31 มี.ค. 2021 เวลา 04:00 • ธุรกิจ
เปิดเหตุผล “เพชร โอสถานุเคราะห์” ทิ้งหุ้นโอสถสภา!!
2
เมื่อ “โอสถสภา” ขายหุ้นบิ๊กล็อต 687.72 ล้านหุ้น มูลค่ากว่า 2.27 หมื่นล้านบาท และมีชื่อทายาทคนสำคัญ “เพชร โอสถานุเคราะห์” ผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 4 เทขายหุ้นจำนวน 381.35 ล้านหุ้น มูลค่า 12,584.55 ล้านบาท อะไรคือเหตุผล? กรุงเทพธุรกิจ ชวนวิเคราะห์
3
บทความโดย สาวิตรี รินวงษ์
เปิดเหตุผล “เพชร โอสถานุเคราะห์” ทิ้งหุ้นโอสถสภา!!
“โอสถสภา” องค์กรธุรกิจกว่า 100 ปี ภายใต้การดูแลของ “ทายาทโอสถานุเคราะห์ รุ่น 4” ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ตั้งแต่การเปลี่ยนผ่าน “ธุรกิจครอบครัว” ให้เป็น “มหาชน” ทำให้มีการปรับโครงสร้างภายในมากมาย ทั้งโครงสร้างผู้บริหาร ดึง “คนนอก” ที่มีประสบการณ์ มากฝีมือบนเส้นทางธุรกิรจ ปรับพอร์ตโฟลิโอให้มีความแข็งแรง เป็นต้น
3
ล่าสุด ประเด็นฮอตของบริษัท คือการเทขายหุ้น “บิ๊กล็อต” จำนวน 762,718,000 หุ้น คิดเป็น 25.39% ในจำนวนนี้ ผู้ที่ขายหุ้น ปรากฏชื่อของ Orizon Limited ได้จำหน่ายหุ้นสามัญของบริษัทจำนวน 261,060,475 หุ้น คิดเป็น 8.69% และ “เพชร โอสถานุเคราะห์”จำหน่ายหุ้นสามัญจำนวน 120,298,525 หุ้น คิดเป็น 4% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ ให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะเจาะจง (Private Placement)
1
พร้อมกันนี้ โอสถสภา ได้ร่อนจดหมายแจงการขายหุ้น เพราะผู้ถือหุ้นมีความสนใจที่จะอุทิศทรัพยากรของตนไปใช้ในโครงการอื่นๆ ซึ่งมุ่งหมายไปที่โครงการด้านศิลปะวัฒนธรรม วางรากฐานให้วงการ รวมถึงด้านการศึกษาของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า ซึ่งล้วนแล้วต้องใช้ “งบประมาณ” ในการสนับสนุน แต่เพียงผู้ชายคนนี้ไม่ใช่ผู้วิเศษ จะเสกสิ่งต่างๆดังหวัง ดังนั้นการขายหุ้น จึงทำให้ เพชร สานสิ่งที่ตั้งใจได้เต็มที่กว่าเดิม
4
ทั้งนี้ การเทขายหุ้นดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่ม Orizon มีสัดส่วนหุ้นลดเหลือ 15.06% จากเดิม 27.75% ส่วน “นิติ โอสถานุเคราะห์” ที่เข้าซื้อหุ้นของบริษัทฯ เพิ่มเติมจำนวน 215,000,000 หุ้น จึงมีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 23.80%
3
เพชร โอสถานุเคราะห์ กับผลงานศิลปะ "แมวดำ" ณ อาคารหมายเลข ๕ โอสถสภา
หากเปิดเหตุผลที่ “เพชร โอสถานุเคราะห์” เทขายหุ้นเกลี้ยงพอร์ตของตัวเอง จากก่อนหน้านี้เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 4 เนื่องจากบุคลิกส่วนตัวที่ชอบ “เก็บตัว” หรือ Introvert ประกอบกับการเป็น “ซีอีโอสุดติ๊สท์” หรือมีความเป็นศิลปินอยู่ในตัวสูง จึงเห็นการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนน้อยมาก
5
ทว่า เมื่อบริษัทต้องผันตัวจากธุรกิจครอบครัวเพื่อแปลงเป็น “มหาชน” จึงยอมเล่าถึงทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจบ้าง
2
“ผมเป็นคนสันโดษ ชอบทานข้าวคนเดียว ชอบไปไหนมาไหนคนเดียว แต่ที่ให้สัมภาษณ์เพราะสื่อสารองค์กรสั่งให้คุณเพชรสัมภาษณ์หน่อย เผื่อหุ้นจะขึ้น” ประโยคสนทนาพร้อมเสียงหัวเราะดัง เมื่อครั้งที่ เพชร เคยให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ”
3
แม้ เพชร จะจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด จากสหรัฐ แต่กลับไม่ชอบบริหารกิจการครอบครัวอย่าง “โอสถสภา” มากนัก โดยเลือกทุ่มเทให้กับธุรกิจ “การศึกษา” ด้วยการบริหาร “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” ยาวนานกว่า 20 ปี
5
ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าจะไม่กลับมาดูแลองค์กรร้อยปีที่ทำรายได้ “หมื่นล้านบาท” เพราะเรียนจบมา มีโอกาสทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่บิดา “สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์” ตั้งแต่ปี 2520 แต่เพียงไม่นานก็ออกไปปลุกปั้นธุรกิจโฆษณา “สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง” เหตุผลเพราะตอนทำงานกับครอบครัว “แสดงความเห็นไม่ได้” ประกอบกับส่วนตัวชอบงานความคิดสร้างสรรค์หรือ Creative จึงลุยเดินหน้ากับธุรกิจตนเอง
5
อย่างไรก็ตาม ปี 2558 เพชร หวนคืนบัลลังก์ผู้นำองค์กรอีกครั้ง เมื่อน้องชาย “รัตน์ โอสถานุเคราะห์” ที่กุมบังเหียนอยู่โบกมือลาเก้าอี้บริหารด้วยปัญหาสุขภาพ
2
สำหรับการกลับมาของ เพชร เจ้าตัวสลัด Passion ปล่อยวางความชอบส่วนตัวทั้งการเป็นศิลปิน นักแต่งเพลงง นักเขียน ซึ่งการอยู่ในจุดนี้ เพชร ถือว่าเป็น Perfectionist อย่างมาก ส่วนผลงานแม้จะห่างหายการออกอัลบั้มเพลงนานร่วม 20 ปี มีนิยายแต่งทิ้งไว้กว่า 10 เรื่องด้วย
3
“การบริหารโอสถสภา ทำให้ต้องลดความทะเยอทะยาน ปล่อยวางความชอบส่วนตัวลง”
3
อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเป็นกลับเข้ามานำทัพโอสถสภา จึงถือเป็นห้วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะบริษัทต้องจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระหว่างทางมีการดึงผู้บริหารมืออาชีพขั้นเทพ! เสริมทัพมากมาย เช่น กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร, วรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งคร่ำหวอดในองค์กรยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภคระดับโลก “ยูนิลีเวอร์” รวมถึงเขย่าและรื้อโครงสร้างพนักงาน “นับพัน” ชีวิต เรียกว่าช่วงเวลาก่อนหน้านี้มีการผ่องถ่ายเลือดเก่านับพันชีวิต เสริมทัพเลือดใหม่ร่วม “ร้อยชีวิต”
10
ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จุดอ่อนของการเป็นธุรกิจครอบครัว “โอสถสภา” คือความไม่ชัดเจนหลายด้านทั้งบริหาร ตัวเลขรายได้ อำนาจการสั่งการ ฯ แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านองค์กรเป็นมหาชน ทำให้ทุกอย่างต้องรายงานอย่าง “เปิดเผย” วางแผนงานไว้ต้องทำเพื่อขับเคลื่อนสู่ “เป้าหมาย”
5
“เมื่อก่อนการรายงานธุรกิจให้บอร์ดไม่ชัดเจน รายงานเพื่อทราบ แต่ก็ไม่ได้มี Power จริงจัง เพราะมันเป็นบอร์ดครอบครัว ฟังๆ ไม่ได้ Involved มากมาย อย่างคุณรัตน์ น้องชายผมก็อยู่แบบพี่น้อง เพื่อน รักกันมาก วันนี้มีตัวเลขมาให้ดูละเอียด และไม่ใช่แค่บอร์ดที่รับรู้ พนักงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(Stakeholders)เห็นตัวเลขเดียวกันหมด เรายังฉายภาพให้เห็นว่าการเติบโตในอนาคตจะเป็นอย่างไร เป้าหมายชัดเจนและมีความเป็นมืออาชีพมาก” เพชร เคยให้เหตุผล
4
ส่วนสินค้าที่เคยมองว่าพอร์ตโฟลิโอค่อนข้างสะเปะสะปะ ก็จัดทัพใหม่ให้แข็งแกร่ง สินค้าโดดเด่นแต่ไม่ทำกำไร ซับซ้อนต้องโละทิ้ง จนเหลือ “พระเอกตัวจริง” ที่จะเป็นหัวหอกลุยตลาด สร้างการเติบโตในอนาคต
2
เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นพอร์ตโฟลิโอใหญ่ แต่เป้าหมายใหม่ที่บริษัทต้องการโฟกัสมากขึ้นคือ “สินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล” หรือ Personal care ที่เคยคาดหวังให้สัดส่วนรายได้เติบโต 10 เท่า รวมถึงเครื่องดื่มหมวดหมู่ใหม่ๆ ผลักดันการเติบโต
6
อย่างไรก็ตาม กลางปี 2563 เพชร ส่งสัญญาณถอย! จากเก้าอี้บริหารด้วยการ “ลาออก” จากตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยส่งไม้ต่อให้ “กรรณิกา ชลิตอาภรณ์” หญิงแกร่งแห่งวงการธุรกิจ และ “ธนา ไชยประสิทธิ์” รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในทายาทรุ่น 4 ทำงานเคียงคู่องค์กรมานานกว่า 3 ทศวรรษ
4
กระทั่งล่าสุด กับการตัดสินใจขายหุ้นทิ้งทั้งพอร์ต เพื่อไปโฟกัสงานศิลปะ วัฒนธรรม และการศึกษาอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่สิ่งที่ต้องจับตาดูคือทิศทางธุรกิจของ “โอสถสภา” จะเป็นอย่างไรต่อไป แผนงานที่เคยประกาศไว้เมื่อครั้งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะปรับทัพเปลี่ยนแปลงหรือคงเดิมเพื่อให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจว่าองค์กรจะเติบโต
แม้ โอสถสภา จะเป็นมหาชน แต่ภาพธุรกิจครอบครัวที่ยืนหยัดมายาวนานถึงรุ่น 4 ยังเป็นที่จดจำของคนไทย ทว่า ท่ามกลางบริบทการค้าขายที่เปลี่ยนแปลง ปลาเร็วกินปลาช้า พฤติกรรมผู้บริโภคพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ปัจจัยภายนอกแปรผันรุนแรง ฯ และทฤษฎีการสืบทอดกิจการครอบครัวที่เข้าสู่รุ่น 4 มัก “ล้มเหลว” มีเพียง 4% ที่สามารถยืนหยัดอยู่รอด (ที่มา:ศ.โยอาคิม ชวาส ผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจศึกษาครอบครัวระหว่างประเทศ สถาบัน MID Global Business Center เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์)
9
พลังเพื่อเสริมสร้างชีวิต หรือ OSOTSPA THE POWER TO ENHANCE LIFE เป็นสโลแกนของบริษัท ที่มุ่งมั่นเป็นพลังเพื่อผู้บริโภค พนักงาน สังคม ผู้ถือหุ้น เพื่อทุกคน จึงต้องเกาะติดกันยาวๆว่า “โอสถสภา” จะเป็นหนึ่งในเปอร์เซ็นต์ส่วนน้อย ที่จะมีพลังส่งต่อสืบทอดธุรกิจถึงรุ่นถัดไปได้ไกลแค่ไหน
2
โฆษณา