22 มี.ค. 2021 เวลา 08:42 • ธุรกิจ
แหวนกล...เครื่องประดับอัตลักษณ์อันน่าทึ่งของเมืองจันท์
แหวนกล หรือแหวนกลไกปริศนา เป็นเครื่องประดับอัตลักษณ์ของจังหวัดจันทบุรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งมิได้มีเพียงรูปลักษณ์ที่สวยงามแต่ยังแฝงไปด้วยกลยุทธ์การนำเสนอที่ดึงดูดให้ผู้ใช้งานได้ฝึกทักษะ สมาธิ และกระบวนการทางความคิดไปในตัว เป็นภูมิปัญญามที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่ล้ำค่า และควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสถึงความงดงามของงานหัตถศิลป์ที่เต็มไปด้วยจินตนาการอันน่าทึ่ง ฉะนั้น จึงควรช่วยกันเผยแพร่เรื่องราวของแหวนกลเมืองจันท์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดทายาทช่างศิลป์รุ่นใหม่ๆ ให้หันกลับมาสนใจ และทำแหวนกลเมืองจันท์สืบทอดต่อไป ไม่ให้ภูมิปัญญานี้ต้องสูญหายไปจากประเทศไทย https://bit.ly/3tMhLF9
แหวนกล หรือแหวนกลไกปริศนา เป็นเครื่องประดับอัตลักษณ์ของจังหวัดจันทบุรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยการออกแบบตัวเรือนที่ใช้เทคนิคกลไกอันซับซ้อนเข้าช่วยให้เครื่องประดับมีความน่าทึ่ง แตกต่างจากเครื่องประดับทั่วไปอย่างชัดเจน เพราะแหวนกลไม่ได้นำเสนอเพียงแค่รูปลักษณ์ที่สวยงามแต่ยังแฝงไปด้วยกลยุทธ์การนำเสนอที่ดึงดูดให้ผู้ใช้งานได้ฝึกทักษะ สมาธิ และกระบวนการทางความคิดไปในตัว อันถือเป็นเสน่ห์และจุดขายที่สำคัญของแหวนกลเมืองจันท์
เรื่องราวของแหวนกลเมืองจันท์
การทำแหวนกลเมืองจันท์ ไม่มีจุดเริ่มต้นที่ปรากฎเป็นหลักฐานแน่ชัด มีเพียงข้อสันนิษฐานว่าอาจเริ่มต้นมาจากช่างชาวจีนที่มาตั้งรกรากในจันทบุรี และมีการถ่ายทอดเทคนิคกันภายในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น บ้างก็ว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจเริ่มต้นมาจากพ่อค้าชาวอาหรับที่เดินทางมาค้าขายอัญมณี และได้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญางานช่างนี้ให้แก่คนไทย เพราะการทำแหวนกลเป็นเทคนิคที่มีมานานหลายร้อยปี ใกล้เคียงกับวัฒนธรรมการทำแหวนกลของชาวอาหรับ หรือทางแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเรียกว่า Puzzle Ring หรือ Turkish Wedding Ring ที่มีลักษณะเป็นแหวนซ้อนเกี่ยวไขว้กันสองวงขึ้นไป เน้นลวดลายทางเรขาคณิต โดยปัจจุบันก็ยังคงเป็นที่นิยมสำหรับสวมใส่ในชีวิตประจำวันอยู่ และอาจมีการตกแต่งตัวเรือนเพิ่มเติมด้วยเพชรเจียระไน สำหรับใช้เป็นแหวนแต่งงานด้วย
ภูมิปัญญาการผลิตแหวนกลในจันทบุรี เป็นงานสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งปัจจุบันพบว่าจำนวนช่างฝีมือที่ผลิตเครื่องประดับในลักษณะดังกล่าวแทบจะไม่มีเหลือแล้ว เนื่องจากทุกกระบวนการในการผลิตแหวนกลต้องอาศัยความปราณีตสูง เพราะต้องทำด้วยมือทุกขั้นตอน และต้องอาศัยทั้งจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ การวางแผนที่รอบคอบ รวมทั้งความอดทน เพราะหากเกิดกรณีที่ไม่สามารถผสานกลไกประกอบเป็นลวดลายบนหัวแหวนที่สมบูรณ์ได้ ช่างจะต้องหลอมแก้ไขใหม่เกือบทั้งหมด ทำให้ภาพรวมของการผลิตแหวนกลหนึ่งวง จำเป็นต้องใช้เวลานานกว่าเครื่องประดับทั่วไป เมื่อช่างฝีมือไม่ค่อยนิยมผลิตกันนัก ทำให้ภูมิปัญญาการผลิตแหวนกลเมืองจันท์ค่อยๆ สูญหายไปตามกาลเวลา
อย่างไรก็ตาม ภูมิปัญญาการทำแหวนกลในปัจจุบัน ยังมีปรากฎอยู่ที่ “บ้านแหวนกล เมืองจันท์” ซึ่งเป็นบ้านของครูชูเกียรติ เนียมทอง หรือช่างหรีด ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของช่างทำแหวนกลในจันทบุรี โดยช่างหรีดเริ่มต้นฝึกฝนการทำแหวนกลมาตั้งแต่เด็ก อาศัยการถ่ายทอดวิชาจากครูสายัณห์ ภูมิศักดิ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าเขย โดยเริ่มแรกของการฝึกเป็นการเรียนรู้วิธีใช้เครื่องมือช่างประเภทต่างๆ แล้วจึงค่อยๆ พัฒนามาทำแหวนเรียบ และแหวนปลอกมีด พร้อมทั้งเป็นผู้ช่วยช่างอยู่นานหลายปี รวมแล้วใช้เวลาในการฝึกฝน และจดจำเทคนิคประมาณสิบกว่าปี จึงสามารถผลิตแหวนกลชิ้นแรกของตนเองขึ้นมาได้ ปัจจุบันช่างหรีดยังคงรับผลิตแหวนกลเป็นอาชีพหลักในการเลี้ยงครอบครัว โดยสามารถผลิตชิ้นงานได้ 2 - 3 ชิ้นต่อเดือน ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของชิ้นงาน และงานทุกชิ้นนอกจากจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของแหวนกล คือ มีรูปลักษณ์สวยงาม ได้สัดส่วน และซ้อนประกอบกันได้พอดีแล้ว ยังต้องผสานไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกและความมุ่งมั่นตั้งใจของช่าง เพื่อให้แหวนกลที่ถูกผลิตออกมามีความโดดเด่นเฉพาะตัวไม่ซ้ำกับชิ้นอื่น
อัตลักษณ์และรูปแบบปัจจุบันของแหวนกลเมืองจันท์
สำหรับอัตลักษณ์เฉพาะของแหวนกลเมืองจันท์จะอยู่ที่บริเวณหัวแหวน ซึ่งประกอบขึ้นจากแหวนวงเล็กๆ ตั้งแต่ 4 วงขึ้นไป ที่ถูกออกแบบมาจากจินตนาการ และการวางกลไกของช่างฝีมือ ในการนำมาซ้อนไขว้เรียงกัน จนออกมาเป็นตัวเรือนแหวนที่มีความสมบูรณ์ โดยลวดลายที่นำมาออกแบบเป็นหัวแหวน แต่เดิมช่างฝีมือได้นำเอาธรรมชาติรอบตัวที่หาพบได้ในท้องถิ่นมาเป็นแรงบันดาลใจในการผลิตชิ้นงาน ได้แก่ ลายปูทะเล ลายปลา และลายกุ้ง ต่อมาจึงมีการพัฒนาลวดลายเพิ่มเติมขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง อาทิ ลายดอกไม้ แมงป่อง ราชสีห์ เต่า และกระต่ายที่เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดจันทบุรี เป็นต้น
ปัจจุบันพัฒนาการของการทำแหวนกลเมืองจันท์ก็ยังคงนิยมผลิตลวดลายในลักษณะเดิมอยู่ แต่มีการเพิ่มเติมผสานเอาความเชื่อทางด้านโชคลางและความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้ามาในชิ้นงานด้วย ผ่านทางลวดลายสิบสองนักษัตร และพญานาค รวมทั้งได้มีการพัฒนาลวดลายและต่อยอดชิ้นงานให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้นโดยการออกแบบให้เป็นลายชื่อ หรือนามสกุล อันเป็นการบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของผู้สวมใส่ มีการนำพลอยมาตกแต่งเพื่อเพิ่มมูลค่า และสร้างความโดดเด่นให้แก่ชิ้นงาน รวมถึงการต่อยอดทำเป็นกำไลกลเมืองจันท์ ในรูปแบบของกำไลนพเก้า กำไลลายพญานาค เป็นต้น นอกจากนี้ ด้วยความที่ช่างฝีมือมีทัศนคติให้ความสำคัญกับคุณค่าของภูมิปัญญา มากกว่ามูลค่าของวัตถุดิบที่ใช้ทำ และต้องการให้แหวนกลเมืองจันท์เป็นสิ่งที่จับต้องได้สำหรับผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม ช่างจึงหันมาผลิตแหวนกลโดยใช้วัตถุดิบเงินเป็นหลัก แทนที่การใช้ทองคำเหมือนอย่างในอดีต
แหวนกลเมืองจันท์ ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่ล้ำค่า และควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสถึงความงดงามของงานหัตถศิลป์ที่เต็มไปด้วยจินตนาการอันน่าทึ่ง โดยผู้บริโภคในปัจจุบัน นอกจากจะยังพอมีโอกาสในการช่วยสนับสนุนช่างฝีมือ เพื่อครอบครองเครื่องประดับล้ำค่าเหล่านี้แล้ว ยังควรช่วยกันเผยแพร่เรื่องราวของแหวนกลเมืองจันท์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดทายาทช่างศิลป์รุ่นใหม่ๆ ที่หันกลับมาสนใจ และทำแหวนกลเมืองจันท์สืบทอดต่อไป ไม่ให้ภูมิปัญญานี้ต้องสูญหายไปจากประเทศไทย
แหวนกลรูปไก่ ตกแต่งด้วยพลอยสี
แหวนกล และกำไลกล ในรูปแบบร่วมสมัย
ข้อมูลอ้างอิง
1. ข้อมูลการสัมภาษณ์ คุณชูเกียรติ เนียมทอง เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ณ บ้านแหวนกลเมืองจันท์ จังหวัดจันทบุรี
2. ผู้จัดการออนไลน์. (6 กันยายน 2561). “แหวนกล” สวยซับซ้อน แหวนทำมือสุดคลาสสิกแห่งเมืองจันท์. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563
3. 77 ข่าวเด็ด ออนไลน์. (17 สิงหาคม 2561). “บ้านแหวนกล”ใช้กลไกลสร้างความแตกต่างให้แหวน. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563
4. คมชัดลึกออนไลน์. (4 กันยายน 2563). พูดคุยกับทายาทรุ่นที่ 3 แห่ง "บ้านแหวนกล เมืองจันท์" กับภูมิปัญญาบรรพบุรุษ "แหวนกลไก" เครื่องประดับแห่งปัญญา ที่กำลังใกล้จะสูญหาย. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563
โฆษณา