21 มี.ค. 2021 เวลา 12:45 • ธุรกิจ
ย้อนจุดเริ่มต้น กลุ่มทุนญี่ปุ่น ลุยตลาดค้าปลีกในไทย
ห้างสรรพสินค้า คือสถานที่จำหน่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภค เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภค โดยห้างสรรพสินค้าที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกับมันมานาน คงหนีไม่พ้นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, โรบินสัน, The Mall ฯลฯ และห้างสรรพสินค้าในรูปแบบค้าปลีก Big C และ Lotus เป็นต้น
แต่คุณทราบหรือไม่ว่า มีกลุ่มทุนค้าปลีกจากหลาย ๆ ประเทศ ก็สนใจที่จะเข้ามาลงสนามค้าปลีกในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกประเทศหนึ่งในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กลุ่มทุนค้าปลีกต่างชาติสนใจลงทุนไม่แพ้กัน แต่ที่เห็นเป็นประจักษ์ชัดมากที่สุดก็คือ กลุ่มทุนค้าปลีกที่มาจากดินแดนอาทิตย์อุทัยอย่างญี่ปุ่นนั่นเอง
ห้างสรรพสินค้าจากต่างชาติแห่งแรกที่ลงทุนในประเทศไทย คือห้างสรรพสินค้าไดมารู หรือชื่อในไทยว่า ไทยไดมารู ซึ่งก่อตั้งที่ ถ.ราชประสงค์ เป็นชุมชนที่มีคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่ด้วย เป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในไทยที่ใช้บันไดเลื่อนไฟฟ้า และใช้ระบบเครื่องปรับอากาศภายในอาคาร เพื่อมอบความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในยุคนั้น
ต่อมาในยุค 80 ที่มีการลงทุนธุรกิจต่าง ๆ จากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยกิจการห้างสรรพสินค้าจากญี่ปุ่นที่เดิมมีแค่ไดมารู กลับกลายเป็นว่า มีหลายบริษัทสรรพสินค้าจากญี่ปุ่นสนใจที่จะลงทุนธุรกิจในไทยมากขึ้นด้วย ทำให้เกิดคู่แข่งที่มากขึ้นทั้งฝั่งไทยและฝั่งเทศ โดยบริษัทจากญี่ปุ่นที่มานั้น มีโซโก้ จัสโก้ โตคิว อิเซตัน เยาฮัน ตามลำดับ
เมื่อเข้าสู่ยุคสภาวะวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ทำให้สภาวะเศรษฐกิจถึงขั้นดิ่งลงสุด เป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในประเทศไทย และก่อผลกระทบต่อนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ
ห้างค้าปลีกทั้งจากไทย และจากต่างแดน ต่างสาหัสสากรรจ์อยู่พอสมควร เมื่อไม่สามารถดำเนินการฟื้นฟูกิจการให้อยู่รอดต่อไปได้ ก็จำเป็นต้องยุติกิจการลง ถ้าหากเป็นธุรกิจจากต่างประเทศก็ต้องถอนสัญญา ปิดกิจการลง และก็ต้องโบกมือลาบริษัทที่ร่วมถือไปอย่างอาลัย
เยาฮันและไทยไดมารูถือเป็นหนึ่งในบริษัทญี่ปุ่น ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้เช่นกัน จึงทำให้ต้องโบกมือลาจากประเทศไทยไปอย่างน่าเสียดาย โดยไทยไดมารูย้ายมาอยู่ภายในเสรีเซ็นเตอร์ เป็นที่สุดท้าย ก่อนปิดกิจการลงในปี 2543
ต่อมาในปี 2561 ทาคาชิมายะและดองกิโฮเต้ ได้เข้ามาลงทุนกิจการสรรพสินค้าในประเทศไทย โดยสยามทาคาชิมายะเปิดสาขาแรกที่ไอคอนสยาม ส่วนดองกิโฮเต้ หรือในนาม ดอง ดอง ดองกิ นั้น ได้เปิดทำการสาขาแรกที่ทองหล่อ โดยเป็นห้างสรรพสินค้าแบบ Stand Alone แห่งแรกของดองกิในประเทศไทย
ในปี 2563 หลังฉลองปีใหม่ได้ไม่นาน วิกฤตโรคร้ายก็ตามมา การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ COVID-19 ทำให้สภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงักลง รวมถึงระบบเศรษฐกิจในประเทศไทยด้วย
ต่อมาในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ก็ถึงเวลาที่อิเซตันจะต้องโบกมือลาประเทศไทยอย่างเป็นทางการ หลังจากที่หมดสัญญาเช่าในปีนี้ รวมถึงการตัดสินใจที่จะไม่ต่อสัญญาเช่าพื้นที่ของเซ็นทรัลเวิลด์
และเมื่อ 31 มกราคม 2564 โตคิวสาขาแรกและสาขาเดียวในประเทศไทยที่เหลือในปัจจุบัน ก็ต้องโบกมือลากลับไปอีกราย จากการดำเนินงานที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และจำนวนนักท่องเทียวที่น้อยลงเรื่อยๆ
ถ้านับจากในปี 2564 นี้ ห้างค้าปลีกจากญี่ปุ่นที่เหลือในปัจจุบันก็คงจะเหลือเพียงแค่ จัสโก้ที่ปัจจุบันเป็นแม็กซ์แวลูแล้ว และสองน้องใหม่อย่างสยามทาคาชิมายะและดองกิ
หลายๆ สิ่งที่เราพบเจอ คุ้นเคย และรู้จักกันมานานนั้น อาจจะจางหายไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่จะยังคงอยู่กับเราไว้นั้น คือความทรงจำและสิ่งที่เหลืออยู่ในปัจจุบันที่ยังคงดำเนินต่อไป
จนกว่าเราจะพบกันใหม่ Sayonara…
ภาพจาก Facebook Bangkok Tokyu Department Store
เรื่อง: กฤษดา บุญโชติ | Content Creator
#MODERNIST - The Magazine on Life.
ติดต่อโฆษณา ad@modernistthai.com

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา