28 ก.พ. 2021 เวลา 04:30 • ประวัติศาสตร์
หัวล้านสยาม : ตำนานหัวล้านไทย
สวัสดีเจ้าค่ะพี่ท่านทุกคน หลังจากที่หญิงหายหน้าหายตาไปนาน เพราะเนื่องจากรักษาตัวโรคไตวายเรื้อรัง ตอนนี้หญิงก็ปรับตัวและอาการดีขึ้นมากแล้วเจ้าค่ะ วันนี้วันดีหญิงจึงถือโอกาสกลับมาลงบทความไทยๆอีกครั้ง เพื่อให้พี่ท่านทุกคนจะได้อินและรักความเป็นชาติสยามให้มั่นคงในหัวใจตราบนานเท่านานกันเจ้าค่ะ
สำหรับบทความในวันนี้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานของหัวล้านสยามเจ้าค่ะ แน่นอนว่าหนุ่มๆที่แก่ตัวไปหลายคนมักลงเอยกับผมที่เริ่มน้อยลงเรื่อยๆจนในที่สุดบางคนก็หัวล้านกันไป ซึ่งแน่นอนว่าความหัวล้านนี้ไม่ใช่ว่าจะพึ่งมีในยุคนี้หรอกนะเจ้าค่ะ หากแต่มีมาตั้งแต่อดีตนู้นเลย คนโบราณถึงกับมีการสังเกตุลักษณะของหัวล้านแล้วตั้งชื่อเปรียบเปรยกับสิ่งต่างๆรอบตัวกันเลยละเจ้าค่ะ ซึ่งวันนี้เราจะมาเรียนรู้และทำความรู้จักหัวล้านสยามทั้ง 7 แบบตามตำรากันเจ้าค่ะ
1. ทุ่งหมาหลง
สำหรับหัวล้านประเภทนี้ คือพวกที่หัวล้านอย่างมากเจ้าค่ะ ล้านชนิดที่ว่าตกขอบมีผมพอให้เดาว่าเป็นหัว เฉพาะตรงตีนผมเท่านั้น เปรียบเทียบว่า ถ้าเป็นดั่งทุ่งก็มองเห็นแต่ฟ้ากับฟ้า หากเอาหมาไปปล่อยก็คงจะมีแต่หลง เพราะหาทิศหาทางไม่เจอมองไปทางใหนก็เวิ้งว้างไปหมดนั้นเองเจ้าค่ะ
1
* ว่าแต่มีหนุ่มคนไหนมาถึงทรงหัวล้านนี้แล้วบ้างเจ้าค่ะ
2. ดงช้างข้าม
มาต่อกันที่หัวล้านทรงต่อไปกันเลยเจ้าค่ะ ทรงนี้เป็นทรงที่มีความหัวล้านเป็นทางจากหน้าผากไปถึงท้ายทอยเจ้าค่ะ มีสัณฐานคล้ายกับแม่น้ำที่มีปากน้ำอยู่เหนือหน้าผากก็ว่าได้ หากจะเปรียบเปรยเป็นดง รอยหัวล้านนี้ก็เปรียบได้กับเส้นทางเดินของช้างนั้นเองเจ้าค่ะ โดยความกว้างของทางจะมากน้อยหรือแคบ กว้างเท่าไรก็ได้แต่จะไม่ตกขอบ คือช้างยังสามารถมองเห็นแนวดงป่าตลอดสองข้างทางได้อยู่นั้นเองเจ้าค่ะ
* ว่าแต่มีหนุ่มคนไหนมาถึงทรงหัวล้านนี้แล้วบ้างเจ้าค่ะ
3.ง่ามท่าโพ
สำหรับทรงหัวล้านนี้ ว่ากันว่าเป็นล้านแบบหัวเถิก กล่าวคือ เถิกเข้าไปสองข้างขมับ โดยยังเหลือผมอยู่ตรงกลางเหนือกระหม่อมไปตลอดจนถึงด้านหลังนั้นเองเจ้าค่ะ
* ว่าแต่มีหนุ่มคนไหนมาถึงทรงหัวล้านนี้แล้วบ้างเจ้าค่ะ
4. ชะโดตีแปลง
ทรงที่สี่นี้หัวล้านจะมีลักษณะเป็นวงกลมกลางกบาล โดยยังมีผมนั้นล้อมรอบอยู่ทั้งซ้ายและขวาเจ้าค่ะ บริเวณหน้าและหลังจะเหมือนปลาชะโดตีแปลงจนน้ำกระจายกระเซ็นออกไปรอบทิศ หากน้ำน้อยจนเกือบเป็นโคลนตมชะโดก็จะมีส่วนที่น้ำขังเป็นวงกลมชัดเจน จึงเป็นที่มาของชะโดตีแปลงอยู่ในแอ่งน้ำขังกลางกระบาลนั้นเองเจ้าค่ะ
* ว่าแต่มีหนุ่มคนไหนมาถึงทรงหัวล้านนี้แล้วบ้างเจ้าค่ะ
5. แร้งกระพือปีก
สำหรับทรงหัวล้านนี้ เป็นล้านแบบเถิกเข้าไปสองข้างขมับ โดยลึกเข้าไปโอบกระหม่อมจนไปต่อกับด้านหลัง เหลือกระจุกผมอยู่เพียงด้านหน้า ดั่งแร้งกำลังกะพื้อปีกนั้นเองเจ้าค่ะ
* ว่าแต่มีหนุ่มคนไหนมาถึงทรงหัวล้านนี้แล้วบ้างเจ้าค่ะ
6. ฉีกขวานฟาด
สำหรับทรงนี้ในบางตำราเรียกว่า ฉีกหางฟาด ก็มีเจ้าค่ะ กล่าวคือเป็นหัวล้านที่ไม่เลื่อม ยังมีผมบางๆอยู่ หากจะอุปมาก็คงจะคล้ายกับ ฉีกหางปลาหรือวัว ฟาดลงไปจะเห็นเป็นแนวอยู่ส่วนที่เป็นเวิ้งผมอาจจะมีรูปหาง ไปจนจรดท้ายทอยก็ได้นั้นเองเจ้าค่ะ
* ว่าแต่มีหนุ่มคนไหนมาถึงทรงหัวล้านนี้แล้วบ้างเจ้าค่ะ
7. ราชคลึงเครา
หัวล้านทรงนี้มีความหมายว่า พระราชาลูบเคราเจ้าค่ะ เป็นหัวล้านประเภทที่คล้ายกับหัวล้านทรงต่างๆที่กล่าวมาแล้วข้างตน หากแต่มีความพิเศษคือ มีหนวเครา เกินธรรมดาเพิ่มเข้ามาเจ้าค่ะ ซึ่งว่ากันว่าคนหัวล้านประเภทนี้จะมีขนหน้าออกที่ดกหนาอีกด้วย ตัวละครในวรรณคดีที่มีลักษณะหัวล้านแบบนี้คือ “ขุนช้าง” นั้นเองละเจ้าค่ะ
* ว่าแต่มีหนุ่มคนไหนมาถึงทรงหัวล้านนี้แล้วบ้างเจ้าค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างเจ้าค่ะ กับหัวล้านทั้ง 7 แบบที่หญิงนำมาฝากในวันนี้ ... คนโบราณนี้เขาก็ชั่งสรรหาเปรียบเปรยจริงๆว่ามั้ยเจ้าค่ะ ไม่ว่าจะเห็นอะไรก็สามารถสร้างสุนทรียะได้อยู่เสมอ และนี้ก็คือตำนานหัวล้านไทยที่หญิงนำมาฝากในวันนี้เจ้าค่ะ ยังไงก็มั่นดูแลสุขภาพเส้นผมกันดีๆนะเจ้าค่ะหนุ่มๆ อย่างน้อยมันก็อาจจะอยู่กับเรานาน นานมากพอที่จะไม่ต้องล้านนะเจ้าค่ะ อิอิ
เขียนและเรียบเรียงโดย : Le Siam
อ้างอิง : ตำนานหัวล้านไทย, 14 มิถุนายน 2537, ครบรอบ 5 ปี พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ่งไทย
ขอบคุณภาพจาก : พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ่งไทย
โฆษณา