20 มี.ค. 2021 เวลา 15:45 • ธุรกิจ
LVD 105: อยากสร้างนิสัยใหม่ ต้องทำให้เห็นชัดๆ (#LVD_AtomicHabit ตอนที่3)
1
สวัสดีครับทุกท่าน อาทิตย์นี้เราจะมาคุยกันต่อกับหนังสือ Atomic Habits หลังจากที่สองตอนที่ผ่านมา เราได้พูดถึงพลังของพฤติกรรมเล็กๆในตอนแรก และตอนที่สองเราคุยกันเรื่อง Identity-based habit ว่ามันคือ “The Right Things” ที่จะต้องเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่ Outcome-based habit และกลายเป็นนิสัยใหม่ในที่สุด โดยในตอนนี้และตอนต่อๆไป เราจะมาคุยกันต่อว่าอะไรคือ “The Right Way” ที่ทุกท่านสามารถนำไปเป็นแนวทางปฎิบัติในการเพาะบ่มนิสัยใหม่ๆได้ ลองตามมาดูครับ
คือมันอย่างนี้ครับ...
ในตอนท้ายของตอนที่แล้ว เราได้มีการกล่าวถึงวงจรแห่งการสร้างนิสัย 4 ขั้นตอน ไปจนถึงกฎ 4 ข้อ ของการสร้างนิสัยใหม่ๆ ได้แก่
กฎข้อ 1 ทำให้เห็นชัด
กฎข้อ 2 ทำให้น่าดึงดูดใจ
กฎข้อ 3 ทำให้ง่าย
กฎข้อ 4 ทำให้น่าพึงพอใจ
ในตอนนี้ เราจะมาเริ่มลงรายละเอียดกันทีละข้อครับ
กฎข้อ 1 ทำให้เห็นชัด (Make it Obvious)
กฎข้อนี้จะว่าด้วยการจัดการ Cue หรือปัจจัยกระตุ้น สมองของเราทุกคนมีกลไกอัตโนมัติที่สร้างพฤติกรรมตอบสนองต่อปัจจัยกระตุ้นต่างๆแบบที่เราไม่จำเป็นต้องรู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆอย่าง นิสัยที่ชอบพูดออกเสียง “เอ่อ...”​ ก่อนที่จะแสดงความเห็น (อันนี้ของผมเอง)​ หรือบางคนอาจมีนิสัยเอามือปิดปากขณะหัวเราะ ไปจนถึงการทำงานของอวัยวะภายในที่เราไม่จำเป็นต้องสั่ง เช่น การย่อยอาหาร
ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่สมองและร่างกายก็จัดการพฤติกรรมต่อปัจจัยกระตุ้นให้กับเราโดยที่เราไม่จำเป็นต้องรู้ตัวด้วยซ้ำ แต่ปัญหาคือ เราไม่รู้ตัวว่าเราตอบสนองต่อปัจจัยกระตุ้นยังไง และสมองก็ตอบสนองต่อแรงกระตุ้นไปแล้ว การทำให้เห็นชัดจึงกลายเป็นกฎข้อแรกที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมมากๆ ผมสรุปวิธีการ 3 ขั้นตอนในการ "ทำให้เห็นชัด" เพื่อสร้างนิสัยใหม่ ดังนี้
1. เริ่มจากต้องรู้พฤติกรรมตัวเองก่อนด้วย Habit Scorecard
Habit Scorecard เป็นวิธีการง่ายๆที่ยังไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเลย เพียงแค่เราลอง list กิจวัตรประจำวันของเราออกมาเท่าที่จะเขียนได้ แล้วใส่เครื่องหมาย (+) ให้กับกิจวัตรที่ดี เครื่องหมาย (-) สำหรับกิจวัตรที่ไม่ดี และเครื่องหมาย (=) สำหรับกิจวัตรทั่วไป กิจกรรมนี้จำลองมาจากวิธีการบริหารความปลอดภัยแบบ Point and Calling ของรถไฟใต้ดินญี่ปุ่นที่เจ้าหน้าที่จะมีขั้นตอนในการชี้ไปที่วัตถุต่างเช่น ประตูรถไฟ และออกคำสั่งเสียงดัง ก่อนจะปิดประตู กิจกรรมที่เรียบง่ายและดูไม่ค่อยสร้างสรรค์แบบนี้สามารถลดความผิดพลาดในการทำงานได้มากถึง 85% เพราะมันช่วยให้เราเพิ่มการรับรู้และการสังเกตุพฤติกรรมประจำวันที่เราไม่ค่อยจะรู้ตัวได้มากขึ้นผ่านประสาทสัมผัสอื่นๆ เช่น การชี้และส่งเสียง หรือ การเขียนในกรณี Habit Score Card
2. สร้างพฤติกรรมใหม่
เราอาจเริ่มจัดการปัจจัยกระตุ้นผ่านสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดอย่าง เวลาและสถานที่ เพราะเวลาและสถานเป็นปัจจัยกระตุ้นที่ง่ายที่สุดที่ทำให้เราเชื่อมต่อพฤติกรรมกับปัจจัยกระตุ้นได้ ดังนั้นถ้าคุณอยากสร้างนิสัยใดๆก็ตาม ลองคิดหรือเขียนมันออกมาด้วยประโยคแบบนี้
ฉันจะทำ....[พฤติกรรม].... ในเวลา ...[เวลา]... ณ ...[สถานที่]...
การบอกตัวเองด้วยแผนที่ชัดเจนขึ้น จะทำให้คุณมีแรงผลักดันที่มากขึ้นในเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม
นอกจากนี้เรายังสามารถเริ่มสร้างพฤติกรรมใหม่ๆ ผ่านเทคนิคผูกพฤติกรรมใหม่กับพฤติกรรมเดิมหรือ Habit Stacking นั่นก็คือ การกำหนดให้กิจกรรมเกิดขึ้นหลังจากกิตวัตรที่ทำคุณทำอยู่แล้ว เพื่อให้กิจวัตรที่คุณต้องทำอยู่แล้วกลายเป็นปัจจัยกระตุ้นต่อพฤติกรรมใหม่ ผ่านคำพูดหรือการเขียนประโยค ดังนี้
หลังจากทำ ....[กิจวัตรเดิม]... ฉันจะทำ ...[กิจกรรมใหม่]
เช่น หลัวจากดื่มกาแฟตอนเช้า ฉันจะนั่งสมาธิเป็นเวลา 1 นาที หรือถ้าเจอบันได ฉันจะเดินขึ้นแทนการขึ้นลิฟท์ เป็นต้น
3. สร้างแรงกระตุ้นผ่านสิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเรามากกว่าที่เราคิดครับ จริงๆแล้วในแต่ละวันเรารับรู้เรื่องต่างๆผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เป็นจำนวนมาก แต่หลักๆแล้วเราก็รับสารผ่านการมองเห็นเป็นหลัก ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสิ่งเล็กๆที่คุณมองเห็นจึงนำไปสู่เปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของคุณได้
มีตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจครับ คือ ในช่วงวิกฤติพลังงานในประเทศเนเธอร์แลนด์ปี 1970 มีการสำรวจการใช้ไฟฟ้าของเจ้าของบ้านในแถบชานเมืองใกล้กรุงอัมสเตอร์ดัม พบว่ามีบ้านขางแห่งที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 30% ทั้งๆที่ขนาดของบ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้าก็เหมือนกัน ทุกอย่างแทบจะเหมือนกันหมด ยกเว้นอยู่เรื่องเดียวคือ ตำแหน่งของมิเตอร์ไฟฟ้า บางบ้านนำมิเตอร์ไฟฟ้าไว้ใต้ดิน บางบ้านเอาไว้ที่โถงทางเดิน และแน่นอนว่าบ้านที่เอามิเตอร์ไว้ที่โถงทางเดินมีอัตราการใช้ไฟฟ้าต่ำกว่าบ้านที่เอาไว้ใต้ดินมาก
ตัวอย่างนี้ ชี้ให้เห็นว่า การจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อพฤติกรรม สามารถช่วยเราสร้างพฤติกรรมใหม่ได้จริงๆ ผมคิดว่ามันก็เป็นเรื่องสามัญทั่วไปที่สำคัญแต่เราอาจจะลืมไม่ได้ให้ความสำคัญ ถ้าคุณไม่อยากลืมกินยา คุณก็ต้องเอาขวดยาวางใกล้ขวดน้ำบริเวณที่คุณแปรงฟันตอนเช้า ถ้าคุณอยากอ่านหนังสือก่อนนอน การวางหนังสือที่ตู้หัวนอน ก็ทำให้คุณถูกกระตุ้นผ่านการมองเห็น และสามารถทำสิ่งนั้นได้ในที่สุด
โดยสรุป การเปลี่ยนนิสัยต้องเริ่มจากการรับรู้พฤติกรรมตัวเอง หลังจากนั้น ใช้เวลาและสถานที่ หรือ กิจวัตรที่ทำอยู่แล้ว รวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเราเป็น "สิ่งกระตุ้น" ต่อพฤติกรรมใหม่ ให้สิ่งกระตุ้นเหล่านี้อยู่รอบตัวเราและต้องเห็นชัด ในทางกลับกัน ถ้าคุณรู้ตัวว่ามีพฤติกรรมที่ไม่อยากทำ ก็ต้องทำให้มองไม่เห็น เช่น ภ้าคุณไม่อยากกินขนมหวาน ก็ต้องไม่ยอมให้มีขนมหวานในตู้เย็น ถ้าคุณไม่อยากเล่นมือถือก่อนนอน คุณก้ต้องไม่เอามือถือเข้าห้องนอน เป็นต้น
จริงๆผมอยากจะเขียนไปถึงกฎข้อสองด้วย แต่กลัวว่าจะยาวเกินไปแล้ว เลยขอยกเนื้อหาของกฎข้อสองไปตอนต่อไปละกันครับ Atomic Habit series ยังเหลืออีกสองตอน แล้วพบกันอาทิตย์หน้าตอนต่อไปนะครับ
#LVD_AtomicHabit
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์
สำหรับท่านที่อยากกลับไปอ่านตอนก่อนหน้าของ Atomic Habits series ผมฝาก link ไว้ด้านล่างครับ
LVD 102: พลังแห่งพฤติกรรมเล็กๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ (#LVD_AtomicHabit ตอนที่ 1)
LVD104: เหตุผลที่ทำให้คุณเปลี่ยนนิสัยไม่ได้ พร้อมคำตอบ (#LVD_AtomicHabit ตอนที่ 2)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา