4 มี.ค. 2021 เวลา 12:29 • สุขภาพ
☀️วัคซีนโควิด 19 ☀️ ฉีดตัวไหนดี?
ตอนนี้ยังไม่มีให้เลือกค่ะ ได้ตัวไหนมาก็ตัวนั้นแหละ 😀ถ้าไม่มีข้อห้าม
แต่ถ้าในอนาคตมีให้เลือกได้หลายตัวล่ะคะ จะเลือกอย่างไร?
ข้อดี ข้อด้อย ผลข้างเคียง และประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละตัว เทียบดูตัวต่อตัวกันเลย!
ภาพจาก depositphotos
ขณะนี้ประเทศไทยได้เริ่มโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564โดยเริ่มให้ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงก่อน
ถือว่าพวกเราอยู่ในประวัติศาสตร์เลยนะคะ 😀เพราะ การฉีดวัคซีนชนิดใหม่เอี่ยมให้ประชาชนจำนวนมากในระดับประเทศ(และในระดับโลก)อย่างนี้ ไม่เคยทำมาก่อนเลย!
วัคซีนชนิดใหม่นี้ นักวิทยาศาสตร์เพิ่งคิดค้นขึ้นมาได้ในระยะเวลาเพียง 1 ปี เท่านั้นเอง ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นมาก แต่ก็ได้ผ่านขั้นตอนการผลิตที่มีมาตรฐานอย่างดีที่สุด
การดำเนินการฉีดจึงต้องเป็นไปอย่างรัดกุม มีระบบการเฝ้าระวัง และรายงานผลข้างเคียงหลังการฉีดเป็นระยะๆ
🔺วัคซีนที่นำมาฉีดในระยะแรก มี 2 ยี่ห้อคือ
1. 🔺วัคซีนของ Oxford-AstraZeneca ชื่อ ChAdOx1 nCoV-19
2.🔺วัคซีนของ Sinovac ชื่อ Coronavac
เอกสารของกรมควบคุมโรค
🚩วัคซีนของ Oxford-AstraZeneca 🚩
เป็นชนิดที่ใช้ไวรัส ชื่อ Adenovirus เป็นพาหนะนำ สารพันธุกรรมที่กำกับการสร้าง spike protein (S protein)ของโควิด 19 เข้าไปในเซลล์ของคน ให้ผลิต S โปรตีน เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อ S โปรตีนนี้
(อ่านรายละเอียดที่ลิ้งค์นี้ได้ค่ะ
วัคซีนนี้จึงเป็น วัคซีนชนิดเชื้อที่มีชีวิต แต่ไม่ต้องกังวลว่าเชื้อ adenovirus จะเข้าไปแบ่งตัวในร่างกายเรา เพราะ ยีน( E1 gene)ที่ทำให้มันแบ่งตัวได้ ได้ถูกกำจัดไปแล้ว คือเป็น E1 deleted adenovirus vector และ adenovirus ที่ใช้ก็เป็นไวรัสของลิงชิมแปนซี
ซึ่งไม่ทำให้เกิดโรคในคน จึงไม่มีปัญหา
🔺ระยะห่างของการฉีดวัคซีน 🔺
วัคซีนนี้ฉีดเข้ากล้าม 2 เข็ม
ภูมิคุ้มกันขึ้นหลังจากฉีดเข็มแรก และหลังจากฉีดเข็ม 2 ภูมิคุ้มกันยิ่งขึ้นได้ดี
ในการศึกษาทดลอง ระยะเวลาที่ฉีดวัคซีน 2เข็ม ห่างกัน 28 วัน ภูมิก็ขึ้นได้ดีแล้ว แต่ต่อมาพบว่า ยิ่งฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกมากเท่าใด ภูมิยิ่งดีมากขึ้นไปอีก
“☀️ระยะห่างระหว่าง 2 เข็มยิ่งนาน ประสิทธิภาพ ยิ่งดี”☀️
ดังนั้น จึงเป็นที่มาของคำแนะนำของประเทศไทย ว่า☀️ระยะห่างการฉีด วัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก10-12 สัปดาห์☀️ จะได้ประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันสูงที่สุด
☀️ประสิทธิภาพ ของวัคซีน AstraZeneca☀️
หลังจากฉีดกระตุ้นเข็มที่ 2 14วัน พบว่า
มากกว่า 99%ของผู้เข้าร่วมการศึกษา มีการตอบสนองระดับภูมิคุ้มกัน (neutralizing antibody)ขึ้นสูงทุกกลุ่มอายุ
ถึงแม้ว่า ในกลุ่มผู้สูงอายุ ระดับภูมิคุ้มกันจะขึ้นน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆเล็กน้อย
การตอบสนองของ T cell ขึ้นสูงสุดที่ 14 วันหลังจากฉีดเข็มแรกในทุกกลุ่มอายุ
การตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ในคนที่อายุเกิน 65 ปี ถึงแม้จะขึ้นน้อยกว่ากลุ่มอายุอื่น แต่ก็มีภูมิสูงเพียงพอที่จะป้องกันโรคได้
ประเทศไทยจึงให้ใช้ในผู้สูงอายุได้ เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับ มีมากกว่าข้อเสีย และมีข้อมูลยืนยันมากพอสมควร
☀️ผลข้างเคียง วัคซีน AtraZeneca☀️
พบอาการข้างเคียง
86% ในกลุ่มอายุ 18-55 ปี
77% ในกลุ่มอายุ 56-69 ปี
65% ในกลุ่มอายุเท่ากับและมากกว่า 70ปี
แสดงว่าผู้สูงวัยทนวัคซีนนี้ได้ดีกว่า อาการข้างเคียงพบได้น้อยกว่ากลุ่มผู้ที่อายุน้อยกว่า
อาการข้างเคียงพบได้บ่อย แต่ไม่รุนแรง
อาการข้างเคียงที่พบได้ : เหนื่อยอ่อน หนาวสั่น ไข้ ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้
☀️ประสิทธิผล (Efficacy)ของวัคซีน AstraZeneca☀️ในการป้องกัน
ป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิตได้ 100%
ป้องกันโรคแบบมีอาการ ได้ 70.4%
ป้องกันโรคทุกแบบรวมทั้งที่มีอาการน้อย ได้ 54.1%
🔺สรุปว่า ฉีดแล้วไม่ป่วยหนัก ไม่ตายแน่ๆ แต่ยังมีโอกาสเป็นโรคโควิด 19 ที่มีอาการน้อยๆได้อยู่ คือ
ไม่ป้องกันโรคที่มีอาการอ่อนๆหรือไม่มีอาการ🔺
🚩วัคซีนของ Sinovac🚩
เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ใช้ 6 ไมโครกรัมต่อโด๊ส ฉีดเข้ากล้าม 2 เข็มเช่นเดียวกัน
การศึกษาระยะห่างของการฉีด เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก. 4 สัปดาห์ พบว่า ภูมิคุ้มกันขึ้นได้ดีกว่าห่างกัน 2 สัปดาห์ (ภูมิขึ้นสูงกว่าเกือบเท่าตัว)
ดังนั้น คำแนะนำของประเทศไทยจึงให้ห่างกัน 4 สัปดาห์ ภูมิจะขึ้นได้ดีที่สุด
ความจริงที่ 14 วันภูมิคุ้มกันก็ขึ้นได้แล้ว ดังนั้นในกรณีเร่งด่วน เช่น พื้นที่ที่มีการระบาดหนักก็ให้ฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์ได้
☀️ผลข้างเคียงของวัคซีน Sinovac☀️
ผลข้างเคียงผู้ใหญ่18-59ปีพบ 33% เป็นชนิดไม่รุนแรง
ผู้สูงวัยอายุมากกว่า 60 ปี มีอาการข้างเคียง 20 % ถือว่าไม่มาก
ไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงใดๆ
ผลข้างเคียงไม่รุนแรง หรือรุนแรงปานกลาง คือเจ็บบริเวณที่ฉีด และเป็นไข้ เกิดภายใน 7 วันหลังฉีด และ อาการเป็นอยู่ไม่เกิน 2 วัน
☀️ประสิทธิภาพ ของวัคซีน Sinovac☀️
พบว่าระดับภูมิคุ้มกัน ขึ้นได้ดี เมื่อฉีดเข็มที่ 2ห่างจากเข็มแรก 4 สัปดาห์
และภูมิในผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นได้ดี ถึงแม้จะน้อยกว่าในกลุ่มอายุ 18-59 ปี (40.7 เทียบกับ 44.1 )
เปรียบเทียบ ข้อดี ข้อด้อย ของวัคซีน 2 ชนิด
☀️ประสิทธิผล (efficacy)ของวัคซีน Sinovac
ป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิตได้ 100%
ป้องกันโรคแบบมีอาการ ได้ 65.3 %-91.2%
ป้องกันโรคทุกแบบรวมทั้งที่มีอาการน้อย ได้ 50.4%
ในผู้ที่อายุเกิน 60ปี ในรายงานยังมีจำนวนคนน้อย ถึงแม้ว่าจะมีภูมิคุ้มกันขึ้นได้ดี จึงยังไม่ได้แนะนำให้ใช้ได้ในประเทศไทย
แต่ถ้าผู้สูงวัยเป็นผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคสูง หรือเป็นกลุ่มเป้าหมายในการฉีด ก็ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่ได้ กับ ข้อเสียว่าด้านไหนมากกว่ากัน ถ้าประโยชน์มีมากกว่าก็พิจารณาให้ฉีดได้ ดูเป็นรายๆไป
🔺ข้อห้ามของการใช้วัคซีนทั้ง AstraZeneca และ Sinovac 🔺คือ
🔺การแพ้รุนแรงจากการฉีดครั้งก่อน หรือแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน🔺
ข้อควรระวังที่ควรเลื่อนการฉีดไปก่อน คือ เจ็บป่วยเฉียบพลัน แต่ถ้าเป็นแค่หวัดเล็กน้อยให้ฉีดได้
🔺ข้อควรระวังในการใช้วัคซีนนี้ในช่วงแรก:
ผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่อาการยังไม่คงที่ ผู้ที่มีโรคทางระบบประสาทรุนแรงในช่วงก่อนฉีดไม่กี่วัน
-ไม่ฉีดผู้หญิงตั้งครรภ์ (ยังไม่มีข้อมูล)
-ไม่ฉีดผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี (ยังไม่มีข้อมูล )
-ไม่จำเป็นต้อง เจาะเลือดดูภูมิคุ้มกันก่อนหรือหลังการฉีดวัคซีน
☀️ข้อดี ข้อด้อยของ วัคซีน AstraZeneca เทียบกับ Sinovac (ดูตารางข้างบน)☀️
-ผลข้างเคียงของ Sinovac พบน้อยกว่า (33% vs 86%)
-AstraZeneca มีข้อมูลในผู้สูงอายุ(แม้จะไม่มาก) Sinovac ยังไม่มีข้อมูลในผู้สูงอายุ
-Sinovac ทำจากเชื้อตาย จึงใช้ได้ปลอดภัยกว่าในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมาก
🔺คำถาม -คำตอบ 🔺
1.☀️ฉีดแล้วป้องกันการติดเชื้อ และแพร่เชื้อได้ไหม?
-ป้องกันการแพร่เชื้อได้ไม่สมบูรณ์ อาจจะไม่ป้องกันการติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย
2.☀️ฉีดแล้วป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ได้ไหม?
สายพันธุ์กลายพันธุ์ที่อังกฤษ (B.1.1.7 ) พบตั้งแต่ กันยายน 2020 มีการเปลี่ยนระหัส S protein ที่ตำแหน่ง N501Y ทำให้แพร่เชื้อได้เร็วขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้อาการรุนแรงขึ้น
สายพันธุ์กลายพันธุ์ที่อาฟริกา (B1.351) มีตำแหน่งที่เปลี่ยนระหัสมากขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิม มีความกังวลมากขึ้น เพราะตำแหน่งที่เปลี่ยนใกล้กับตัวที่จะจับกับ แอนตี้บอดี้(Neutralizing Antibody) มากขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน
จากรายงานการศึกษา วัคซีน Pfizer ประสิทธิภาพ ต่อสายพันธุ์กลายพันธุ์จากอาฟริกา( B1.351 )ตกลงไป 1.64 เท่า
ส่วนวัคซีน Moderna ตกลงไป ต่ำกว่า 6.4 เท่า คือยังมีส่วนป้องกันได้ แต่ต่ำลง
วัคซีน AstraZeneca ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธ์ุกลายพันธุ์จากอังกฤษ ( B 1.1.7) ตกลงไปบ้าง ยังพอป้องกันได้
แต่สำหรับสายพันธุ์ อาฟริกา B1.351ภูมิจะตกลงไปมากจนต่ำกว่า 1:50 จึงไม่มีประสิทธิภาพในการปกป้องเลย
ภาพจาก https://thainewsroom.com/2021/02/14/south-african-covid-variant-reaches-thailand/
วัคซีน Sinopharm เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายเช่นเดียวกับ Sinovac เรามาดูผลการป้องกันต่อสายพันธุ์ อาฟริกา B 1.351 ว่าเป็นอย่างไร
พบว่า Sinopharm สร้างภูมิต่อ B1.351 ลดลง 1.6 เท่า ดีกว่าModerna (ซึ่งลดลง6.4 เท่า)
Sinopharm เหมือนเป็นฝาแฝดของ Sinovac คือ เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายเหมือนกัน ดังนั้น 🔺แนวโน้มของ Sinovac ก็น่าจะมีภูมิป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ B 1.351 ได้ดีกว่า AstraZeneca🔺
ทั้งนี้ อาจารย์ กุลกัญญา อธิบายว่า วัคซีนชนิดเชื้อตาย เหมือนกระสุนลูกปราย ที่พอยิงออกไปแล้วจะแตกตัวไปทำลายศัตรูได้หลายจุด
วัคซีนชนิดเชื้อตาย จะนำไวรัสทั้งตัวมาทำวัคซีน ก็จะได้ส่วนต่างๆของไวรัส ที่อาจจะมี antigenic determinant บางส่วนที่มีการป้องกันข้ามไปยังสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ได้ดีกว่า วัคซีนชนิด virus vector ที่นำเฉพาะส่วนgeneที่ผลิต S protein มาทำเป็นวัคซีน
สรุป ว่าวัคซีน Sinovac อาจจะมีแนวโน้มป้องกันโควิดกลายพันธุ์ชนิดที่มาจากอาฟริกา(B1.351)ได้ดีกว่า วัคซีนของ AstraZeneca
3. ☀️ผู้ที่เคยคิดเชื้อโควิด 19 และหายแล้ว ต้องฉีดวัคซีนไหม?
ควรฉีด เพราะมีโอกาสเป็นซ้ำได้ มีรายงานพบว่าคนเป็นครั้งที่ 1 ห่างจากครั้งที่ 2 เพียง 3 เดือน.
ดังนั้นแนะนำให้วัคซีนห่างจากการติดเชื้อ 3-6 เดือน และฉีดเพียงแค่เข็มเดียวก็พอ ถือว่าเป็นการกระตุ้นภูมิ และไม่ต้องเจาะเลือดก่อนฉีด
4.☀️ฉีดวัคซีนแล้วภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานเท่าไร?
น่าจะอยู่ได้อย่างน้อย 6 เดือน หรืออาจจะถึง 1 ปี ยังไม่มีใครบอกได้แน่นอน ณ ขณะนี้
ภาพจากการบรรยาย ของ ศ พญ กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
5. ☀️ฉีดพร้อมวัคซีนอื่นได้ไหม?
วัคซีนของ AstraZeneca เป็นชนิดเชื้อมีชีวิต
ให้ฉีดห่างจากการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิตตัวอื่น (เช่น วัคซีนป้องกันสุกใส วัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมัน คางทูม )อย่างน้อย 4 สัปดาห์
และฉีดห่างจากวัคซีนชนิดเชื้อตาย และอื่นๆอย่างน้อย 2 สัปดาห์
วัคซีน Sinovac เป็นชนิดเชื้อตาย ให้ฉีดห่างจากวัคซีนอื่นๆ อย่างน้อย 2 สัปดาห์
แต่ถ้าเป็นวัคซีนจำเป็น เช่น ถูกสุนัขกัด และต้องฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ก็ให้ฉีดได้เลย ไม่ต้องรอ
ภาพจากการบรรยาย ของ ศ พญ กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
6.🌟ฉีดให้คนเป็นมะเร็ง กินยากดภูมิได้ไหม?
ผู้ที่มีภูมิคุ้มกัน บกพร่อง อาจตอบสนองต่อวัคซีนไม่ค่อยดี แต่ถ้ามีความเสี่ยงต่อโรคสูง อาจได้ประโยชน์จากกการฉีดวัคซีน ฉีดได้ทั้งสองชนิด
แต่ถ้ามีภูมิคุ้มกัน บกพร่องอย่างรุนแรง การใช้วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Sinovac) อาจจะปลอดภัยกว่าให้ชนิดเชื้อเป็น (AstraZeneca)
ภาพจาก https://www.sciencenews.org/blog/growth-curve/pregnant-women-personal-space
ภาพจากการบรรยาย ของ ศ พญ กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
7.☀️คนท้อง คนให้นมบุตร และ เด็กฉีดได้ไหม?
ยังไม่มีข้อมูลในคนท้อง แต่ถ้ามีความเสี่ยงสูงอาจพิจารณาให้ได้ อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
หญิงให้นมบุตรไม่เป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีน
ยังไม่ฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
ภาพจาก https://www.unicef.org
หวังว่าข้อมูลจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องตัดสินใจว่าจะฉีดวัคซีนชนิดใด
ไม่ว่าจะเป็นชนิดใด ก็ขอให้ร่วมใจกันไปฉีดค่ะ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในหมู่ประชาชน
และ ☘️สำหรับผู้ที่วางแผนจะไปท่องเที่ยวต่างประเทศ อย่างไรก็ต้องฉีดค่ะ ไม่เช่นนั้นก็อดเที่ยวค่ะ☘️
อ้างอิง
ข้อมูลการเปรียบเทียบวัคซีนทั้ง 2 ชนิดในบทความนี้ นำมาจากเอกสาร “แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19” ในสถานการณ์การระบาดปี 64 ของประเทศไทย โดยกรมควบคุมโรค กุมภาพันธ์ 2564
แนวทางการให้วัคซีนโควิด19_28022021.pdf
และ การบรรยายเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 64 เรื่อง “วัคซีน COVID-19 มาแล้ว ท่านพร้อมหรือยัง” ที่จัดโดย กรมการแพทย์ มี วิทยากรคือ ศ พญ กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ และ รศ นพ ทวี โชติพิทยสุนนท์ ทั้งสองท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อระดับชาติ
ถอดความ และสรุปโดย
พญ ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล กุมารแพทย์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา