26 ก.พ. 2021 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สายพันธุ์ของกล้วยเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ในประเทศไทยและที่อื่นๆ ในโลก เรารู้จักกล้วยหลากหลายสายพันธุ์ ตั้งแต่กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยตานี กล้วยเล็บมือนาง กล้วยหักมุก และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ละสายพันธุ์ก็มีผิวสัมผัส ขนาด และรสชาติที่แตกต่างกันออกไป แล้วกล้วยสายพันธุ์ที่แตกต่างกันนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันครับ
กล้วยที่เรารู้จักและคุ้นเคยกันอยู่ในสกุล [Musa] ซึ่งพืชในสกุลนี้มีจุดกำเนิดในทวีปเอเชีย และกล้วยที่นำมากินเป็นอาหารนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกล้วยชนิด กล้วยป่า [Musa acuminata] หรือ กล้วยตานี [Musa balbisiana] หรือเป็นลูกผสมของกล้วย 2 ชนิดนี้ที่เรียกว่า [Musa × paradisiaca] โดยกล้วยป่ามีการกระจายในธรรมชาติอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในหมู่เกาะต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่กล้วยตานีมีการแพร่กระจายในตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนใต้ของจีน และในอินเดีย
กล้วยป่า [Musa acuminata] เป็นหนึ่งพืชชนิดแรกๆ ที่มนุษย์นำมาเพาะปลูก ถึงแม้ในช่วงแรกๆ มนุษย์อาจจะนำมาเพาะปลูกเพื่อประโยชน์อื่นๆ นอกจากกินผลเป็นอาหารเนื่องจากผลมีเนื้อน้อยและเมล็ดมาก เช่น เพื่อใช้เส้นใย วัตถุดิบในการก่อสร้าง โดยกล้วยป่าน่าจะถูกนำเพาะปลูก เริ่มแรกในนิวกินี อินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน และกล้วยก็ถูกคัดเลือกพันธุ์ให้เมล็ดในผลมีเมล็ดเล็กลงและไม่สามารถงอกได้ (Parthenocarpy) และเพาะปลูกผ่านการใช้เหง้าแทนจนได้สายพันธุ์ที่สามารถกินผลได้ (กลุ่ม AA ที่จะกล่าวถึงต่อไป) เมื่อกล้วยป่าถูกนำเข้ามาบนแผ่นทวีปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแพร่กระจายออกไป จึงได้เกิดลูกผสมกับกล้วยตานี [Musa balbisiana] ทำให้เกิดเป็นกล้วยสายพันธุ์ที่ทนแล้งได้ และกล้วยสายพันธุ์ต่างๆ ที่เรารู้จักเกิดขึ้น
3
ขอบเขตการแหลพร่กระจายของกล้วยป่า [Musa acuminata] (เขียว) และกล้วยตานี [Musa balbisiana] (สีส้ม) (ที่มา By Obsidian Soul - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=15403408)
เนื่องจากการเกิดลูกผสมของกล้วยทั้งสองชนิดนี้มีความซับซ้อนอย่างมาก นักวิทยาศาสตร์จึงพัฒนาระบบ A และ B มาเพื่อแสดงลักษณะของลูกผสม เพื่อทำให้เราเข้าใจลักษณะโครงสร้างทางจีโนม (Genome = สารพันธุกรรมทั้งหมดของสิ่งมีชีวิต) ของกล้วยได้ง่ายขึ้น โดย A แสดงพันธุกรรมที่มาจากชนิด [Musa acuminata] และ B แสดงโครงสร้างทางพันธุกรรมที่มาจากชนิด [Musa balbisiana] สัดส่วนสารพันธุกรรมจากกล้วยชนิดต่างๆ ทำให้เกิดกล้วยหลากหลายชนิดพันธุ์ นอกจากนั้นในชนิดพันธุ์เดียวกันก็อาจจะเกิดความแตกต่างเป็นได้อีกหลากหลายสายพันธุ์ของกล้วยอีกด้วย ในระบบการแบ่งของกล้วยยกตัวอย่างได้ดังนี้
กลุ่ม AA (กล้วยชนิดกล้วยป่า [Musa acuminata] ที่มีโครโมโซม 2 ชุดหรือเรียกว่า Diploid) มีลักษณะลูกเล็ก รสหวาน กลิ่นหอม กินสด เช่น กล้วยไข่ กล้วยหอม กล้วยเล็บมือนาง
กล้วยไข่
กล้วยหอมทอง (ที่มา โดย Steve Hopson, www.stevehopson.com, CC BY-SA 2.5, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1541726)
กลุ่ม AAA (กล้วยชนิดกล้วยป่า [Musa acuminata] ที่มีโครโมโซม 3 ชุดหรือเรียกว่า Triploid) การที่มีโครโมโซมจำนวนชุดมากขึ้นจึงทำให้ผลมีขนาดใหญ่กว่ากลุ่มแรก รูปร่างผลเรียวยาว มีเนื้อนุ่ม รสหวาน กลิ่นหอม กินสด เช่น กล้วยหอมทอง กล้วยหอมเขียว
กลุ่ม BB (กล้วยชนิดกล้วยตานี [Musa balbisiana] มีโครโมโซม 2 ชุด) ได้แก่ กล้วยตานี ผลอ่อนสามารถนำมากินสดได้ แต่ผลแก่มีเมล็ดมากทำให้ไม่นิยมกินสด ปลีและหยวกสามารถนำมากินได้
กล้วยตานี [Musa balbisiana] (ที่มา By Warut Roonguthai - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1867879)
กลุ่ม ABB เป็นกล้วยชนิดที่มีการผสมทั้งจากกล้วยป่า และกล้วยตานี โดยมีโครโมโซมของกล้วยป่า 1 ชุด (A) และโครโมโซมของกล้วยตานี 2 ชุด (BB) เช่น กล้วยหักมุกเขียว กล้วยน้ำว้า กล้วยนางพญาโดยกล้วยกลุ่มนี้จะมีแป้งมาก ขนาดผลใหญ่ ไม่นิยมรับประทานสด เพราะเมื่อสุกรสไม่หวานมาก บางครั้งมีรสฝาด นิยมนำมาต้ม ปิ้ง ย่าง และเชื่อม เพื่อที่จะทำให้รสชาติดีขึ้น
กลุ่ม AAB เป็นกล้วยที่จีโนมของกล้วยป่า 2 ชุด (AA) และจีโนมของกล้วยตานี 1 ชุด (B) เมื่อผลสุกจะมีรสชาติดีกว่ากล้วย ABB เช่น กล้วยน้ำ กล้วยน้ำฝาด กล้วยไข่โบราณ แต่ก็มีกล้วยกลุ่ม AAB ที่มีลักษณะคล้ายกับกล้วย ABB ที่มีแป้งมาก สุกแล้วผลไม่นิ่ม เนื้อแข็ง ซึ่งจะถูกจัดเป็นกลุ่มย่อยกล้ายหรือกล้วยกล้าย (Plaintain) จะกินได้เมื่อสุกเท่านั้น ซึ่งกล้ายนี้จะเป็นพืชอาหารที่นิยมกินกันในทวีปแอฟริกา หมู่เกาะแคริบเบียน อเมริกากลางและอเมริกาใต้
กล้ายหรือกล้วยกล้าย (Plaintain) (ที่มา By Daegis - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=5215401)
นอกจากนี้ยังมีกล้วยที่มีโครโมโซม 4 ชุดหรือ Tetraploid ทำให้ผลมีขนาดใหญ่ โดยอาจจะมีโครงสร้างของจีโนมได้ตั้งแต่ AAAA, AAAB, AABB, ABBB ในบางเอกสารก็ระบุว่า กล้วยน้ำว้ามีพันธุกรรมแบบ AABB
นอกจากกล้วยแล้ว สตรอว์เบอร์รี่ก็มีจุดกำเนิดที่ซับซ้อนเช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
1. Ploetz, R.C.; Kepler, A.K.; Daniells, J. & Nelson, S.C. (2007). "Banana and Plantain: An Overview with Emphasis on Pacific Island Cultivars". In Elevitch, C.R (ed.). Species Profiles for Pacific Island Agroforestry (PDF). Hōlualoa, Hawai'i: Permanent Agriculture Resources (PAR)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา