14 มี.ค. 2021 เวลา 08:47 • สุขภาพ
ยอดเยี่ยมกระเทียมดำ ตอนที่หนึ่ง
กระเทียมโทนดำ
เป็นปัญหาครอบครัวเรื้อรังประจำตระกูลของผมมาตั้งแต่รุ่นปู่ ปู่ทะเลาะกับย่า พ่อผมทะเลาะกับแม่ผม และ ผมเองก็ทะเลาะกับคนที่บ้านเป็นประจำ ปัญหาก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไร เป็นเรื่อง การกินกระเทียมของข้างฝ่ายชาย คือปู่ผม พ่อผม และตัวผม เราต่างถ่ายทอดยีนส์ที่เมื่ออายุได้เวลาห้าสิบขึ้นไปโรคความดันโลหิตสูงจะมาเยือนเหมือนกันทุกคน คุณปู่ท่านเป็นกูรูประจำหมู่บ้านในเรื่องยาพื้นบ้านและสมุนไพรไทย ท่านพอมีความรู้ด้านดูแลสุขภาพตัวเองอยู่บ้าง ก็รักษาดูแลตัวเองด้วยการทานกระเทียมสดไปพร้อมๆกับการทานข้าวทุกๆมื้อ และจากไปด้วยอายุไข ๙๕ ปี ส่วนคุณพ่อจากไปน้อยกว่า คือ เก้าสิบปี ทั้งสองท่านสุขภาพแข็งแรงดีตลอดอายุขัย จะมีปัญหาต่อภรรยาและคนรอบข้างก็เรื่องกลิ่นกระเทียมนี่แหละ เพราะทานแล้วกลิ่นมันติดตัว แล้วมีปัญหาต่อคนทานเองด้วยอีตรงรสชาดมันเผ็ดร้อนกลิ่นมันฉุนเฉียว คนที่ไม่ชอบก็ไม่ชอบแบบเข้าใกล้ไม่ได้เลย เหมือนทุเรียนอร่อยอย่างไร คนไม่ชอบก็ทนไม่ไหว กระเทียมก็เช่นกัน ทั้งๆที่ประโยชน์ของมันมากล้นเหลือ ทำให้คนเกือบครึ่งโลกสูญเสียโอกาสในการดูแลสุขภาพของตัวเองจากรสและกลิ่นของกระเทียมไป
ปัจจุบันปัญหาเรื่องรสและกลิ่นของกระเทียมถูกจัดการไปอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว โดยผ่านกระบวนการอบที่อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมโดยใช้เวลาถึง 30-90 วัน จนกระเทียมเปลี่ยนเป็นสีดำ กระเทียมดำที่ได้จะมีเนื้อสัมผัสเหนียว ยืดหยุ่นคล้ายเจลลี่ รสชาติหวานอ่อนๆ จากการที่ ฟรุคแทน (fructan) ซึ่งเป็นสารโพลีแซคคาไรด์ในกระเทียม สลายตัวกลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว กลิ่นฉุนของกระเทียมลดลงจากปริมาณสาร alicin ที่ลดลง เมื่อนำมาวิเคราะห์ในห้องแล๊ป กลับเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า ยิ่งกว่ากระเทียมสด โดยที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างของสารสำคัญต่างๆที่มีอยู่ในกระเทียมสด เพิ่มมากขึ้น ยิ่งทานก็ยิ่งอร่อย และสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหารอื่นๆ ก็มีรสชาดที่ดีและมีคุณค่าเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ส่วนประกอบของกระเทียมดำเมื่อเทียบกับกระเทียมสด หลังจากผ่านขั้นตอนเป็นกระเทียมดำมีค่าวัดได้เพิ่มขึ้นดังนี้
น้ำตาล เพิ่มขึ้น 1.88–7.91 เท่า
โพลีฟีนอล เพิ่มขึ้น 4.19 เท่า
ฟลาโวนอยด์ เพิ่มขึ้น 4.77 เท่า
Amadori และ Heyns เพิ่มขึ้น 40–100 เท่า
Fructan ลดลง 0.15–0.01 เท่า
ลิวซีน เพิ่มขึ้น 1.06 เท่า
ไอโซลิวซีน เพิ่มขึ้น 1.67 เท่า
ซีสเทอีน ลดลง 0.58 เท่า
ฟีนิลอะลานีน เพิ่มขึ้น 2.43 เท่า
ไทโรซีน ลดลง 0.18 เท่า
 
งานวิจัยและสารสำคัญที่มีประโยชน์
กระเทียมดำมีรายงานผลการวิจัยหลายสำนักหลายประเทศ แสดงผลออกมาในทิศทางเดียวกัน ว่ากระเทียมดำนั้นมีประโยชน์หลายๆด้าน อาทิเช่น งานวิจัยของแพทย์ทางอายุรกรรมทางยุโรปโดย มหาวิทยาลัยไฟร์บวร์ก ที่ทำการวิจัยพบว่ากระเทียมดำ มีผลดีต่อรักษาโรคหลายแขนงและการบำบัดรักษาอาการปวด และทำให้ระบบภูมิต้านทานโรคดีขึ้น ในปี ค.ศ.2009 มีงานศึกษาของนักวิจัยชาวญี่ปุ่นตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Medicinal and Aromatic Plant Science And Biotechnology ได้ทำการวิจัยในหนูทดลอง พบว่ากระเทียมดำช่วยลดขนาดก้อนเนื้องอกในหนูทดลองได้ นอกจากนี้ยังพบว่าการรับประทานกระเทียมดำเข้าไปไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบการย่อยอาหาร เหมือนทานกระเทียมสด เพื่อความสะดวกในการอ่าน เราจึงได้รวบรวมคุณค่า และประโยชน์ต่างๆที่กระเทียมดำ มีต่อร่างกายไว้จำนวน ๑๖ ข้อ พร้อมทั้งข้อควรระวังในการใช้กระเทียมดำ ไว้ให้ท่านได้ศึกษาติดตามแล้ว ในยอดเยี่ยมกระเทียมดำ ภาค ๒ ในตอนต่อไปนะครับ.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา