9 มี.ค. 2021 เวลา 05:11 • ความคิดเห็น
🙋‍♀️ทำงานเก่งแทบตาย เจ้านายทำไมไม่เห็น❓
1
สรุปความจาก ​Clubhouse เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564
Moderator & Speeker: 👩🏼‍💼ครูโอ๋ เบญญาภา บุญพรรคนาวิก ผู้ซึ่งเป็นวิทยากรด้านการพูดและการแสดงออกให้กับบริษัทชั้นนำ เจ้าของเพจ KruOh Charming On Stage
ในห้องคลับเฮ้าส์วันนี้ มี Speeker สลับขึ้นมาให้คำแนะนำเวียนไปอยู่หลายท่าน แต่คนที่เป็นหลักในหัวข้อ “ทำงานเก่งแทบตาย ทำไมเจ้านายมองไม่เห็น” คือครูโอ๋คนเดียว ซึ่งมีผู้เข้าฟังคับคั่งหลักพัน
☝️ครูโอ๋เปิดประเด็นที่คำว่า “ทำงานเก่ง”
❌อย่าเข้าใจผิดว่าการที่ทำงานเก่งเป็นเรื่องพิเศษที่บริษัทต้องมองเห็นคุณ เพราะการทำงานเก่งของเรา เป็นเรื่องที่บริษัท “Paid for” อธิบายง่าย ๆ ก็คือ บริษัทคาดหวังให้คุณทำงานเก่งอยู่แล้ว เขาถึงได้ว่าจ้างคุณเข้ามาทำงาน
☝️ดังนั้นให้มาโฟกัสที่ “ทำไมเจ้านายมองไม่เห็น” หรือ “ทำไมไม่มีใครมองเห็น”
ครูโอ๋สรุปคำเดียว “การสื่อสาร” คนที่จะเติบโตในสายงานได้ต้องทำงานเก่งและสื่อสารเก่งด้วย ทำอย่างไรที่จะให้ “เสียงของงานเรา” ดังไปถึงหูเจ้านาย?
4
เรื่องนี้เป็นศิลปะ การที่จะเป็นคนสื่อสารเก่งไม่สามารถทำได้แบบดีดนิ้ว แต่เป็นทักษะที่ต้องได้รับการฝึกฝน
เบื้องต้นควรเริ่มจาก
1
📍 ปรับความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างาน ด้วยการรู้จักมารยาททางสังคม รู้ว่าการอยู่ร่วมกันควรจะต้องมีปฏิสัมพันธ์และสื่อสารกันอย่างไร เข้าที่ทำงานพูดคุยทักทายโอภาปราศัยกับใครหรือไม่ ยิ้มแย้มหรือหน้าบึ้ง
ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนเดินเข้าประตูไป เคยซื้อขนมซื้ออะไรติดไม้ติดมือไปฝากใครหรือไม่ หรือเคยเอ่ยปากช่วยเหลือใครบ้างหรือเปล่า พวกนี้ต่างสำคัญทั้งสิ้น เป็นความสัมพันธ์ที่ดี ที่จะทำให้การสื่อสารราบรื่น
📍พึงระลึกเสมอว่า เพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่ “เพื่อน” อาจจะพัฒนาไปเป็นเพื่อนในภายหลังหรือไม่ก็ยกไว้ก่อน แต่ในคราวแรกปักหมุดไว้เลยว่า เพื่อนร่วมงาน คือเพื่อนร่วมงาน การสื่อสารควรอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม และมีความเคารพกัน ไม่ควรนินทาเพื่อนร่วมงานคนอื่น หรือเจ้านาย กับเพื่อนร่วมงานกันเอง ถ้ามีเรื่องไม่ไหวจริง ๆ อยากระบาย ให้โทรไปคุยให้ “เพื่อน” ที่ไม่ได้อยู่ในที่ทำงานฟัง
2
หรือแม้กระทั่งการคุยกันใน Line group ก็ควรให้เกียรติกัน เลือกใช้ถ้อยคำให้เหมาะสม แม้จะสนิทกัน แต่ต้องไม่ลืมว่าคือไลน์กลุ่ม ยังมีบุคคลอื่นที่เห็นข้อความในการสื่อสารด้วย ถึงคิดว่าสนิทกัน แต่ขอให้ยึดหลักเดิม เพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่ “เพื่อน” หรือต่อให้ขยับสัมพันธ์มาเป็นเพื่อนแล้ว ก็ต้องสื่อสารในกลุ่ม อย่างเพื่อนร่วมงาน
📍หยุดประโยคเหล่านี้
❌“ฉันเป็นของฉันแบบนี้”
❌“ฉันไม่ชอบสุงสิงกับผู้คน”
❌“หน้าตาฉันมันง้ำมันบึ้งแบบนี้เอง ที่จริงไม่คิดอะไร”
1
คุณกำลังเรียกร้องให้คนทั้งโลกมาเข้าใจคุณ หน้าที่ของคุณคือปรับตัวเองให้เข้ากับสังคม ไม่มีคำว่า “ฉันเป็นของฉันแบบนี้” เพราะสังคมไม่สนใจ ตลอด 24 ชั่วโมง คุณใช้เวลาช่วงร่างกายตื่น อยู่ในที่ทำงานมากกว่าที่บ้านเสียอีก ดังนั้นการปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่ทำงาน คือหน้าที่ที่ต้องทำให้ดี และต้องฝึกฝน
1
📍 ถ้ารู้สึกว่ามันเป็นการแสดง ขอบอกว่า ”✅ใช่” มันคือ Perfomance และคุณต้องเรียนรู้ที่จะแสดงให้แนบเนียนด้วย ไม่ว่าบริบทไหน คุณไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ 💯% อยู่แล้ว ยกเว้นอยู่ในบ้านคนเดียว ดังนั้นต้องหัดแสดงให้เหมาะสมกับทุกบทบาทที่ต้องสวม
1
📍หากทำงานเป็นทีม แล้วรู้สึกว่าเพื่อนเอางานส่วนที่เป็นของเราไปเคลมความดีความชอบ ต้องมีศิลปะในการเรียกร้อง ไม่ควรพูดโต้ง ๆ ในที่ประชุมเพื่อฉีกหน้าเพื่อน แต่อาจจะทดลองด้วยการเขียนอีเมล์แล้ว CC ถึงทุกคน แล้ว Declair งานในส่วนของตัวเองแบบแนบเนียน เช่น “งานในส่วนนี้...ของดิฉันเสร็จเรียบร้อยแล้วนะคะ ขอส่งงานต่อให้กับคุณเพื่อประมวลผลต่อไป”
📍อย่าหงุดหงิดกับ “การเมือง” ในบริษัท เพราะนั่นหมายความว่าคุณอยู่ถูกที่แล้ว เพราะแสดงว่าในจุดที่คุณอยู่มีผลประโยชน์ที่ทุกคนต้องการ บริษัทที่ไม่มีการเมืองคือที่ ๆ ไม่พัฒนา ไม่มีผลประโยชน์ ไม่มีใครต้องการอะไร ดังนั้นเตรียมรับมือกับ “การเมืองในบริษัท” อย่างมีชั้นเชิง
📍มีเส้นบาง ๆ ระหว่างรู้จักสื่อสารมีมนุษยสัมพันธ์ และสอพลอ แต่ถ้ารวมกับการที่เรา “ทำงานเก่ง” เข้าไป ใครจะว่าสอพลอก็ไม่มีผล เพราะ “เสียงจากงาน” ที่มีคุณภาพของเราดังกว่า
1
📍ดังนั้นสองอย่างนี้ต้องเดินไปด้วยกัน 1 ทำงานเก่ง + 2 พูดได้ดี แสดงออกดี บุคลิกภาพดี ซึ่งอย่างที่ 2 จำเป็นพอ ๆ กับอย่างที่ 1 ต้องให้ความสำคัญฝึกฝนเพิ่มทักษะด้านนี้
📍หากอยู่ในสายงานที่ไม่ค่อยได้เจรจาสื่อสารกับผู้คนในชีวิตประจำวัน เช่นงานด้าน IT ที่ส่วนใหญ่อยู่กับคอมพิวเตอร์ ก็ต้องฝึกเรื่องการสื่อสารในเรื่องธรรมดากับผู้อื่น เพื่อน แฟน คนรัก ครอบครัว เราสามารถฝึกการสื่อสารได้กับทุกคน ซึ่งไม่ว่าในความสัมพันธ์แบบใดการสื่อสารก็สำคัญเสมอ
☝️☝️
ครูโอ๋ให้เทคนิคในการฝึกเพื่อสนทนากับผู้คน ในกรณีที่เราเป็นคนประเภท พูดไม่เก่ง / เริ่มต้นสนทนาไม่เป็น / หรือบางทีรู้สึกว่าพูดอะไรก็โผงผางวงแตกทุกที เทคนิคนี้ก็คือทวน 2-3 คำสุดท้าย ตัวอย่างเช่น
เพื่อน : เออ เมื่อวานไปเที่ยวสวนสามพรานกับเพื่อน
คุณ : กับเพื่อน (เสียงปกติ ไม่ใช่เสียงสูงเชิงคำถาม)
เพื่อน : ใช่กับเพื่อนสมัยมัธยมสนุกมาก
คุณ : สนุกมาก
เพื่อน : สนุกจริง ๆ ไปกันสี่คน คุยกันแต่เรื่องสมัยก่อนไปตลอดทาง
คุณ : ตลอดทาง
เพื่อน : ......
2
อันนี้เป็นตัวอย่างที่ครูโอ๋แนะนำว่า ใช้อย่างไรก็ได้ผล เพราะผู้เล่าต้องการจะเล่าอยู่แล้ว และเห็นว่าเราตั้งใจฟัง ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถาม แต่เอ่ยทวนสองสามคำสุดท้าย ก็จะต่อให้บทสนทนายาวไปเรื่อย ๆ ได้อย่างอัตโนมัติ และเมื่อได้ฝึกฝนพัฒนาขึ้นแล้วก็ค่อยเพิ่มเทคนิคอื่นต่อไป
2
💡💡สรุป 💡💡
นอกจากทำงานเก่ง ต้องใส่ใจเรื่องการสื่อสาร การแสดงออก ไม่ว่าจะทดลองศึกษาและปรับปรุงด้วยตนเอง หรือจะเข้าคอร์สฝึกอบรม ก็เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจเป็นลำดับต้น ๆ เพราะไม่อย่างนั้น ทำงานเก่งเท่าไหร่ ก็ไม่มีใครรู้อยู่ดี
3
ขอบคุณที่แวะเข้ามาอ่านบทความนะคะ
หากต้องการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันสามารถทิ้งข้อความไว้ที่คอมเม้นด้านล่างค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา