7 มี.ค. 2021 เวลา 03:00 • กีฬา
ระวัง! ท่าดีใจเสี่ยงเจ็บ เลี่ยงได้ ควรเลี่ยง!
เจ็บจากการเล่นฟุตบอลก็ว่าแย่แล้ว แต่การเจ็บเพราะท่าดีใจเป็นอะไรที่แย่กว่า...
กีฬากับการดีใจเป็นของคู่กันอยู่แล้ว และฟุตบอลก็เป็นกีฬาที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องการดีใจของนักเตะที่ทำประตูได้ เพราะสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระ ทั้งพื้นที่ในการดีใจ ทั้งท่าทาง (แต่ต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง สถาบัน หรือการดูถูกชาติพันธุ์) ทำให้เราได้เห็นท่าดีใจมากมายที่เป็นสีสันมาโดยตลอด ซึ่งบางครั้งท่าดีใจก็เกิดขึ้นจากการเตรียมมาก่อนเกมการแข่งขัน หรือบางครั้งก็ออกมาจากความสะใจในขณะนั้นที่ผู้ทำประตูสามารถทำประตูได้และต้องการปลดปล่อยมันออกมาอย่างสุดขั้ว
แต่คงจะแย่ไม่น้อย หากใครก็ตามที่ต้องมาบาดเจ็บจากการดีใจ หากพูดกันตามตรงแล้ว มันค่อนข้างจะ "ไร้สาระ" เพราะการดีใจไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลการแข่งขัน แถมไม่ได้ส่งผลต่อการแข่งขันด้วยซ้ำ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากต้องมาหยุดเล่นเพราะเรื่องไม่เป็นเรื่องเช่นนี้ ซึ่งบางครั้งอาการบาดเจ็บอาจรุนแรงถึงขั้นพักยาวก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับท่าดีใจของแต่ละคน
การเจ็บจากท่าดีใจที่เราน่าจะเห็นอยู่บ่อยๆไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลนอก หรือฟุตบอลไทยนั่นคือท่า "สไลด์เข่า" เราสามารถเข้าใจได้ว่าสนามฟุตบอลในลีกระดับสูงของประเทศจะได้รับการการันตีเรื่องของ "หญ้า" ที่นุ่มและเรียดพอที่จะสไลด์โดยไม่มีอาการบาดเจ็บ แต่ต้องไม่ลืมว่าบางครั้งท่าดีใจของเราอาจจะสุดเหวี่ยงจนแม้แต่หญ้าที่ได้มาตรฐานก็เอาไม่อยู่
เอแดน อาซาร์ ซูเปอร์สตาร์ชาวเบลเยี่ยม คือตัวอย่างที่ชัดเจนของเคสนี้ ในสมัยที่อาซาร์ค้าแข้งกับเชลซี เขาทำประตูได้อย่างมากมาย และภาพที่แฟนบอลคุ้นตาคือการฉลองด้วยท่าสไลด์เข่าไปบนผืนหญ้าไม่ว่าจะสนามใดก็ตาม จนกระทั่งปี 2018 เขาถึงขั้นออกมาประกาศว่าจะเลิกดีใจด้วยท่าดังกล่าว
ท่าดีใจสไลด์เข่า ที่แฟนๆคุ้นตา
"ผมต้องหยุดทำท่านี้แล้วล่ะ เข่าของผมมันเสี่ยงมาก จะไม่มีการทำท่าดีใจแบบนั้นอีกแล้ว" อดีตแข้งเชลซีกล่าว หลังจากที่โชว์ให้เห็นแผลถลอกมากมายที่บริเวณเข่า ผ่านรายการ Chelsea TV แม้ว่าจะไม่ใช่อาการบาดเจ็บที่ถึงขั้นต้องพัก แต่ในระยะยาวย่อมไม่ใช่เรื่องดีเช่นเดียวกัน นี่จึงเป็นเคสแรกที่ควรระวังหากใครที่คิดจะดีใจด้วยท่านี้ คงต้องเช็คสภาพสนามให้ดีเสียก่อน ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลเสียมากกว่าเข่าของอาซาร์ก็เป็นได้
ทีนี้เรามาดูเคสที่หนักถึงขั้นต้องพักยาวกันบ้าง และมีตัวอย่างจาก 2 นักฟุตบอลไทยที่กำลังเข้าฟอร์มจนสุดท้ายเล่นเอาฟอร์มหลุดไปเลย เคสแรกเกิดขึ้นกับ ชาริล ชัปปุยส์ กองกลางดีกรีทีมชาติไทยกับเหตุการณ์สมัยที่ยังเล่นให้สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เมื่อปี 2013 กับการดีใจด้วยการวิ่งกระโดดดีใจ ปรากฏว่าจังหวะลงขาขวาที่ถึงพื้นก่อนเสียหลัก จนทำให้เข่าบิดงออย่างน่าหวาดเสียว ซึ่งทำเอาเจ้าตัวลงไปนอนเจ็บด้วยสีหน้าที่ไม่ดี สุดท้ายผลสแกนออกมาว่าหัวเข่าขวาบิด ต้องพักรักษาตัวอย่างน้อย 3 เดือน แต่ใครจะไปรู้ว่าแท้จริงแล้วมันไม่ใช่แค่ 3 เดือน
ชาริล ชัปปุยส์ กับสีหน้าสุดเจ็บปวดหลังเจ็บเพราะดีใจ
2 ปีให้หลัง แอนดี้ ชิลลิงเกอร์ นักกายภาพชาวเยอรมันในสมัยนั้นของทีมชาติไทย ให้สัมภาษณ์กรณีอาการบาดเจ็บหัวเข่าของ ชาริล ชัปปุยส์ ที่มีผลต่อเนื่องถึงขั้นต้องฉีดยาลงสนาม "อาการบาดเจ็บของ ชาริล มีปัญหาตั้งแต่ครั้งที่ตัวเค้ายังอยู่ บุรีรัมย์ เมื่อครั้งกระโดดดีใจจนทำให้หัวเข่าบิดมาแล้ว จากครั้งนั้นก็เป็นปัญหาเรื้อรังบริเวณหัวเข่าตลอด แม้กระทั่งที่ผ่านมาใน ซูซูกิ คัพ เขาต้องฉีดยาเพื่อลงสนาม"
ส่วนอีกหนึ่งเคสที่คล้ายกับชัปปุยส์ คือเคสของ "เจ้าทู" ชนานันท์ ป้อมบุปผา ที่เกิดขึ้นในฟุตบอลเอเชียนเกมส์ 2014 ในจังหวะดีใจที่กระโดดและขาขวาลงพื้นก่อนแบบผิดจังหวะ ส่งผลให้เอ็นไขว้หน้าเข่าขวาขาดต้องเข้ารับการผ่าตัด และพักยาวไปอีก 5 เดือน ซึ่งถือว่าน่าเสียดาย เพราะกำลังเป็นตัวหลักให้ทีมชาติไทยชุดนั้นด้วย
ชนานันท์ ป้อมบุปผา กระโดดลงผิดท่า เอ็นไขว้หน้าหัวเข่าขาด
อีกเคสในต่างประเทศอย่าง นิโคไล มุลเลอร์ ปีกของฮัมบูร์ก ในศึกบุนเดสลีก้า เยอรมัน ที่บาดเจ็บจากท่าดีใจ "เฮลิคอปเตอร์" ด้วยการกระโดดและลงมาผิดท่า ขาขวาถึงพื้นก่อนขาซ้าย ทำให้หลักไม่ดี ส่งผลให้พักยาว 7 เดือน เพราะเอ็นหัวเข่าฉีก
เราจะสังเกตได้ว่าอาการบาดเจ็บจากท่าดีใจด้วยการกระโดดสองขา แล้วจังหวะลงผิดพลาดจะส่งผลทำให้เกิดอาการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่าที่เป็นจุดรองรับน้ำหนัก ซึ่งส่งผลต่อเส้นเอ็นโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการบิดจนกระทั่งฉีกหรือขาดก็ตาม ฉะนั้นแล้วมีคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่า ควรจะกระโดดลงด้วยขาสองข้างพร้อมกัน จะเป็นการลดความเสี่ยงของอาการบาดเจ็บได้มากกว่า เพราะในจังหวะลงพื้นนั้น รองเท้าสตั๊ดที่เป็นปุ่ม จะมีการล็อคข้อเท้าให้ปักอยู่ที่พื้น หากจังหวะลงไม่ดี จะทำให้เกิดการบิดเฉพาะช่วงเหนือหัวเข่าขึ้นไป และส่งผลให้เส้นเอ็นตึงจนขาดหรือฉีกได้ อันเนื่องมาจากน้ำหนักที่เทลงไปที่เข่าข้างเดียว นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าการกระโดดลงด้วยสองขาถึงพื้นพร้อมกันจะเป็นเรื่องที่ปลอดภัยมากกว่า
หากนึกไม่ออกให้ลองนึกถึงท่าดีใจของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่มีท่าดีใจประจำตัวด้วยการกระโดดเป็นเกลียว แล้วลงพื้นด้วยขาสองข้างพร้อมกัน คิดดูครับว่าโรนัลโด้ทำประตูได้มากถึง 785 ประตู (สถิติ ณ วันที่ 7 มีนาคม 2021) และดีใจด้วยการกระโดดในท่าดังกล่าวมากกว่า 100 ครั้ง เขาก็ยังไม่มีอาการเจ็บให้เห็นเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ท่าดีใจซิกเนเจอร์ของ โรนัลโด้ ขาสองข้างลงพร้อมกัน ปลอดภัยมากกว่า
โฆษณา