24 มี.ค. 2021 เวลา 02:09 • ศิลปะ & ออกแบบ
อนุสรณ์สถานสามัญชน
ร่มเงาตามชายคาตึกแถวเก่าสไตล์บาวเฮ้าส์ ต่างถูกจับจองด้วยพ่อค้าแม่ขายล๊อตเตอรี่ที่เข้ามาหลบแดดบ่ายที่ร้อนระบุ
แต่ในเวิ้งที่ว่างเล็กๆหัวมุมถนนซึ่งโอบล้อมคล้ายอ้อมกอดที่บรรจงสร้างขึ้นเพื่อมวลชนกลับเปลี่ยวร้างผู้คน
อาคารรูปทรงโค้งมีหอสูงตรงกลางลานที่มีลักษณะคล้ายสถูปคืออนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงประชาชนผู้เสียชีวิตจากการเรียกร้องประชาธิปไตยในวันที่ 14 ตุลาคม 2516
ในเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองแบบนี้ อยากชวนให้มารู้จักอนุสรณ์ของสามัญชนแห่งนี้
cr. : wongnai
จากเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยของเหล่านักศึกษาและประชาชนเมื่อเช้าวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
รัฐบาลหลังความวุ่นวายคือรัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้มีมติให้สร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม 2516 ขึ้นที่บริเวณสี่แยกคอกวัว ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นอาคารหลังหนึ่งที่ถูกไฟไหม้ในเหตุการณ์ครั้งนั้น
แบบของอนุสรณ์สถานเป็นของ นายเทิดเกียรติ ศักดิ์คำดวง ซึ่งเป็นสถาปนิกผู้ชนะเลิศในการประกวดแบบที่ถูกจัดขึ้นในปี 2517
แต่การก่อสร้างก็ไม่ได้เกิดขึ้น เหล่าญาติวีรชนจึงได้พยายามต่อสู้เรียกร้องในห้วงเวลาที่ผ่านไปอีกหลายรัฐบาล จนกระทั่งถึงยุครัฐบาล ชวน หลีกภัย อนุสรณ์สถานแห่งนี้จึงได้ลงเข็มและทำการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2544
อนุสรณ์สถานเป็นอาคารที่ด้านในคล้ายถูกคว้านเป็นลานรูปวงกลม ณ กึ่งกลาง สร้างลึกลงไปใต้ดิน 3 ชั้น ชั้นบนสุดคือระดับทางเข้าที่ต่อเนื่องยกระดับจากทางเท้าริมถนน เมื่อขึ้นบันไดจากทางเท้าด้านหน้า ก็จะพบลานที่ตั้งประติมากรรมรำลึก มีส่วนจัดแสดงนิทรรศการ ลานกิจกรรมอยู่รายล้อม
ทางเดินด้านหลังแนวเสาลอยและการจัดวางพื้นที่ ทำให้นึกถึงบรรยากาศของระเบียงคตรอบตัวเจดีย์ของวัดไทย มองออกไปเห็นตัวประติมากรรมรำลึกเป็นจุดศูนย์กลางของพื้นที่
cr. : Tripadvisor
ชั้นสองซึ่งต่ำลงมาเป็นส่วนของสำนักงานมูลนิธิ 14 ตุลา  ชั้นล่างสุดคือส่วนของห้องสมุด ห้องประชุม และลานที่เปิดโล่งต่อเนื่องไปถึงชั้นบนสุด
อาจจะเนื่องด้วยขนาดพื้นที่ที่ไม่มาก หรือ เพราะความสูงอาคารโดยรอบในพื้นที่ของถนนราชดำเนินกลางที่กำหนดไว้ ทำให้สถาปนิกผู้ออกแบบเลือกที่จะยกตัวลานกลางที่ประดิษฐานตัวสถูปขึ้นจากระดับสายตาและกดพื้นที่การใช้งานทั้งหมดลงสู่ใต้ดิน เพื่อให้ความสูงโดยรวมของตัวอาคารไม่สูงเกินอาคารข้างเคียง
เป็นการแก้ปัญหาในเรื่องการใช้พื้นที่แต่การเปลี่ยนระดับอาคารในที่ว่างเล็กๆแบบนี้ ก็ทำให้ขาดการเชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์กับผู้คนเดินถนนที่ผ่านไปมา
cr. : Sitthisak Munee
รูปทรงอาคารเป็นแบบร่วมสมัยผสมกับการจัดวางตำแหน่งอาคารแบบศาสนาของไทย จากแนวคิดที่เน้นความสงบนิ่ง โล่งกว้าง และเรียบง่าย เพื่อรำลึกและคารวะต่อวีรชน
ประติมากรรมรูปทรงสถูปตรงกลางเป็นตัวอนุสรณ์สถานสูง 14 เมตร ตัวสถูปเป็นสีทองปลายยอดมีรอยหยักคล้ายสร้างไม่เสร็จ เพื่อสื่อถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นไม่เคยสิ้นสุด ยอดทำด้วยวัสดุโปร่งแสงด้านในติดดวงโคมที่รับพลังงานจากแสงอาทิตย์
เมื่อถึงเวลาค่ำคืน แสงสว่างจากยอดสถูปจะเรืองรองขึ้นเพื่อสื่อถึงประชาธิปไตยที่เป็นอมตะ
ที่ฐานทั้งสี่ด้านบุด้วยกระเบื้องดินเผา ฐานด้านหน้ามีป้ายจารึกว่า “ 14 ตุลา 2516 ประชาธิปไตยของประชาชน ” มีรายชื่อวีรชน 14 ตุลา และรายล้อมด้วยบทกวีและภาพงานศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิเสรีภาพ
ฐานสถูปอันหยาบกร้าน เปรียบคล้ายร่องรอยชีวิตการต่อสู้ของผู้คน มันไม่เคยสมบูรณ์แบบ มีร่องรอย มีตำหนิ แต่มันเปี่ยมล้นไปด้วยพลังและความรู้สึกของสามัญชน
 
ความฝันอันเรืองรอง จะเป็นจริงได้ก็ด้วยสองมือที่ออกแรงพยายาม
แดดกล้าริมถนนยังแผ่รังสีความร้อนไม่จางหาย แม้อาทิตย์จะคล้อยต่ำไปมากแล้ว จากทางเท้าริมถนนเมื่อมองดูบันไดทางเข้าอนุสรณ์สถานที่มีซุ้มคอนกรีตขนาบอยู่สองข้าง สัดส่วนและรูปทรงอันแข็งกร้าวของมันกลับแลดูตะหง่านค้ำหัว
มันช่างคล้ายกับแนวคิดในเรื่องประชาธิปไตยของประเทศนี้ที่ดูแปลกแยกและเป็นคนละส่วนกับชีวิตผู้คน
แต่จะว่าไป
แม้จะแปลกแยกบ้าง...
ห่างไกลบ้าง...
ก็ยังดีกว่าไม่มี
ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์
wikiwand
***********************************
สำหรับเพื่อนๆ Blockdit ที่สนใจแนวอื่น ผมมีเขียนลงอีก 2 เพจคือ
๏ 'Bear's Books'  = ข้อคิดดีๆที่ได้จากการอ่าน
๏ 'Bear's Blog'  = ภาพถ่ายกับมุมมองของชีวิต ในรูปของ บทกลอน เรื่องสั้น หรือ ไฮกุ และ คอลัมน์ การ์ตูนกวนเมือง
ขอเชิญชวนให้เข้าไปแวะชมนะครับ
เผื่อจะมีบางข้อเขียนที่อาจถูกใจ
ฝากติดตาม หรือ แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ครับ
หรือใครสนใจเฉพาะภาพถ่าย
ลองเข้าไปดูและกดติดตามได้ใน
ig : khanaad_photo  นะครับ
แล้วพบกันนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา