Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เรื่องเล่าเมาเมาแมน
•
ติดตาม
20 ก.พ. 2021 เวลา 08:44 • ศิลปะ & ออกแบบ
"สัปปายะสถาน"
อาคารรัฐสภาไทย สถาปัตยกรรม ที่สะท้อนรูปแบบแนวคิดการเมืองไทย
มีคำกล่าวว่า "ปลูกบ้านตามใจผู้อยู่"
ในทางสถาปัตยกรรม เราอาจอนุมานได้ว่าเป็นการตอบสนองเชิงประโยชน์ใช้สอย(purpose) มาสรรสร้าง(compose) จนเกิดความพึงพอให้แก่ผู้ใช้งาน
"อาคารรัฐสภา" จึงเป็นการออกแบบเพื่อตอบสนองรูปแบบ และแนวคิด การประชุมของผู้แทนปวงชนในประเทศต่างๆ
เช่นนั้นแล้ว รูปแบบของอาคารที่แสดงออกมาจึงสามารถบ่งบอกได้ถึงแนวคิด วิธีทำงาน ของสภาแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี
...ในฐานะที่นายเมาเป็นสถาปนิกคนหนึ่ง ก็อยากจะวิจารณ์จากตัวสถาปัตยกรรมที่ได้เห็น ซึ่งสะท้อนผลการทำงานออกมา ไว้อีกมุมหนึ่งให้ขบคิดกัน...
1) สภาไทย คือสภาแห่งความไม่เท่าเทียม
หากลองพิจารณาถึงรูปแบบสถาปัตยกรรม ในการจัดวางพื้นที่ภายในแล้ว เราจะเห็นว่า สภาฯไทย มีที่นั่งของประธาน และคณะรัฐมนตรี ค่อนข้างสูงมากๆ ถ้าเทียบกับประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ
นั่นคือการแสดงออกโดยนัยทางจิตวิทยา ในแง่การแบ่งลำคับชั้นในสภา
...ถ้าเราเทียบกับรัฐสภาอังกฤษหรือเยอรมัน หรือแม้กระทั่งสหรัฐฯ เราก็จะเห็นว่า ต่างกันมาก โดยเฉพาะของอังกฤษนั้น ทุกคนแทบจะนั่งในระดับเดียวกันเลย
...สภาไทย จึงมีลักษณะค่อนข้างใกล้เคียงกับอาคารรัฐสภาของประเทศสังคมนิยมหรือเผด็จการมากกว่า...
ซึ่งแนวคิดนี้ก็แสดงออกผ่านชัดเจนในการทำงานสภาฯ ซึ่งมองแต่ละคนไม่เท่าเทียมกัน
...แน่นอน ความเท่าเทียม เป็นหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย สภาที่ถูกสร้างจากแนวคิดแบบนี้ จึงไม่สามารถทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ อย่างที่เราเห็นกัน
...บางคนอาจแย้งว่า เพราะสภาไทยจำเป็นต้องรับเสด็จฯในบางครั้ง จึงต้องออกแบบเช่นนั้น
แต่หากคิดหลักการประชาธิปไตยมันก็ยังย้อนแย้ง เพราะเมื่อทุกคนเข้าสภาฯ ย่อมเท่าเทียมกันโดยศักดิ์และสิทธิ์ ไม่ควรมีผู้ใดได้รับสิทธิ์พิเศษจนเกินไป มันขัดกับหลักการโดยรวมมากจนเกินไป ถ้าคิดแบบหลักสากล
ภายในรัฐสภาอังกฤษ ทุกคนเบียดเสียดเท่าเทียม
2) สภาไทย คือสภาแห่งความลับ แบ่งแยก อำพราง
สภาไทยนั้นค่อนข้างมีลักษณะเฉพาะมากๆอย่างหนึ่ง คือ เป็นสภาที่มีหลืบ มุม ที่ดูเป็นความลับ ส่วนตัวเยอะมาก แม้แต่ในห้องประชุมเองก็ตาม
ในการออกแบบสภาไทยนั้น จะต้องออกแบบมาเพื่อรองรับการอภิปรายบริเวณที่นั่งของตนเอง ของผู้อภิปราย
ซึ่งต่างกับในประเทศประชาธิปไตยอื่น ซึ่งผู้อภิปรายจะต้องออกมาพูด ณ. ที่ที่เตรียมไว้ให้ บริเวณกึ่งกลางซึ่งทุกคนสามารถเห็นได้ชัดเจน (จากรูปที่ยกมาของอังกฤษและเยอรมัน จะมีโต๊ะเล็กๆตรงกลาง)
ดังนั้น การออกแบบจึงเป็นการสื่อถึงการยอมรับการกระทำอันไม่เปิดเผยได้โดยตรง โดยนัยตัวมันเองของระบบการเมืองไทย
...และในการจัดที่นั่ง ก็มักจะมีลักษณะของ partition ซึ่งมักจะมาในรูปแบบของ โต๊ะเคาน์เตอร์ หรือแบ่งเป็นช่องทางเดิน ซึ่งแม้จะมีประโยชน์ใช้สอยในการสัญจร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำให้ง่ายในการแบ่งที่นั่งเป็นก๊ก เป็นเหล่า
...ซึ่งลักษณะนี้เราจะไม่เห็นในรัฐสภาประเทศใดเลยในโลก...
หากเรามองที่การจัดทัศนวิสัยของการมองได้รอบทิศ สภาไทยจะไม่สามารถทำได้ ทั้งจากผู้สังเกตการณ์และผู้นั่งประชุมอยู่เลย
นั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้สร้างนั้นไม่ต้องการให้เรื่องราวต่างๆถูกเปิดเผยมากจนเกินไปนั่นเอง
...สภาไทยจึงมีลักษณะ แบ่งแยก ซ้อนเร้น อำพราง ซึ่งก็ขัดกับหลักการประชาธิปไตยสากลอีกเช่นกัน...
รัฐสภาเยอรมัน เน้นการออกแบบให้โปร่งใสที่สุด
3) สภาแห่งการ ข่มขู่ คุกคาม
สภาไทยนั้นเน้นความเข้มขลัง โดยเฉพาะถ้าดูจากการเลือกใช้สี และลักษณะทางสถาปัตยกรรม ในเชิงการจัดวางพื้นที่
...น่าขำ ที่ผู้ที่ต้องตอบคำถาม หรือถูกตรวจสอบ คือฝ่ายบริหารนั้น จะได้พูดจากตำแหน่งที่สูงกว่าผู้ซักถามเสมอ
...ลักษณะเช่นนี้ จะไม่แปลกหากใช้ในการออกแบบพื้นที่ศาลสถิตย์ยุติธรรม ซึ่งผู้พิพากษามีอำนาจเหนือทุกคนในบริเวณ...
แต่การใช้พื้นที่ลักษณะนี้ มันไม่ควรเกิดขึ้นกับสภาของผู้แทนประชาชน ซึ่งทุกคนมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากัน
การออกแบบลักษณะนี้ จึงมองเป็นอื่นไม่ได้เลย นอกจากความต้องการการข่ม ควบคุม ของฝ่ายบริหารที่จะมีต่อผู้ทำหน้าที่แทนปวงชน ที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบนั่นเอง
...ซึ่งสิ่งนี้ก็ขัดกับหลักสากลเช่นกัน...
ภายในอาคารรัฐสภาไทย
4) สภาแห่งผู้วิเศษ...
ถ้าเราดูลักษณะของสถาปัตยกรรมภายนอกของ "สัปปายะสภาสถาน" อันเป็นอาคารรัฐสภานั้น...
...เราก็แทบจะตีความเป็นอื่นไม่ได้เลย นอกจากว่า ผู้ที่อยู่ในนั้นต้องเป็น เทวดาหรือผู้วิเศษ...
แนวคิดแรกเริ่มในการออกแบบนั้น สถาปนิก ได้นำรูปแบบของ "เขาพระสุเมรุ" หรือที่ประทับของเหล่าทวยเทพในคติฮินดูมาเป็นต้นแบบ
...การที่นักการเมืองเป็นผู้ตัดสินใจเลือกแบบนี้ ก็เท่ากับพวกเขาสะท้อนความคิดว่าตนเองคือ เทพ ซึ่งอยู่เหนือกว่าคนทั่วไป
...และมีอำนาจของเทพ ที่จะตัดสินใจเป็นตายใครก็ได้...
...และเมื่อเป็นเทพ ก็ตัดแยกตัวเองออกจากประชาชน...
ด้วยความที่อาคารรัฐสภาแห่งนี้นั้น เป็นที่เห็นชอบของฝ่ายการเมืองทั้งสองขั้วในปัจจุบัน
( รัฐบาลยิ่งลักษณ์อนุมัติผ่านแบบ แต่เริ่มสร้างในรัฐบาลประยุทธ์โดยไม่มีการเปลี่ยนแบบ)
...ย่อมแสดงให้เห็นชัดเจนว่า แนวคิดที่บรรดาผู้มีอำนาจนั้น มองต่อประชาชนเป็นเช่นไร และมองตัวเองเป็นเช่นไร...
การแบ่งแยกตัวเองจากประชาชนเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร หากปัญหาของประชาชนจะไม่ถูกได้รับการแก้ไข จากบรรดาผู้วิเศษในสถานที่นั้น...
1
ราวสรวงสวรรค์...
สถาปัตยกรรมมีหน้าที่รับใช้แนวคิดผู้คนมาแต่โบราณกาล
สถาปัตยกรรมสะท้อนแนวคิดของผู้คนในสังคมเสมอ
สถาปัตยกรรม ไม่ใช่อะไรที่ทำวันนี้แล้วพรุ่งนี้จะหายไป แต่มันคือถาวรวัตถุซึ่งจะคงอยู่ไปอีกนานแสนนาน
หลายที่บนผืนโลก สถาปัตยกรรมอันอัปยศ ถูกทำลายไปพร้อมกับแนวคิดใหม่ๆ
...หรือบางแห่ง ก็ถูกทิ้งไว้ให้เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงความอัปยศเหล่านั้น เพื่อเตือนใจ ไม่ให้เกิดขึ้นอีก...
"สัปปายะสภาสถาน" ตอนนี้กำลังทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์...
...แต่ผลของการทำหน้าที่ของมัน จะเป็นอนุสรณ์แห่งความรุ่งเรืองหรืออัปยศ เวลาจะเป็นผู้ตัดสิน...
1
...ชีวิตคนสั้น ศิลปะยืนยาว...
...และสถาปัตยกรรมยืนยาวที่สุดในบรรดาศิลปะ...
...ในอนาคต สัปปายะสภาสถาน จะถูกมองอย่างไร?...
...แล้วท่านผู้อ่านล่ะ มองมันอย่างไร?....
4 บันทึก
13
7
3
4
13
7
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย