจีนมีอาหารที่กลายเป็นขยะมากถึง 18 ล้านตันต่อปี เป็นปริมาณที่ให้ผู้คนรับประทานได้ถึง 30-50 ล้านคนต่อปี
ขณะที่ UN’s World Population Prospects 2019 ชี้ว่าแต่ละปีมีคนทั่วโลกกว่า 36 ล้านคน 'ต้องเสียชีวิตเพราะความหิวโหย'
รายงานชิ้นนี้ยังระบุอีกว่า ที่มาของปัญหานี้เกิดจากการที่ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้จะกลายเป็น 'ขยะอาหาร' ซึ่งยังสามารถรับประทานได้และควรนำไปให้แก่ผู้หิวโหยที่กำลังอดอยาก แต่ในความเป็นจริงคือมันได้กลายเป็นขยะอาหารโดยสมบูรณ์
ในไทยเองก็มีปัญหานี้ไม่น้อย ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษในปี 2017 ชี้ว่าร้อยละ 64 ของขยะทั้งหมดในประเทศนั้นคืออาหาร (รายงานใช้คำว่าขยะอินทรีย์) คิดเป็นน้ำหนักรวม 17.6 ล้านตัน หรือเฉลี่ยคนไทย 1 คนจะสร้างขยะอาหารปีละ 254 กิโลกรัม หรือวันละ 7 ขีดเป็นอย่างน้อย เพราะตัวเลขข้างต้นเป็นข้อมูลที่ได้จากเทศบาลล้วนๆ ยังไม่รวมขยะที่จ้างเอกชนมาจัดการ
แน่นอนว่าการจัดการอย่างเป็นระบบคงต้องมอบหมายให้รัฐบาลหรือท้องถิ่นเข้ามาดูแล แต่ผมนึกถึงคำสอนของพี่ชายสุดที่รักคนหนึ่งที่ย้ำผมเสมอว่า "จงเริ่มแก้ปัญหาที่ตัวเรา" ทำให้ผมคิดว่าระหว่างรอการจัดการของผู้บริหารประเทศ ปัจเจกอย่างเรามาเริ่มต้นปฏิรูปการกินของเราใหม่คงจะดี
ดั่งคำที่มักถูกปริ้นท์ติดเสาในร้านบุฟเฟ่ต์ที่ว่า "ตักแต่พอดีแล้วทานให้หมด ไม่อิ่มค่อยเติม" ถ้าเราฝึกวินัยให้เป็นเช่นนี้ได้ 'ขยะอาหาร' ที่เกิดจากเราก็จะลดลงเรื่อยจนใกล้ 0 มากที่สุด
เริ่มจากเราและคนในครอบครัว ขายไอเดียจนเป็นระดับชุมชน และวันนึงอาจไปถึงระดับชาติแบบที่จีนกำลังพยายามทำ เมื่อนั้นความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่น่าจะเกิดขึ้น แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น... มาเริ่มที่ตัวเรากันเถอะครับ
สวัสดี 🙏

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา