18 มี.ค. 2021 เวลา 12:30 • ปรัชญา
ศีลเสมอกัน วิธีเลือกคู่ครอง ตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้
4
ตาดีได้ ตาร้ายเสีย
คิดว่าหลายคนน่าจะเคยผ่านหูผ่านตากับคำว่า “ศีลเสมอกัน” มาบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ
ว่าแต่เคยสงสัยกันบ้างไหม ว่ามันคืออะไร?
วันนี้ผมจะพาทุกท่านไปพบกับคำตอบนี้กันครับ
Let’s go !!!
1
เพื่อไม่ให้เสียเวลา เริ่มแรกเลยเรามาดูกันที่ความหมายก่อนเลยครับผม
กล่าวโดยสรุปแล้ว “ศีลเสมอกัน” นั้นก็คือ การปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานในทางพระพุทธศาสนา เพื่อควบคุมความประพฤติทั้งทางกาย และวาจา ให้ตั้งอยู่ในความดีงาม และความปกติสุข อย่างเท่าเทียมกัน
เมื่อพูดถึงคำว่า “เท่าเทียมกัน” แสดงว่ามีการเปรียบเทียบกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่แค่เราแน่นอน
แล้วหมายถึงใครกันบ้างล่ะ?
ส่วนใหญ่แล้ว “ศีลเสมอกัน” นั้นมักจะใช้ในการคบหากันครับ ไม่ว่าจะเป็นคนรัก, เพื่อนร่วมชั้นเรียน เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ
แต่วันนี้ผมจะตีกรอบเรื่องให้แคบลงไปอีก
ซึ่งธีมในวันนี้ก็คือ “วิธีเลือกคู่ครองตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเอาไว้ในรูปแบบของศีลที่เสมอกัน” ครับผม
1
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “...ดูกรคฤหบดี และคฤหปตานี ถ้าภรรยา และสามี ทั้งสอง หวังจะพบกัน และกันทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพไซร้ ทั้งสองเทียว พึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยา และสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกัน และกันทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ ฯ...”
นี่คือบางช่วงบางตอนจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต นะครับ
เพื่อให้เข้าใจง่าย การเลือกคู่ครองจึงแยกออกเป็น 4 ข้อหลัก ๆ ดังนี้นะครับ
1. ศรัทธาเสมอกัน
มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน
ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว “ศรัทธา” นั้นหมายถึง ความเชื่อที่ประกอบไปด้วยเหตุผล
ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 อย่าง คือ
1. กัมมสัทธา คือเชื่อในกฎแห่งกรรมว่ามีอยู่จริง เมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา ย่อมเป็นไปตามกรรมนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2. วิปากสัทธา คือเชื่อในวิบากว่าผลของกรรมนั้นมีจริง กรรมที่ทำแล้วย่อมมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว เป็นต้น
3. กัมมัสสกตาสัทธา คือเชื่อในความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน และจะต้องรับผิดชอบเสวยวิบาก เพื่อเป็นไปตามกรรมของตน
4. ตถาคตโพธิสัทธา คือเชื่อในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจว่าเราทุกคน หากฝึกตนด้วยดีก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ทรงบำเพ็ญไว้
เพื่อให้สมดังคำกล่าวที่ว่า “ศรัทธาเสมอกัน” ศรัทธาที่กล่าวมาทั้ง 4 ข้อข้างต้นนี้จึงจำเป็นอย่างมาก คู่รักคู่ครองทั้งสองคนควรมีความเชื่อที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันไม่มากก็น้อย ซึ่งข้อดีหลัก ๆ ที่ทั้งสองคนจะได้รับนั่นก็คือ การที่ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง และอยากเอาชนะคะคาน ซึ่งกัน และกัน ไม่ถกเถียงเพื่อให้ความเชื่อของเราชนะอีกฝ่าย ทำให้ครองคู่กันอย่างอยู่เย็นเป็นสุขสืบไปนั่นเอง
2. มีศีลเสมอกัน
ไม่ฉุดรั้งให้ชีวิตตกต่ำ
“ศีลเสมอกัน” ข้อนี้อธิบายง่าย ๆ ก็คือ คนที่รักษาศีล จะรู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้ว่าสิ่งไหนผิด สิ่งไหนถูก สิ่งไหนควรทำ หรือไม่ควรทำ
ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้พากันไปสู่สิ่งที่ดีงาม การดำเนินชีวิตเป็นไปได้อย่างราบรื่น แต่หากทั้งสองคนนั้นมีศีลไม่เสมอกัน ก็เป็นเรื่องยากที่จะอยู่ด้วยกันได้ ดูง่าย ๆ คนที่ชอบทำบุญ รักษาศีล ถ้าเจอคู่ครองที่ไม่รักษาศีล เช่น ชอบการพนัน ตกเย็นคว้าขวดเหล้า ฯลฯ ก็ย่อมไม่ฟังในสิ่งที่เราพูด เราตักเตือน ทำให้มีเรื่องขัดข้องหมองใจกันง่าย หากเราเจอคู่ที่มีศีลเสมอกันก็จะพากันเข้าวัด ทำบุญ ทำแต่ความดี แน่นอนว่าชีวิตย่อมเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกัน ไม่มีใครฉุดดึงชีวิตอีกฝ่ายให้ต่ำลงนั่นเอง
1
3. จาคะเสมอกัน
เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
“จาคะ” นั้นแปลว่า ความเสียสละ, การแบ่งปัน, ความเอื้อเฟื้อ ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกันกับคำว่า “ทาน” และ “บริจาค”
กล่าวคือคนที่มีจาคะย่อมเสียสละเพื่อส่วนรวมได้ มีความเอื้ออาทรต่อความทุกข์ยาก คอยให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว หากคู่ของเรามีจาคะไม่เสมอกัน คงเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจว่าเพราะอะไรเราถึงต้องไปช่วยเหลือคนอื่น คงจะดีไม่น้อย หากเราเลือกครองคู่กับคนที่มีจาคะเสมอกัน นั่นคือเป็นคนที่ใจกว้าง ชอบทำบุญ สามารถช่วยคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนได้เหมือน ๆ กัน เพราะเมื่อเรารักจะเป็นผู้ให้ก็จะอิ่มอกอิ่มใจที่ได้ให้ แล้วยังสัมผัสถึงความสุขใจ เมื่อมองเห็นผู้รับยิ้มแย้ม ดีใจ หรือพอใจ ทำให้ความสุขของผู้ให้อย่างเราทวีเพิ่มขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
4. ปัญญาเสมอกัน
ถึงพร้อมด้วยสติปัญญา
“ปัญญา” นั้นแปลว่า ความรู้ทั่ว คือรู้ทั่วถึงเหตุถึงผล รู้อย่างชัดเจน, รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ, รู้สิ่งที่ควรทำควรละเว้น เป็นต้น เข้าใจง่าย ๆ คือนี่เป็นธรรมที่คอยกำกับศรัทธา
เพื่อให้ความเชื่อประกอบไปด้วยเหตุผล ไม่ให้หลงเชื่ออย่างงมงาย แน่นอนว่าคู่ครองที่มีปัญญาเสมอกันนั้น มีโอกาสมากที่จะพบกับความสุข ความเจริญ ทำอะไรก็ประสบผลสำเร็จ เนื่องด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญที่ทั้งคู่มีได้เกื้อหนุนกัน และกันนั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับความรู้ทางธรรมสำหรับการเลือกคู่ครองที่นำมาฝากกันในวันนี้ อย่างไรเสียก็ขอให้ใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลด้วยนะครับ อย่าลืมนี่เป็นเพียงแนวทางหนึ่งในหลากหลายแนวทางบนโลกใบนี้เท่านั้น หาใช่บทสรุปของทุกสิ่งไม่
บางที “ศีลที่เสมอกัน” อาจไม่ใช่คำตอบเดียวของ “ความรัก” ที่แท้จริงก็ได้นะครับ คุณ และคู่ครองต่างหากที่เป็นผู้กำหนดว่า “คู่ควร” ที่จะ “ครองรัก” กันไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่
เอาใจช่วยให้ทุกคู่ได้ครองรักอย่างมีความสุขตลอดไปครับ
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้
ขอบคุณจากใจครับผม
ลูกอม - วัชราวลี
แค่คุณ - Musketeers
หนึ่งในไม่กี่คน - โบ สุนิตา
มากกว่ารัก - พีท The Star
ยิ่งรู้จัก ยิ่งรักเธอ - ดา เอ็นโดรฟิน
ขอบคุณข้อมูลจาก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา