23 มี.ค. 2021 เวลา 12:06 • ธุรกิจ
ช่วงเวลาของหุ้นเล็ก! นักลงทุนรายย่อยแห่เข้าตลาด หนุนดัชนี ‘sSET-mai’ พุ่ง 20-30% ทิ้งห่าง SET ไม่เห็นฝุ่น
ช่วงเวลาเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยเป็นภาพของการฟื้นตัวหลังจากที่ติดลบเมื่อปีก่อน โดยดัชนี SET ปรับตัวขึ้นได้ +8% นับจากต้นปี แต่การเพิ่มขึ้นในระดับดังกล่าวอาจจะดูเล็กน้อยลงไปมาก เมื่อหันไปมองดัชนีของหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กของไทย คือ ดัชนี sSET และดัชนี mai ซึ่งปรับตัวขึ้นถึง 23.5% และ 29.9% ในขณะที่ดัชนีอย่าง SET50 และ SET100 ปรับขึ้นได้เพียง 5.4% และ 6.9% (อ้างอิงจากข้อมูลวันที่ 22 มีนาคม 2564)
1
“จากการศึกษาข้อมูลในอดีต ปัจจัยหลักที่ทำให้หุ้นกลางและหุ้นเล็กวิ่งขึ้นได้แรงคือ การเข้ามามีส่วนร่วมของนักลงทุนรายย่อยที่มากขึ้น” ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กวิ่งขึ้นกันฝุ่นตลบ
หากย้อนดูข้อมูลที่ผ่านมา จะเห็นว่าสภาพคล่องในประเทศไทยเพิ่มขึ้นสูงมาก ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บ่งชี้ว่า ปริมาณเงินในระบบ (M2) ของไทยยังเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ทั้งจากปริมาณรวมที่เพิ่มขึ้นไปถึงประมาณ 23 ล้านล้านบาท และในแง่การเติบโต ซึ่งข้อมูลในเดือนมกราคมยังเห็นการเพิ่มขึ้นถึง 9.9%
“ปริมาณเงินระบบเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อเดือนมีนาคม 2563 จากปัญหาในตลาดหุ้นกู้เอกชน ทำให้เงินที่อยู่ในนั้นไหลออกมายังตราสารอื่นๆ ซึ่งหุ้นก็เป็นหนึ่งในนั้น”
แต่หลังจากโควิด-19 ผ่านจุดพีกของการแพร่ระบาด จะเห็นว่าส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้เอกชนก็ยังสูงอยู่ สะท้อนว่านักลงทุนยังไม่ได้กลับไปมั่นใจในหุ้นกู้เอกชนมากนัก เงินจึงยังไม่ได้ไหลกลับและยังอยู่ในตลาดหุ้นต่อไป
“หากดูจากมูลค่าการซื้อขายรวมของตลาดหุ้นในปีนี้ จะเห็นว่า 45% มาจากฝั่งของนักลงทุนรายย่อย จากระดับก่อนโควิดซึ่งอยู่ที่ราว 35% โดยอัตราส่วนที่ลดลงไปคือนักลงทุนสถาบันในประเทศ ซึ่งตัวเลขนี้นำไปสู่การพุ่งขึ้นของหุ้นในกลุ่ม sSET และ mai ด้วยสไตล์การลงทุนของรายย่อยที่มักจะซื้อหุ้นกลางและหุ้นเล็กมากกว่า แม้ว่ามูลค่าของหุ้นเหล่านี้หลายๆ ตัวจะแพงมาก”
ขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ แม้ว่าจะมี Valuation น่าสนใจกว่ามาก แต่ด้วย Fund Flow ที่ยังคงไหลออก ขณะที่สถาบันในประเทศก็ยังขายสุทธิ ทำให้หุ้นใหญ่ Laggard อยู่มาก ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการถูกลดน้ำหนักโดยดัชนีอ้างอิงสำคัญอย่าง MSCI และ FTSE
“หุ้นกลางและหุ้นเล็กจะยังขึ้นได้ดีต่อไปหรือไม่ คำถามนี้คงต้องประเมินว่าสภาพคล่องจะลดลงไปหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าหากบอนด์ยีลด์ยังปรับขึ้นต่อ อาจจะดึงดูดเม็ดเงินบางส่วนกลับไปหาตราสารหนี้มากขึ้น และถ้าเป็นเช่นนั้น แนวโน้มในระยะยาวกับบอนด์ยีลด์ขาขึ้น ก็มักจะเป็นช่วงเวลาที่ดีของหุ้นขนาดใหญ่ ในกลุ่มวัฏจักร ส่วนการปรับฐานของตลาดอาจจะยังไม่เกิดขึ้นด้วยสภาพคล่องที่ยังสูงมาก แต่ก็คงจะเห็นการย่อตัวของหุ้นที่ราคาแพงเกินไปมากแล้วเกิดขึ้น”
ส่วนภาพรวมของตลาดหุ้นไทย จากเดิมที่อาจจะมีข้อได้เปรียบจากการที่ยัง Laggard จากตลาดหุ้นอื่นๆ แต่ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนข้อได้เปรียบในส่วนนี้จะหมดไปแล้ว
1
“ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ดัชนี SET +30% มากสุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค เป็นรองเพียงแค่เกาหลีใต้ที่ +31% ทำให้ตลาดหุ้นไทยไม่ได้ Laggard อีกต่อไป ไทยอาจจะถึงจุดสมดุลแล้วที่บริเวณ 1,585-1,610 จุด จากเดิมเราเคยถูกกว่าเพื่อน เรา Laggard กว่าเพื่อน จุดๆ นั้นถูกปิดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย กล่าว
2
ช่วงที่ผ่านมาหุ้นไทย Outperform อย่างต่อเนื่อง เมื่อมาถึงระดับนี้ หากนักลงทุนที่ยังคงให้น้ำหนักกับหุ้นขนาดใหญ่ อาจต้องระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต่างชาติไม่ได้เข้าซื้อตามหลังจากนี้ ส่วนตัวมองว่าปัจจุบันยังไม่ใช่รอบของหุ้นใหญ่ แต่การเก็งกำไรในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กยังพอทำได้อยู่
“หุ้นกลางและหุ้นเล็กน่าจะยังดีต่อเนื่องในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงของการจ่ายปันผลของหุ้นใหญ่ด้วย แต่หลังจากนั้นอาจจะต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะตลาดอาจจะเริ่มถูกกดดันจากการเริ่มส่งสัญญาณของเฟดสำหรับการลดวงเงินอัดฉีด”
ส่วนแนวโน้มของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 2 นี้ ในมุมมองของโบรกเกอร์ต่างชาติบางรายเริ่มปรับลดน้ำหนักการลงทุนในกลุ่ม Emerging Market (EM) จาก Overweight เป็น Neutral ซึ่งหากย้อนดูในช่วง 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นว่าตลาดหุ้นในกลุ่ม Developed Market (DM) อย่างสหรัฐฯ ปรับขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ สวนทางกับฝั่ง EM ที่เริ่มอ่อนตัวลง
“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับน้ำหนักคือ Dollar Index มีโอกาสแข็งค่าอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่สถานะ Short ใน Dollar Index เมื่อปลายปี 2563 เคยทำสูงสุดในรอบ 10 ปี แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นการทำ Short Covering อย่างหนักในเงินดอลลาร์เช่นกัน หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวกลับมาเร็วกว่าคาด สวนทางกับเศรษฐกิจยุโรปและจีนที่ชะลอตัวลง”
ขณะที่ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ซึ่งสะท้อนแนวโน้มในอนาคต จะเห็นว่าประเทศต่างๆ ในอาเซียนรวมถึงไทย เริ่มปรับตัวลดลง ทำให้เศรษฐกิจในอาเซียนอาจจะฟื้นตัวได้ไม่เท่ากับที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ สวนทางกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ด้วยแรงหนุนของมาตรการกระตุ้น 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเริ่มมีการพูดถึงตัวเลขใหม่ที่ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
เรื่อง: สกุลชัย เก่งอนันตานนท์
โฆษณา