2 เม.ย. 2021 เวลา 13:05 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ชีวิตเราต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงหรือโยกย้ายกันแทบตลอดเวลา ไม่ว่าจะโดยการวางแผนล่วงหน้าหรือโดยมิได้ตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นไปตามคาดฝันดั่งใจหรือเป็นไปในทิศทางที่เราไม่ได้อยากให้เป็น แต่สุดท้าย เพื่อเอาตัวรอดและมีชีวิตอยู่ต่อไป เราต้องเรียนรู้ ยอมรับ ปรับตัวและ embrace กับสิ่งต่าง ๆ รอบข้างนั้นให้ได้ เช่นเดียวกับครอบครัวเกาหลีที่อพยพมาตั้งรกรากในอเมริกา ซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง Minari (미나리) หนังเชื้อสาย Korean American ที่เข้าชิงออสการ์ 6 สาขาเรื่องนี้
=== เรื่องย่อ Minari ===
Minari เป็นหนังกึ่งอัตชีวประวัติ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตครอบครัวของ Lee Isaac Chung ผู้กำกับ-คนเขียนบทของเรื่อง ย้อนไปในวันเด็กของเขาช่วงราว ๆ ปี 1980s เมื่อ Jacob (Steven Yeun จาก The Walking Dead) ซึ่งเป็นผู้อพยพจากเกาหลี ได้พาครอบครัวย้ายจากเมืองใหญ่อย่าง California มาเริ่มต้นทำฟาร์มในย่านไกลปืนเที่ยงอย่าง Arkansas ซึ่งสร้างความผิดหวังแก่ Monica ภรรยาของเขา (Yeri Han จาก Secret Zoo) อย่างมาก เพราะเธอห่วงความเป็นอยู่ของลูก ๆ ของเธอ โดยเฉพาะ David ลูกชายคนเล็ก (Alan S. Kim) ซึ่งมีโรคประจำตัว
นอกจากการทำฟาร์ม ในระหว่างวัน สองสามีภรรยายังต้องไปรับจ้างแยกเพศลูกไก่ในโรงงานด้วย ทำให้ลูก ๆ อย่าง Anne (Noel Cho) และ David ต้องอยู่โดยลำพัง ต่อมาพวกเขาจึงตกลงให้ Soonja (Yuh-Jung Youn) คุณยายของเด็ก ๆ บินมาอยู่ด้วยกันที่นี่ โดยคุณยายได้นำของจากเกาหลีติดมาด้วยมากมาย รวมถึงเมล็ดพันธุ์ “มีนารี” (미나리) ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในอาหารเกาหลีหลากหลายเมนูและเป็นยาได้ด้วย แต่การมาของคุณยายก็สร้างความไม่พอใจแก่ David ที่ต้องแชร์ห้องนอนกับคุณยาย และคุณยายก็ไม่เหมือน “คุณยายในอุดมคติของอเมริกัน” ที่คอยอบคุกกี้ให้หลาน ๆ ตรงกันข้าม คุณยายเอาแต่เล่นไพ่ ดูทีวี และสบถเป็นภาษาเกาหลี
อ่านรีวิว https://www.kwanmanie.com/review-minari/
=== ความฝันของอเมริกันชน ===
ถึงแม้ว่าความหมายของ American Dream ก็อาจแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อยตามยุคสมัย แต่คอนเซ็ปต์หลักของมัน ประกอบกับปัจจัยหรือปัญหาของแต่ละพื้นที่อื่น ๆ (เช่น สงคราม ความข้าวยากหมากแพง) ก็ทำให้มีผู้อพยพมาเริ่มต้นใหม่ที่อเมริกากันอย่างต่อเนื่อง
หัวหน้าครอบครัวของเรื่องเป็นตัวละครที่เราสามารถเห็นได้ชัดว่าเขากำลังไล่ตามความฝันของอเมริกันชน พร้อมกับแบกรับภาระอันยิ่งใหญ่ไว้บนบ่า เขาเปรียบตัวเองเป็น “ลูกไก่ตัวผู้” ที่จะโดนกำจัด (เช่นเดียวกับลูกไก่ที่บาดเจ็บ) เพราะไม่สามารถตั้งท้องหรือออกไข่เป็นอาหารได้ เขาจึงคิดว่า เขาจึงต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์ที่สุดและรับผิดชอบในพาร์ทอื่น ๆ ของครอบครัวให้ได้ดีที่สุด อีกทั้งเขายังมองว่า การทำงานประจำเหมือนเครื่องจักรเครื่องกลไม่ได้ช่วยให้รวยหรือมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เขาจึงหวังมุ่งมาทางด้านกสิกรรม ตามนโยบาย “เกษตรกรชนะ” ของ Ronald Reagan (ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วง 1981 – 1989)
