13 มี.ค. 2021 เวลา 13:20 • ธุรกิจ
LVD104: เหตุผลที่ทำให้คุณเปลี่ยนนิสัยไม่ได้ พร้อมคำตอบ (#LVD_AtomicHabit ตอนที่ 2)
สวัสดีครับทุกท่าน ตอนนี้เราก็อยู่ในช่วงกลางเดือนมีนาคมเดือนสุดท้ายของไตรมาสที่หนึ่งกันแล้วนะครับ เวลาผ่านไปเร็วมาก จนต้องรีบหันกลับมาดูเป้าหมายที่วางไว้ตอนต้นปี อย่าเบื่อที่จะหันกลับไปมองนะครับ ไม่ว่ามันจะทำได้หรือไม่ได้ การกลับไปรีวิวเป้าหมายก็จะทำให้เรามีโอกาสเข้าถึงเป้าหมายได้มากขึ้น วันนี้ผมจะมาชวนคุยต่อเกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมหรือการสร้างนิสัยที่ดีที่มีเนื้อหามาจากหนังสือชื่อดังอย่าง Atomic Habits ของคุณ James Clear ซึ่งตอนนี้เป็นตอนที่สองของซีรีย์ ลองตามมาดูครับ
คือมันอย่างนี้ครับ...
ตอนที่แล้วเราพูดถึง Concept เบื้องต้นของ Atomic Habits ว่าพลังของพฤติกรรมเล็กๆให้ผลอะไร และมันแบ่งแยกคนที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จได้ยังไง ตอนนี้เราจะมาพูดถึงแก่นของการสร้างนิสัยที่ดีเพื่อพฤติกรรมที่ดีในระยะยาวครับ เราเริ่มต้นจากคำถามว่า อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้คนเราไม่สามารถสร้างนิสัยที่ดีได้ ทั้งๆที่เราก็รู้ว่ามันดี คำตอบของคำถามนี้ตอบได้ง่ายๆสองข้อ คือ
1. เพราะเราพยายามเปลี่ยนผิดสิ่ง หรือ
2. เพราะเราพยายามเปลี่ยนผิดวิธี
ดังนั้น ถ้าโจทย์และวิธีการผิดตั้งแต่ต้น เราย่อมไม่มีทางไปถึงเป้าหมาย มีแต่จะทำให้เราเฉออกจากเป้าหมายไปเรื่อยๆ จริงไหมครับ
ต้องเริ่มจากรู้ว่าจะเปลี่ยนอะไร
เรามาเริ่มตอบคำถามข้อแรกด้วยกัน ว่าอะไรละที่เราควรจะเปลี่ยน เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นเราต้องเข้าใจก่อนว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเกิดขึ้นได้ 3 ระดับ คือ
1. เปลี่ยนแปลงระดับสัมฤทธิ์ผล (Outcome) คือ การเปลี่ยนแปลงที่ระดับผลลัพธ์ เช่น ลดน้ำหนัก ผลลัพท์คือ น้ำหนักลง
2. เปลี่ยนแปลงระดับกระบวนการ (Process) คือ การเปลี่ยนที่วิธีการนำไปสู่ผลลัพท์ เรากำลังพูดถึงระบบ ขั้นตอน นิสัยที่จะสร้างขึ้นเพื่อให้ได้เป้าหมายก็อยู่ในระดับนี้
3. เปลี่ยนแปลงระดับอัตลักษณ์ (identity) คือ ขั้นลึกสุด นั่นคือเรื่องของตัวตน ความเชื่อ ความคิดต่อตนเองและผู้อื่น เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า เวลาเราตั้งเป้าหมายกัน เรามักจะตั้งที่ผลลัพท์เป็นหลัก นั่นคือเราให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงระดับสัมฤทธิ์ผล ทำให้กิจกรรมต่างๆที่ทำมักมุ่งไปว่าจะได้ผลลัพท์อย่างที่อยากได้หรือไม่ แบบนี้เราเรียกว่า Outcomeo-based Habits เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมจากข้างนอกสู่ด้านในตัวเรา กับอีกวิธีการคือการเปลี่ยนที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนจากตัวตนหรืออัตลักษณ์ หรือ (Identity-based Habits) กระบวนการนี้จะทำให้กิจกรรมที่เราจะทำมุ่งให้ความสำคัญไหที่ “ใคร” ที่เราอยากจะเป็น
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณกำลังจะเลิกสูบบุหรี่ แล้วมีคนมาชวนคุณสูบบุหรี่ ถ้าคุณตอบไปว่า “ขอบคุณครับ ผมกำลังเลิกสูบบุหรี่”​ แปลว่าการเลิกบุหรี่ของคุณเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับ Outcome เพราะคุณกำลังจะเปลี่ยนพฤติกรรมบนฐานความเชื่อเดิมว่าคุณเป็นคนสูบบุหรี่ (ที่กำลังจะเลิก) ขณะที่ ถ้าคุณเปลี่ยนที่ความเชื่อในระดับตัวตน คุณอาจจะตอบว่า “ขอบคุณครับ ผมไม่ได้สูบบุหรี่ครับ” นั่นคือ คุณกำลังบอกตัวเองแล้วว่าคุณไม่ใช่คนสูบบุหรี่อีกต่อไปแล้ว
จริงๆแล้ว คำตอบแบบแรก (แบบ outcome-based) มันดู make sense มากๆนะครับ และนั่นทำให้คนเราส่วนใหญ่ไม่ค่อยติดถึงการเปลี่ยนแปลงที่อัตลักษณ์หรือระดับตัวตนเลย แต่มันยากมากถ้าคุณจะทำอะไรที่เป็น “นิสัย”​ หรือพูดให้ชัดคือ ไม่ได้ทำครั้งเดียวเสร็จ โดยที่สิ่งที่ทำมันไม่ใช่ตัวคุณ ดังนั้น คำถามที่ว่า อะไรคือสิ่งที่ถูกต้องที่ควรจะเปลี่ยน คำตอบคือ ต้องเปลี่ยนที่ความเชื่อ เหตุผลเดียวที่จะทำให้นิสิยมันอยู่กับคุณ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของตัวคุณ เพราะถ้ามันไม่ใช่มันจะอยู่ได้ไม่นาน ถ้าคุณหวังจะเป็นแชมป์ แล้วคุณเป็นแชมป์แล้ว เป้าหมายคุณก็จบ แต่ถ้าความเชื่อของคุณคือ ต้องการชนะความท้าทาย คุณก็จะยังไขว่ขว้าหาความเป็นแชมป์ต่อไปได้เรื่อยๆ
ถ้าต้องเปลี่ยนที่ความเชื่อ แล้วต้องทำยังไง
บางท่านอาจจะคิดว่า ความเชื่อหรือตัวตนเป็นสิ่งติดตัวแต่กำเนิด แก้ไขไม่ได้ แต่จริงๆแล้วมันไม่จริงเลย (คุณก็รู้ครับว่าจริงที่ความเชื่อเปลี่ยนได้ แต่คุณแค่อยากเชื่อว่ามันเปลี่ยนไม่ได้) ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเชื่อว่า เราไม่เก่งเลขเลย ฉันตื่นเช้าไม่ได้หรอก โปรดจำไว้ว่า ไม่มีใครเกิดมาเก่งเลขเลย ไม่มีใครตื่นตีห้ามาวิ่งทุกวันตั้งแต่เกิด แต่ทุกคนที่ทำได้เริ่มจากการ “ทำ” ทั้งนั้น วิธีเปลี่ยนตัวตนมีแค่สองขั้นตอนเท่านั้น คือ
1. ตัดสินใจว่าแบบฉบับแบบไหนที่คุณอยากจะเป็น
2. เริ่มลงมือทำ พิสูจน์ให้ตัวคุณเองเห็นว่าทำได้จากความสำเร็จเล็กๆ
ความเชื่อเป็นแค่ความเชื่อไม่ใช่ความจริง ถ้าไม่มีการกระทำ และการกระทำหรือฝึกฝนรวมไปถึงความสำเร็จเล็กๆจะเป็นหลักฐานสำคัญให้สมองเพื่อยืนยันในสิ่งที่คุณเชื่ออยู่
1
นิสัยคืออะไร
เรารู้ว่าถ้าอยากได้นิสัยใหม่ ต้องเปลี่ยนที่ตัวตนแล้วยืนยันด้วยการกระทำ คราวนี้เราจะมาพูดถึงวิธีการเปลี่ยนนิสัยกัน ซึ่งหัวข้อวิธีการนี้จะเป็นเนื้อหาส่วนหลักของหนังสือเล่มนี้เลย โดยผมอยากจะเล่าถึงการทดลองหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือว่า มีนักจิตวิทยาชื่อ Edward Thorndike ได้ทำการทดลองกับแมวที่ถูกขังในกล่องกล ที่มีกลไกมากมาย แต่มีแค่คันโยกเพียงอันเดียวที่สามารถเปิดประตูได้ ผลการทดลองพบว่า ครั้งแรกๆแมวใช้เวลาถึง 1.5 นาทีมในการสำรวจจนถึงพยายามโยกคันโยกและหนีออกจากห้องได้ แต่เมื่อทดลองซ้ำพบว่า เวลาน้อยลง และได้ข้อสรุปว่าพฤติกรรมที่นำไปสู่ความพอใจจะถูกทำซ้ำ ขณะที่พฤติกรรมที่ไม่ได้ให้ผลอะไรจะถูกทำซ้ำน้อยลง
แล้วการทำลองง่ายๆนี้มันเกี่ยวอะไรกับมนุษย์อย่างเรา ผลของการทดลองแบบนี้คือ การอธิบายความหมายของคำว่านิสัย นิสัยของเราถูกสร้างขึ้นจากการลองผิดลองถูกเช่นเดียวกับแมวที่ลองเล่นกลไกไปเรื่อยจนมาเจอคันโยกที่สามารถให้รางวัลคือการเปิดประตูได้ บางครั้งคุณอาจจะบังเอิญพบว่า การเล่นเกมส์ทำให้สมองผ่อนคลาย มันก็จะค่อยๆสร้างนิสัยชอบเล่นเกมส์ให้กับคุณต่อไป นี่คือวงจรสะท้อนกลับที่เกิดขึ้นในสมองของเรา และมันคือระบบที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมทุกๆอย่างของเรา นิสัยจึงเป็นการะบวนการทางลัดด้านจิตใจที่เรียนรู้มาจากผลรวมของประสบการณ์ลองผิดลองถูกของตัวเอง
4 ขั้นตอนเปลี่ยนนิสัย
ก่อนจะเปลี่ยนนิสัยที่เข้าใจขั้นตอนการสร้างนิสัยของสมองก่อน ซึ่งปกติสมองสร้างนิสัยผ่าน 4 ขั้นตอนง่ายๆ คือ
1. ปัจจัยกระตุ้น (Cue) คือ เหตุการณ์ที่กระตุ้นสมองให้ทำพฤติกรรมบางอย่าง
2. ความปรารถนา (Craving) คือ ความกระหายใคร่อยาก มันเป็นเหตุผลเบื้องหลังพฤติกรรมของเรา ถ้าไม่มีความปรารถนา เราก็ไม่ต้องทำอะไรก็ได้
3. การตอบสนอง (Response) คือ พฤติกรรมที่เราแสดงออกมา ต่อแรงจูงใจทั้งภายในและภายนอก
4. รางวัล (Rewards) คือ การวัดผลในสมองของเราเองครับ ว่าเมื่อเราตอบสนองแล้วสมปราถนาไหม
เมื่อเกิดพฤติกรรมใดๆ สุดท้ายสมองจะได้ข้อมูลว่าพฤติกรรมนั้น ทำให้พอใจหรือสอนอะไรเรา พฤติกรรมใดๆก็ตามจะเกิดเป็นนิสัยไม่ได้ถ้าขาดสี่ขั้นตอนนี้ เช่น ถ้าไม่มีปัจจัยกระตุ้น เราก็ไม่ทำอะไร ถ้าไม่มีแรงปรารถนา เราก็ขายแรงจูงใจ ถ้าไม่มีรางวัล พฤติกรรมก็ไม่เกิดซ้ำนั่นเอง ปัจจัยกระตุ้นและแรงปรารถนาคือเหตุหรือปัญหา ส่วนการตอบสนองและรางวัลคือการแก้ปัญหา ดังนั้นการสร้างนิสัยนั้นต้องทำผ่านสี่ขั้นตอนนี้ นั่นคือ
- จะสร้างปัจจัยกระตุ้นที่ดี ต้องทำให้เห็นชัด แต่ถ้าจะกำจัดปัจจัยกระตุ้นที่ไม่ดี ต้องทำให้มองไม่เห็น (เช่นเอาขนมเค้กไปเก็บในชั้นในสุดของตู้เย็น หรือไม่ก็ห้ามมีขนมเค้กในตู้เย็น)
- จะสร้างแรงปรารถนาที่ดี ต้องทำให้น่าดึงดูด แต่ถ้าจะกำจัดแรงปรารถนาที่ไม่ดี ก็ต้องทำให้มันไม่น่าดึงดูด
- จะสร้างการตอบสนองที่ดี ต้องทำให้มันเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าจะกำจัดากรตอบสนองแย่ๆ ก็ต้องทำให้มันเป็นเรื่องยาก
- จะสร้างรางวัลที่ดี ต้องทำให้มันน่าพอใจ แต่ในทางตรงข้ามก็ต้องทำให้มันไม่น่าพอใจ
1
และเรื่องง่ายๆแบบที่พูดนี่แหละ ที่จะตอบคำถามของคุณว่า ทำไมฉันถึงไม่เคยหาเวลาทำสิ่งที่ฉันคิดว่าสำคัญได้เลย 4 ขั้นตอนเปลี่ยนนิสัยนี้ มีรายละเอียดอีกมากที่สามารถปฎิบัติได้จริง ซึ่งเราจะยกไปคุยกันต่อแบบละเอียดในตอนต่อไป ผมคิดว่าตอนเดียวคงไม่จบแน่นอน แต่ก็คิดว่ารายละเอียดต่างๆน่าจะมีประโยชน์ต่อเพื่อนๆและตัวผมเอง เลยไม่อยากจะไปเร็วมากนะครับ มาติดตามกันต่ออาทิตย์หน้าครับ
#LVD_AtomicHabit
เกี่ยวกับการเปลี่ยนพฤติกรรมเนี่ย ถ้าใครสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษลองกลับไปอ่าน
Learning Visual Diary #60: นิสัยเปลี่ยนได้ไม่ยาก แค่เข้าใจ Habit Loop
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์
สำหรับท่านที่อยากกลับไปอ่านตอนแรกของ Atomic Habits series ผมฝาก link ไว้ด้านล่างครับ
LVD 102: พลังแห่งพฤติกรรมเล็กๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ (#LVD_AtomicHabit ตอนที่ 1)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา