Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Note sharing
•
ติดตาม
29 มี.ค. 2021 เวลา 08:27 • หนังสือ
ตอนที่ 1 ทำไมต้องถอดบทเรียน
การถอดบทเรียน (Lesson Learned) เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานที่ได้ลงมือทำไปแล้ว เป็นการค้นหาแนวทางรักษาจุดแข็งของการทำงานนั้นเอาไว้พร้อมกับศึกษาแนวทางใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมให้มีการนำแนวทางการทำงานที่ดีนั้นไปประยุกต์ใช้ในการทำงานอย่างต่อเนื่องและหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่ซ้ำรอย
การถอดบทเรียน จึงเป็นทักษะหนึ่งที่สำคัญสำหรับคนทำงาน ที่ต้องใช้ในทุกกระบวนการทำงานและการทำกิจกรรม เพราะการใคร่ครวญและครุ่นคิดถึงกิจกรรมที่กำลังจะทำเพื่อวางแผน และการครุ่นคิดใคร่ครวญระหว่างการทำ รวมไปถึงเมื่อได้ลงมือทำไปแล้ว หากเราครุ่นคิดใคร่ครวญให้ดีๆ เราจะค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการทำงานของเราได้
เราอาจจะเคยได้ยินหลายครั้งว่า “สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ แตกต่างจากสิ่งที่เราเคยทำมาแล้วอย่างไร” หากเรายังคงคิดเหมือนเดิม ทำแบบเดิม ผลที่ได้ก็จะอยู่ในระดับเดิม แม้ว่าเราจะเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายใหม่ แต่หากเราลงมือกระทำแบบเดิม แล้วเราไม่ถอดบทเรียน เราก็จะมองไม่เห็นความแตกต่าง หรืออาจด่วนสรุปได้ว่าเพราะต่างที่กลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มใหม่ แต่แท้ที่จริงแล้ว ทุกการลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นแบบเดิม กับกลุ่มเดิม, แบบเดิมกับกลุ่มใหม่, แบบใหม่กับกลุ่มเดิม และ แบบใหม่กับกลุ่มใหม่ ต่างก็ให้บทเรียนในการทำงานบางอย่างกับเรา เพียงแต่เราค้นพบบทเรียนนั้นหรือไม่ และเราเรียนรู้จากบทเรียนที่ค้นพบนั้นมากน้อยเพียงใด
สิ่งที่วัดว่าเราเรียนรู้เพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ดูได้จากคุณภาพในการลงมือทำงานของเรา และแน่นอนว่าคุณภาพของงาน ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า ผลงาน เพราะผลงานที่ได้อาจจะได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ไม่ได้ตามคุณภาพที่ได้ถูกยกระดับมาจากการเรียนรู้เดิมของเรา
การถอดบทเรียนนั้น สิ่งที่เห็นได้ชัดและนำไปใช้ประโยชน์ได้ก็คือ บทเรียนจากความสำเร็จ บทเรียนจากความผิดพลาดล้มเหลว และ บทเรียนเพื่อหาแนวทางใหม่ เพื่อเป็นข้อเสนอแนะ เพื่อขยายขอบเขตการทำงาน โดยสรุปก็คือ เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ในการทำงานต่างๆ ควรนำการถอดบทเรียนมาใช้เพราะมีประโยชน์หลักๆ ได้แก่
1. เพื่อค้นหาแนวทางที่เป็นจุดแข็ง จุดเด่นของการทำงาน มองได้ชัดและอธิบายได้ว่าจุดแข็งในการทำงานของเรานั้นอยู่ตรงไหน และพัฒนาให้ดีขึ้นไปกว่าเดิมได้อย่างไร
2. หากทำงานนี้ต่อไป มาตรฐานในการทำงานของเราควรอยู่ในระดับใด เพื่อให้เรารักษาคุณภาพในการทำงานไว้ให้ได้ ไม่ย่อหย่อนลง
2
3 . รักษาคุณภาพได้แล้ว ยังสามารถค้นหาแนวทางยกระดับความรู้และการทำงานให้ดีขึ้นไปกว่าเดิมได้อีก
4. ใช้ทบทวนให้เห็นว่าที่ผ่านมาปัญหาในการทำงานมีอะไรบ้าง เกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุ ปัจจัย กระบวนการ วิธีการ อะไรบ้างที่เป็นปัญหาอุปสรรค ที่ทำให้ไม่สำเร็จ เพื่อเรียนรู้จากความผิดพลาด นำมาเป็นบทเรียนในการแก้ไขปรับปรุง
5. บทเรียนที่ได้จะทำให้เราหลีกเลี่ยงการทำผิดซ้ำ ไม่ทำแบบเดิม หากเรารู้ว่าทำแบบไหนแล้วผิดพลาดก็จะไม่ใช้กระบวนการ วิธีการที่ซ้ำแบบนั้นอีก
6. ไม่ทำซ้ำแบบเดิมแล้วยังจะต้องพัฒนาแนวทางการทำงาน กระบวนการ วิธีการทำงาน เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ล้มเหลว แล้วคิดค้นพัฒนากระบวนการ วิธีการทำงานใหม่ๆ ขึ้นมาให้ได้
7. นอกจากประโยชน์สำหรับตนเองแล้ว การถอดบทเรียนยังเป็นประโยชน์สำหรับผู้อื่น ให้เขาสามารถพัฒนาต่อยอดจากบทเรียนของเราได้ ไม่จำเป็นต้องทดลองทำผิดซ้ำในความล้มเหลวที่เราเคยเจอ และสามารถนำแนวทางที่เราค้นพบไปพัฒนาต่อให้ดีขึ้นไปได้อีก
โจทย์หลักของการถอดบทเรียนก็คือ เราอยากเรียนรู้อะไร อยากเข้าใจเรื่องอะไร ไม่ใช่ทำไปเพราะใครๆ เขาก็ทำกัน
การถอดบทเรียน จึงเป็นได้ทั้งกระบวนการและเครื่องมือในการสร้างความรู้ (Knowledge Creation: KC) และการจัดการความรู้ (Knowledge Management – KM)
ในตอนต่อไปเราจะนำสิ่งที่ได้จากกระบวนการถอดบทเรียน มาสร้างความรู้และจัดการความรู้ ให้ออกมาเป็นความรู้ของเราเองที่สามารถแบ่งปันเป็น Note sharing ให้กับคนที่ต้องการนำความรู้นั้นไปใช้
1 บันทึก
8
14
1
8
14
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย