12 มี.ค. 2021 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
วงจรชีวิตของปูม้า และธนาคารปูม้าช่วยปูม้าได้อย่างไร?
3
ตอนที่เรากินปู เช่น ปูม้า ส่วนใหญ่เราจะเห็นปู 2 ระยะ คือ ระยะของปูตัวเต็มวัยที่เราเอามาปิ้งหรือนึ่งกินกัน และระยะของไข่ที่เป็นฟองที่อาจจะติดอยู่บนกระดองของปู แต่ระหว่างนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ลูกปูม้าต้องผจญภัยกับอะไรบ้าง วันนี้จะมาเล่าให้ฟังครับ
ปูม้า หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Blue Swimmer Crab มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Portunus armatus] เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย โดยพบได้ในแทบทุกพื้นที่ที่ติดทะเลของประเทศไทยทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย โดยอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำและแถบชายฝั่งทะเลที่มีระดับความลึกน้อยกว่า 40 เมตร โดยปูม้าจะหากินในเวลากลางคืน โดยจะฝังตัวอยู่ใต้พื้นทราย แล้วโผล่มาแค่ลูกตา
ปูม้าเพศผู้จะมีสีฟ้าอ่อน มีจุดขาวบนกระดอง มีก้ามเรียวยาว จับปิ้งรูปสามเหลี่ยมเรียวยาว ในขณะที่เพศเมียจะมีสีไม่สดใส สีเขียวหรือสีน้ำตาล มีจุดขาวบนกระดองเช่นกัน จับปิ้งของปูตัวเมียจะกว้าง และมีกล้ามที่สั้นและกระดองกลมกว่าปูม้าเพศผู้
ปูม้าเพศผู้ (ที่มา By self - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=4963391)
ในการผสมพันธุ์ปูม้าเพศผู้จะลอกคราบก่อนจนเริ่มกระดองแข็งก็จะมาจับปูเพศเมียล็อกไว้ข้างล่างประมาณ 4-10 วันและไล่ตัวผู้ตัวอื่นๆ ไปจากเพศเมียตัวนั้นและตัวผู้จะช่วยตัวเมียให้ลอกคราบ เมื่อลอกคราบแล้วตัวเมียจะยังกระดองนิ่ม ตัวผู้จะหงายตัวเมียขึ้นและใส่ถุงสเปิร์มเข้าไปในท้องของเพศเมีย เมื่อผสมพันธุ์เสร็จแล้ว ตัวผู้จะเกาะบนตัวเมียต่ออีก 3-4 วัน จนตัวเมียกระดองแข็งแล้วจึงออกไปผสมพันธุ์กับตัวเมียตัวอื่นต่อไป
ปูม้าเพศเมียทางด้านท้อง และไข่ปูม้าในระยะต่างๆ (ที่มา Chandrapavan et al., 2018)
เมื่อถึงฤดูกาลวางไข่ ปูม้าตัวเมียจะเริ่มมีไข่ติดอยู่บริเวณรยางค์ซึ่งเคยเป็นขาว่ายน้ำในระยะวัยอ่อน และผสมกับสเปิร์มที่ตัวเมียเก็บไว้ในบริเวณจับปิ้งของปูม้า โดยในระยะแรกไข่จะอยู่ภายในกระดอง ต่อมากระดองทางหน้าท้องเปิดออกทำให้เห็นไข่ชัดเจน จึงเรียกปูม้าลักษณะนี้ว่า ปูม้าที่มีไข่นอกกระดอง ไข่จะเจริญแบ่งเซลล์อยู่ภายในเปลือกไข่ สีของไข่จะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีเหลืองอมส้มเป็นสีเหลืองปนเทา สีเทา และสีเทาอมดำ ปูม้าที่มีไข่สีเทาอมดำจะวางไข่ภายใน 1-2 วัน ปูม้าจะทำการปล่อยไข่ไปในทะเล โดยปูม้าหนึ่งตัวสามารถปล่อยไข่ได้ 180,000 - 2 ล้านฟอง แล้วไข่จะฟักออกมาเป็นตัว
ปูม้าในระยะต่างๆ ตั้งแต่โซเอี้ย (Zoea) เมกาโลปา (Megalopa) ปูม้าวัยอ่อน และตัวเต็มวัย (ที่มา Mcleay et al., 2017)
ตัวอ่อนระยะแรกจะเรียกว่า Zoea หรือโซเอี้ยเป็นตัวอ่อนที่มีขนาดเล็ก และไม่สามารถว่ายน้ำได้แต่จะดำรงชีวิตแบบแพลงค์ตอนคือ ล่องลอยไปในน้ำ โดยอาจจะล่องลอยไปไกลจากฝั่งถึง 80 กิโลเมตร และส่วนใหญ่ของตัวอ่อนจะถูกกินโดยปลาหรือแมงกะพรุน โดยในระยะโซเอี้ยนี้จะมีอายุ 10-14 วัน ก่อนที่จะเข้ามาสู่ในบริเวณน้ำตื้นและลอกคราบไปสู่ระยะ Megalopa
ในระยะ Megalopa หรือเมกาโลปา ปูม้าจะกลับมาอยู่ในน้ำตื้นเพิ่มขนาดและน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว รูปร่างจะคล้ายกับปูมากขึ้น แต่ยังมีขนาดเล็กประมาณเหรียญ 50 สตางค์ โดยในระยะนี้ปูม้าจะอาศัยอยู่ตามพื้นท้องน้ำทะเลหรือน้ำกร่อย ในระยะนี้ในทุกๆ ครั้งที่ตัวอ่อนลอกคราบจะมีขนาดและน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยระยะนี้จะกินระยะเวลา 2-6 วัน ก่อนที่จะลอกคราบเพื่อเข้าสู่ระยะตัวปูครั้งแรก (First crab) และลูกปูม้าวัยอ่อน ในระยะนี้ปูม้าจะหน้าตาเหมือนกันกับปูที่เรารู้จัก แต่ยังมีขนาดเล็ก ในระยะนี้จะมีอายุ 15-19 วัน
ในระยะนี้ลูกปูม้าจะมีรูปร่างเหมือนปูตัวเต็มวัย และจะเข้าสู่วัยสืบพันธุ์เมื่อมีขนาดกระดองประมาณ 9 เซนติเมตร เมื่อจะลอกคราบครั้งสุดท้ายก่อนจะเข้าตัวเต็มวัย ปูม้าจะเริ่มพร้อมที่จะผสมพันธุ์ และกระดองอาจจะขยายต่อได้จนถึงขนาด 20 เซนติเมตร ใช้เวลา 3-5 เกือน
ในปัจจุบันจากการล่าปูม้าที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดความคิดที่จะสร้างธนาคารปูม้าขึ้น เพื่อที่จะเพิ่มปริมาณไข่ที่รอดของปูม้าให้มากขึ้น โดยเมื่อชาวประมงจับปูม้าตัวเมียที่มีไข่อยู่นอกกระดอง ก็จะนำมาปล่อยที่กระชังที่อยู่ในทะเลหรืออยู่ในโรงเรือน จนเมื่อแม่ปูเขี่ยไข่ออกจากหน้าท้อง ก็นำแม่ปูไปขายได้ โดยไข่จะถูกอนุบาลจนถึงระยะโซเอี้ย แล้วจึงถูกปล่อยลงไปในทะเล เพื่อเพิ่มจำนวนตัวอ่อนปูม้าในทะเลให้มากขึ้น และให้ตัวอ่อนปูม้าเจริญเป็นปูม้าตัวใหญ่ต่อไป เพื่อให้มีความยั่งยืนในการจับปูม้า
3
ในต่างประเทศอาจจะมีการใช้วิธีอื่น เช่น จำกัดจำนวนการจับ การปิดพื้นที่การจับตามฤดูกาล หรือ การจำกัดไม่ให้จับปูม้าที่มีขนาดเล็กเกินไป เพื่อเปิดโอกาสให้ปูม้าได้ปล่อยไข่รอบแรกออกไปในธรรมชาติก่อน ให้เกิดการประมงของปูม้าที่ยั่งยืนต่อไป
โครงการธนาคารปูม้า (ที่มา https://www.nrct.go.th/crabbank)
รู้จักหมีน้ำกันไหมครับ?
เอกสารอ้างอิง
2. Mcleay, Lachlan & Doubell, Mark & Roberts, Shane & Dixon, Cameron & Andreacchio, Lorenzo & James, Charles & Luick, John & Middleton, John. (2015). Prawn and crab harvest optimisation: a bio-physical management tool. South Australian Research and Development Institute (Aquatic Sciences). Final Report to the Fisheries Research and Development Corporation. 79pp.
5. Chandrapavan, Arani & Kangas, Mervi & Johnston, D & Caputi, Nick & Hesp, A & Denham, Ainslie & Sporer, E. (2018). Improving confidence in the management of the blue swimmer crab (Portunus armatus) in Shark Bay. Part 1: Rebuilding of the Shark Bay Crab Fishery.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา