5 มี.ค. 2021 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
แอปเปิ้ล 🍏 มาจากไหน แล้วทำไมปลูกในเมืองไทย แอปเปิ้ลถึงไม่มีลูก
ผลไม้ต่างชาติที่ได้รับความนิยมอย่างมากชนิดหนึ่งคือ แอปเปิ้ล แต่ผลไม้ชนิดนี้ที่เราเห็นทั้งหมดที่วางขายนั้นมาจากต่างประเทศ แอปเปิ้ลมีต้นกำเนิดมาจากไหนกันแน่ แล้วทำไมเราถึงไม่สามารถปลูกแอปเปิ้ลให้มีลูกในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยได้?
แอปเปิ้ลที่ถูกปลูกมาเป็นอาหารนั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Malus domestica] โดยมีหลักฐานว่าแอปเปิ้ลนั้นเริ่มมีการปลูกเพื่อนำมาใช้เป็นผลไม้ตั้งแต่เมื่อมากกว่า 4,000 ปีก่อนในเขตตะวันออกใกล้ โดยการปลูกแอปเปิ้ลนั้นมาในเวลาใกล้เคียงกับที่มนุษย์รู้จักการทาบกิ่ง โดยการทาบกิ่งเป็นประกอบส่วนที่เป็นต้นตอ (Stock) ทำหน้าที่เป็นระบบรากของต้นพืชใหม่ และส่วนของกิ่งพันธุ์ดี (Scion) อยู่เหนือรอยต่อ ทำหน้าที่เป็นส่วนยอดหรือกิ่งก้านลำต้นของพืชต้นใหม่ การที่เราปลูกต้นแอปเปิ้ล แล้วเอากิ่งพันธุ์ดีมาทาบ ทำให้เราสามารถได้ลูกแอปเปิ้ลที่พันธุ์ดีได้ จากตะวันออกใกล้ แอปเปิ้ลถูกนำไปยุโรปและแอฟริกาเหนือโดยชาวกรีกและโรมันผ่านทางการค้าบนเส้นทางสายไหม ก่อนที่จะแพร่กระจายไปและเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกโดยชาวยุโรปนำไปที่ทวีปอเมริกาในสมัยของการล่าอาณานิคม
ภาพวาดใบ ดอก และผลของแอปเปิ้ล (ที่มา By Franz Eugen Köhler, Köhler's Medizinal-Pflanzen - List of Koehler Images, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=255429)
แต่แอปเปิ้ลที่เรากินกัน [Malus domestica] นั้นไม่ได้พบในธรรมชาติ แต่เป็นการนำแอปเปิ้ลชนิดอื่นมาปรับปรุงพันธุ์ โดยแอปเปิ้ลชนิดที่เป็นต้นกำเนิดของแอปเปิ้ลนั้น ได้แก่ แอปเปิ้ลป่าที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Malus sieversii] ซึ่งลูกมีขนาดเล็กกว่า และมีรสชาติเปรี้ยว แอปเปิ้ลชนิดนี้ที่แพร่กระจายอยู่ในเทือกเขาเทียนชาน (Tian Shan) ทางตอนใต้ของประเทศคาซัคสถาน เคอร์จิกิสถาน เทอร์จิกิสถาน และทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน
แอปเปิ้ลป่า [Malus sieversii] (ที่มา By Agricultural Research Service (Research agent of United States Department of Agriculture) - http://www.ars.usda.gov/Aboutus/docs.htm?docid=6310, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=25478)
เส้นทางสายไหมที่ผ่านเทือกเขาเทียนชาน (Tien Shan) (ที่มา CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=540413)
โดยแอปเปิ้ลป่านี้มีความเหมือนกันกับแอปเปิ้ลทั้งทางลักษณะต้น ลักษณะผล และข้อมูลทางพันธุกรรม อย่างไรก็ตามแอปเปิ้ลที่นำมาปลูกนั้นไม่ได้มีต้นกำเนิดจากแอปเปิ้ลป่าเพียงชนิดเดียว แต่มีการผสมรวมกับแอปเปิ้ลอื่นๆ ด้วย เนื่องจากพืชในสกุล [Malus] อย่างแอปเปิ้ลนั้นไม่สามารถผสมพันธ์ุในดอกตัวเองได้ แต่ต้องได้รับละอองเกสรที่มาจากสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการผสมข้ามต้นหรือข้ามสายพันธุ์ได้ และมนุษย์ก็ทำการคัดเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นมาเพาะปลูกต่อไป ทำให้แอปเปิ้ลที่นิยมปลูกกันในปัจจุบันอาจจะมีพันธุกรรมของแอปเปิ้ลชนิดอื่นมาผสมได้
แอปเปิ้ลอีกชนิดหนึ่งที่มาผสมพันธ์กับแอปเปิ้ลป่า ทำให้เกิดเป็นแอปเปิ้ลสายพันธุ์ต่างๆ ในปัจจุบันคือ European crab apple [Malus sylvestris] ซึ่งมีการแพร่กระจายอยู่ในยุโรปในธรรมชาตินั้นผลของแอปเปิ้ลชนิดนี้จะมีรสชาติฝาด เนื่องจากมีส่วนผสมของแทนนินอยู่มาก เมื่อเกิดการผสมพันธ์ุกันระหว่างแอปเปิ้ล 2 ชนิด ลูกผสมที่เกิดขึ้นจะมีผลที่มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น มีเนื้อที่แน่นขึ้น และมีกลิ่นและรสที่อร่อยขึ้น และเมื่อเกิดการคัดเลือกพันธุ์ให้มีลักษณะที่หลากหลาย จึงทำให้ในปัจจุบันมีสายพันธุ์ของแอปเปิ้ลมากกว่าหลายพันสายพันธุ์ในโลก
1
European crab apple [Malus sylvestris] (ที่มา By Wasrts - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=27811950)
ทำไมแอปเปิ้ลถึงไม่ออกลูกในประเทศไทย?
ต้นแอปเปิ้ลสามารถเจริญจากการเพาะเมล็ดได้ในประเทศไทย แต่ไม่สามารถติดผลได้ เนื่องจากต้นแอปเปิ้ลต้องการอุณหภูมิต่ำกว่า 7 องศาเซลเซียส (0-7 องศาเซลเซียส) เป็นเวลา 500-1,000 ชั่วโมงเพื่อกระตุ้นให้ฮอร์โมนเพื่อให้ตุ่มตาเจริญต่อไปเป็นดอกถูกปล่อยออกมา และทำให้ดอกบานออกเมื่ออุณหภูมิอุ่นขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ แอปเปิ้ลบางสายพันธุ์ถูกคัดเลือกให้ต้องการจำนวนชั่วโมงนี้สั้นลงถึง 300 ชั่วโมง แต่ถึงแม้กระนั้นในแทบจะทั่วประเทศไทย ไม่มีพื้นที่ไหนเลยที่จะมีจำนวนชั่วโมงที่อุณหภูมิต่ำกว่า 7 องศาเซลเซียสถึง 300 ชั่วโมงในหนึ่งปี
ฝรั่งเป็นผลไม้ไทยหรือผลไม้ฝรั่ง
เอกสารอ้างอิง
1. Cornille A, Gladieux P, Smulders MJ, et al. New insight into the history of domesticated apple: secondary contribution of the European wild apple to the genome of cultivated varieties. PLoS Genet. 2012;8(5):e1002703. doi:10.1371/journal.pgen.1002703
2. Duan, N., Bai, Y., Sun, H. et al. Genome re-sequencing reveals the history of apple and supports a two-stage model for fruit enlargement. Nat Commun 8, 249 (2017). https://doi.org/10.1038/s41467-017-00336-7

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา