27 มี.ค. 2021 เวลา 13:20 • ธุรกิจ
LVD 106: กฎการสร้างนิสัยใหม่ (#LVD_AtomicHabit ตอนที่ 4)
สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้เราจะมาคุยกันต่อถึงหนังสือการสร้างนิสัยที่โด่งดังอย่าง Atomic Habits ซึ่งในตอนนี้จะเป็นตอนที่สี่ซึ่งจะเป็นตอนสุดท้ายของซีรีย์นี้ครับ หลังจากที่เราได้พูดถึงความหมายของ Atomic Habits ในตอนแรก และมาถึง Identity-based Habits ในตอนที่สอง และตอนที่สาม เราได้คุยถึงกฎข้อแรกจากสี่ข้อของการเปลี่ยนนิสัย คือ Make if Obvious ไปแล้ว ตอนนี้ผมอยากจะพูดถึงกฎอีกสามข้อที่เหลือแบบกระชับๆ (รู้สึกว่าตอนที่ผ่านมาจะยืดไปหน่อย) แต่เนื้อหาครบถ้วนอัดแน่นแน่นอนครับ ลองตามมาดูครับ
คือมันอย่างนี้ครับ...
มาทบทวนกันเล็กน้อยครับ กับกฎของการสร้างนิสัยใหม่ของ Atomic Habits ที่มีกฎง่ายๆอยู่ 4 ข้อ คือ
1. Make it Obvious หรือทำให้เห็นได้ชัด ที่เราคุยกันไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (เราคุยเรื่อง Habit Scorecard, Habit Stacking)
2. Make it Attractive หรือทำให้น่าดึงดูด
3. Make it Easy หรือทำให้ง่าย
4. Make it Satisfying หรือทำให้น่าพึงพอใจ
วันนี้เราจะมาคุยถึงกฎ 3 ข้อหลังรวดเดียวเลย มาเริ่มกันเลยครับ
Make it Attractive หรือทำให้น่าดึงดูด
การทำให้พฤติกรรมของเรามันเกิดง่ายขึ้น เราต้องทำให้สมองของเรารู้สึกดึงดูดใจที่จะทำพฤติกรรมนั้นๆ ซึ่งก็ตรงไปตรงมานะครับ โดยผมลองย่อยวิธีคิดการทำให้พฤติกรรมมีความดึงดูดใจต่อสมองของเราเป็น 2 ด้าน ดังนี้
ด้านที่ 1 สร้างความดึงดูดใจจากภายใน
คุณเคยได้ยินเรื่องของ “สารแห่งความสุข” ที่เราเรียกว่า “โดพามีน” (Dopamine) ไหมครับ ผมคิดว่าหลายท่านน่าจะพอจะรู้จักเจ้าโดพามีนมาบ้าง สารโดพามีนเป็นสารที่สมองต้องการเพราะเมื่อเราหลั้งสารโดพามีนก็จะทำให้เรารู้สึกมีความสุข กล่าวได้ว่าเจ้าโดพามีนนี่แหละคือ ตัวส่งผ่านความสุขจากเรื่องต่างๆที่เราพบเจอไปสู่สมอง ดังนั้น จุดสำคัญของการทำให้สมองเกิดความดึงดูดใจต่อการกระทำ คือ ต้องเข้าใจว่าสมองหลั่งโดพามีนยังไง
หลายคนอาจจะเข้าใจว่า โดพามีนจะหลั่งเมื่อเราได้ของที่ต้องการ ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งก็มีส่วนถูก แต่จริงๆแล้วจากการทดลอง พบว่าในครั้งแรกที่เราได้รางวัล เราจะหลั่งสารโดพามีน แต่ถ้าต้องทำพฤติกรรมเดิมในครั้งถัดๆไป กลับพบว่าสมองหลั่งสารโดพามีนในระดับสูงตั้งแต่ตอนที่กำลังมีความคิดอยากได้รางวัลนั้นๆ นั่นคือ เมื่อเวลาผ่านไป แค่คุณคิดถึงการได้รางวัลหรือมีแรงปราถนาต่อรางวัล คุณก็ได้สารโดพามีนแล้วโดยที่คุณยังไม่ได้รางวัลนั้นด้วยซ้ำ เราเริ่มรับโดพามีนตั้งแต่ที่เรามี “ความคาดหวัง” แล้ว
จากจุดที่ว่าสมองได้โดพานีนหรือเกิดแรงดึงดูดต่อพฤติกรรมตั้งแต่ขั้นตอนคาดหวัง ทำให้เกิดหลักการที่ชื่อว่า หลักของพรีแมก (Premack’s Principle) ที่มีหลักว่า “ใช้พฤติกรรมที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้มากกว่ามาเสริมแรงพฤติกรรมที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้น้อยกว่า” นั่นคือ การเอาพฤติกรรมที่เราอยากสร้าง มาผูกติดกับพฤติกรรมที่เราพอใจ เพื่อเป็นสิ่งล่อใจให้เกิดความน่าดึงดูด สมองเมื่อรู้ว่าเราจะได้ทำพฤติกรรมที่เราพอใจ สมองก็หลั่งโดพามีนแล้ว และก็ทำให้เรามีแรงทำในพฤติกรรมที่เราอยากทำหรืออยากสร้างต่อไป เช่น เราอาจจะบอกตัวเองว่า “หลังจากทำ (สิ่งที่ต้องทำ)​ฉันจะทำ (สิ่งที่อยากทำ)” เป็นต้น
1
ด้านที่ 2 สร้างแรงดึงดูดใจจากภายนอก
มนุษย์เราทุกคนย่อมมีความต้องการทางสังคม อยากเป็นที่ยอมรับของสังคม และแรงจูงใจทางสังคมแบบนี้ ก็เป็นแรงดึงดูดชั้นยอดต่อพฤติกรรม ดังนั้น พฤติกรรมของเราก็มีแนวโน้มที่จะได้อิทธิพลจากคน 3 กลุ่ม คือ ครอบครัวหรือเพื่อนสนิท (the Close) คนส่วนใหญ่ (The Many) และคนดังหรือมีอำนาจ (The Powerful)
คงปฎิเสธไม่ได้ว่าเราเป็นค่าเฉลี่ยของคนรอบตัวเรา เช่นเดียวกับเรามีแนวโน้มจะทำตามบรรทัดฐานของสังคม และเราก็ชอบที่จะเชื่อคนดังหรือผู้เชี่ยวชาญให้มีอิทธิผลทางความคิดเหนือเรา การทำตามสังคมแบบนี้ทำให้สมองมีความน่าดึงดูดใจที่จะทำ ทางเดียวที่เราช่วยตัวเราเองได้ คือ การเอาตัวเองไปอยู่ในสังคมที่มีค่านิยมเดียวกับที่เราอยากจะเป็น แม้ว่าโลกจริงจะทำแบบนี้ไม่ได้ทั้งหมด แต่เราก็อาจจะพยายามรู้เท่าทัน และปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆใกล้ข้อจำกัดเท่าที่เป็นไปได้
Make it Easy หรือทำให้ง่าย
กฎข้อนี้เป็นอะไรที่ง่ายสมชื่อครับ และแกนความคิดของเรื่องนี้ คือ การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการฝึกฝนไม่ใช่การวางแผน เพราะการลงมือทำแม้ตอนแรกเราจะต้องใช้ความตั้งใจ แต่เมื่อเราผ่านเส้นการเปลี่ยนเป็นนิสัยแล้วพฤติกรรมนั้นก็จะกลายเป็นพฤติกรรมอัตโนมัติ จุดสำคัญของกฎข้อนี้คือ ทำยังไงให้เริ่มได้ง่าย
1
Law of Least Effort คือ กฎของการใช้ความพยายามน้อยที่สุดแต่ให้ได้ผลมาก เพราะสมองเรามีแนวโน้มที่จะเลือกทางเลือกที่ใช้ความพยายามน้อยที่สุด ดังนั้นเราต้องทำให้พฤติกรรมของเราใช้ความพยายามต่ำ มีแรงต้านน้อย ซึ่งเราต้องกฎการใช้ความพยายามต่ำมารวมกับ 2minutes Rule คือจะเริ่มทำอะไรขอให้ทำให้ได้สองนาที
2
ทั้งสองกฎหรือวิธีการนี้ มีหลักการเพื่อให้เราเริ่มทำพฤติกรรมที่เราอยากทำได้โดยง่าย แล้วคุณก็จะไหลต่อเข้าไปสู่การ Focus มากขึ้นเอง เช่น ผมมักจะใส่ชุดวิ่งนอน เพื่อให้ตอนเช้ามันง่ายขึ้นมากที่จะออกไปวิ่ง ไม่ต้องเลือกชุด ใส่ลองเท้าแล้ววิ่งได้เลย และถ้ายังไม่พอคุณอาจจะตั้งเป้าว่าจะวิ่งแค่ 200 เมตร ซึ่งสุดท้ายถ้าคุณออกไปวิ่งรับรองว่ามันต้องวิ่งได้มากกว่า 200 เมตรแน่ๆ
Make it Satisfying หรือทำให้น่าพึงพอใจ
สำหรับกฎข้อสุดท้ายของการสร้างนิสัย คือ การทำให้น่าพึงพอใจนั้น มีหน้าที่สำคัญในการสร้าง feedback loop เพื่อให้เกิดพฤติกรรมทำซ้ำนั่นเอง อย่าลืมกฎการสร้างนิสัย ต้องทำบ่อยๆ การทำซ้ำๆจึงเป็นจั้นตอนสำคัญ และหลักการมันก็ง่ายๆครับ เมื่อสมองพอใจ เราก็มีแนวโน้มอยากทำพฤติกรรมนั้นๆต่อ
เคล็ดลับของเรื่องนี้คือ ต้องทำให้สมองได้รับผลลัพธ์ที่พึงพอใจทันที เช่นเดียวกับพฤติกรรมที่เราไม่อยากทำ ก็ต้องทำให้เกิดหรือเห็นผลเสียของพฤติกรรมนั้นทันทีเช่นกัน การทำให้เกิดผลพุงพอใจทันทีทำให้ positive feedback loop ทำงาน และพฤติกรรมจึงเกิดซ้ำได้ ซึ่งการให้ผลลงโทษทันทีก็ให้ผลในทางตรงกันข้าม สมองก็จะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมนั้นๆ
นอกจากนี้ หนึ่งในความพึงพอใจที่ดีที่สุดของมนุษย์เรา คือ เมื่อเห็นตัวเองก้าวหน้าไปยังสิ่งที่หวัง ดังนั้น การติดตามผลของนิสัยจึงเป็นวิธีง่ายๆที่สร้างความพึงพอใจต่อเนื่องให้กับสมอง และเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราสามารถสร้างนิสัยที่ดีได้ในระยะยาว
หลังจากที่เราคุยกันเรื่อง Atomic Habits อย่างยาวนานถึง 4 ตอน ผมก็ขอสรุปเป็นประเด็นสั้นๆปิดท้ายครับ
1. อย่าดูถูกพลังของการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ พัฒนา 1% ทุกวัน = เก่งขึ้น 37 เท่าในหนึ่งปี
2. การเปลี่ยนแปลงต้องเปลี่ยนที่ตัวตน เพราะเราฝืนไม่ได้นานๆหรอก เปลี่ยนที่ความเชื่อแล้วการกระทำจะเปลี่ยนตาม
3. ทำให้เห็นชัด เข้าใจพฤติกรรมปัจจุบันอะไรดีไม่ดี เริ่มพฤติกรรมใหม่ด้วยการผูกกับพฤติกรรมเดิม ปรับสิ่งแวดล้อมให้เห็นได้ชัดเอื้อต่อการทำพฤติกรรมใหม่
4. ทำให้น่าดึงดูด ผูกพฤติกรรมที่อยากทำกับพฤติกรรมที่เราชอบเพื่อใช้ประโยชน์จากโดพามีน และอย่าลืมว่าคนรอบข้างและบรรทัดฐานกำหนดพฤติกรรมคุณ
5. ทำให้ง่าย เริ่มให้ง่ายใช้กฎ 2 นาที เริ่มได้แล้วจะ focus ได้เอง
6. ทำให้น่าพึงพอใจ เน้นว่าต้องเห็นผลทันทีจะได้ทำซ้ำง่าย อย่าลืมวัดผลเพื่อสร้าง feedback loop ต่อเนื่องระยะยาว
4
ทั้งหมดนี้ คือที่เราคุยกันตลอด 4 ตอน ขอให้ทุกท่านโชคดีและมีพลังในการเปลี่ยนนิสัยแย่ๆเป็นนิสัยดีๆครับ
#LVD_AtomicHabit
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์
สำหรับท่านที่อยากกลับไปอ่านตอนก่อนหน้าในซีรี่ย์นี้ ผมวางlink ให้ด้านล่างครับ
LVD 102: พลังแห่งพฤติกรรมเล็กๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ (#LVD_AtomicHabit ตอนที่ 1)
LVD104: เหตุผลที่ทำให้คุณเปลี่ยนนิสัยไม่ได้ พร้อมคำตอบ (#LVD_AtomicHabit ตอนที่ 2)
LVD 105: อยากสร้างนิสัยใหม่ ต้องทำให้เห็นชัดๆ (#LVD_AtomicHabit ตอนที่3)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา