26 มี.ค. 2021 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำไมพลูด่างถึงไม่เคยออกดอก?
พลูด่าง [Epipremnum aureum] เป็นพืชที่ทุกคนรู้จัก หลายๆ คนอาจจะมีพลูด่างอยู่ที่บ้าน แต่ถ้าเราสังเกตพลูด่างดีๆ เราจะเห็นว่า พลูด่างที่เราปลูกไม่ว่าเราจะเลี้ยงดีแค่ไหน ต้นใหญ่แค่ไหน พลูด่างก็ไม่เคยออกดอก ทำไมพลูด่างถึงไม่เคยออกดอก และถ้าพลูด่างออกดอก ดอกจะหน้าตาเป็นอย่างไร? วันนี้เราจะไปดูกันครับ
พลูด่างเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวในวงศ์บอน (Family Araceae) ที่มีพืชในวงศ์กว่า 3,700 ชนิด โดยชนิดที่อาจจะรู้จักกัน เช่น บอน เขียวหมื่นปี สาวน้อยประแป้ง หน้าวัว และเผือก โดยพืชในวงศ์นี้แทบทุกชนิดมีดอกช่อแบบช่อเชิงลดมีกาบ (spadix) ยกเว้นพลูด่างที่ในสภาวะปกติจะไม่ออกดอก
พลูด่างเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่บนเกาะโมโอเรอา (Mo’orea) ที่เป็นส่วนหนึ่งของ เฟรนช์พอลินีเชีย (French Polynesian) ที่เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก พลูด่างถูกมานำเป็นไม้ประดับในหลายประเทศ และในหลายพื้นที่พลูด่างได้แพร่กระจายออกไปในธรรมชาติถึงแม้จะไม่ใช่ไม้พื้นถิ่นก็ตาม และกลายเป็นพืชรุกรานต่างถิ่นในหลายพื้นที่ เช่น ในประเทศศรีลังกา
ที่ตั้งของเฟรนช์พอลิเนเชีย อยู่ในกรอบสีแดง (ที่มา https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/1/13/French_Polynesia_in_France.svg)
พลูด่างสามารถโตได้ถึงขนาด 20 เมตร และมีลำต้นเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 4 เซนติเมตร โดยเป็นไม้เลื้อยที่จะปีนไปตามพื้นผิวต่างๆ และใช้รากอากาศ (aerial roots) เกาะตามสิ่งต่างๆ ถึงแม้ว่าตัวอย่างจะมีขนาดใหญ่ แต่ว่าพลูด่างแทบจะไม่เคยออกดอก (Shy-flowering) เพราะเนื่องจากพลูด่างมีความผิดปกติในทางพันธุกรรมที่ทำให้ไม่สามารถสังเคราะห์ฮอร์โมนที่ชื่อว่า จิบเบอเรลลิน (Gibberellin) ได้ ทำให้พืชขาดฮอร์โมนชนิดนี้ที่มีหน้าที่กระตุ้นการแสดงออกของยีนที่ทำให้พืชออกดอก ทำให้พืชไม่สามารถออกดอกได้ตามธรรมชาติ โดยนักวิทยาศาสตร์สามารถกระตุ้นการออกดอกของพลูด่างได้โดยการพ่นฮอร์โมนจิบเบอเรลลินใส่พืช จะสามารถกระตุ้นให้พืชออกดอกได้ โดยดอกที่ออกจะมีลักษณะเป็นดอกช่อแบบช่อเชิงลดมีกาบ (spadix) แบบพืชวงศ์บอนชนิดอื่นๆ
ช่อดอกของพลูด่าง ซึ่งเป็นช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ (ที่มา Hung et al., 2016)
โดยนักวิทยาศาสตร์ทำการฉีด Gibberellic acid หรือ gibberellin A3 หรือ GA3 ความเข้มข้น 2,500 mg/l ใส่ต้นพืช แล้วดอกตูมของพลูด่างจะงอกออกมาหลังจาก 7-8 สัปดาห์
Gibberellic acid หรือ GA3 ที่กระตุ้นให้พลูด่างออกดอกได้ (ที่มา By created by Minutemen using BKchem 0.12 - Own work, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1906246)
เผือกก็อยู่ในวงศ์บอน แล้วเผือกมาจากไหน?
เอกสารอ้างอิง
1. Hung, CY., Qiu, J., Sun, YH. et al. Gibberellin deficiency is responsible for shy-flowering nature of Epipremnum aureum. Sci Rep 6, 28598 (2016). https://doi.org/10.1038/srep28598

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา