28 มี.ค. 2021 เวลา 08:24 • ประวัติศาสตร์
“ข้าว”
ข้าว เป็นธัญญาหารหลักของชาวโลก จัดเป็นพืชสายพันธุ์เดียวกับหญ้า นับได้ว่าเป็นหญ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และมีความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถปลูกขึ้นได้ง่ายมีความทนทานต่อทุกสภาพภูมิประเทศในโลก ไม่ว่าจะเป็นถิ่นแห้งแล้งแบบทะเลทราย พื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง หรือแม้กระทั่งบนเทือกเขาที่หนาวเย็น ข้าวก็ยังสามารถงอกงานขึ้นมาได้อย่างทรหดอดทน
ข้าวชนิดแรกที่มนุษย์รู้จักนำมาบริโภคคือ ข้าวป่า จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานได้ว่าเมื่อประมาณ 16,000-13,000 ปีที่แล้ว เมื่อยุคน้ำแข็งใกล้สิ้นสุดลง สัตว์ใหญ่หลายชนิดเริ่มสูญพันธุ์ไป มนุษย์จึงต้องลดบทบาทการล่าสัตว์แล้วหันมาสะสมข้าวป่าและพืชเพื่อเป็นอาหาร
1
นาย Richard S. Macheish นักโบราณคดีชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งทำการศึกษาสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของจีนแผ่นดินใหญ่ ในปี 2536 มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า ประเทศจีน คือ แหล่งกำเนิดของการปลูกข้าว เพราะได้พบร่องรอยของข้าวป่าที่มีอายุถึง 16,000 ปี และข้าวที่ปลูกอายุกว่า 9,000 ปี โดยพิจารณาจากการขุดพบหลักฐานข้าวไหม้ที่ติดอยู่กับเศษภาชนะ รวมทั้งเศษต้นข้าวสมัยโบราณที่ขุดได้จากถ้ำ 2 แห่งในหุบเขาเมืองหนานชาง (Nanchang) เมืองหลวงของมณฑลเจียงสี (Jianxi) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
จุดเริ่มต้นของการเพาะปลูกข้าวของมนุษย์ จากวัฒนธรรมลุงชานของประเทศจีน และวัฒนธรรมฮัวบิเนียนของประเทศเวียดนาม บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำตอนเหนือของอินเดียตอนล่าง ด้านตะวันออกของเชิงเขาหิมาลัย ซึ่งการเพาะปลูกใช้วิธีการปลูกคล้ายกับการทำไร่เลื่อนลอย
หลังจากนั้นวิวัฒนาการปลูกข้าวจากการทำไร่เลื่อนลอย มาเป็นการทำนาหว่านประมาณ 9,000 ปีก่อน และพัฒนาสู่การทำนาแบบปักดำ ซึ่งพบหลักฐานในวัฒนธรรมบ้านเชียงของไทย เมื่อราว 5,000 ปีที่ผ่านมา
หลักฐานจากต้นข้าวที่ค้นพบ ข้าวป่าในช่วงแรกจะมีก้าน และใบเดี่ยวแต่ที่ปลูกใหม่มีถึง 5 ก้านเป็นการแสดงให้เห็นว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว มนุษย์เริ่มเข้าใจว่าหากปลูกข้าวลงดินเองจะเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า แสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ในการพัฒนาการเกษตรเพื่อดำรงชีวิต
สายพันธุ์ของพืชตระกูลข้าว ที่มีอยู่บนโลกนี้มีมากถึง 120,000 สายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่รู้จักและนำมาปลูกสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ Oryza Savita ที่นิยมเพาะปลูกในทวีปเอเชีย และ Oryza glaberrina ที่นิยมเพาะปลูกในทวีปแอฟริกา แต่ข้าวที่ปลูกและซื้อขายกันในตลาดโลกเกือบทั้งหมดจะเป็นข้าวจากทวีปเอเชีย แบ่งเป็น 3 กลุ่มตามลักษณะและพื้นที่ปลูกได้ดังนี้
1. ข้าวอินดิกา (Indica) หรือข้าวเจ้า เป็นข้าวที่มีลักษณะเม็ดเรียวยาวรี ลำต้นสูง ตั้งชื่อมาจากแหล่งที่ค้นพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย เป็นข้าวที่นิยมเพาะปลูกในทวีปเอเชียเขตมรสุม ตั้งแต่ จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย ไปจนถึงอินเดียและศรีลังกา และแพร่กระจายไปทั่งเขตอุษาอาคเนย์ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 1000 ทั่งเขตลุ่มน้ำอิระวดี และต่อมาแพร่ขยายเพาะปลูกในทวีปอเมริกา
เฉพาะในเมืองไทย ข้าวอินดิกานิยมเพาะปลูก ในบริเวณที่ราบลุ่มตอนใต้ของแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วแทนข้าวเหนียวที่เคยปลูก ซึ่งคนไทยสมัยนั้นเรียกข้าวอินดิกาที่มาจากต่างประเทศ ว่า “ข้าวของเจ้า” แล้วเรียกกันสั้นลงเหลือเพียง " ข้าวเจ้า" มาถึงทุกวันนี้
2. ข้าวจาปอนิกา (Japonica) เป็นข้าวเหนียวเมล็ดป้อม กลมรี มีแหล่งกำเนิดจากทางภาคเหนือ แล้วผ่านมาทางลุ่มแม่น้ำโขงในสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 20 หลังจากนั้นลดจำนวนลงไปแพร่หลาย ในเขตอบอุ่นที่ ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย ยุโรป และอเมริกา
3. ข้าวจาวานิกา (Javanica) เป็นข้าวลักษณะเมล็ดป้อมใหญ่สันนิษฐานว่า เป็นข้าวพันธุ์ผสมระหว่างข้าวอินดิกาและจาปอนิกา นิยมเพาะปลูกใน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน หมู่เกาะริวกิว และญี่ปุ่น แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมนักเพราะให้ผลผลิตต่ำ ประเทศต่างๆในโลกต่างก็มีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ เพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกข้าวและวิธีการปลูกข้าวให้ได้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น
1
ในส่วน ข้าว ของไทยเป็นอาหารประจำชาติที่มีตำนานประวัติศาสตร์มายาวนาน ปรากฏเป็นร่องรอยพร้อมกับอารยธรรมไทยมาไม่น้อยกว่า 5,500 ปี มีหลักฐานจากแกลบข้าวที่เป็นส่วนผสมของดินใช้เครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียง อำเภอโนนนกทา ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเวียง สันนิษฐานได้ว่าเป็นเมล็ดข้าวที่เก่แก่ที่สุดของไทย รวมทั้งยังพบหลักฐานเมล็ดข้าวที่ขุดพบที่ถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยแกลบข้าวที่พบนี้มีลักษณะของข้าวเหนียวเมล็ดใหญ่ที่เจริญงอกงามในที่สูง
นอกจากนี้ยังมีการคันพบเมล็ดข้าว เถ้าถ่านในดินและรอยแกลบข้าวบนเครื่องปั้นดินเผาที่โคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี แสดงให้เห็นถึงชุมชนปลูกข้าวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแถบชายฝั่งทะเล รวมทั้งยังหลักฐานคล้ายดอกข้าวป่าในถ้ำจังหวัดกาญจนบุรี อายุประมาณ 2,800 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงรอยต่อของยุคหินใหม่ตอนปลายกับยุคโลหะตอนต้น
ภาพเขียนบนผนังถ้ำหรือผนังหินอายุประมาณ 6,000 ปี ที่ผาหมอนน้อย บ้านตากุ่ม ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีลักษณะคล้ายบันทึกการปลูกธัญพืชอย่างหนึ่งที่มีลักษณะเหมือข้าว ภาพควาย แปลงพืชคล้ายข้าว แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ได้รู้จักการเพาะปลูกข้าวเป็นอย่างดีแล้ว
นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น 3 คน คือ Tayada Natabe, Tomoya Akihama และ Osamu Kinosgita แห่งมหาวิทยาลัย Tottri และกระทรวงเกษตรและกรมป่าไม้ ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องข้าวไทย ดูแกลบจากแผ่นอิฐโบราณจากโบราณสถาน 108 แห่งใน 39 จังหวัดทั่งทุกภาคของประเทศไทย ทำให้สันนิษฐานได้ว่า การปลูกข้าวในไทยมีมานานนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6 โดยข้าวที่ปลูกจะเป็นข้าวเหนียวนาสวนเมล็ดป้อม และข้าวเหนียวไร่เมล็ดใหญ่
ในสมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ. 1740-2040) ข้าวที่ปลูกในสมัยนี้ยังเป็นข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและเมล็ดยาวเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เริ่มปลูกข้าวเจ้าเมล็ดยาวเรียวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ในยุคนี้พระมหากษัตริย์ทรงทำนุบำรุงการกสิกรรม ได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ ดังปรากฏในศิลาจารึกว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” มีการหักล้างถางพงและถือครองเป็นที่ทำกิน และที่ดินนั้นจะสืบทอดเป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลาน การสร้างหลักปักฐานเพื่อประกอบอาชีพกสิกรรมเช่นนี้ ก่อให้เกิดระบบการปกครอง เศรษฐกิจและสังคมขึ้น ดังนั้น ระบบศักดินาซึ่งเป็นการแบ่งระดับชนชั้นตามจำนวนของพื้นที่นาจึงน่าจะเริ่มในยุคนี้
ต่อมาเข้าสู่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น บ้านเมืองมีความมั่งคั่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ อีกทั้งหัวเมืองในอาณาจักรจำนวนมาก เริ่มระบบการปกครองแบบจตุสดมภ์มี “กรมนา” ดูแลและส่งเสริมและสนับสนุนการทำนาอย่างจริงจัง เพราะข้าวเป็นอาหารหลักของประชากรและเป็นเสบียงสำรองในยามเกิดศึกสงคราม ข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่ยังคงเป็นข้าวเหนียวเมล็ดป้อม และเมล็ดยาว แต่การปลูกข้าวเจ้าเมล็ดยาวเรียวมากขึ้นด้วย
สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย-กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นในต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการเก็บอากรข้าวในภาคกลาง ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ข้าวที่ทางราชการแนะนำ หรือพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณภาพ ส่วนภาคเหนือตอนบนนิยมปลูกข้าวเหนียว แต่ในภาคเหนือตอนล่างและภาคใต้เน้นปลูกข้าวเจ้าเป็นหลัก
ในช่วงนี้เองที่ประเทศตะวันตกได้ออกล่าอาณานิคม และเมืองไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมาย แต่ด้วยพระปรีชาและวิเทโศบายอันชาญฉลาดของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ไทยจึงรอดพ้นเงื้อมมือของต่างชาติ และดำรงเอกราชอยู่ได้ ซึ่งส่วนหนึ่งคือ การเปิดเสรีการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ข้าวกลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญของไทย รัฐบาลต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวในเขตพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด
ปัจจุบันการปลูกข้าวในประเทศไทย คงมีเพียงข้าวเมล็ดป้อมที่พบมากในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ข้าวเมล็ดยาว พบมากในภาคกลางและภาคใต้ ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ปลูกข้าว คิดเป็น 45 % ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ ส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพดีที่สุดของโลก ข้าวที่ปลูกในพื้นที่แถบนี้จึงมักปลูกไว้เพื่อขาย รองลงมาคือ ภาคกลาง และภาคเหนือ ที่พื้นที่เพาะปลูกเท่ากันประมาณ 25%
ทุกวันนี้ไทยเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ผลิตออกสู่ตลาดโลกมากที่สุด และเป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิจัยพันธุ์ข้าว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทของผู้สร้างตำนานแห่งอารยธรรมธัญญาหารของมนุษยชาติ
วัฒนธรรมเกี่ยวกับข้าว
ปู่ย่าตายาย เคยสั่งเคยสอนว่า ข้าวทุกเม็ดมีค่า อย่ากินข้าวเหลือ อย่าเดินข้ามข้าว ให้สำนึกบุญคุณข้าวที่เลี้ยงเรามาจนเติบโต เพราะว่าในข้าวมีเทพประจำต้นข้าว แม่ขวัญข้าวหรือแม่โพสพ
แม่โพสพก็เหมือนกับมนุษย์ที่ต้องการความเอาใจใส่เหมือนบุคคลทั่วๆไป มนุษย์ต้องคอยดูแลแม่โพสพเหมือนดูแลตัวเอง ต้องมีความกตัญญู ต้องเคารพนับถือ มีกิริยาที่สุภาพเรียบร้อยจะพูดจาหยาบคายหรือพูดเสียงดังไม่ได้
แม่โพสพเป็นคนขวัญอ่อนเพราะถ้าเกิดไม่พอใจจะหนีไปเลยและตามประวัติเคยหนีไปหลายครั้งด้วยความน้อยใจ เวลามีคนพูดเสียงดังพอหนีไปที ก็อดอยากกันเป็นพันปี เพราะฉะนั้นอันนี้ เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังมาก เวลาติดต่อกับแม่โพสพควรใช้ความสุภาพอ่อนโยน และความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงที่สุด
เนื่องจากเห็นถึงความสำคัญของข้าวที่ใช้ในการเลี้ยงชีวิต ทั้งยังสามารถขายได้เงินตรามาใช้สอย จึงได้จัดพิมพ์รูปข้าวลงบนดวงคราไปรษณียากร ที่ออกในวาระต่างๆดังนี้ครับ (ขออนุญาตนำชุดนี้ขึ้นก่อนนะครับ)
ดวงตราไปรษณียากร ชุด วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
วันแรกจำหน่าย 17 กุมภาพันธ์ 2554
พิมพ์ที่ Thai British Security Printing Public Company Limited, Thailand
แสตมป์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเกี่ยวข้าว พร้อมมีเมล็ดข้าวจริง ติดอยู่บนดวงแสตมป์
ชนิดราคา จำนวนพิมพ์และราคาปัจจุบัน (ยังไม่ใช้, ใช้แล้ว)
9 บาท 2,000,000 ดวง 14 บาท 2 บาท
ภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงเกี่ยวข้าว และมีเมล็ดข้าวมงคลพระราชทานในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญมาผนึกบนดวงแสตมป์
ดวงตราไปรษณียากรชุด โครงการรณรงค์เพื่อต่อต้านให้ประชาชนพ้นจากความอดอยาก
วันแรกจำหน่าย 21 มีนาคม 2506
พิมพ์ที่ Thomas De La Rue & Co., Ltd., England
1
แสตมป์ชุด โครงการรณรงค์เพื่อต่อต้านให้ประชาชนพ้นจากความอดอยาก 2506
ชนิดราคา จำนวนพิมพ์และราคาปัจจุบัน (ยังไม่ใช้, ใช้แล้ว)
20 ส.ต. 3,000,000 ดวง 55 บาท 15 บาท
50 ส.ต. 6,000,000 ดวง 45 บาท 10 บาท
เป็นภาพ หญิงชาวนากำลังเกี่ยวข้าว มุมบนขวาแสตมป์ มีสัญลักษณ์ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประกอบด้วยรวงข้าว และตัวย่อ FAO
ดวงตราไปรษณียากร ชุด ปีข้าวสากล
วันแรกจำหน่าย 25 พฤษภาคม 2509
พิมพ์ที่ The Government Printing Bureau, Ministry of Finance, Japan
แสตมป์ชุด ปีข้าวสากล 2509
ชนิดราคา จำนวนพิมพ์และราคาปัจจุบัน (ยังไม่ใช้, ใช้แล้ว)
50 ส.ต. 1,000,000 ดวง 150 บาท 30 บาท
3 บาท 500,000 ดวง 650 บาท 190 บาท
ดวงตราไปรษณียากรชุด ข้าวไทย
วันแรกจำหน่าย 25 กุมภาพันธ์ 2542
พิมพ์ที่ Thai British Security Printing Public Company Limited, Thailand
แสตมป์ชุด ข้าวไทย 2542
ชนิดราคา จำนวนพิมพ์และราคาปัจจุบัน (ยังไม่ใช้, ใช้แล้ว)
6 บาท 500,000 ดวง 10 บาท 5 บาท
6 บาท 500,000 ดวง 10 บาท 5 บาท
12 บาท 500,000 ดวง 18 บาท 10 บาท
12 บาท 500,000 ดวง 18 บาท 10 บาท
รูปภาพบนแสตมป์แสดงขั้นตอนการทำนาข้าวของชาวนาไทย
ชนิดราคา 6 บาท
ภาพมัดข้าวกล้า พื้นภาพแสดงการดำนาข้าว
ชนิดราคา 6 บาท
ภาพรวงข้าว พื้นภาพแสดงการเกี่ยวข้าว
ชนิดราคา 12 บาท
ภาพข้าวเปลือก พื้นภาพแสดงการนวดข้าวด้วยเครื่อง
ชนิดราคา 12 บาท
ภาพข้าวสวยในขามเบญจรงค์ พื้นภาพเป็นรวงข้าวเหลืองอร่าม
ขอบคุณที่ติดตามครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา