1 เม.ย. 2021 เวลา 01:08 • หนังสือ
ตอนที่ 2 ถอดบทเรียน : เมื่อนำกระบวนการโค้ชมาใช้ในการทำงานชุมชน
ถอดบทเรียนในตอนนี้อยากจะกล่าวถึง ความรู้ที่ได้จากการถอดบทเรียนการนำกระบวนการโค้ชมาใช้ในการทำงานชุมชน ของโครงการหนึ่งที่ออกแบบให้คนทำงานไปเป็นพี่เลี้ยงคนในชุมชนให้ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของชุมชนเอง โครงการนี้เรียกพี่เลี้ยงว่า “โค้ช” และนำกระบวนการโค้ช มาใช้สร้างทีมชุมชน
จากการถอดบทเรียนเรื่องนี้ ทำให้เราได้ข้อสรุปสำคัญว่า
“การโค้ช” เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนทำงานทางสังคม
เพราะทุกวันนี้ นักปฏิบัติการทางสังคมหรือคนทำงานทางสังคมต่างค้นหาไอเดีย
เพื่อทำให้ชุมชนลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของตนเอง
ไอเดียเรื่องการมี “โค้ช” จึงน่าจะเป็นฟันเฟืองให้คนในชุมชนเกิดแรงบันดาลใจ อยากลุกขึ้นมาทำอะไรดีๆ เพื่อชุมชนที่เขารัก และไม่ใช่ลุกขึ้นมาทำแบบโดดเดี่ยว
โค้ชจะการเริ่มต้นจากการค้นหาคนที่อยากจะทำ แล้วรวมคนอยากทำให้มาร่วมกันเป็นทีม
ทำในสิ่งที่เขาอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์ชุมชน และแก้ปัญหาของชุมชนเองได้
ทำไมต้องค้นหาคนมาทำงานร่วมกันเป็นทีม
เพราะโลกปัจจุบันไม่อาจสร้างสรรค์หรือแก้ปัญหาด้วยคนเพียงคนเดียว แต่ต้องก้าวไปสู่ยุคภาวะผู้นำแบบรวมหมู่ (Collective leadership)
การสร้าง “ทีมชุมชน” ที่คนในทีมมีความสามารถหลากหลาย ผสานความร่วมมือกันผ่านกระบวนการโค้ช จึงเป็นไอเดียหนึ่งที่น่าจะทำให้ชุมชนทำงานเองได้
การโค้ชให้กับ “ทีมชุมชน” ย้ำให้เราเห็นถึงข้อดีของกระบวนการโค้ชว่า เป็นเรื่องของการดึงศักยภาพและพัฒนาศักยภาพ สร้างแรงบันดาลใจ ทุกคนในทีมแจ่มชัดในเป้าหมายส่วนตัว และรู้จักสร้างเป้าหมายร่วมกันของทีม ร่วมมือกันออกแบบวางแผนการปฏิบัติการที่จะนำไปสู่เป้าหมาย และลงมือทำด้วยตัวเอง
นี่จึงไม่ใช่การทำงานชุมชนในแบบที่นักพัฒนาหรือคนทำงานทางสังคมเข้าไปชี้นำ ไม่ใช่การทำแทนหรือทำให้
และนอกจากการนำกระบวนการโค้ชไปใช้สร้างทีมชุมชนแล้ว
นักพัฒนาที่นำเรื่องของ “การโค้ช” มาใช้ และเรียกตัวเองว่า “โค้ช” ก็ต้องพัฒนาตนเอง ให้เรียนรู้และเข้าใจกระบวนการโค้ช ทักษะการโค้ช ไม่ลืมตัวกลับไปใช้วิธีการเดิมๆ ที่เคยทำงานกับชุมชน ไม่ลงไปเป็นผู้เล่นเองแล้วชวนคนในชุมชนมาทำงานโครงการด้วยเหมือนในแบบที่เคยทำ
แต่โค้ชจะต้องใช้ทักษะและจัดกระบวนการตั้งแต่ การค้นหาผู้เล่นหรือคนทำงานที่เป็นคนในชุมชนเอง ที่พร้อมจะเป็นผู้เล่นให้เข้ามาร่วมอยู่ในทีม ทำกระบวนการเพื่อสร้างทีม สร้างความสัมพันธ์ให้กับคนในทีม ให้รู้จักทำงานเป็นทีม กระบวนการที่ทำให้คนในทีมได้ระดมความคิด ระดมสมอง วิเคราะห์ชุมชน วิเคราะห์ปัญหาที่อยากจะจัดการ กระบวนการสร้างเป้าหมายร่วม ตั้งเป้าหมายที่อยากไปให้ถึง และเสริมทักษะความสามารถให้กับคนในทีม กระบวนการที่ใช้ออกแบบวิธีการทำงาน
ทักษะกระบวนการที่โค้ชใช้ทำงานเหล่านี้ก็เพื่อให้ทีมชุมชนเข้าไปทำการเปลี่ยนแปลงในชุมชนได้ หลังการทำกิจกรรมของทีมชุมชนแล้วก็ต้องใช้ทักษะในการสรุปผลของการทำงาน
ถอดบทเรียนการทำงานนั้น เพื่อนำบทเรียนมาออกแบบสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่และทำงานให้กับชุมชนต่อไป
สร้างการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยจนสามารถแก้ปัญหาในชุมชนได้สำเร็จ
สร้างวัฒนธรรมใหม่ของการดูแลชุมชน การเกื้อกูลกันในชุมชน และทำให้ชุมชนน่าอยู่อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
การถอดบทเรียนในเรื่องนี้เพื่อให้ได้ความรู้ใน 2 เรื่อง คือ
1. เรื่องโค้ช การนำกระบวนการโค้ชมาใช้ของนักพัฒนาหรือคนที่จะเข้าไปทำงานกับชุมชนว่า กระบวนการโค้ชนั้นเป็นกระบวนการที่เหมาะสมในการสร้างทีมอย่างไร
ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อๆ ไป ให้รู้จักกระบวนการโค้ช การใช้เครื่องมือและทักษะการโค้ชที่จะใช้สำหรับทำงาน
 
2. การสร้างทีมชุมชน ที่มีโค้ชเข้าไปดูแลช่วยเหลือ เป็นผู้เล่นที่มีโค้ช
ทำอย่างไรให้รู้จักเล่นกันเป็นทีมหรือการทำงานเป็นทีม การสร้างเป้าหมายร่วม ออกแบบวางแผนการทำงาน การฝึกฝนตนเองให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ร่วมมือกันทำงานแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ชุมชนของตนเองได้
ในตอนต่อไป เราจะถอดบทเรียนโค้ช เพื่อให้เห็นว่าองค์กรที่อยากนำเรื่องโค้ชไปใช้กับการทำงานชุมชน ควรมีแนวคิดในการทำงานกับชุมชนอย่างไร
โฆษณา