1 มี.ค. 2021 เวลา 01:30 • ธุรกิจ
การจะสร้างอะไรที่แปลกใหม่ แปลว่าคุณต้องกล้าที่จะแตกต่าง และกล้าลงมือทำ
แต่หากโอกาสนั้นมันริบหรี่จนแทบมองไม่เห็น คุณจะกล้าลงมือทำมันหรือไม่?
2
วันนี้ Career Fact ขอนำเสนอเรื่องราวของ ‘พี่หมู’ ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งแอพพลิเคชั่น Ookbee หนึ่งใน User-Generated Content (UGC) Community ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เขาคือผู้ที่ประสบสำเร็จมาด้วยพรแสวง การมองหาโอกาส และความเชื่อในการลองลงมือทำ
1
#จุดเริ่มต้นความสนใจคอมพิวเตอร์
เนื่องจากตอนเด็กๆ พี่หมูเป็นคนชอบเล่นเกมมากและสงสัยว่าเกมเหล่านี้มันสร้างขึ้นมาอย่างไร เขาจึงไปเรียนเขียนโปรแกรมที่โรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ตั้งแต่อายุเพียง 10 ขวบ
พอเริ่มเขียนเป็น พี่หมูก็รู้สึกว่าการเขียนโปรแกรมเป็นเหมือนงานอดิเรกอย่างหนึ่งของตน ซึ่งงานอดิเรกนี้ก็นำไปสู่ความสนใจด้าน Tech Entrepeneur หรือการเริ่มต้นธุรกิจสายเทคโนโลยี
#เลือกเรียนไม่ตรงสายแต่ยังไม่ทิ้งสิ่งที่ชอบ
1
เมื่อต้องเข้ามหาวิทยาลัย พี่หมูตัดสินใจเลือกเรียนคณะวิศวะการบิน ด้วยเหตุผลว่า ตัวเองพอเขียนโปรแกรมเป็นอยู่แล้ว จึงอยากลองเรียนสาขาอื่นๆบ้าง และมองว่าเรียนจบมาเป็นนักบินก็เท่ดี แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้มีอาชีพด้านนี้ที่เขาสนใจ
ถึงแม้จะเข้าไปเรียนคณะวิศวะการบินแล้ว พี่หมูก็ยังไม่ทิ้งความสนใจในเรื่องคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด โดยในช่วงปีแรกๆ ที่เข้ามหาวิทยาลัย พี่หมูได้ทำงานประกอบคอมพิวเตอร์อยู่ที่พันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำควบคู่ไปด้วย ทำให้เขาได้พบปะพูดคุยกับคนที่ชอบเรื่องเดียวกันอยู่เสมอ และหลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มผันตัวมาเป็นฟรีแลนซ์รับจ้างเขียนโปรแกรมให้กับบริษัท SME ในยุคนั้น
#ค้นพบเส้นทางที่ใช่
การรับจ้างเขียนโปรแกรมยิ่งตอกย้ำว่าพี่หมูไม่เพียงชอบมันในฐานะงานอดิเรก เพราะต่อให้เป็น ‘งาน’ จริงๆ เขาก็ยังสนุกกับมัน และงานนั้นยังสามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองได้อีกด้วย จึงมองว่าการเขียนโปรแกรมสามารถนำมาทำเป็นอาชีพได้จริง
เมื่อเล็งเห็นโอกาสตรงนั้น พี่หมูจึงตัดสินใจเปิดบริษัทรับเขียนโปรแกรมขึ้นในที่สุด.
#ไม่มีเงินเดือนจ่ายพนักงาน
แม้ว่าจะเปิดบริษัทขึ้นมาแล้ว พี่หมูก็ยังรับงานส่วนมากมาทำคนเดียวอยู่ เนื่องจากพี่หมูเป็นคนที่ทำงานคนเดียวมาตลอด ทำให้รู้สึกว่าการเขียนโปรแกรมเองนั้นเร็วกว่า และมองว่าการที่ต้องไปคอยสอนงานคนอื่นนั้นต้องใช้เวลานาน
เมื่อบริษัทเริ่มโตขึ้น ระดับงานที่ได้รับก็ใหญ่ขึ้น ทำให้ไม่สามารถทำบางงานให้เสร็จได้ด้วยตัวคนเดียว อย่างไรก็ดี พี่หมูยังคงเลือกที่จะทำงานส่วนมากด้วยตัวเองอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคืองานเกิดความล่าช้าจนส่งให้ลูกค้าไม่ทัน ลูกค้าไม่จ่ายเงินค่าจ้าง และไม่มีเงินเดือนมาจ่ายให้พนักงานในที่สุด
สถานการณ์ตอนนั้นทำให้พี่หมูต้องทั้งนำเงินเก็บของตัวเองออกมาใช้ นำทรัพย์สินของบริษัทไปขาย และต้องยอมกลับไปยืมเงินที่บ้านเพื่อไปจ่ายให้กับพนักงาน ซึ่งการยืมเงินของที่บ้านในครั้งนั้นถือเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้พี่หมูตัดสินใจปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานของบริษัทใหม่ทั้งหมด จนสามารถทำต่อมาได้เรื่อยๆ อยู่เป็นสิบปี
#นำเทคโนโลยีมาแก้painpointตัวเอง
ช่วงที่ไอโฟนกำลังเข้าตลาดไทย พี่หมูมองว่าแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือนั้นแปลกใหม่ และน่าสนใจ จึงทดลองทำแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า Thai Beauty Clock ส่งขึ้นไปบน App Store ผลปรากฏว่าแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือนี้สร้างทั้งลูกค้าและรายได้ได้จริง
พี่หมูมองเห็นโอกาสการเติบโตในตลาดแอพพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือ และได้นำการเติบโตของตลาดมาช่วยแก้ Pain Point ของตัวเอง เพราะปกติแล้วพี่หมูไม่ค่อยชอบการที่ต้องออกไปขายของหรือติดต่อกับคนจริงๆ จึงคิดว่าหากมีตลาดออนไลน์ที่ให้ลูกค้าสามารถซื้อของ และให้ตัวเองขายของแบบไม่ต้องเจอหน้ากันได้ก็คงดี
ด้วยเหตุผลนั้น พี่หมูจึงนำไอเดียนี้ไปเสนอเหล่าสำนักพิมพ์ต่างๆ เพื่อจะสร้างแอพพลิเคชั่นให้กับสำนักพิมพ์เหล่านั้น หลายสำนักพิมพ์ต่างอยากมีแอพพลิเคชั่นเป็นของตัวเองจนพี่หมูสามารถสร้างแอพพลิเคชั่นให้มากกว่า 100 สำนักพิมพ์ และส่งขึ้น App Store ได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม พี่หมูเล็งเห็นถึงปัญหาของผู้ใช้ที่ต้องคอยโหลดแอพของแต่ละสำนักพิมพ์ จึงตัดสินใจสร้างแอพพลิเคชั่น Ookbee ขึ้นมาเพื่อรวบรวมหนังสือของทุกสำนักพิมพ์มาไว้ในที่เดียวกัน
1
#สร้างOokbeeให้เป็นStartup
พี่หมูเล่าว่าตอนที่เริ่มทำ Ookbee เขามองไว้แล้วว่าแอพพลิเคชั่นนี้จะเติบโตมาเป็นสตาร์ทอัพ เพราะคิดว่าในระยะยาว ตัวแอพพลิเคชั่นจะสามารถโตจนมีผู้ใช้จำนวนมากได้
เมื่อมองการณ์ไกลเช่นนั้นแล้ว บริษัทจึงต้องมีการระดมทุนเพื่อมาซัพพอร์ตลูกค้าในสเกลที่ใหญ่ขึ้น พี่หมูยอมรับว่าในช่วงแรกๆ ที่ยังไม่มีนักลงทุนนั้น ขอเพียงให้บริษัทอยู่รอดและพอจะโตได้ก็น่าพอใจแล้ว แต่เมื่อมีนักลงทุนมาร่วมระดมทุน ทางบริษัทจึงต้องมีเป้าหมายใหญ่ๆ เพื่อดึงดูดให้พวกเขาอยากเข้ามาลงทุน
ความท้าทายจึงเป็นการสร้างโครงสร้างธุรกิจอย่างไรให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งความท้าทายนี้ก็ยังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน เพราะต้องคอยวิเคราะห์ตลาด และหาช่องทางให้ธุรกิจเติบโตอยู่เสมอ
#ความท้าทายของการหาฐานลูกค้า
แน่นอนว่ากว่าจะสร้างแอพพลิเคชั่น Ookbee ให้ติดตลาดนั้นไม่ง่าย เพราะแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือในช่วงนั้นยังค่อนข้างใหม่สำหรับตลาดไทย
พี่หมูได้เล่าให้เราฟังว่าตอนนั้นพี่หมูเริ่มจากการเจาะตลาดกลุ่มนิตยสาร เพราะนิตยสารมีฐานลูกค้ามากอยู่แล้ว และเชื่อว่าหลายคนที่อ่านนิตยสารเป็นเล่มคงอยากทดลองมาอ่านแบบดิจิตอลบ้าง กลยุทธ์นี้จึงเป็นเหมือนการนำลูกค้าของนิตยสารแต่ละสำนักพิมพ์มาเป็นลูกค้าของ Ookbee
อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านไปสักพัก กลุ่มลูกค้าของ Ookbee เริ่มไม่โตเพราะลูกค้าบางคนไม่ได้ให้ความสนใจกับการอ่านนิตยสารในแอพพลิเคชั่น พี่หมูจึงต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ในการหาลูกค้า ซึ่งสิ่งที่ทำคือออกแพ็คเก็จเหมาจ่ายรายเดือน และเปิดระบบ Self-Publishing หรือ การที่ให้บุคคลทั่วไปเข้ามาเป็นผู้เขียนเองได้ อย่างไรก็ดี กลยุทธ์นี้ก็ยังมีความท้าทาย เพราะหากไม่มีคนเข้ามาเขียน ก็จะไม่มีผู้อ่าน พี่หมูยอมรับว่าช่วงแรกๆ แอพพลิเคชั่นเติบโตค่อนข้างช้า แต่ก็ยังเลือกที่จะโฆษณาต่อไป เพราะเชื่อว่าธุรกิจตัวนี้สามารถโตได้จริงๆ
#ความล้มเหลวหลักล้าน
พี่หมูดูเหมือนคนที่ลองทำอะไรก็ประสบความสำเร็จไปหมด แต่แท้จริงแล้วก็ยังมีสิ่งที่พี่หมูได้ริเริ่มแล้วล้มเหลวเช่นกัน
พี่หมูได้แชร์เรื่องนั้นให้เราฟังว่า หลังจากที่ทำ Ookbee ไปสักพัก พี่หมูก็คิดว่าตัวเองพอจะมีฐานลูกค้ามากพอควร ทั้งยังรู้จักความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างดีจากหนังสือที่พวกเขาเลือกอ่าน พี่หมูจึงตัดสินใจทำธุรกิจ E-Commerce ขึ้นมา ซึ่งได้ระดมทุนไปมากกว่า 5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 150 ล้านบาทในปัจจุบัน แต่เนื่องจากพี่หมูไม่ได้มีความรู้ด้าน E-Commerce มากพอ ทำให้ธุรกิจไม่ได้เติบโตตามที่ตั้งเป้าไว้ E-Commerce ที่ว่าจึงถูกปิดตัวลงในที่สุด
บทเรียนที่พี่หมูได้จากความล้มเหลวครั้งนี้คือ ควรเริ่มลองจากอะไรเล็กๆ คอยสังเกตไปเรื่อยๆ แล้วค่อยขยับขยายในภายหลัง
#เริ่มงานด้านการบริหารกองทุน
นอกจากด้าน Tech แล้ว พี่หมูก็ได้ผันตัวมาเป็นผู้บริหารกองทุนอย่าง 500 TukTuks อีกด้วย ซึ่งก่อนหน้าที่จะทำ 500 TukTuks พี่หมูเล่าว่าเคยเป็น Angel หรือ นักลงทุนใน tech startups มาก่อน ซึ่งตอนนั้นเป็นการใช้ทุนของตัวเอง และความยากอยู่ที่การเลือกบริษัทที่จะลงทุน โดยส่วนมาก พี่หมูจะดูที่ตัวทีม และ CEO ว่ามีประสบการณ์มากน้อยเพียงใด
เมื่อย้ายมาทำ 500 TukTuks ซึ่งเป็นกองทุนที่ใหญ่ขึ้น มีการระดมทุนจากภายนอกมากขึ้น แต่ความท้าทายก็ยังคงอยู่ เพราะการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพเหล่านี้ล้วนเป็นบริษัทที่อยู่ในระยะแรกเริ่ม และมีความเสี่ยงเนื่องจากไม่รู้ว่าธุรกิจจะเติบโตไปได้มากน้อยเพียงใด โดยบริษัทที่อยู่ในกองทุน 500 TukTuks ในปัจจุบันมีมากกว่า 80 บริษัทด้วยกัน เช่น Pomelo, Omise, Finnomena และ SkillLane เป็นต้น
#เป้าหมายต่อไป
สำหรับ Ookbee เป้าหมายต่อไปคือพี่หมูอยากสร้าง Ookbee ให้สามารถเติบโตและอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง และถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ขึ้นมาเป็นสตาร์ทอัพระดับ Unicorn ของประเทศไทย
ส่วนในด้านอื่นๆ พี่หมูมองว่าโลกนี้มีอะไรที่พัฒนามาอยู่เรื่อยๆ ก็ยังอยากลองทำอะไรใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้น และน่าสนใจ ถ้าเกิดเห็นโอกาสหรือช่องทางอะไรที่พอจะทำได้ ก็อยากลองลงมือทำดู
#คว้าโอกาสและลงมือทำ
สิ่งที่พี่หมูอยากฝากไว้ คือ หากเห็นโอกาสอะไร ให้รีบคว้ามันและลงมือทำ เพราะถ้าเรานิ่งเฉย และไม่ทำอะไร เราจะไม่ได้รู้ถึงผลลัพธ์ของสิ่งๆ นั้นเลย ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร อย่างน้อยเราก็ได้ลอง และหากมันล้มเหลว เราก็สามารถกลับมาแก้ไขในภายหลังได้เสมอ
#careerfact
………………
Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว
พูดคุยเรื่องการงาน ถกประเด็นต่างๆ แบ่งปันความรู้
เข้าร่วมกลุ่ม อู้งานมาคุย by Career Fact
โฆษณา