18 ก.พ. 2021 เวลา 13:30 • สุขภาพ
สุขภาพดีเริ่มต้นที่การดื่มน้ำ
แต่ในคนที่สุขภาพไม่ดี การดื่มน้ำอาจทำให้อาการแย่ลง!! 😱
👍🏻คนปกติควรดื่มน้ำ 2,000 - 3,000 mlต่อวัน
👎🏻แต่ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่จำเป็นต้องจำกัดการดื่มน้ำ อาจจะจำกัดถึงขั้นให้ดื่มเพียง 500 mlต่อวัน
ส่วนใหญ่แล้วคนเหล่านี้คือผู้ป่วยโรคไต หรือโรคหัวใจ
ไต มีหน้าที่กรองของเสียและขับออกในรูปแบบของปัสสาวะ
ในวันที่ไตสูญเสียการทำหน้าที่นั้น ทำให้ความสามารถในการกรองของเสียลดลง และไม่สามารถขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายได้
เมื่อมีน้ำคั่งในร่างกายมากๆ ทำให้น้ำที่ควรอยู่ในเซลล์หรือหลอดเลือดท้นออกมานอกเซลล์ จนเกิดการบวมตามร่างกาย ที่สังเกตได้ชัดที่สุดคือเท้าและขา (หลักการตามแรงโน้มถ่วงของโลกเลยค่ะ)
เมื่อกดลงไปที่ผิวบริเวณนั้นจะยุบเป็นรอยบุ๋ม ซึ่งจะบุ๋มนานแค่ไหนขึ้นกับระดับความบวม และในรายที่น้ำเกินมากๆจะบวมเต่งคล้ายๆลูกโป่งน้ำเลยค่ะ
เรื่องไม่ได้จบเพียงแค่นี้แน่นอนค่ะ
น้ำส่วนเกินนั้นมักจะไปคั่งค้างในเยื่อหุ้มปอด ทำให้มีอาการเหนื่อยเร็ว หายใจไม่อิ่ม และมักมาโรงพยาบาลด้วยหายใจหอบเหนื่อย
พยาบาลก็มักจะซักประวัติได้ว่า คนไข้ไม่ได้จำกัดน้ำตามที่แพทย์สั่ง และปัสสาวะออกลดลง
ผู้ป่วยโรคหัวใจบางชนิด ที่เคยมีประวัติเกิดหัวใจล้มเหลว ไตทำงานบกพร่อง การดื่มน้ำต้องมีข้อจำกัดในเรื่องของปริมาณเช่นกัน โดยขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์
เนื่องจากเมื่อดื่มน้ำเข้าไป จะไปเพิ่มปริมาณน้ำเลือดในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะน้ำและเกลือคั่ง โดยจะมีอาการบวมบริเวณ เท้า และหน้าแข้งทั้งสองข้าง หรือเกิดภาวะปอดบวมน้ำได้เหมือนกัน
เนื่องจากหัวใจห้องซ้ายล่างบีบตัวอ่อน น้ำที่เข้าสู่ร่างกายผ่านมาทางหลอดเลือดดำที่ไปปอด และกลับจากปอดมายังหัวใจ ก็จะบีบออกไม่ทัน
ดังนั้นหากแพทย์ประเมินแล้วว่าจำเป็นต้องจำกัดน้ำ ก็น้องทำตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
การจำกัดน้ำที่พูดถึง เป็นการจำกัดปริมาณเครื่องดื่มทุกชนิด รวมถึงน้ำแกงทั้งหลายด้วย ซึ่งหลายท่านอาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เข้าใจว่าเป็นการจำกัดแค่น้ำเปล่า
แล้วไปดื่มชา กาแฟ นม หรือซดน้ำแกงเพิ่มแทน
หลังจากนั้น....
ก็กลับเข้ามาที่โรงพยาบาลด้วยภาวะน้ำเกินอีกหลายๆรอบ
นอกจากนี้ควรมีการบันทึกปริมาณการดื่มน้ำ และบันทึกปริมาณปัสสาวะในแต่ละวัน เพื่อประเมินความสมดุลของน้ำที่เข้าและออกจากร่างกาย
การชั่งน้ำหนักทุกๆวันก็สามารถบอกได้ว่าตอนนี้มีความเสี่ยงต่อสภาวะน้ำเกินหรือไม่ โดยควรปรึกษาแพทย์ว่าน้ำหนักเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ควรมาพบแพทย์ในทันที
แพทย์บางท่านอาจให้ยาขับปัสสาวะมารับประทาน และให้ทานเพิ่มเองเมื่อปัสสาวะออกลดลง แต่ทั้งนี้ควรประเมินร่วมกับประมาณน้ำที่ดื่มเข้าไปด้วย เพราะการดื่มน้ำน้อย ปัสสาวะก็ออกน้อยได้เช่นกันค่ะ
ตัวอย่างเช่น
วันที่ 19/2/64 ดื่มเครื่องดื่ม 700 ml ปัสสาวะออก 500 ml แสดงว่ามีน้ำเหลือในร่างกาย 200 ml
(คิดจาก 700-500=200)
วันที่ 20/2/64 ดื่มเครื่องดื่ม 600 ml ปัสสาวะออก 800 ml
แสดงว่าร่างกายขาดน้ำไป 200 ml
(คิดจาก 600-800 = -200)
เมื่อรวม 2 วันแล้วจะสมดุลกันพอดี คือ 200+(-200) = 0
ดังตัวอย่างข้างต้นจะพบว่าเกิดความสมดุลกันพอดี ดังนั้นเมื่อคนไข้มาด้วยน้ำเกิน แพทย์ก็มักจะให้ยาขับปัสสาวะ เพื่อไล่น้ำออกจากร่างกาย บางท่านขับออกถึง 3000 ml กันเลยทีเดียวค่ะ
ในคนปกติร่างกายสามารถปรับสมดุลได้ดีอยู่แล้ว ก็ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เมื่อถึงวันที่ป่วยด้วยโรคที่ต้องจำกัดน้ำ จะมาโหยหาในเวลานั้นไม่ได้นะคะ ❤️
Nursery เพราะสุขภาพดีเราสร้างได้🍃
โฆษณา