14 พ.ค. 2021 เวลา 02:14 • ศิลปะ & ออกแบบ
อัครมหาสถานบนความเท่าเทียม ?
1
อาคารรัฐสภาแห่งใหม่เปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา  หลังจากใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 8 ปี บนพื้นที่กว่า 424,000 ตารางเมตร กับงบประมาณ 12,000 ล้านบาท
4
อาคารที่ใช้แนวคิด สัปปายะสภาสถานแห่งนี้นั้น มีความน่าสนใจมากมายหลายเรื่องให้เราประชาชนได้เรียนรู้ ได้ศึกษา
2
รูปแบบอาคารหลังนี้มาจากแบบที่ชนะการประกวดของทีมออกแบบที่ชื่อว่า ’สงบ ๑๐๕๑’ ซึ่งนำทีมโดย 'ชาตรี ลดาลลิตสกุล' ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป(สถาปัตยกรรม) ปี2562 และ 'ธีรพล นิยม' จาก สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป(สถาปัตยกรรม) ปี2556 ร่วมกับ บริษัท แปลนแอสโซซิเอทส์  บริษัท แปลนสตูดิโอ และบลูแพลนเนต ดีไซน์ อินเตอร์เนชั่นแนล
2
ส่วนตัวอาคารเรือนยอดสีทองชั้นบนสุด ซึ่งเป็นโถงรัฐพิธีและส่วนยอดที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช ได้ รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป(สถาปัตยกรรม) ปี2537   และ รศ.เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี  ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป(สถาปัตยกรรม) ปี2553 มาร่วมออกแบบ
จากแนวความคิด ‘สัปปายะสภาสถาน’ ซึ่งหมายถึง สถานที่ประชุมที่เอื้อให้เกิดความดีงาม สถาปนิกได้ยกเอาคติเขาพระสุเมรุมาเป็นภาพจำลองให้แก่อาคารประชุมรัฐสภาแห่งนี้
1
ถ้าดูจากแบบผังอาคาร จะเห็นแผนผังจำลองของจักรวาลตามคติ ฮินดู-พุทธ มีพื้นที่ที่ใช้ประกอบรัฐพิธีซึ่งอยู่ภายใต้อาคารเรือนยอดเป็นจุดศูนย์กลางของพื้นที่ มีห้องประชุมจันทรา(ห้องประชุม สว.)และห้องประชุมสุริยัน(ห้องประชุม สส.)ขนาบเป็นดาวบริวารอยู่ซ้ายขวา ถัดออกไปเป็นแนวหมู่ต้นไม้ที่นำมาปลูกเรียงรายตามขอบนอกอาคาร คล้ายดั่งป่าหิมพานต์ในวรรณคดี
3
ผู้ออกแบบได้วางโจทย์เป็นภาระกิจให้ตัวเองในการออกแบบอาคารหลังนี้ไว้ 4 ข้อคือ
1.ทำอย่างไร ให้อาคารหลังนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจที่สามารถพลิกฟื้นจิตวิญญาณของคนในชาติ
2.ทำอย่างไรให้อาคารมีเอกลักษณ์ไทย
3.ทำอย่างไรให้อาคารสามารถสร้างความเป็นเอกภาพระหว่างรัฐกับประชาชน
4.ทำอย่างไรให้อาคารหลังนี้เป็นเงื่อนไขก่อให้เกิดการเรียนรู้ในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง เป็นกระบวนการสร้างคุณค่าและสำนึกของการร่วมกันคิดร่วมกันสร้าง ในการสถาปนารัฐสภาแห่งใหม่นี้
แต่คำตอบของโจทย์ว่าบรรลุเป้าหมายหรือไม่ ควรต้องมาจากบุคคลอื่นที่มิใช่เป็นผู้ออกแบบ
1
ซึ่งถ้ามองในแง่คุณค่าของตัวสถาปัตยกรรม ปกติเรามักจะเริ่มต้นที่แนวความคิด ซึ่งในอาคารหลังนี้ เขาพระสุเมรุเป็นแก่นของงาน
วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต เรื่อง 'คติ และสัญลักษณ์ ในการออกแบบสถาปัตยกรรมของสัปปายะสภาสถาน' ของ นายมนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์ประเด็นนี้ไว้ว่า รูปลักษณ์อาคารที่แสดงออกมาทั้งการจัดผังและรูปทรง นั้นสื่อถึงคติของเขาพระสุเมรุอย่างชัดเจน
1
รวมไปถึงองค์ประกอบอาคารที่มีการประดับตกแต่งโดยอ้างอิงถึง แนวเสาลอย ฐานอาคารท้องสำเภา เป็นการแสดงออกถึงความเป็นไทยผ่านสถาปัตยกรรมแบบราชสำนักในสมัยอยุธยา
ถึงแม้จะเป็นการใช้สัญลักษณ์ที่ตรงไปตรงมา เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ แต่การใช้แนวความคิดดังกล่าวจะเป็นการใช้ที่เหมาะสมกับอาคารอันเป็นที่ประชุมตัวแทนประชาชนทุกผู้เหล่าหรือไม่ หรือตอบโจทย์ที่ผู้ออกแบบวางไว้ในเบื้องต้นหรือไม่ วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ไม่ได้ให้ข้อสรุปไว้
แต่วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ได้ให้ข้อสังเกตข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในข้อกำหนดของการประกวดแบบที่ว่า 'ให้ออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ให้มีเอกลักษณ์ความเป็นสถาบันอันทรงเกียรติของประเทศไทย'
ซึ่งข้อกำหนดนี้ มนัสพงษ์ ผู้จัดทำวิทยานิพนธ์ดังกล่าววิเคราะห์ว่า
"การที่ไม่ระบุอย่างชัดเจนว่า เอกลักษณ์ที่พูดถึงคือเอกลักษณ์ไทย เอกลักษณ์ชาติ หรือความเป็นไทย แต่แนวโน้มของความไม่ชัดเจนดังกล่าว ทำให้กลุ่มสถาปนิกที่ส่งแบบเข้าประกวดไม่สามารถละทิ้งเรื่องเอกลักษณ์ หรือความเป็นไทยไปได้"
จากข้อสังเกตของมนัสพงษ์ ทำให้ย้อนไปคิดถึง  การประกวดแบบสนามบินสุวรรณภูมิก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้ชนะคือ Helmut Jahn สถาปนิกระดับโลก ก็ยังถูกท้วงติงจากสังคมว่า แบบที่ชนะการประกวด(และถูกนำมาสร้างในปัจจุบัน) นั้นขาดเอกลักษณ์ของความเป็นไทย
จากเพจเฟสบุ๊ค 'คิดอย่าง'
จึงมีความเป็นไปได้ ที่ทำให้ผู้ออกแบบจำต้องหาแนวคิดที่สื่อถึงเอกลักษณ์ดังกล่าว และตัดสินใจใช้คติเขาพระสุเมรุมาตอบโจทย์ในส่วนนี้ ซึ่งกลายเป็นจุดที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในเวลาต่อมา
1
หนึ่งในผู้วิจารณ์ที่ถูกยกไปพูดถึงในสื่อสาธารณะมากที่สุดคือข้อคิดเห็นของ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
อ.ชาตรีให้คำจำกัดความสั้นๆไว้ว่า
'นี่เป็นสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยที่น่าผิดหวังที่สุด'
"เพราะเป็นการนำเอาลักษณะของศาสนสถานมาใช้ในอาคารราชการ เป็นการทำลายทั้งศาสนาและทำลายหลักการของกิจกรรมทางการเมืองในรัฐโลกวิสัย"
1
ซึ่งรายละเอียดในประเด็นเหล่านี้ อาจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำมาต่อยอดขมวดรวมอยู่ใน มติชนสุดสัปดาห์ (ฉบับวันที่ 5-11 มีนาคม 2564) ซึ่งพอสรุปได้ว่า
"การนำเอาสัญลักษณ์ที่สื่อถึงศีลธรรมทางศาสนาที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละศาสนา มาปะปนกับจริยธรรมทางโลก"
1
ภาพร่างอาคารเครื่องยอด ส่วนบนเป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช ด้านล่างภายในตัวอาคาร เป็นพื้นที่สำหรับพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดประชุมรัฐสภา
"เป็นการนำเอาความเชื่อหนึ่งมากำกับบังคับใช้กับคนทุกคน ย่อมจะเป็นปัญหา"
"ควรใช้จริยธรรมทางโลกซึ่งมีลักษณะสากล เช่น การยึดมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลมาเป็นแนวทางมากกว่า"
1
"รัฐสภาควรสะท้อนการยอมรับความแตกต่างหลายหลาก เพราะเป็นสิ่งที่ประชาธิปไตยโอบอุ้มไว้"
1
"การเมืองแบบประชาธิปไตยไม่ได้ต้องการคนดีหรือเทวดามาปกครอง แต่มีระบบกลไกที่สามารถตรวจสอบติดตามนโยบายการบริหารและกิจกรรมทางการเมืองของนักการเมืองและรัฐบาลได้เสมอ"
3
สอดคล้องกับอีกหนึ่งความคิดเห็นจากนักวิชาการทางสถาปัตยกรรมอย่าง อ.ดร.วิญญู อาจรักษา อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เปรียบเทียบว่า นี่คือ 'สถาปัตยกรรมแห่งการยกเว้น'
อ.วิญญู มองอาคารรัฐสภาหลังนี้ ว่าเป็นตัวอย่างของความรุนแรงเชิงสถาปัตยกรรม เพราะผลที่เกิดจากรูปลักษณ์ของมัน คือการเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ทางประชาธิปไตยระหว่างชาติกับประชาชน
เป็นกลยุทธ์ที่ใช้สถาปัตยกรรมเพื่อควบคุมการรับรู้ของประชาชน
อ.วิญญูยังอ้างอิงถึงหลักปรัชญาการเมืองซึ่งถูกพูดถึงโดย จิออจิโอ อกัมเบน (Giorgio Agamben) นักปรัชญาอิตาเลี่ยน ที่พูดถึงสภาวะในการยกเว้น(State of exception) อันหมายถึง สภาวะที่สถานะพลเมืองทางกฎหมายมีความไม่ชัดเจน คือความไม่สมดุลย์ระหว่างกฎหมายมหาชนกับความเป็นจริงทางการเมือง
ถ้าเรายกตัวอย่างพอให้เห็นภาพ เช่นการอ้างถึงประชาชนในวาทะกรรมต่างๆของภาครัฐในการออกกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติแล้วประชาชนกลับไม่แน่ใจสิทธิในเรื่องนั้นจริงๆ เพราะผู้มีอำนาจจะเป็นผู้เลือกว่า จะใช้กฎหมายข้อนั้นกับใครและจะตีความอย่างไร
ซึ่งสภาวะเช่นนี้มักเกิดขึ้นกับการปกครองในสภาวะพิเศษทางการเมือง
ถ้ามองย้อนกลับมาที่สัปปายะสภาสถานแห่งนี้ เราจะเห็นประเด็นชัดขึ้น เช่นการมีอยู่ของ 'ลานประชาชน' ซึ่งถูกออกแบบไว้อยู่ด้านข้างอาคาร(นอกแนวแกนของอาคาร) เพื่อเป็นพื้นที่ให้ประชาชนมารวมกลุ่มเรียกร้องต่อฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ในทางปฏิบัติกลับทำได้ยาก ตั้งแต่การเข้าถึงที่ตั้งอาคาร ข้อห้ามทางกฎหมายในเรื่องการชุมนุม เป็นต้น
หรือการเข้าถึงส่วนแกนหลักของอาคาร บนอาคารเครื่องยอดที่ปรารถนาจะยกให้เป็นพื้นที่พลิกฟื้นจิตวิญญาณของความดีงาม ในความเป็นจริงแล้ว ประชาชนธรรมดาจะเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าวได้อย่างไร เพราะอาคารมิได้ออกแบบให้มีพื้นที่รองรับประชาชนที่มีจุดมุ่งหมายเข้ามาในลักษณะนี้
และปัญหาในแนวความคิดของเขาพระสุเมรุที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดที่อ.วิญญูยกขึ้นมาคือ
แต่เริ่มเดิมที สัปปายะสถานแห่งนี้ไม่ได้มีห้องสำหรับทำละหมาดให้ผู้ใช้อาคารที่นับถือศาสนาอิสลาม และเมื่อมีการเพิ่มเติมต่อมาภายหลัง ก็ยังเกิดคำถามตามมาว่า ตำแหน่งทิศทางของห้องนั้นถูกต้องตามหลักศาสนาเพียงใด? และกับคำถามสำคัญคือ การให้มุสลิมทำละหมาดต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าภายใต้พระสยามเทวาธิราชที่ประทับอยู่บนอาคารดั่งเขาพระสุเมรุ เช่นนี้นั้น เป็นการคิดถึงประชาชนทุกหมู่เหล่าจริงหรือ?
4
เรื่องแนวความคิดของเขาพระสุเมรุนี้ ไม่เพียงเป็นปัญหาแต่เฉพาะห้องละหมาด แต่เเนวความคิดดังกล่าวส่งผลถึงการใช้สอยอาคารในส่วนอื่นๆด้วย
1
หนึ่งในผู้ใช้งานอาคารและเป็นสถาปนิกอย่าง   'ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ' ที่มีตำแหน่งหน้าที่เป็นรองโฆษกพรรคเพื่อไทย เคยโพสต์เฟสบุ๊คถึงสภาแห่งนี้ว่า เป็นอาคารที่ไม่เป็นมิตรกับประชาชน
เขาอธิบายว่า สภาแห่งใหม่นี้มีการเข้าถึงที่ยากลำบาก ขาดทางเดินที่มีหลังคาคลุม(cover way) ที่เอื้อต่อผู้เดินเท้า และถ้าใช้รถยนต์ส่วนตัวเข้ามาก็จะประสบปัญหากับพื้นที่จอดรถที่มีอย่างจำกัด ไม่สัมพันธ์กับขนาดของอาคาร  แม้แต่กับผู้ใช้อาคารประจำวันก็ยังไม่เพียงพอ (โดยเฉพาะในวันที่มีการประชุมสภา)  ทางสัญจรในอาคารซับซ้อนดั่งเขาวงกต และไม่มีบันไดสาธารณะที่มีประสิทธิภาพให้กับผู้คนจำนวนมากได้ใช้ในการเชื่อมพื้นที่ระหว่างชั้นเข้าด้วยกัน
2
ถ้าวิเคราะห์จากสิ่งที่ชนินทร์สื่อไว้ร่วมกับการดูผังอาคาร เราจะเห็นได้ว่า พื้นที่การใช้งานที่ไม่เพียงพอนั้นอาจจะเนื่องด้วยการจัดพื้นที่เพื่ออิงแนวความคิดแบบเขาพระสุเมรุ ทำให้ผู้ออกแบบเลือกที่จะวางตัวอาคารให้มีระยะที่ว่างด้านหน้าอาคารเพื่อให้เกิดมุมมองจากระยะไกล ซึ่งเมื่อเส้นขอบอาคารทาบทากับฉากหลังที่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะเกิดภาพเขาพระสุเมรุในอุดมคติขึ้นจริงๆ
1
เขาพระสุเมรุนั้นคือความสมดุลบนความสมมาตรของแกน ผู้ออกแบบพยายามใช้การออกแบบด้วยการให้มีห้องประชุมใหญ่ 2 ห้องอยู่ตำแหน่งซ้ายขวาของอาคาร เสมือนดั่งพระอาทิตย์และพระจันทร์ที่โคจรรอบเขาพระสุเมรุ (รัฐสภาเดิมมีห้องประชุมเดียวใช้ร่วมกัน แต่สลับวันกันใช้ ซึ่งปัจจุบัน สส.และสว.ต่างก็ประชุมคนละวันเหมือนเช่นในอดีต)
1
ซึ่งการเลือกแผนผังที่มีรูปลักษณ์ตายตัวเช่นนี้มาใช้กับอาคารที่มีลักษณะการใช้งานหลายหลาก ย่อมต้องการพื้นที่ในการจัดสรรที่มากขึ้น ทางสัญจรที่มากขึ้น เพื่อให้การแบ่งพื้นที่การใช้งานทำได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้แล้ว พื้นที่ใช้งานประกอบอื่นๆเช่น ห้องอาหาร โถงต้อนรับ ห้องประชุมของกรรมาธิการ ยังแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม แยกตามฝั่งอาคารของ สส.และสว. เป็นดั่งพื้นที่บริวารของพระอาทิตย์และพระจันทร์ ทำให้เกิดพื้นที่ที่สูญเปล่าจำนวนมากในวันที่ไม่มีการประชุม โดยเฉพาะช่วงปิดสมัยประชุม
ถ้าย้อนกลับไปดูโจทย์ 4 ข้อ ที่ทางผู้ออกแบบตั้งไว้ เราก็พอมองออกว่า สัปปายะสภาสถานแห่งนี้สามารถทำหน้าที่ตอบโจทย์คำถามเหล่านั้นได้ครบถ้วนเพียงใด โดยเฉพาะเรื่องแนวความคิดและการใช้พื้นที่
1
นี่ยังไม่รวมถึงหลักการออกแบบทั่วไป ที่ต้องคำนึงถึงการบำรุงรักษาต่อไปในอนาคตและการเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานที่กลายเป็นเทรนด์ระดับโลก
ส่วนอาคารกระจกที่มีหน้าที่ใช้สอยเป็นพิพิธภัณฑ์ชาติไทยวางล้อมรอบสระน้ำ โดยมีตัวอาคารเครื่องยอดอยู่กึ่งกลางพื้นที่
ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมา ก็ต้องให้ความยุติธรรมกับฝั่งผู้ออกแบบ เนื่องด้วยรูปแบบอาคารนี้ได้มาจากการประกวดแบบ(ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2552) ที่ทางรัฐสภามอบหมายให้
สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์จัดขึ้น คณะกรรมการตัดสินแบบ(ในขณะนั้น) มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 14 ท่าน ประกอบด้วยสว. 5 ท่าน สส. 3 ท่าน  สถาปนิก 4 ท่าน ภูมิสถาปนิก 1 ท่านและวิศวกร 1 ท่าน
ดังนั้น รูปแบบและแนวความคิดของอาคารหลังนี้จึงอาจจะเป็นอาคารในอุดมคติของผู้เลือกแบบที่มีอำนาจบ้านเมืองในยุคนั้น ที่มองว่า สังคมมีสภาพแตกแยกทางความคิดแบ่งฝักแบ่งฝ่าย  ความคิดที่ต้องการคนดี(หรือเทวดาผู้มีบุญญาบารมี)เข้ามากอบกู้บ้านเมืองจึงถูกรื้อฟื้นขึ้น
1
ถ้ามองตามการแบ่งยุคสถาปัตยกรรมในยุคหลังของประเทศไทยตามที่ ศ.ดร.ชาตรี แบ่งเป็นยุคไว้ คือ สยามเก่า(สถาปัตยกรรมราชสำนักก่อน 2475) และยุค ไทยใหม่ (ยุคโมเดิร์นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) อาคารสัปปายะสภาสถานหลังนี้ ก็อาจถือเป็นอาคารย้อนยุคที่ต้องการกลับไปเชิดชูค่านิยมแบบเดิมๆอีกครั้ง
หรือจะว่าไป สัปปายะสภาสถานแห่งนี้ได้สื่อถึงเอกลักษณ์ของไทยได้อย่างครบถ้วนดีแล้ว คือการเป็นสถาปัตยกรรมที่อ้างอิงถึงลำดับชั้นตามบุญญาบารมี เป็นสถาปัตยกรรมแห่งการยกเว้น และเป็น..
อัครมหาสถานที่แสดงตนวางอยู่เหนือฐานแห่งความเท่าเทียมทั้งปวง
อ้างอิงจาก
- บทความ "เขาพระสุเมรุ" กับ อาคารรัฐสภาใหม่ไทย : "สภาวะแห่งการยกเว้น" ในฐานะกระบวนทัศน์การสร้างงานสถาปัตยกรรม วารสาร 'หน้าจั่ว' โดย อ.ดร.วิญญู อาจรักษา
- คอลัมน์ ผี-พราหมณ์-พุทธ โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค็ง ในมติชนสุดสัปดาห์ (ฉบับวันที่ 5-11 มีนาคม 2564)
- way magazine สัมภาษณ์ รศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ (วิทยฐานะในขณะนั้น)
- เฟสบุ๊คของ ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=135609968531007&id=104220275003310
- วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต เรื่อง 'คติ และสัญลักษณ์ ในการออกแบบสถาปัตยกรรมของสัปปายะสภาสถาน' ของ นายมนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา
- สภาวะยกเว้นกับระบบความคิดแบบคอมพิวเตอร์: ความแตกต่างระหว่าง generation และระบบความคิด
โดย ภูริภัทร์ เครือนพรัตน์ สถาบันพระปกเกล้า
- สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา