10 มี.ค. 2021 เวลา 11:28 • ประวัติศาสตร์
สวัสดีครับ วันขอเล่าถึงหน่วยงาน หน่วยงานหนึ่ง เกี่ยวกับศาสนา ตัวผมเองก็ได้รู้จักผ่านหน้าดวงแสตมป์นี่เหมือนกัน หน่วยงานที่ว่านี้คือ “องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก”
นับแต่ครั้งพุทธกาลเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้โปรดให้บรรดาศิษยานุษิตย์ของพระองค์ออกไปเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนเป็นต้นมา
จวบจนปัจจุบัน กาลเวลาและสถานการณ์ของโลกได้เปลี่ยนไปจนทำให้เกิดความแตกต่างในทางปฏิบัติและความเข้าใจในพุทธธรรม
อันก่อให้เกิดเป็นนิกายต่างๆ ขึ้นมา อาทิ เถรวาท มหายานหรือวัชรยานและอื่นๆ ซึ่งได้แพร่หลายจากทวีปเอเซียไปยังทวีปต่างๆ
กระนั้นก็ดี สิ่งที่ชาวพุทธทั่วโลกมีเหมือนกันคือ มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว
บรรดาคฤหัสถ์ในกาลก่อนจึงตระหนักในเรื่องนี้และเห็นพ้องกันว่า ถึงเวลาที่เหล่าพุทธศาสนิกชนควรจะมีเอกภาพและภราดรภาพเพื่อความวัฒนาถาวรและความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา
ผู้ทรงความรู้ด้านบาลีชาวศรีลังกา เป็นผู้ริเริ่มและเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันแนวความคิดนี้จนนำไปสู่การจัดตั้งองค์กรระดับโลกคือ ศ.ดร.ปาละ ปิยเสนะ มาลาลาเสเกรา
องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) จึงได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันวิสาขบูชาวันที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 ณ ศาสนสถานดาดาลา มาลิกาวา เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระทัณตธาตุ และได้ดำเนินการจนถึงปัจจุบัน
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับสำนักงานใหญ่
เมื่อครั้งแรกเริ่มนั้นมีการตัดสินใจให้ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ อยู่ในประเทศเดียวกันกับที่ประธานพำนักอยู่ ดังนั้นเมื่อท่าน ดร.มาลาลาเสเกราซึ่งเป็นชาวศรีลังกาได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานคนแรกขององค์การฯ สำนักงานใหญ่แห่งแรกจึงตั้งอยู่ ณ กรุงโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา
ภายหลังต่อมาอีก ๘ ปี คือพุทธศักราช 2501 นายอู จัน ทูน ชาวพม่าได้รับเลือกตั้งต่อจาก ดร.มาลาลาเสเกรา จึงได้มีการย้ายที่ตั้งของสำนักงานใหญ่มาที่เมืองร่างกุ้ง ประเทศพม่า
จนกระทั่ง พุทธศักราช 2506 ได้เกิดการปฏิวัติขึ้นในประเทศพม่า นายอู จัน ทูนได้ขอร้องให้หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุลซึ่งเป็นรองประธานในขณะนั้นให้รับช่วงในการดำเนินกิจการขององค์การ พ.ส.ล. ตลอดช่วงเวลาที่เหลือของการเป็นประธานจนครบวาระ
จึงทำให้หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ซึ่งเป็นชาวไทยคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างเป็นเอกฉันท์ให้เป็นประธานขององค์การ พ.ส.ล. ตั้งแต่ พุทธศักราช 2506 ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่จึงได้ย้ายมาที่ กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งการประชุมใหญ่ครั้งที่ 9 เมื่อ พุทธศักราช 2512 จึงได้มีมติให้ตั้งสำนักงานใหญ่ถาวรในประเทศไทย
ปัจจุบัน องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก มีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศไทย ถนนสุขุมวิท ด้านหลังอุทยานเบญจศิริ
ในวาระที่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ก่อตั้งมาครบ 20 ปี ในปีพุทธศักราช 2513 จึงได้จัดพิม์ดวงตราไปรษณียากร ชุดครบรอบ 20 ปี องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
วันแรกจำหน่าย 9 พฤษภาคม 2514
พิมพ์ที่ The Government Printing Bureau, Ministry of Finance, Japan
แสตมป์ชุดครบรอบ 20 ปี องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
ชนิดราคา จำนวนพิมพ์และราคาปัจจุบัน (ยังไม่ใช้, ใช้แล้ว)
50 ส.ต. 5,000,000 ดวง 25 บาท 7 บาท
1 บาท 1,000,000 ดวง 55 บาท 18 บาท
2 บาท 1,000,000 ดวง 90 บาท 25 บาท
3 บาท 1,000,000 ดวง 110 บาท 40 บาท
รูปที่พิมพ์ลงบนดวงตราไปรษณียากรเป็นรูปสังเวชนียสถาน อันประกอบด้วย
ดวงราคา 50 ส.ต.
เป็นรูป เสาพระเจ้าอโศกมหาราช เครื่องหมายสถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ ณ ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล
ดวงราคา 1 บาท
เป็นรูป มหาโพธิเจดีย์ สถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ พุทธคยาอยู่ในหมู่บ้านนิคมชื่อว่าอุรุเวลา แคว้นมคธ
ดวงราคา 2 บาท
เป็นรูปธรรมเมกขสถูป สถานที่เนื่องด้วยการปฐมเทศนา อยู่ในเมืองสารนาถ ในสมัยพุทธกาล เรียกกันว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ดวงราคา 3 บาท
เป็นรูป มหาปรินิพพานวิหาร ภายในสาลวโนทยาน ตั้งอยู่ที่เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ
คัดลอกเนื้อหาจาก
หากผิดพลาดประการใด โปรดทักท้วง เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องครับ และขอบคุณที่ติดตามครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา