2 มี.ค. 2021 เวลา 15:09 • หุ้น & เศรษฐกิจ
🔎 [ANALYSIS] - ทำไมอัตราดอกเบี้ยและการกู้ยืมเงินถึงทำให้เกิดวัฏจักรตลาดหุ้น ? อะไรทำให้หุ้นเป็น #ขาขึ้น หรือ #ขาลง ?
2
Ray Dalio ได้เคยมาอธิบายให้เราเข้าใจได้ง่ายๆแล้ว
1
📌 ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมานักลงทุนทุกท่านคงจะได้ยินข่าวกันแล้วว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (Bond Yield) อายุ 10 ปีของสหรัฐที่พุ่งขึ้นมาแตะสูงถึง 1.6% เป็นประเด็นหลักที่กำลังกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่
ทำให้หลายท่านอาจจะสงสัยว่า "#ทำไมตลาดหุ้นถึงต้องขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยสูงต่ำด้วย" ?
ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนั้นเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดทิศทางของตลาดหุ้น และไม่มีปัจจัยสำคัญไปมากกว่านี้แล้ว โดยถึงแม้ตลาดตราสารหนี้ (การกู้ยืมเงิน) อาจจะไม่ได้เป็นที่พูดถึงกันบ่อยเท่าตลาดหุ้น แต่เงินที่ไหลเวียนอยู่ในตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกนั้นใหญ่กว่าตลาดหุ้นทั่วโลกรวมกันถึงกว่า 3-4 เท่าเลยทีเดียว !
1
📌 ในปีที่ผ่านมาหลายท่านอาจจะได้ยินคำพูดที่ว่า "ช่วงนี้มีเงินไหลเข้ามาอยู่ในตลาดหุ้นเยอะ ทำให้ราคาหุ้นขึ้นง่ายๆ"
เงินที่เราพูดถึงกันเหล่านี้ก็คือเงินที่ไหลมาจากตลาดตราสารหนี้นั้นแหละครับ ที่เกิดจากการที่ดอกเบี้ยต่ำติดดินทั่วโลกทำให้เงินไหลออกมาหาผลตอบแทนที่สูงกว่า
1
ทั้งหมดนี้ทำให้วงจรของการกู้ยืมเงินนั้นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและต่อราคาของสินทรัพย์ (ราคาหุ้น) เป็นอย่างมาก และ Ray Dalio ก็เรียกวงจรของการกู้ยืมเงินว่าเป็น "ตัวกำหนดวัฏจักรของการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ทั่วโลกเลยทีเดียว"
📌 โดยอธิบายให้พวกเราฟังว่า
1️⃣ #หากโลกนี้ไม่มีการกู้ยืมเงิน ราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร ?
จริงๆแล้วการเติบโตของผลผลิตรวมของโลกเรานั้นตามทฤษฎีแล้วมันควรจะค่อยๆเพิ่มขึ้นเป็นเส้นตรงเพราะไม่มีเงินอัดฉีดเข้ามาทำให้เร่งการผลิตเพิ่มขึ้นได้ ใครผลิตได้เท่าไหนก็ได้เท่านั้น และการผลิตจะค่อยๆเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆตามธรรมชาติ และไม่ควรจะมีการลดลง
โดยราคาหุ้นซึ่งสะท้อนถึงผลผลิตรวมนั้นตามทฤษฎีแล้วควรจะมีแต่ค่อยๆขึ้นเป็นเส้นตรงตามภาพที่วงเลข 1 ไว้ด้านล่างเลยครับ การผลิตรวมของโลกนั้นจะเติบโตไปเรื่อยๆ จะไม่มีขาลงเพราะทุกๆฝ่ายก็ตั้งหน้าตั้งตาผลิตต่อไป ไม่ได้มีใครมีปัญหาอะไร
#แต่การกู้ยืมเงินนั้นจะทำให้โลกของเราซับซ้อนมากขึ้นเยอะ
1
2️⃣ เพราะโลกจริงๆของเรานั้น"มีการกู้ยืมเงิน"
การกู้ยืมเงินนั้นทำให้ผลผลิตของคนบางคน ธุรกิจบางธุรกิจ หรือ ประเทศบางประเทศ นั้นสามารถเติบโตได้เร็วกว่าที่อื่นและเป็นการสร้างให้เกิด "การโตที่เร็วกว่าธรรมชาติได้" ฟังเผินๆอาจจะดูเหมือนการกู้เงินเป็นสิ่งที่ดีอย่างเดียว เพราะสามารถทำให้โลกขยายการผลิตธุรกิจที่กำลังมีความต้องการสูงได้
แต่แน่นอนว่า #เหรียญนั้นมีสองด้านเสมอ
เมื่อมีการกู้ยืมมาก็ต้องมีการคืนเงิน แปลว่าวันนึงหากธุรกิจที่เติบโตเร็วกว่าธรรมชาตินั้นไม่ได้เป็นอย่างที่มองไว้เหมือนเดิม ธุรกิจไม่ได้โตได้ดังที่เคยคาดหวังไว้ ปัญหาก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในวันที่คน หรือบริษัท หรือประเทศเหล่านั้นต้องนำเงินไปคืน และหากพวกเขาไม่สามารถคืนเงินได้ หรือเกิดหนี้เสีย... ความซับซ้อนก็จะเริ่มเกิดขึ้น
3️⃣ การกู้เงินทำให้ราคาสินทรัพย์ (ราคาหุ้น) เพิ่มเร็วขึ้นกว่าธรรมชาติ
เพราะราคาหุ้นก็คือสินค้าอย่างนึง เป็นสินค้าที่ขึ้นลงตาม Demand/Supply ได้อย่างดี ทำให้พอมีการกู้ยืมเงิน คนที่มีเงินเยอะก็จะเข้ามาลงทุนซื้อหุ้นของกิจการที่กำลังทำกำไรได้ดี ทำให้ราคาหุ้นและสินทรัพย์เหล่ามีมูลค่าสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็วเกินธรรมชาติ การขยายผลผลิตก็สามารถทำได้เร็วขึ้นเกินธรรมชาติจากเงินทุนต่างๆที่ไหลเข้ามาจากการกู้ยืมเงิน
2
การกู้ยืมเงินเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลนึงที่ทำให้นักลงทุน VI หลายท่านต้องบ่นว่าทำไมราคาหุ้นถึงแพง ทำไม P/E Ratio ของหุ้นธุรกิจดีๆหลายตัวถึงสูงเกินกว่าจุดที่อยากเข้าซื้อ
4️⃣ ตราบใดที่เงินกู้ในตลาดยังเยอะอยู่ราคาของสินทรัพย์ก็จะอยู่สูงกว่าราคาธรรมชาติ
จากกราฟในรูปใหญ่สีฟ้า จะเห็นได้ว่าราคาของหุ้นที่เป็นเส้นทึบนั้นจะอยู่สูงกว่าเส้นตรงที่เป็นเส้นเบอร์ 1 ที่เกิดจากผลผลิตตามธรรมชาติอยู่เสมอ (ถ้ายังไม่ถึงขาลงที่จะอธิบายในข้อ 8) เพราะเหตุผลที่ได้เล่าไปแล้วว่าเงินที่มาจากการกู้นั้นเข้ามาเร่งผลผลิต โดยหากระบบการเงินไม่มีปัญหาราคาหุ้นอาจจะคงอยู่สูงกว่าเส้นเบอร์ 1 นี้ไปได้เรื่อยๆ
นี่คือเหตุผลที่ทำไม "ราคาหุ้นในปัจจุบันถึงอาจดีดสูงขึ้นเกินกว่าสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงไปแล้ว"
1
เพราะการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกและการอัดฉีดสภาพคล่องนั้นก็เสมือนกับเป็นการให้ตลาดกู้เงินครั้งใหญ่อีกรอบ
1
5️⃣ แต่เกมส์และวงจรนี้อาจจบลงได้ หากว่าเกิดหนี้เสียเยอะจนระบบวงจรการกู้เงินนั้นพังทลายลง
นี่เป็นปัญหาที่ธนาคารกลางทั่วโลกพยายามต่อสู้มาโดยตลอด ยกตัวอย่างเมื่อปี 2008 การลดดอกเบี้ยและเข้าซื้อสินทรัพย์ (ให้กู้) ครั้งใหญ่นั้นทำให้เศรษฐกิจโลกรอดมาได้อีกครั้ง ระบบวงจรการกู้ยืมนั้นยังไม่พังเพียงแต่ "หนี้ในอนาคตกำลังเพิ่มสูงขึ้น"
1
วิกฤตไวรัสโควิดในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน หากว่าระบบการกู้ยืมเงินยังคงสามารถหนีพ้นวิกฤตหนี้เสียไปได้และระบบยังไม่ล้ม เศรษฐกิจก็ยังจะเดินหน้าไปต่อและราคาสินทรัพย์ก็จะยังขึ้นสูงต่อไปได้ ต่อให้ทุกคนคิดว่าราคาจะแพงเกินไปก็ตาม เพราะการกู้ยืมเงินยังไม่สิ้นสุดนั้นเองครับ
📌 หวังว่ามาถึงจุดนี้คงพอจะตอบโจทย์ทุกท่านได้แล้วว่าทำไมการกู้ยืมเงินถึงมีความสำคัญมากต่อราคาสินทรัพย์ และทำไมในตลาดปัจจุบันถึงยังเป็นขาขึ้นแม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี
แต่เมื่อไหร่ล่ะที่วงจรการกู้ยืมนี้จะจบลง ?
เมื่อไหร่ที่ระบบนี้จะล้มลง ?
และเราจะเห็นราคาหุ้นโดนเทขายครั้งใหญ่ไหม ?
6️⃣ วงจรการกู้ยืมเงินนั้นแบ่งออกเป็น #ระยะสั้น และ #ระยะยาว
ก่อนจะตอบคำถามด้านบนได้นั้น ต้องเข้าใจวงจรทั้ง 2 ระบบก่อน อธิบายสั้นๆคือวงจรการกู้ยืมเงินระยะสั้นคือวงจรปัญหาที่ธนาคารกลางทั่วโลกสามารถรับมือและแก้ไขได้ และเราได้ผ่านวงจรหนี้ระยะสั้นมากว่า 7-8 ครั้งแล้วนับตั้งแต่ The Great Depression ในปี 1930s ไม่ว่าจะเป็นช่วง วิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
เวลาที่วงจรหนี้ระยะสั้นจบลงหรือเกิดหนี้เสียจนล้นระบบนั้น ทางธนาคารกลางยังสามารถแก้ไขปัญหาได้โดยการลดดอกเบี้ย แต่วงจรหนี้ระยะยาวนั้นคือเมื่อ "การลดดอกเบี้ยไม่สามารถช่วยอะไรได้อีกต่อไป"
📌 ลองมาทำความรู้จักผลกระทบของทั้ง 2 วงจรต่อราคาสินทรัพย์กันเลยครับ
7️⃣ วงจรการกู้ยืมเงินระยะสั้น = ภาพที่วงเลข 2 ด้านล่าง
เมื่อคนที่กู้ยืมเงินมาอาจไม่สามารถผลิตผลออกมาคืนเป็นเงินได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ถ้าธุรกิจเกิดขาดทุน ลูกหนี้ไม่สามารถคืนเงินได้ แน่นอนราคาของสินทรัพย์และผลผลิตต่างๆก็จะหดตัวลง การที่หุ้นไม่สามารถทำตามความคาดหวังได้ก็จะเกิดการเทขาย
แต่ผู้ที่ควบคุมดอกเบี้ยของการกู้ยืมทั่วโลกคือรัฐบาลกลางต่างๆของโลก ถ้าหนี้ดูเหมือนจะไม่สามารถคืนได้ มีหนี้เสียเยอะ เศรษฐกิจฝืดเคืองทางรัฐบาลก็จะลดดอกเบี้ยลงมาเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและกระตุ้นเศรษกิจใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็จะขึ้นดอกเบี้ยหากว่าการโตของเศรษฐกิจจะดูเร็วเกินไปต้องมีการดึงเงินออกนอกระบบ
การกำหนดอัตตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกนั้นจึงทำให้เกิดช่วงที่ผลผลิตโตเร็วและผลผลิตโตช้า สับๆกันไปเป็นรูปคลื่นดั่งรูปที่ 2 ด้านล่าง ส่งผลให้ราคาหุ้นหรือผลผลิตรวมของโลกนั้นมีช่วงขึ้นและลงจากแกนกลาง
ตามเวลาเฉลี่ยแล้ววัฏจักรของวงจรหนี้ระยะสั้นจะอยู่ที่ 5-8 ปี (หรือแต่ระรอบของ Recession นั้นเอง)
8️⃣ วงจรการกู้ยืมเงินระยะยาว = ภาพที่วงเลข 3 ด้านล่าง
ถึงแม้การขึ้นลงดอกเบี้ยของธนาคารกลางจะแก้ปัญหาได้เป็นรอบๆ แต่จะต้องมีวันนึงที่หนี้ในระบบนั้นเสียเยอะเกินกว่าการขึ้นลงดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ หากดอกเบี้ยนั้นต่ำมากจนลดไม่ได้แล้ว คนให้ยืมเงินก็จะไม่ยอมให้ยืมอีก เงินที่จะไหลเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปนั้นก็จะหมดไป เราเรียกสถานการณ์นี้ว่า "ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ" หรือ "Depression"
1
มันคือช่วงเวลาที่ตรงกันข้ามกับการกู้ยืมเงิน "มันคือช่วงเวลาที่คนไม่ยอมให้ยืมเงินแล้ว" เพราะฉะนั้นการผลิตที่เราเคยได้อยู่สูงกว่าการผลิตอย่างธรรมชาตินั้นจะต้องหยุดลง และแม้แต่การผลิตตามธรรมชาติก็ทำไม่ได้ เพราะคนต้องนำบริษัทหรือสินทรัพย์นั้นขายกลับคืนไปสู่เจ้าของ ผลผลิตในโลกจะน้อยมากๆ สภาพคล่องก็หาไม่ได้ คนก็จะต้องเทขายหุ้นกลับไปใช้หนี้ที่กู้ยืมมา
สถานการณ์ Depression แบบนี้ที่ธนาคารกลางช่วยเหลือไม่ได้จะเกิดขึ้นเป็นวัฏจักรทุกๆประมาณ 50-60 ปีครั้งในอดีต
9️⃣ หากเรานำเลขที่วงไว้ทั้ง 3 เลขมาประกอบกันเราก็จะได้เป็นวัฏจักรตลาดหุ้นนี่เอง !
วัฏจักรตลาดหุ้นที่มีการขึ้นลงรอบเล็กๆและรอบใหญ่ๆ แต่โดยรวมแล้วราคาหุ้นอย่างไรก็จะโตในระยะยาวเพราะผลผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องดูและหาจังหวะในการลงทุนที่ดี
1
จะเห็นได้ว่าการกู้ยืมเงินและดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางนั้นมีความสำคัญมาก หากดอกเบี้ยยังสามารถลดได้เราก็อาจจะผ่านช่วงเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ไปได้โดยยังไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Depression)
🔟 สถานการณ์ปัจจุบันของวิกฤตไวรัสโควิดทำให้เรากำลังอยู่ในช่วงไหนของวัฏจักร ?
จากที่เราเห็นราคาสินทรัพย์ที่ดีดตัวสูงขึ้นมาหลังจากการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางโดยเฉพาะ FED ทำให้เราควรเชื่อก่อนว่าตอนนี้เราก็ยังอยู่ในแค่ช่วงวงจรการกู้ยืมเงินระยะสั้นเท่านั้นที่ติดขัด ธนาคารกลางน่าจะยังช่วยดันให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วยหนี้ที่ใหญ่ขึ้น
1
แต่นั้นก็มาบนสมมุติฐานที่ทาง IMF และนักลงทุนต่างๆมองว่า GDP โลกปีนี้จะกลับมาโตที่ +5% กว่าๆและหลังจากการโตอย่างต่อเนื่องนั้นธนาคารกลางจึงจะค่อยๆลดสภาพคล่องในตลาดลงโดยการขึ้นดอกเบี้ย แต่หากไม่เป็นตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้และเศรษฐกิจกลับล้มลง วงจรหนี้ระยะยาวก็อาจจะสิ้นสุดลงก่อนได้
1️⃣1️⃣ แล้ววงจรการกู้ยืมเงินระยะยาวจะจบลงเมื่อไหร่ ?
คำถามนี้นั้นยังไม่มีใครรู้แม้แต่ตัว FED เอง เพราะทาง FED เองก็ยังไม่แน่ใจถึงพลังและความสามารถที่ตัวเองมีต่อตลาด นี่เป็นครั้งแรกที่ FED พยายามออกมาอุ้มหนี้มากมายและพิมพ์เงินออกมามากที่สุดในประวัติศาสตร์ และหากการทำเช่นนี้ได้ผลวงจรการกู้ยืมเงินระยะยาวอาจจะอยู่ไปได้ยาวกว่าในอดีตที่เคยเฉลี่ยอยู่ที่ 50-60 ปีก่อนจะมี FED และระบบการเงินปัจจุบันก็เป็นได้ ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้
📌 #สิ่งที่สำคัญที่อยากสรุปให้นักลงทุนทราบคือ
1
วงจรของการกู้ยืมนั้นสำคัญมาก มันคือจังหวะในการตั้งแผนการลงทุนระยะยาว การแบ่งเงินทุนไว้เข้าซื้อเมื่อวงจรหนี้ระยะสั้นนั้นสิ้นสุดลง การเตรียมแผนรับมือตลาดตกอย่างรุนแรงหากวงจรหนี้ระยะยาวจะสิ้นสุดลง
ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตมาเกือบ 100 ปี ตั้งแต่ Great Depression ในปี 1930s นั้น หากไม่มีการกู้ยืมราคาสินทรัพย์และการผลิตของโลกจะไม่มีวันมายืนอยู่ในระดับที่สูงและเร็วขนาดนี้แน่ๆ เพราะฉะนั้นทางออกจะมีเพียงแค่ 2 ทางในอนาคตคือ
1️⃣ โลกเราอาจสามารถผ่านทุกวิกฤตระยะสั้นไปได้ แต่ผลตอบแทนสินทรัพย์ในอนาคตคต่อปีจะเริ่มหดลงจนเส้นการผลิตตามธรรมชาติจะค่อยๆไต่ขึ้นมาจนชนกับราคาสินทรัพย์ได้ในอนาคต
1
2️⃣ โลกเราไม่สามารถรับมือกับวิกฤตที่เข้ามาหนักกว่าที่คาดไว้และวงจรหนี้ระยะยาวต้องจบสิ้นลง และราคาของสินทรัพย์ก็จะต้องหล่นกลับไปอยู่ในระดับของเส้นที่ 1 หรือต่ำกว่า
ซึ่งหากข้อ 2 นั้นเกิดขึ้นจริงๆก็จะน่ากลัวมากๆสำหรับตลาดหุ้นทั่วโลก
✅ ไม่ว่าทางออกของตลาดหุ้นจะเป็นแบบที่ 1 หรือ 2 ก็สามารถติดตามอัพเดทและบทวิเคราะห์จากทางเราได้
🙏 หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ต่อนักลงทุนทุกท่านนะครับ ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเพจของเรามาตลอดครับ ฝากกด Like และ Share เป็นกำลังใจให้แอดด้วยครับ ขอบคุณครับ 😊
#ทันโลกกับTraderKP
โฆษณา