27 ก.พ. 2021 เวลา 06:00 • ไลฟ์สไตล์
‘ส้ม’ผลไม้พิษเยอะ ช่วยติด 'QR Code’ แหล่งผลิตได้ไหม?
”ส้ม” หนึ่งผลมีสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด เกินมาตรฐานความปลอดภัย ผู้บริโภคจึงอยากเห็น "QR Code" ที่มีรายละเอียดแหล่งผลิต และที่มาที่ใช้งานได้จริง และอยากแน่ใจว่าส้มที่วางขายปลอดภัยต่อการบริโภค
‘ส้ม’ผลไม้พิษเยอะ ช่วยติด 'QR Code’ แหล่งผลิตได้ไหม?
ตัวแทนผู้บริโภคยื่นพันรายชื่อ เรียกร้องซูเปอร์มาร์เก็ต 4 เจ้าใหญ่ ตรวจสอบและเปิดเผยแหล่งที่มาของส้มที่นำมาจำหน่าย หลังเก็บตัวอย่างส้มที่วางขายไปตรวจ พบสารเคมีอันตรายตกค้างเกินมาตรฐาน
จากการสุ่มตรวจส้มจากซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในปี 2563 ของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) พบสารพิษในทุกตัวอย่าง โดยส้ม 1 ผล มีสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด เฉลี่ย *0.364 มิลลิกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) จากที่กฎหมายกำหนด
โดยในจำนวนนี้ มีสารดูดซึมชนิดที่ไม่สามารถล้างออกได้ 30 ชนิด อาทิ คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) คาร์โบฟูราน (Carbofuran) อะเซตามิพริด (Acetamiprid) ฯลฯ ส่งผลโดยตรงต่อระบบประสาท เซลล์สมองและฮอร์โมนเพศ
กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนจากมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตอาจคัดเกรดส้มผลใหญ่ ผิวสวย เรียบเนียน สีทองแวววาวเข้ามาจำหน่าย ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็อาจจะชอบ แต่ที่ผู้บริโภคไม่รู้ คือ เมื่อมองไปที่ต้นทางการผลิต
“เกษตรกรต้องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืช ถึง 52 ครั้งต่อปี หรือทุกสัปดาห์ จนทำให้ส้มกลายเป็นผลไม้ที่แลกมาด้วยสุขภาพของคนกิน คนปลูก และสิ่งแวดล้อม”
1
เสียงเรียกร้องครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่าง กินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย ภายใต้งานรณรงค์ “ผู้บริโภคที่รัก หรือ Dear Consumers”
โดยเรียกร้องให้ซูเปอร์ฯ เจ้าใหญ่ อย่าง บิ๊กซี แม็คโคร โลตัส และ ท็อปส์ มีป้ายแสดงรายละเอียดสินค้า ณ จุดขาย และติด QR Code ที่ผู้ซื้อสามารถสแกนตรวจสอบแหล่งที่มา และความปลอดภัยของส้มที่นำมาขาย
ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องนี้ในโลกออนไลน์ผ่านเว็ปไซต์ Dearconsumers.com และ Change.org/ToxicOranges แล้วกว่า 1,265 รายชื่อ
1
“เรามั่นใจว่าซูเปอร์ฯ จะทำตามข้อเรียกร้องนี้ได้ ที่จริงบางเจ้าก็พยายามติด QR code อยู่แล้ว แต่ยังใช้ไม่ได้จริงซะทีเดียว แค่พัฒนาให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกษตรกรปลูกส้มและผลิตอาหารอื่นๆ ด้วยวิธีที่ปลอดภัยขึ้น ...” ข้อความส่วนหนึ่งของแคมเปญรณรงค์
ฐานิตา วงศ์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่งานรณรงค์ องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย และเจ้าของแคมเปญรณรงค์ฯ บน Change.org กล่าวว่า
“ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรู้ว่าส้มที่พวกเราต้องการซื้อ มาจากสวนไหน จังหวัดไหน ล็อตไหน ปลูกช่วงเดือนไหน ใช้ยาหรือสารเคมีอะไรบ้างในปริมาณเท่าไหร่ และก่อนที่ห้างจะนำมาขายมีกระบวนการคัดเลือกสินค้าอย่างไร”
ที่ผ่านมา ทีมงานรณรงค์ ‘ผู้บริโภคที่รัก’ พยายามทำงานร่วมกับ บิ๊กซี แม็คโคร โลตัส และ ท็อปส์ และได้เดินหน้าเข้าพบเนื่องในเทศกาลตรุษจีน มอบตระกร้าส้มและอั่งเปามงคลรวบรวม 1,265 รายชื่อ พร้อมความคิดเห็นของผู้บริโภค เพื่อส่งเสียงว่า ผู้บริโภคอยากเห็น QR Code ที่มีรายละเอียดแหล่งผลิตและที่มาที่ใช้งานได้จริง และอยากแน่ใจว่าส้มที่วางขายปลอดภัยต่อคนกิน
จากการเดินสายเข้าพบทั้ง 4 ห้าง พบว่า ส่วนใหญ่รับฟังและตอบรับข้อเรียกร้องจากผู้บริโภค โดยให้คำมั่นที่จะพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าส้มให้ดีขึ้น
อารยา เผ่าเหลืองทอง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของท็อปส์กล่าวว่า ที่ผ่านมาท็อปส์ทำงานกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เพื่อให้มั่นใจว่า ส้มหรือผลผลิตนั้นๆ ปลอดภัย ไร้สารตกค้างอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบบังคับให้เกษตรกรป้อนข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตทางการเกษตรเข้าสู่ระบบ จึงทำให้ได้ข้อมูลไม่ครบ สำหรับ QR Code ทางท็อปส์ขอเวลาศึกษาข้อมูลรวมถึงความเป็นไปได้ เพื่อเพิ่มข้อมูลสำคัญตามข้อเรียกร้องของผู้บริโภค
ขณะที่ พรเพ็ญ นาถพิริยรัตน์ รองประธานกรรมการ ฝ่ายกำกับดูแลคุณภาพสินค้าโลตัส กล่าวว่าบริษัทได้ทำ QR code สำหรับสินค้าเกษตรทุกตัวอยู่แล้ว และยืนยันว่าส้มแต่ละล็อตที่นำมาวางขายถูกสุ่มตรวจสารเคมี หากพบว่าเกินค่ามาตรฐานก็จะถูกคัดออก โดยโลตัสรับปากว่าจะเพิ่มข้อมูลที่มาของสินค้า แต่ก็ยอมรับว่ามีข้อมูลบางส่วนที่เป็นความลับทางการค้าของบริษัทที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนเลิกจำหน่ายส้มนอกฤดู เพื่อตัดปัญหาส้มปนเปื้อนสารเคมี
ด้านแม็คโครซึ่งร่วมมือกับกิจกรรมรณรงค์ ‘ผู้บริโภคที่รัก’ อย่างต่อเนื่อง มีนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคมและงดรับของขวัญ ทางบริษัทจึงขอรับข้อเรียกร้องผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเดียวกับบิ๊กซี ที่แม้ก่อนหน้านี้จะมีท่าทีลังเล และไม่เคยตอบรับเข้าร่วมกิจกรรม แต่ก็ยอมพิจารณาข้อเรียกร้องที่ถูกส่งไปทางอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน
หลังจากนี้ ทีมงานรณรงค์จะติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานจากซูเปอร์ฯ ทั้ง 4 และจะรายงานความคืบหน้าผ่านเพจเฟสบุ๊ค ‘ผู้บริโภคที่รัก’ ต่อไป
“อยากชวนให้ผู้บริโภคช่วยกันตรวจสอบว่าห้างทำตามสัญญาหรือไม่ เพียงแค่หยิบโทรศัพท์มือถือมาสแกน QR code ที่แสดงอยู่บนฉลากอาหารที่วางขายในซูเปอร์ฯ โดยอาจจะเริ่มจากส้มก็ได้ บางคนอาจจะคิดว่าเราเป็นแค่คนซื้อ จะไปบังคับคนขาย หรือภาคธุรกิจได้อย่างไร
จริงๆ แล้วผู้บริโภคอย่างเรามีพลังมากกว่าที่หลายคนคิด ไม่มีเรา คนขายก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งวันนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า เมื่อผู้บริโภคร่วมกันส่งเสียง ภาคธุรกิจจึงเริ่มขยับ” ฐานิตา วงศ์ประเสริฐ กล่าว
โฆษณา