22 มี.ค. 2021 เวลา 01:45 • ธุรกิจ
ย้อนเส้นทาง 18 ปี แห่งการควบรวม จาก TOT-CAT ในวันนั้น สู่ NT ในวันนี้
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2564 เป็นวันแรกที่ 2 บริษัทด้านโทรคมนาคมของรัฐ อย่าง ทีโอที (TOT) และ กสท โทรคมนาคม (CAT) ดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อใหม่ คือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ National Telecom Public Company Limited (NT)
แต่ก่อนที่จะมาถึงวันนี้ รัฐบาลตัดสินใจอะไร ดำเนินการอย่างไร และการควบรวมกันของ 2 บริษัทโทรคมนาคมของรัฐ จะได้ประโยชน์อะไร วันนี้ MODERNIST รวบรวมมาให้อ่านกันครับ
จุดเริ่มต้น การรวม TOT และ CAT เป็นหนึ่ง
ในช่วงปี พ.ศ. 2545-2546 รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้น ได้มีการแปรสภาพองค์กรรัฐเป็นรัฐวิสาหกิจ หนึ่งในนั้น คือ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ปัจจุบัน คือ TOT) และ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (ปัจจุบัน คือ CAT) และหมอเลี๊ยบ-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที) ณ ขณะนั้น มีแนวคิดที่จะควบรวม 2 องค์กรดังกล่าวเป็นหนึ่งเดียว เพื่อความอยู่รอด และมีอีกหลายรัฐบาลนับจากนั้น ที่ต้องการควบรวม 2 องค์กรนี้ เพื่อความอยู่รอด แต่สุดท้าย ก็ไม่มีรัฐบาลไหนสามารถทำได้สำเร็จเลย
การจัดตั้งบริษัทลูก เป็นหนึ่งในแนวทางที่มีการนำเสนอมา ซึ่งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เป็นผู้เสนอในปี 2560 โดยให้ทั้ง 2 บริษัท รวมทรัพย์สินกัน แล้วแยกทรัพย์สินบางส่วน นำมาจัดตั้งเป็น 2 บริษัทลูก คือ บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) เพื่อแยกธุรกิจที่ซ้ำซ้อนกัน และถือหุ้นร่วมกัน ก่อนที่เรื่องนี้ถูกยกเลิกมติไป ทุกคนที่อยู่ใน 2 บริษัทลูก กลับไปที่ทำงานเดิมของแต่ละคน และหาแนวทางการควบรวมกันใหม่
การควบรวมที่ได้เดินหน้าต่อ
เรื่องการควบรวม 2 กิจการโทรคมนาคมของรัฐกลับมาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2562 ที่ประชุม คนร. พิจารณาการดำเนินการตามแผนการแก้ปัญหาองค์กรของ TOT และ CAT และมีมติเห็นชอบในหลักการการควบรวมกิจการทั้ง 2 เข้าด้วยกัน โดยมอบหมายให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และทั้ง 2 องค์กร จัดทำรายละเอียดในการควบรวมกิจการให้ครบถ้วนเสนอที่ประชุม คนร. และ ครม. ได้พิจารณาต่อไป
และเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการควบรวม TOT และ CAT พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) โดยบริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังการควบรวมกัน จะดำเนินการจัดตั้งตาม พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ.2535 และมี กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ รวมทั้งให้ ยื่นแผนการควบรวมกิจการฯ ภายใน 6 เดือน นับจากมีมติฯ
การยื่นแผนควบรวมกิจการฯ ถูกเลื่อนมา 1 ครั้ง ในช่วงกันยายน 2563 จากปัญหาด้านเอกสารที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้การจัดส่งเอกสารไปยังเจ้าหนี้ในต่างประเทศมีปัญหา ซึ่ง ครม. รับทราบและมีมติให้เลื่อนออกไปอีก 6 เดือน โดยต้องเสร็จสิ้นภายใน 14 ม.ค. 2564 รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าเพิ่มเติม และเห็นชอบตามที่กระทรวงดีอีเอส เสนอมา
และในที่สุด วันที่ 18 ธ.ค. 2563 ได้มีการจัดกิจกรรม Employee Town Hall ที่ห้องประชุมใหญ่ (Auditorium) ทีโอที สำนักงานใหญ่ แจ้งวัฒนะ เพื่อนำเสนอนโยบาย และแผนงานการบริหารงานที่จะเกิดขึ้นภายหลังการควบรวมในครั้งนี้ โดยมีพนักงานของทั้ง 2 องค์กรร่วมงานกว่า 1,000 คน พร้อมทั้งเคาะดีเดย์ เริ่มต้นธุรกิจในชื่อใหม่ ตั้งแต่ 7 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป
แล้วการควบรวมที่เกิดขึ้น จะเป็นอย่างไร? แล้วดีกับประเทศไทยอย่างไร?
หลังควบรวม 2 บริษัท เป็น NT จะทำให้มีทรัพย์สินที่หลากหลายและครบวงจรมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเสาโทรคมนาคม, เคเบิลใต้น้ำ, คลื่นความถี่, ท่อร้อยสายใต้ดิน, Fiber Optic, Data center และระบบโทรศัพท์ที่มากขึ้น คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดในการให้บริการที่หลากหลายขึ้นในอนาคต
การควบรวมที่เกิดขึ้น นอกจากลดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ทับซ้อนกันทั้ง 2 บริษัท ได้มากถึง 4 พันล้านบาท และลดค่าใช้จ่ายได้แล้ว บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้น จะมีศักยภาพในการให้บริการด้านโทรคมนาคมที่หลากหลาย โดยเฉพาะระบบเครือข่าย 5G และระบบดาวเทียม และช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาประเทศเพื่อเข้าสู่ Thailand 4.0
แม้นับจากนี้ไป 2 องค์กรด้านโทรคมนาคม จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวแล้ว แต่เรายังคงต้องดูกันต่อว่า จะมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นขนาดไหน และสามารถแข่งขันกับเอกชนรายอื่น ๆ ได้หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด
เรื่อง: พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ | บรรณาธิการข่าว MODERNIST
Infographic: ทินวุฒิ ลิวานัค | Art Director
#MODERNIST - The Magazine on Life.
ติดต่อโฆษณา ad@modernistthai.com

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา