18 มี.ค. 2021 เวลา 01:00 • ธุรกิจ
ตัน มอง ‘กัญชง’ คือโอกาสทองครั้งใหม่ของอิชิตัน มั่นใจเป็นรายแรกๆ ที่ส่งสินค้าลงสู่สังเวียนแน่นอน
ช่วงที่ผ่านมาหลายบริษัทได้ให้ความสนใจกับข่าวที่มีการ ‘ปลดล็อกกัญชง’ ซึ่งผู้ที่ได้อานิสงส์จากข่าวนี้มีทั้งผู้ที่อยู่ต้นน้ำคือการปลูก กลางน้ำเป็นการสกัดและการกลั่น สุดท้ายปลายน้ำเป็นการนำมาพัฒนาเป็นสินค้า โดยหนึ่งในบริษัทที่น่าจับตามองคือ ‘อิชิตัน’ ที่ได้ประกาศชัดเจนว่าจะลุยตลาดนี้อย่างจริงจัง
1
ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการบริษัท อิชิตันกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI กล่าวในการให้สัมภาษณ์รายการ Morning Wealth ของ THE STANDARD WEALTH ว่า ทุกวงการสนใจที่จะนำกัญชงไปใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง ยา แม้กระทั่งร้านอาหาร แต่ในส่วนของเครื่องดื่มนั้นอาจได้เปรียบอยู่บ้างเนื่องจากเป็นสินค้าที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายที่สุด
1
“ทุกบริษัทที่มีความพร้อม มาแน่ๆ เพราะมีกระแสความต้องการอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคเชื่อว่ากัญชงหรือกัญชามีประโยชน์ต่อสุขภาพหรือสามารถรักษาโรคได้”
แม่ทัพอิชิตันเชื่อว่าสินค้าจากกัญชงจะเป็นสินค้าที่ทำตลาดได้ไม่ยากมาก ถ้าเป็นสินค้าชนิดอื่นจะใช้เวลาทำตลาดนาน แต่สำหรับสินค้ากลุ่มนี้ ผู้บริโภครู้จักกันอยู่แล้ว จึงตื่นตัวและอยากมีส่วนร่วมในการทดลองสินค้า
2
สำหรับอิชิตันนั้นได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ตันระบุว่า อิชิตันมีความโชคดีตรงที่โรงงานผลิตชาเขียว มีวิธีการผลิตเดียวกัน สินค้ากลุ่มกัญชงหรือสินค้าอื่นๆ จึงผลิตได้อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันโรงงานของอิชิตันได้กำลังการผลิตที่ 55% ส่วนที่เหลืออยู่นั้นเป็นส่วนที่จ่ายค่าเสื่อมอยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีความพร้อมจะผลิตสินค้าเกี่ยวกับกัญชง ไม่ว่าจะเป็นของตัวเองหรือรับจ้างผลิต ซึ่งตอนนี้ได้มีบริษัทอื่นๆ ได้ติดต่อเข้ามาเช่นกัน ซึ่งอิชิตันไม่ได้มีความเสี่ยงและต้องลงทุนเพิ่มเติมอยู่แล้ว
4
ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ อิชิตันระบุว่า จะมีการเปิดตัวเครื่องดื่มชนิดใหม่ภายใต้แบรนด์ ‘อิชิตัน กรีน แลป’ เครื่องดื่มเทอร์พีนที่มีลักษณะเด่นพิเศษช่วยในเรื่องการผ่อนคลายและบรรเทาความเครียด โดยจะวางจำหน่ายในเดือนเมษายนนี้ มีเป้าหมายเพื่อทำให้ลูกค้าคุ้นเคยกับแบรนด์
“กรีน แลป จะมีกลิ่น รสชาติ และคุณสมบัติคล้ายๆ กับกัญชง ที่จะออกมาในอนาคต หลังจากที่สาธารณสุขประกาศให้ผลิตได้แล้ว ฉะนั้นตอนนี้เราพร้อมทุกทาง ทุกด้าน ซึ่งนี่อาจจะเป็นโอกาสทองอีกครั้งหนึ่งของเรา”
ตันมองว่าใครเข้าได้เร็วจะได้เปรียบมากกว่า ในแง่ของหลังบ้านของอิชิตันนั้นครบหมดแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของ R&D ที่ได้เตรียมรสชาติไว้หมดแล้ว สำหรับสินค้าที่มาจากกัญชงจริงๆ อิชิตันก็เชื่อว่าจะสามารถออกสินค้าเป็นกลุ่มแรกๆ ได้ เนื่องจากเป็นพันธมิตรกับโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกและสกัดได้
อย่างไรก็ตาม ตันย้ำว่าอิชิตันจะทำเฉพาะปลายน้ำในการนำสารสกัดมาผลิตสินค้า โดยจะไม่ลงทุนทำครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะว่าไม่ถนัด อีกอย่างอิชิตันมีนโยบายชัดเจนที่จะไม่ลงทุนทำครบวงจร ด้วยทุกอย่างมีทั้งกำไรและความเสี่ยง ดังนั้นธุรกิจของอิชิตันจะไม่ทำต้นน้ำและกลางน้ำ เช่น จะไม่ทำธุรกิจพลาสติก เป่าขวด กระดาษ ขนส่ง อิชิตันใช้ Outsource หมด เพราะต้องการตัวเบา เนื่องจากตอนนี้ธุรกิจมีความเสี่ยงมาก และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ลงทุนหลาอย่างเกินไปมีความเสี่ยง จึงเฉพาะในสิ่งที่ถนัด
3
ในแง่ของการแข่งขันนั้น ตันมองว่าช่วงแรกจะเป็นโอกาสทองสำหรับทุกคน ตั้งแต่เกษตรกร โรงงานสกัด หรือโรงงานผลิต เนื่องจากช่วงแรกกำลังผลิตจะไม่ได้เยอะมาก จึงเป็นช่วงเวลาทองที่มีอำนาจในการตั้งราคาของทุกคนเลย ดังนั้นจึงจะได้กำไรอย่างเต็มที่ แต่นับไป 6 เดือนถึง 1 ปีข้างหน้า รายอื่นๆ ที่พร้อมจะปลูก สกัด หรือเครื่องจักรมาแล้ว ราคาก็จะลดลง อันนี้เป็นปกติของการแข่งขัน
3
“สำหรับกัญงหรือกัญชา แม้จะดูเหมือเสรี แต่จริงๆ ไม่ได้เสรี เพราะอยู่ภายใต้การควบคุมของสาธารณสุข ไม่ใช่ใครก็ปลูกได้ ใครก็สกัดใครก็ผลิตได้ หากยังไม่มีเครื่องมือที่พร้อมก็ยังไม่สามารถทำได้ จึงเชื่อว่าตลาดจะไม่ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะมีกระบวนการที่ถูกควบคุมอยู่”
สำหรับผลประกอบการในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อิชิตันก็เป็นรายหนึ่งที่ได้กระทบเช่นเดียวกัน แต่ตันระบุว่าอิชิตันโชคดีอยู่นิดหนึ่ง เพราะยอดขายนั้นกระทบในกลุ่มโมเดิร์นเทรด แต่ไปขายดีที่โชห่วย ยอดของอิติชันช่วงที่มีโควิด-19 ยอดตกก็จริง (ปี 2563 อิชิตันระบุว่ามีรายได้จากการขาย 5,099.3 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนซึ่งทำได้ 5,334.2 ล้านบาท) แต่กำไรกลับกันเพิ่มขึ้นเพราะยอดขายที่ดีขึ้นในโชห่วย ซึ่งทำกำไรได้ดีกว่ามากจากขนาด 10 บาทที่วางขายอยู่
1
ดังนั้นปีที่ผ่านมาอิชิตันจึงมีกำไร 515.5 ล้านบาท เติบโต 26.5% จากปีก่อนอยู่ที่ 407.5 ล้านบาท สำหรับในปี 2563 ก็น่าจะมีกำไรที่เพิ่มขึ้น จากทั้งน้ำวิตามินซี นอกจากนี้ยังได้ OEM ซึ่งเป็นตัวที่ทำกำไรเพิ่มขึ้น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายและความเสี่ยง โดยอิชิตันเพิ่งได้รับ OEM มาจาก ‘อาซาฮี’ สำหรับส่งสินค้าไปขายที่ฟิลิปปินส์ ส่วนในเมืองไทยได้บริษัทยักษ์ใหญ่อีกหนึ่งบริษัท มาจ้างผลิตน้ำวิตามินซี และกัญชงในอนาคตด้วย
2
“OEM เป็นสิ่งที่ในสมัยก่อนอิชิตันไม่ได้ ถามว่าออกมาแข่งกับอิชิตันไหม แน่นอนก็ต้องแข่ง แต่ไม่มีปัญหา เพราะว่าเราขายเองก็ได้กำไร เขาขายเราก็ได้กำไร เพราะกำลังการผลิตเราเหลือๆ โดยไม่ได้ลงทุนเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องจักร จึงไม่มีความเสี่ยง กลับกัน OEM ได้กำไรสุทธิแน่นอน ไม่เหมือนสินค้าของตัวเองที่ได้น้อยลงเพราะมีค่าการตลาดและโฆษณา ทั้งนี้ความเสี่ยงของ OEM มีแค่ผู้ว่าจ้างหากขายดีมากๆ อาจตัดสินใจไปลงทุนทำเองหรือว่าไปจ้างคนอื่นทำในราคาที่ถูกกว่า ซึ่งนั่นเป็นความเสี่ยงของ OEM ทุกรายอยู่แล้ว” ตัน กล่าว
ก่อนหน้านี้อิชิตันได้เปิดเผยว่า ในปี 2564 ได้วางเป้าหมายรายได้อยู่ที่ 6,200 ล้านบาท หรือโต 22% ซึ่งมาจากทั้งเทรนด์การเติบโตของตลาดเครื่องดื่มวิตามินและแผนการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มสินค้าเดิม รวมไปถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับกัญชงด้วย
เรื่อง: ถนัดกิจ จันกิเสน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
1
โฆษณา