23 ก.พ. 2021 เวลา 07:00 • ข่าว
"เหยียดคนเอเชีย" จากความกลัวสู่ความเกลียดชัง ปัญหาเรื้อรังรุนแรงในสหรัฐฯ
3
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายชุมชนในสหรัฐฯมีข่าวเหตุรุนแรงพุ่งเป้าโจมตีคนเชื้อสายเอเชียจำนวนมาก ทั้งการปล้นชิงทรัพย์ และทำร้ายร่างกาย โดยเหยื่อผู้เสียหายส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ ขณะที่ตลอดทั้งปีที่แล้ว (มี.ค.-ธ.ค.2563) มีสถิติการแจ้งเหตุทำร้ายร่างกายคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย 2,808 ราย
1
ข่าวการถูกทำร้ายร่างกายเสียชีวิตของ นายวิชา รัตนภักดี ผู้ที่มีเชื้อสายไทย วัย 84 ปี ในนครซานฟรานซิสโก เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดกระแสการเคลื่อนไหวทั้งจากภาครัฐและชุมชนคนไทยในสหรัฐฯ และทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจปมปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนเชื้อสายเอเชีย
เครือข่ายสังคมออนไลน์ร่วมกันออกมาแชร์คลิปวิดีโอเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนเชื้อสายเอเชียผ่านอินสตาแกรมและทวิตเตอร์ พร้อมรณรงค์ผ่านแฮชแท็ก #AsiansAreHuman และ #JusticeForVicha เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมด้านสิทธิมนุษยชน และต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ
5
กรณีที่เกิดขึ้นกับคุณปู่วิชา รัตนภักดี ไม่ได้เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่คนเชื้อสายเอเชียและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก (Asian American and Pacific Islander-AAPI) ตกเป็นเหยื่อถูกทำร้าย ที่เมืองซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย หญิงชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนาม วัย 64 ปี ถูกทำร้ายร่างกายชิงทรัพย์ไปเป็นเงินกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่นิวยอร์ก หญิงชราชาวอเมริกันเชื้อสายฟิลิปปินส์ วัย 61 ปี ถูกทำร้ายร่างกายบนรถไฟใต้ดิน และที่เมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ชายเชื้อสายจีน วัย 91 ปี ถูกทำร้ายร่างกายที่ย่านไชน่าทาวน์ กรณีทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา และเหยื่อผู้เสียหายเหล่านี้ถูกคิดว่าเป็นคนจีน เป็นตัวแพร่เชื้อไวรัส
5
:: โรคโควิด-19 กระตุ้นความเกลียดชังคนเอเชีย
2
พบว่าการก่อเหตุรุนแรงจากความเกลียดชังต่อคนเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการปลุกปั่นให้เกิดภาวะความเกลียดกลัวคนต่างชาติ (xenophobia) จากข่าวเชื้อโรคร้ายที่มีต้นตอมาจากประเทศจีน
4
ขณะเดียวกันการที่ในช่วงตลอดปีที่ผ่านมา อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มักใช้ถ้อยคำ "Hate speech" ที่แสดงออกถึงความเกลียดชัง ซ้ำๆ บ่อยครั้ง ทั้งในโซเชียลมีเดียและเวลาออกไปปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ตั้งแต่ข้อความที่ว่า "ไวรัสจีน" "ไวรัสอู่ฮั่น" "กังฟลู" (kung flu) หรือหวัดจากจีน และประโยคที่บอกว่าจะต้องให้จีนชดใช้ต่อความเสียหายที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้
ผู้ร่วมชุมนุมสนับสนุนทางการเมืองของประธานาธิบดีทรัมป์ร่วมตะโกนถ้อยคำรุนแรงเหล่านี้มานานหลายเดือน จากแค่ตะโกนเฉยๆ ก็กลายเป็นออกมาหาเหยื่อก่อเหตุทำร้ายร่างกาย
6
สำนักงานตำรวจนิวยอร์กเปิดเผยว่า เมื่อปีที่แล้วนับตั้งแต่มีข่าวโควิด-19 อาชญากรรมจากความเกลียดชังคนเชื้อสายเอเชีย ในนิวยอร์ก เพิ่มขึ้นถึง 1,900% ด้านองค์กร Stop AAPI Hate เปิดเผยว่า มีการแจ้งเหตุรุนแรงจากการเกลียดชังต่อต้านชาวเอเชียถึง 2,808 ราย ระหว่างเดือนมีนาคม-ธันวาคม ปีที่แล้ว ใน 47 รัฐและกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ขณะที่แนวโน้มการเกิดเหตุรุนแรงยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้
1
:: ความเป็น Model Minority ของคนเอเชียในอเมริกา
1
ที่ผ่านมาในสายตาคนผิวขาวมักมองว่า คนเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯเป็นชนกลุ่มน้อยดีเด่น เป็นกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต มีฐานะทางสังคมดี มีการศึกษาสูง มีรายได้มากกว่าคนเชื้อสายอื่นๆ ทั้งที่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆ คนเชื้อสายเอเชียถูกมองว่าเป็นคนขยัน อดทนทำมาหากิน
สื่อต่างๆ ก็มีภาพความสำเร็จ ความร่ำรวยของคนเชื้อสายเอเชีย อย่างในภาพยนตร์ "Crazy Rich Asians" และ "Bling Empire" ทาง Netflix ส่วนในภาพความเป็นจริง ผลการศึกษาของ Pew Research Center เมื่อปี 2561 พบว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียมีรายได้สูงกว่าคนเชื้อสายอื่นๆ ในสหรัฐฯ ด้านศูนย์ปฏิบัติงานสำนักงานนายกเทศมนตรีนิวยอร์ก เปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่า ผู้อพยพที่มาจากแถบเอเชีย มีฐานะอยู่ในเกณฑ์สูงสุดของรายงานด้านปัญหาความยากจนของเมือง
7
ขณะที่สาเหตุการก่ออาชญากรรมความรุนแรง ฉกชิงทรัพย์สินส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้คนจำนวนมากต้องตกงาน ขาดรายได้ประจำ ผู้ก่อเหตุเลือกเหยื่อที่ดูหน้าตาเป็นคนเชื้อสายเอเชียที่ถูกมองว่ามีฐานะร่ำรวย
2
:: #AsiansAreHuman ต้านการเหยียดคนเอเชีย
3
เคสแล้วเคสเล่าที่เกิดขึ้น ส่งผลให้คนในชุมชนคนเชื้อสายเอเชียอยู่ในภาวะระวังตัวขึ้นสูงสุด เพราะไม่รู้ว่าเหตุรุนแรงจะเกิดขึ้นกับตัวเองตอนไหน ขณะที่ผู้คนในโลกออนไลน์และบรรดาคนดังในแวดวงต่างๆ ทั่วโลกต่างออกมาประณามความรุนแรง และช่วยกันออกมาพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
เครือข่ายสังคมออนไลน์ร่วมกันออกมาแชร์คลิปวิดีโอเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนเชื้อสายเอเชียผ่านอินสตาแกรมและทวิตเตอร์ พร้อมรณรงค์ผ่านแฮชแท็ก #AsiansAreHuman และ #JusticeForVicha เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมด้านสิทธิมนุษยชน และต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ หลังเกิดกรณี นายวิชา รัตนภักดี ชายไทยวัย 84 ปี ถูกผลักล้มบาดเจ็บสาหัสขณะเดินออกกำลังกาย ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
6
บรรณาธิการนิตยสารแฟชั่น Allure มิเชล ลี และฟิลิป ลิม ดีไซเนอร์คนดัง ได้ออกมาโพสต์คลิปวิดีโอประสบการณ์ตรงจากการถูกเหยียดเชื้อชาติ และขอให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหานี้ผ่านแฮชแท็ก #StopAsianHate
ขณะที่คนดังในแวดวงฮอลลีวูดก็ออกมาร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อคนเอเชียผ่านแฮชแท็กนี้ อย่างคริสซี ทีเกน นางแบบและพิธีกรชาวอเมริกันเชื้อสายไทย ที่ออกมาโพสต์รูปภาพทางอินสตาแกรมเกี่ยวกับข้อมูลสถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้น และแชร์ข้อมูลช่องทางการสนับสนุนองค์กรและเครือข่ายที่ช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายจากการเหยียดเชื้อชาติ
นอกจากนี้ยังมี อีวา เฉิน และอควาฟินา ตามมาด้วย โอลิเวียร์ มันน์ นักแสดงชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนามที่ออกมาโพสต์รูปที่รวบรวมเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งสำคัญในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่มีชาวเอเชียเสียชีวิต ทั้งชายวัย 91 ปี ที่เมืองโอ๊คแลนด์ นายวิชา รัตนภักดี และหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนามที่ถูกโจมตีในเมืองซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย
4
:: การเยียวยาจิตใจคนในชุมชนคนเชื้อสายเอเชีย
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เล็งเห็นถึงความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยลงนามคำสั่งผู้บริหารประณามต่อการกระทำเลือกปฏิบัติและเหยียดเชื้อชาติเอเชียตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา จากนั้นได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงคำแนะนำในการต่อสู้กับการต่อต้านคนเชื้อสายเอเชียที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องมาจากความโกรธแค้นและวาทกรรมที่สร้างความเกลียดกลัวคนต่างชาติ ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ทำให้คนกลุ่ม AAPI ครอบครัว ชุมชน และธุรกิจของพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยง
4
นายไบเดนระบุว่า ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-10 คนเชื้อสายเอเชียแปซิฟิกที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด ทั้งการตกเป็นเหยื่อถูกคุกคามข่มขู่ด้วยถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติมากขึ้น รัฐบาลกลางจึงขอประณามการกระทำเหล่านั้น พร้อมกับยืนยันว่ารัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบและป้องกันการเหยียดเชื้อชาติ และต่อต้านการเลือกปฏิบัติ
โดยระบุว่าตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 คนเชื้อสายเอเชียแปซิฟิกที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และถูกคุกคามด้วยการเหยียดเชื้อชาติมากขึ้น รัฐบาลกลางในนามของตนจึงขอประณามการกระทำเหล่านั้น พร้อมทั้งชาวอเมริกันทุกคน โดยบอกว่าจะทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนเชื้อสายเอเชียแปซิฟิก ทั้งบริการด้านสาธารณสุข จัดหางาน และให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายในกรณีที่เกิดอาชญากรรมจากการเหยียดเชื้อชาติ
1
ด้านผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ตอนนี้มีหลายหนทางในการช่วยเหลือคนเชื้อสายเอเชียที่ต้องต่อสู้กับปัญหาความรุนแรง อย่างการรวมกลุ่มในชุมชน ตั้งกลุ่มอาสาออกลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุในย่านไชน่าทาวน์ การออกมาเป็นกระบอกเสียงช่วยกันตีแผ่ความรุนแรง เรียกร้องให้สังคมตระหนักถึงภัยอันตรายที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่กับคนผิวดำ และการสนับสนุนธุรกิจของคนเชื้อสายเอเชียในชุมชนต่างๆ ที่กำลังได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าต่างๆ.
1
ผู้เขียน: เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์
ข้อมูล: Human Right Watch, NBC, CNN, CNBC
👇อ่านบทความต้นฉบับ👇
โฆษณา