24 มี.ค. 2021 เวลา 03:20 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ธรณี ‘หนี้’ นี้ ใครจ่าย ??
The Serious - Who pay this debt (Picture by : Flickr.com)
หลังจากวัคซีนที่รอคอยกันมาอย่างยาวนานได้เริ่มถูกทยอยแจกจ่ายให้กับประชาชนตามลำดับความเสี่ยงแล้วเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราคงสามารถพูดได้อย่างมั่นใจมากขึ้นว่า COVID-19 คงใกล้ถึงเวลาสิ้นสุดลง (ไม่เร็วก็ช้า)
ในช่วงนี้จึงอาจะเป็นโอกาสที่จะเริ่มพูดถึงการคืนความสุข ที่เรา (รัฐบาล) ยืมมาใช้ยามฉุกเฉินในรูปแบบของนโยบายชื่อคุ้นหูไม่ว่าจะเป็น ‘คนละครึ่ง’ ไปจนถึง ‘เราชนะ’ ซึ่งอยู่ในรูปหนี้สาธารณะ หรือก็คือหนี้ของชาวไทยทุกคน...
หากเราย้อนไปดูหนี้ของไทยเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา (30 ก.ย.) พบว่า ประเทศไทยมียอดหนี้คงค้างราว 7.85 ล้านล้านบาท ซึ่งก็จะมีทั้งหนี้ที่รัฐบาลก่อไว้ หนี้ครั้งตั้งแต่ต้มยำกุ้ง ไปจนถึงหนี้ที่รัฐบาลไปค้ำประกันเอาไว้ให้แก่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ
1
ปัญหามีอยู่ว่า หนี้จำนวนนี้เยอะแค่ไหน : ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบดูแบบคร่าว ๆ ก็ประมาณว่า ถ้าเปลี่ยนจากคำว่าหนี้รัฐบาลเป็นเงินสดคงเหลือของรัฐบาล เราก็จะสามารถ “แจกเงินแบบเราชนะเพิ่มเป็นคนละ 1 แสนบาทได้ 78.5 ล้านคน”
อันที่จริงถ้าจะเปรียบเทียบตัวเลขแบบนี้คง ‘ไม่ค่อยแฟร์’ เท่าไรนัก เพราะหนี้ก้อนนี้ เป็นยอดหนี้สะสมตั้งแต่ ‘รัฐบาลไทย’ เริ่มมีการกู้เงินตั้งแต่อดีตกาล ซึ่งเท่าที่เราพอจะหาข้อมูลย้อนกลับไปได้นั้น ก็อาจย้อนไปถึงช่วงปี 2465 ที่รัฐบาลไทยออกพันธบัตรกู้เงินกับประเทศในกลุ่มยุโรปเพื่อนำมาพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานและรถไฟในสมัยนั้น
1
ทีนี้เราคงต้องกลับมาเรื่องของปัจจุบันกันบ้าง เมื่อดูสถานะการกู้เงินตามพระราชกำหนดกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทของรัฐบาลล่าสุดก็พบว่า มีการอนุมัติการใช้วงเงินไปแล้วกว่าราว 7.1 แสนล้านบาท นั่นหมายความว่า รัฐบาลมีวงเงินให้ใช้อีกราว 2.9 แสนล้านบาท ในการรับมือสถานการณ์ COVID-19 ที่อาจจะลากยาวต่อไป
เมื่อมีคนพูดถึงตัวเลขหนี้ต่อรายได้ทั้งหมด (Public debt / GDP) ว่าอยู่ประมาณ 50% ยังต่ำกว่าวินัยการเงินการคลังที่บอกไว้ว่า ‘ไม่ควร’ เกิน 60% ก็คงต้องบอกว่า รัฐบาลยังพอมีทางหนีทีไล่ที่จะก่อหนี้เพิ่มต่อไปก็ได้ และเมื่อถึงจุดคับขันจริง ๆ คงต้องก่อหนี้สูงกว่า 60% ที่กำหนดไว้
คำถามที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ ‘เมื่อคุณมีเงินต้นเพิ่มขึ้น การจ่ายคืนก็จะต้องเพิ่มขึ้นด้วย’ แล้วภายใต้สภาวะที่ (1) รายได้คนทั่วไปยังไม่กลับมาเต็มที่ ภาษีที่ผันแปรตามรายได้ของรัฐก็จะไม่โต และ (2) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดเงินที่กำลังปรับตัวสูงขึ้น รัฐก็จะมีภาระต้องจ่ายหนี้คืนสูงขึ้น
เมื่อถึงเวลานั้น สิ่งที่เราทุกคน จะไม่สามารถหนีพ้นได้เลยก็คือ ‘การปรับขึ้นภาษี’ เพื่อคืนความสุขที่เรา ๆ เคยได้มา คืนให้แก่รัฐบาลไปใช้หนี้ ต่อไป...
และหนึ่งในเครื่องยืนยันเรื่องนี้ก็ขอให้ดูตัวอย่างของประเทศอังกฤษ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แถลงต่อสาธารณะแล้วว่า ‘เตรียมขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก 19% เป็น 25% ในอีก 2 ปี’
#TheSerious
#เจาะลึกเศรษฐกิจไทย
โฆษณา