18 ก.พ. 2021 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
สถานทูตฝรั่งเศสกับศพทหารที่ถูกลืม
เมื่อไม่นานมานี้เองผมได้มีโอกาสพูดคุยกับบุคลคลท่านหนึ่ง บุคคุลท่านนี้ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสเดินทางเข้าไปเยี่ยมชมภายในสถานทูตฝรั่งเศสเนื่องใน "วันมรดกยุโรป” ซึ่งจะจัดขึ้นทุกๆปี
ช่วงสัปดาห์ของวันมรดกยุโรปนี้(ช่วงเดือนกันยายนของทุกปี) หลายสถานทูตของยุโรปในประเทศไทยจะนำเสนอความสวยงาม ความหลากหลายทางสถาปัตยกรรมของอาคาร สถานที่สำคัญต่างๆ รวมทั้งประวัติความเป็นมาของสถานทูตให้แก่บุคคลทั่วไป ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมเฉพาะโอกาสนี้เท่านั้นครับ
ตัวผมเองไม่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จึงมีคำถามเกิดขึ้นในบทสนทนามากมาย เพราะว่าสถานทูตฝรั่งเศสมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจหลายเรื่องเกี่ยวกับการเมืองบนหน้าประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ในช่วงนี้เองเราเริ่มเข้าสู่บทสนทนาเกี่ยวกับเหตุการณ์วิกฤตการณ์ รศ.112 ครั้งที่ฝรั่งเศสนำเรือปืนมาจอดเทียบริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสถานทูตฝรั่งเศส การสนทนาเป็นไปอย่างสนุกสนานแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายๆมุมแก่กันและกัน จนนำเราเข้ามาสู่ประเด็นหนึ่งที่ผมอยากรู้คือ ศพของทหารญวณบนเรือรบของฝรั่งเศส ผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปะทะบริเวณปากอ่าวนั้น ฝังอยู่บริเวณใดของสถานทูต
จากบทสนทนาของเราในเรื่องนี้ปรากฎว่า คำถามเรื่องศพของทหารเป็นข้อมูลที่ทางสถานทูตฝรั่งเศสไม่ได้บอกไว้แก่ผู้เยี่ยมชมครับ
ข้อมูลเรื่องศพทหารที่ถูกฝังอยู่ภายในสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยนี้ ผมเคยอ่านเจอมาจากสามแหล่งครับ
-หลักฐานชิ้นแรก-
หลักฐานจากฝั่งฝรั่งเศส บันทึกประจำวันของผู้บังคับการเรือโคเมต เรือเอก ลุยส์ดาร์ติช ดูฟูร์เนต (Lieutunent de vaisseau Louis Dartige du Fournet) ได้มีข้อความถึงผู้เสียชีวิตจากการปะทะครั้งนั้น เป็นพลทหารทั้งหมด 2 ราย และได้มีการนำศพฝังไว้บริเวณสวนของสถานทูตฝรั่งเศส
- หลักฐานชิ้นที่สอง -
หลักฐานจากฝั่งอังกฤษ อีกบันทึกหนึ่ง คือ รายงานจากผู้บังคับการเรือพาลลาส นาวาเอก แองกัส แมคเคลาด์ (Angus Mcacleod) เรือของอังกฤษพาลลาสลำนี้ลอยลำอยู่นอกากสันดอนตามสนธิสัญญาและคำร้องจากฝั่งสยาม แต่ได้ขอโดยสารบนเรือกลไฟที่ชื่อว่า "มหาวชิรุณหิศ” เข้ามาภายในสถานทูตอังกฤษเพื่อจดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นพร้อมรายงานตรงไปยังรัฐบาลอังกฤษ
นาวาเอก แองกัส แมคเคลาด์ (Angus Mcacleod) ก็ได้บันทึกเกี่ยวกับศพทหารสองนายที่ได้เสียชีวิต 2 นายและทำการฝังในช่วงเย็นของวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2436 หลังการปะทะหนึ่งวัน
- หลักฐานชิ้นที่สาม-
แม้กระทั่งแถลงการณ์ของหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ วันที่ 19 กรกฏาคม พ.ศ.2436 ที่มีเนื้อหาสรุปถึงความเสียหายของฝั่งสยามและฝรั่งเศส ระบุไว้ว่า มีทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต 3 นาย โดยราชทูตฝรั่งเศสมีคำสั่งให้นำศพทหารทั้งสามนายนี้ฝังไว้ที่ริมสถานทูตฝรั่งเศส
แม้ว่าข้อมูลในบันทึกจากทั้งสามแหล่งจะมีการคลาดเคลื่อนของทั้งสยามและต่างชาติ จำนวนผู้เสียชีวิตของฝั่งอังกฤษและฝรั่งเศสที่บันทึกไว้เหมือนกันคือ 2 ราย แต่บันทึกจากฝั่งสยามระบุไว้ว่า 3 ราย คลาดเคลื่อนเพียงหนึ่งคนเท่านั้นครับ
แต่ที่น่าสนใจคือทั้งสามแหล่งข้อมูลต่างระบุตรงกันว่าสถานที่ฝังศพของนายทหารผู้เสียชีวิตนั้นอยู่ในบริเวณของสถานทูตฝรั่งเศสครับ
เท่ากับว่าสถานทูตฝรั่งเศสอาจจะเป็นสถานทูตเดียวในประเทศไทยที่มีการฝังศพไว้ แต่ที่น่าแปลกใจคือเมื่อกาลเวลาผ่านไป กลับไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้เลย แม้กระทั่งทางสถานทูตฝรั่งเศสเองก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่าหลุมศพของทหารผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ถูกฝังไว้ ณ ตำแหน่งใดของพื้นที่ครับ
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
อ้างอิง:
- บันทึกประจำวันของผู้บังคับการเรือโคเมต เรือเอก ลุยส์ดาร์ติช ดูฟูร์เนต (Lieutunent de vaisseau Louis Dartige du Fournet)
- รายงานจากผู้บังคับการเรือพาลลาส นาวาเอก แองกัส แมคเคลาด์ (Angus Mcacleod) วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2436
- แถลงการณ์ของหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ วันที่ 19 กรกฏาคม พ.ศ.2436
- กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสและการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา นาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี
โฆษณา