Jacob เริ่มทำฟาร์มปลูกพืชผักเกาหลี ด้วยมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่มีชาวเกาหลีอพยพมาอยู่อเมริกาปีละจำนวนมาก เขาถึงกับทุ่มเงินเก็บเกือบทั้งหมด กู้ธนาคาร และจ้าง Paul (Will Patton จาก Armageddon) คนแถวนั้นมาเป็นลูกมือ ซึ่งเราต้องยอมรับว่า Jacob เป็นชายที่มีวิสัยทัศน์ ความเป็นผู้นำ และความมุมานะตรากตรำ แต่นั่นมันเพียงพอแล้วหรือไม่ที่จะทำให้เขาประสบความสำเร็จ และสามารถทำให้สมาชิกครอบครัวมีความสุขได้
อ่านรีวิว https://www.kwanmanie.com/review-minari/
=== ไม่ใช่เรื่อง RACISM หรือ IMMIGRANTS ===
ถึงแม้ครอบครัวตัวละครหลักในเรื่องจะพูดภาษาเกาหลีเป็นหลักและมีรูปลักษณ์ภายนอกแบบคนเอเชีย แต่พวกเขาก็มีวิถีชีวิตและวิธีคิดหลายอย่างในแบบอเมริกัน โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่เกิด-เติบโตมาในประเทศอเมริกาแท้ ๆ และไม่เคยไปประเทศเกาหลีเลย เซตติ้งของเรื่องก็อยู่ในอเมริกา 100% ตัวผู้กำกับ-คนเขียนบทเอง (ซึ่งก็คือเจ้าเด็ก David ในเรื่อง) ก็เป็น Korean American หรือกระทั่งโปรดิวเซอร์อย่าง Brad Pitt และทีม A24 ก็เป็นอเมริกัน
เช่นเดียวกับหนัง The Farewell จากค่ายเดียวกันที่ประสบความสำเร็จเมื่อปีที่แล้ว หนังไม่ได้เอาเรื่องราวของคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียมาเล่าถึงปัญหา racism หรือความลำบากตรากตรำในชีวิตของการเป็นคนอพยพข้ามชาติ แต่ The Farewell พูดถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมของ East & West โดยไม่ได้ตัดสินว่าวัฒนธรรมไหนดีกว่ากัน และ Minari ก็พูดถึงชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่และการมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ปุถุชนทุกรูปนามต้องประสบ ไม่ว่าจะเชื้อชาติไหน เพศไหน หรือสถานะทางสังคมดีแย่อย่างไร
ดังนั้น Minari มันคือเรื่องราวที่ universal เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ตั้งแต่เรื่องราวของชีวิตครอบครัวที่ต้องปากกัดตีนถีบเพื่อให้ทุกคนในครอบครัวมีชีวิตที่ดี อีกทั้งยังมีเรื่องของการปรับตัวเมื่อเราต้องเจอกับสิ่งใหม่ ๆ การเปลี่ยนแปลงโยกย้าย หรือปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้
เหมือนกับพืช Minari ที่คุณยายเอามาจากเกาหลี มันแข็งแกร่ง เติบโตง่ายโดยธรรมชาติ และสามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้กับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ นอกจากนี้ Minari ยังมีลักษณะเด่นคือ หลังหว่านเมล็ดครั้งแรกมักจะไม่ค่อยเติบโต แต่จะเจริญงอกงามขึ้นกว่าเดิมหลังจากที่ผลัดใบครั้งแรกตาย ซึ่งผู้กำกับต้องการให้มันสะท้อนถึงเรื่องราวของครอบครัวในเรื่องนี้นั่นเอง
อ่านรีวิว https://www.kwanmanie.com/review-minari/
=== ผู้อยู่รอดคือผู้ที่ปรับตัวได้ดีที่สุด ===
เมื่อการปรับตัวเป็นธีมหลักของเรื่อง ธีมที่ต้องมาควบคู่กันก็คือ การเปลี่ยนแปลง หรือความไม่แน่นอน อย่างที่บอกไปในตอนแรก เราต้องสามารถปรับตัวกับสิ่งต่าง ๆ ได้ เราจึงสามารถพูดได้ว่า บางทีผู้ที่อยู่รอดอาจไม่ใช่ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด หากแต่เป็นผู้ที่ปรับตัวได้ดีที่สุดต่างหาก เพราะใดใดในโลกล้วนอนิจจัง ล้วนเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยการปรับตัว ณ ที่นี้ หมายถึงทั้งการปรับตัวทางกายภาพ ความคิด และจิตใจ
ถึงแม้จะยังมีอีโก้และความเชื่อมั่นในตัวเองสูงอยู่บ้าง แต่ Jacob ก็สามารถรับมือกับความอเมริกันได้ดี ในขณะที่ Monica ช้ากว่า ทั้งในการทำงาน และปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่นี่ เช่น เธอยังยึดติดกับความสะดวกสบายของชีวิตคนเมือง และชอบที่แคลิฟอร์เนียมีโบสถ์เกาหลี ทำให้เธอไม่แฮปปี้กับการใช้ชีวิตในชนบท และไปโบสถ์ที่เธอไม่คุ้นเคย เธอดูเปิดรับที่จะคุยกับคนเกาหลีด้วยกัน แต่เธอยังปิดกั้นที่จะมีเพื่อนใหม่เป็นคนอเมริกันท้องถิ่น หรืออาการ homesick ที่เธอแสดงออกมาอย่างชัดเจนเมื่อเธอได้รู้ว่าแม่ (คุณยายในเรื่อง) เอาพริกป่นและปลาแห้งจากเกาหลีติดมาด้วย
การเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่มากก็น้อย ไม่ดีก็ร้าย แต่การเปลี่ยนแปลงหรือกระทั่งความเจ็บปวดมักนำไปสู่การเติบโต ตรงกันข้าม ถ้าเราติดอยู่ในคอมฟอร์ตโซนหรือใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ เราก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิม ๆ โดยการเปลี่ยนแปลง ไม่จำเป็นต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่เสมอไป เราอาจจะเปลี่ยนแค่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่พอเราทำอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย (habit) มันก็สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน
เช่น David ที่อาการป่วยดีขึ้นอย่างปาฏิหาริย์ ซึ่งหนังก็ไม่ได้สรุปให้เราทราบหรอกว่าเพราะอะไร มันอาจจะเป็นเพราะน้ำ Mountain Dew ที่พ่อให้ดื่มทุกวันก็ได้ มันอาจจะเป็นเพราะยาสมุนไพรของคุณยายก็ได้ มันอาจจะเป็นเพราะการย้ายบ้านมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติก็ได้ มันอาจจะเป็นเพราะการมาอยู่ของคุณยายก็ได้ มันอาจจะเป็นเพราะการสวดมนต์ภาวนาจากความเชื่อของ Paul ก็ได้ หรืออาจจะเป็นเพราะทุกอย่างที่ว่ามานั้นรวมกันก็ได้ ไม่มีใครรู้
อ่านรีวิว https://www.kwanmanie.com/review-minari/
=== “บ้าน” คือ “ผู้คน” ===
ในช่วงหลังมานี้ มีหนังหลายเรื่องพยายามถ่ายทอดนิยามของคำว่า “home” หรือ “บ้าน” ว่ามันไม่ใช่ “สถานที่” หากแต่คือ “ผู้คน” ซึ่ง Minari ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่จริง ๆ แล้ว มันไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เราได้ทราบความแตกต่างของ “house” กับ “home” กันมาตั้งแต่คลาสเรียนภาษาอังกฤษสมัยอนุบาลกันอยู่แล้ว แต่พอยต์เรื่องบ้านใน Minari ไม่ได้มีแค่นั้น
ในระหว่างที่เราต่างดิ้นรนตามหา “สถานที่” ที่ดีที่สุดที่เราจะเรียกมันว่า “บ้าน” หรือหาเงินทองมาสร้างเสาบ้านให้มั่นคงที่สุดเท่าที่กำลังวังชาจะหาได้ เราอาจหลงลืมกันไปว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “กันและกัน” หรือ “ผู้อยู่อาศัย” ที่อยู่ด้วยกันในบ้านหลังนี้
ในหนัง จะมีตัวละคร Jacob ที่เอาแต่ทำงานหนักเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้กับครอบครัวและมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จเพื่อเป็น role model ให้ลูก ๆ ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของภรรยาที่เขาให้ความสำคัญกับฟาร์มมากกว่าความคิด ความรู้สึก หรือความเป็นไปของคนในครอบครัว ทั้งสองตัวละครมันเทา ๆ ไม่มีความคิดของฝ่ายไหนถูกทั้งหมด ไม่มีความคิดของฝ่ายไหนไม่ดีไปเสียหมด พวกเขาแค่มองแตกต่างกัน
แต่สุดท้าย ความแตกต่างไม่ได้แปลว่าต้องแตกหักหรือแตกแยกเสมอไป ความคิดของพวกเขามันเหมือนฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ที่ถ่วงดุลอำนาจและคอยเบรคความเสี่ยงไปด้วยกัน พวกเขาจึงควรมีกันและกัน บ้านหลังนี้จะขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปไม่ได้ แต่ทั้งนี้พวกเขาอาจจะต้องค่อย ๆ ปรับจูนและหาตรงกลางให้กับมัน แน่นอนว่า คำว่า “ตรงกลาง” ไม่ได้แปลว่า 1:1 หรือ 50-50 เสมอไป มันอาจจะเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากกว่าก็ได้ แต่สุดท้ายมันคือความพอดี ลงตัว แล้วบ้านไม่พัง
เช่นเดียวกัน พ่อของเราก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนพ่อคนอื่น ยายของเราก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนยายคนอื่น เช่น คุณยายในเรื่องที่ตรงกันข้ามกับภาพคุณยายในอุดมคติหรือคุณยายทั่วไปของชาวอเมริกันอย่างมาก ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีส่วนที่เราทั้งชอบและไม่ชอบอย่างไร แต่นั่นก็คือ ครอบครัวของเรา คือสิ่งที่หลอมรวมและคือส่วนหนึ่งในชีวิตเราที่ทำให้เราเป็นเราอย่างทุกวันนี้
อ่านรีวิว https://www.kwanmanie.com/review-minari/
=== โบสถ์อยู่ที่ใจ ไม่ใช่สถานที่ ===
สิ่งที่ผูกพันอยู่กับชีวิตเรายิ่งกว่ารากเหง้าทางวัฒนธรรมหรือแนวคิดของชาติใดชาติหนึ่งคือ ศาสนา ความเชื่อ หรือความศรัทธา เช่น Paul เขามีความเชื่ออันแรงกล้าและมีโบสถ์ของเขาเอง โดยไม่ต้องไปโบสถ์เหมือนชาวคริสต์ทั่วไป พูดง่าย ๆ คล้ายกับข้างบนก็คือ ธรรมะอยู่ที่ใจ ไม่ใช่สถานที่
เรามองว่าโบสถ์เป็นเพียงสัญลักษณ์ของสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจหรือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลในการดำรงชีวิต ดังนั้น โบสถ์ของแต่ละคนจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน คนเราสามารถมีสิ่งอื่นเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจได้นอกจากโบสถ์จริง ๆ หรือศาสนาต่าง ๆ แต่สิ่งสำคัญคือ เราไม่ควรลบหลู่หรือดูหมิ่นความเชื่อหรือความศรัทธาของผู้อื่น
อีกสิ่งที่ควรตระหนักถึงคือ ถ้าเรายึดติด ศรัทธา หรือเชื่อมั่นในสิ่งสิ่งหนึ่งมากเกินไป แล้วถ้าสมมติวันนึง สิ่งสิ่งนั้นมันหายไป หรือไม่เป็นอย่างที่เราหวังแล้ว หรือเราหมดศรัทธากับสิ่งสิ่งนั้นแล้ว เราจะเป็นอย่างไรต่อไป
เช่นเดียวกับ Monica ที่อุตส่าห์ตัดสินใจตาม Jacob เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมา ด้วยความหวังและความเชื่อมั่นว่าจะสร้างครอบครัวที่ดีด้วยกันได้ที่ the land of opportunity แต่สุดท้าย เมื่อบางสิ่งบางอย่างมันไม่เป็นไปอย่างที่วาดฝัน ถ้าเราเป็นเธอ เราจะล้มเลิกหรือละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างมาด้วยกันหรือสิ่งอื่น ๆ ที่ทุกวันนี้เรามีได้เพราะสิ่งสิ่งนั้นไปด้วยเลยหรือไม่?
เราเข้าใจ ถ้า Monica จะเสื่อมศรัทธาหรือรู้สึกสิ้นหวังกับการอยู่กับผู้ชายคนนี้ แต่สิ่งที่น่าชื่นชมเกี่ยวกับ Jacob คือ เขามีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะล้มเหลวหรือไม่ก็ตาม เขาจะไม่ล้มเลิกกลางคัน เขาจะพยายามทำอย่างเต็มที่และทำสิ่งที่เขาเริ่มต้นมาให้เสร็จ เพราะเขาศรัทธาในตัวเอง
เช่นเดียวกัน ถ้าเราเป็น Monica เราจะย้อนไปยังจุดเริ่มต้นอีกครั้ง นึกถึงความทรงจำหรือคำมั่นสัญญาที่เคยมีไว้ให้กัน ถ้าเราเห็นได้อยู่ว่า Jacob ยังอยู่ในโปรเซสนั้นหรือยังพยายาม keep มันไว้อยูสุดความสามารถของเขา เราก็ควรให้โอกาส ซัพพอร์ต และไม่หมดศรัทธาในตัวเขาง่าย ๆ ด้วยเช่นกัน หลายคู่ที่เลิกรากัน ส่วนหนึ่งก็เพราะพวกเขาหมดศรัทธาซึ่งกันและกัน ลืมความรู้สึกก่อนจะคบกันหรือสิ่งที่สร้างมาด้วยกัน หรือไม่สื่อสารให้เข้าใจกัน
อ่านรีวิว https://www.kwanmanie.com/review-minari/
=== สิ่งที่มองไม่เห็นน่ากลัวกว่าสิ่งที่มองเห็น ===
คุณยายสอนหลานชายว่า อย่าไปทำร้ายหรือกลัวงูที่เขาเลื้อยผ่านไป มันไม่น่ากลัวเท่างูที่มองไม่เห็น ประโยคนี้ของคุณยายสอนอะไรแก่หลานและคนดูหลายอย่าง กล่าวคือ ตราบใดที่เขาอนุญาตให้เรามองเห็นหรือรับรู้ได้ เรายังสามารถรับมือได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเขาไปซ่อนไม่ให้เรามองเห็น แบบนั้นน่ากลัวกว่า เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะซุ่มมาทำร้ายเราเมื่อไหร่
เช่นเดียวกับความรู้สึกของคน ถ้าเขาคิดอะไร แล้วเขาพูดหรือแสดงออกออกมาว่าชอบหรือไม่ชอบ มันยังไม่น่ากลัวเท่าคนที่เก็บงำความรู้สึกของตัวเองไว้ไม่ให้คนอื่นรู้ หรืออีกนัยนึงง่าย ๆ ก็คือ เราไม่ควรไปทำร้ายคนที่แตกต่างจากเราทั้งที่เขาก็แค่กำลังจะใช้ชีวิตปกติในทางของเขา
อ่านรีวิว https://www.kwanmanie.com/review-minari/
=== ดีงามสมดีกรีหนังเข้าชิงออสการ์ 6 สาขา ===
Minari ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ 6 สาขา รวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม โดยเฉพาะสาขา Best Actor ที่ถือว่าเป็นหนึ่งใน milestone สำคัญของวงการฮอลลีวู้ด เพราะ Steven Yeun ได้เป็นนักแสดงเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้เข้าชิงออสการ์สาขาดังกล่าว นอกจากเขาแล้ว คุณยายในเรื่องก็ได้เข้าชิงสาขา Best Performance by an Actress in a Supporting Role อีกด้วย
Minari เป็นหนังที่ให้ฟีลลิ่งที่อบอุ่น ภาพสวย เรื่อย ๆ แต่ไม่น่าเบื่อ เพราะเขาเล่าเรื่องชีวิตของเขาออกมาได้อย่างงดงามและชวนติดตาม ประกอบกับการแสดงที่ดูเรียลและเป็นธรรมชาติของนักแสดงนำทั้งแพ็ก ถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่ได้ดีถึงเข้าขั้นมงลง แต่ตั้งแต่ Parasite, The Farewell, จนมาถึง Minari ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ทีมนักแสดงเอเชียก็มีคุณภาพไม่แพ้นักแสดงฮอลลีวู้ด และยังมีเรื่องราวของผู้คนเชื้อสายเอเชียที่ worth telling ไม่แพ้ฝั่งตะวันตก และยังรอการนำมาถ่ายทอดสู่สายตาชาวโลกอีกมากมาย
Minari ฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์
อ่านรีวิว https://www.kwanmanie.com/review-minari/
=====
ช่องทางการติดต่อ Kwanmanie >>>
LINE: @kwanmanie
โฆษณา