Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Note sharing
•
ติดตาม
5 เม.ย. 2021 เวลา 02:09 • หนังสือ
ตอนที่ 3 ถอดบทเรียนโค้ชและองค์กร
: แนวคิด 5 เรื่องที่ควรมีต่อการทำงานกับชุมชน
สิ่งที่เราเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจคนทำงานก่อนเรื่องอื่นๆ คือแนวคิดหรือความเชื่อของคนทำงาน เช่น เรามักจะถามว่าทำไมเขาถึงเข้ามาทำงานนี้ มีแรงบันดาลใจอะไร หรือเรื่องที่เขาทำอยู่นี้สำคัญต่อชีวิตเขาอย่างไร เพราะการเข้าใจแนวความคิดของเขาจะทำให้เราเข้าใจการออกแบบการทำงานของเขา กระบวนการ วิธีการทำงานของเขา ว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น
นำไปสู่การเรียนรู้มุมมองความคิดด้านอื่นๆ ของคนๆ นั้น ทั้งเรื่องของการมองโลก มองชีวิต มองการทำงาน มองเห็นว่าเขาให้คุณค่าความหมายกับสิ่งใด ทุ่มเทกับสิ่งใด และมองเห็นพลังที่เกิดขึ้นในงานนั้นๆ
นี่อาจจะเป็นความเชื่อของเราเองที่ว่า มนุษย์นั้นขับเคลื่อนไปตามสิ่งที่เชื่อจึงมุ่งมั่นตั้งใจทำความเชื่อนั้นจนสำเร็จ
ถ้านักพัฒนาคนนั้นเชื่อว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” หรือ คำตอบอยู่ที่ชุมชน เขาก็จะให้ความสำคัญกับการทำงานชุมชน และผลักดันการแก้ปัญหาหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชนจนเกิดความสำเร็จ
จากการสนทนาเพื่อถอดบทเรียนโค้ชและคนทำงานในองค์กรที่เข้าไปทำงานชุมชน ทำให้เราได้ข้อสรุป หรือจะเรียกว่าเป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากคนทำงานชุมชนว่า การทำงานโดยเน้นชุมชนเป็นตัวตั้งนั้น มีแนวคิดหรือความเชื่อต่อชุมชนใน 5 เรื่องสำคัญ คือ
1. เชื่อว่าชุมชนแก้ปัญหาของชุมชนเองได้
คนทำงานต้องมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจว่าชุมชนสามารถลุกขึ้นมาจัดการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ชุมชนเองได้ สามารถพัฒนาชุมชนให้เติบโตและเข้มแข็งด้วยศักยภาพที่เป็น “คนใน” ชุมชน เพราะเขาเป็นผู้ที่เผชิญปัญหาอยู่ในเหตุการณ์ เห็นสถานการณ์ต่างๆ ของชุมชนของเขาเอง
ถ้าเขาลุกขึ้นมารวมตัวกัน ร่วมกันคิดหาหนทางแก้ปัญหา ก็จะมีความเหมาะสมกับบริบท ความคิด ความเชื่อ คุณค่าและวัฒนธรรมของชุมชน
และทำให้เขาเชื่อมั่นในว่าจะแก้ปัญหาในชุมชนได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอคนนั้นคนนี้ หน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้มาช่วยแก้
เพราะการคิดแทนทำแทนนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
ยิ่งถ้าคนทำงานจากหน่วยงานภายนอกเข้าไปใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยใช้วิธีเดียวกันทุกชุมชน นอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาได้แล้วอาจจะสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาก็ได้
2. เชื่อว่าคนในชุมชน รู้จัก และเข้าใจชุมชนเป็นอย่างดี
เนื่องจากชุมชนที่เราถอดบทเรียนนั้น เป็นชุมชนในชนบท และชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วคนในชุมชนรู้จักกันเป็นอย่างดี มีความสัมพันธ์ต่อกันในหลายรูปแบบ ทั้งที่เกี่ยวโยงกันเป็นเครือญาติ เป็นเพื่อน พี่น้อง ไปจนถึงเคยเรียนโรงเรียนเดียวกัน บ้านใกล้เรือนเคียงกัน ไปทำพิธีทางศาสนาที่เดียวกัน ทำงานในที่เดียวกัน หน่วยงานที่ทำงานอยู่ในตำบลเดียวกัน รวมไปถึงทำงานในประเด็นเดียวกัน เป็นต้น
สายสัมพันธ์ที่มีต่อกันเช่นนี้นำไปสู่ความผูกพันในเรื่องอื่นๆ ทั้งต่อคน สถานที่ เรื่องราวต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในชุมชน ทั้งในประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องเล่า เรื่องราวในอดีตเมื่อแต่ละคนยังเป็นเด็ก และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน
การที่คนในชุมชนได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ในชุมชน รู้จักคน ค่านิยม วัฒนธรรมของชุมชน อันเป็นข้อมูลติดตัวของแต่ละคน เมื่อนำมาทำความเข้าใจ คิดวิเคราะห์ก็จะเห็นว่าคนในชุมชนนั้นมีความเข้าใจชุมชนในหลากหลายมิติ ทั้งในเชิงปรากฎการณ์และเบื้องลึกเบื้องหลังของเรื่องราว ความเป็นมา ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ว่าเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ อย่างไร เพราะอะไร
อันเป็นเรื่องของความเข้าใจต่อสภาพปัญหาต่างๆ ในชุมชนเป็นอย่างดี มีประโยชน์ต่อการออกแบบการทำงานเพื่อแก้ปัญหาของชุมชน
3. เชื่อว่าคนในชุมชนมีความรู้ และศักยภาพ
ขึ้นอยู่กับการนำศักยภาพนั้นไปใช้ในทางใดได้บ้าง
อีกทั้งยังมีศักยภาพที่ซ่อนอยู่ที่ยังไม่ได้ดึงมาใช้ หรือมีแต่ไม่ค่อยได้ใช้ และศักยภาพที่เมื่อหลายๆ คนนำมารวมกันกลายเป็นศักยภาพใหม่
ในชุมชนนั้นเรามีผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย
คนที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชนก็มีความรู้ด้านสุขภาพและเข้าถึงความรู้ด้านสุขภาพได้ คนทำงานในโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก็มีความรู้ด้านการศึกษา ด้านพัฒนาการเด็ก การดูแลให้การเรียนรู้กับเด็ก คนทำงานด้านพัฒนาชุมชน พัฒนาอาชีพ ก็มีความรู้เกี่ยวกับอาชีพต่างๆ ในท้องถิ่น เช่นเดียวกับผู้คนในชุมชน
ชาวนารู้เรื่องการปลูกข้าวเป็นอย่างดี เกษตรกรรู้วิธีการปลูกพืชผัก ผลไม้ ที่เหมาะกับพื้นที่นั้นๆ
ชาวประมงรู้วิธีเลี้ยงปลาทำการประมง
คนค้าขายก็มีความรู้เรื่องการบริโภคสินค้าของคนในชุมชน
เราจะเห็นได้ว่าศักยภาพของคนในชุมชนนั้นมีเต็มไปหมด แต่อาจจะยังกระจัดกระจาย ต่างคนต่างก็ทำของตัวเอง ไม่ได้มีการนำศักยภาพเหล่านั้นมารวมกัน มาจัดระบบใหม่ให้สามารถขับเคลื่อนการทำงานในแต่ละด้านได้
4. เชื่อว่าชุมชนมีต้นทุนทรัพยากรทั้งเรื่องคนที่พร้อมจะทำงานและงบประมาณที่จัดสรรได้
ทุกชุมชนยังมีต้นทุนสำคัญคือคนมีจิตอาสาที่พร้อมทำงานเพื่อส่วนรวม
และมีงบประมาณที่ในชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดสรรได้ ทั้งจากระบบงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รวมไปถึงงบประมาณจากกองทุนในลักษณะต่างๆ เช่น กองทุนสุขภาพตำบล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองทุนจากหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ
รวมไปถึงการจะระดมทรัพยากรในชุมชนท้องถิ่นเพื่อมาช่วยกันพัฒนาชุมชนก็มีความเป็นไปสูง เช่น การลงขัน การบริจาค ให้ใช้สถานที่ ให้ยืมของจัดกิจกรรม รวมไปถึงการอาสาลงแรงคนละไม้คนละมือ
5. เชื่อว่าคนในชุมชนอยากทำอะไรเพื่อบ้านเกิด รักถิ่นฐานบ้านเกิด รักชุมชน
อยากเห็นชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ดี เหมาะสมที่จะอยู่อาศัยและเลี้ยงดูลูกหลาน ผู้คนในชุมชนดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกอบอุ่นใจ ชุมชนเป็นพื้นที่ปลอดภัย มีพื้นที่ให้คนทุกเพศทุกวัยได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ได้แสดงออก
ความเชื่อว่าทุกชุมชนอยากให้ชุมชนของตนเองน่าอยู่มีความสุข ซึ่งหากเราเข้าใจเรื่องระบบที่ส่งผลสะท้อนต่อกันแล้ว เราก็จะเข้าใจและเห็นแนวทางว่า ชุมชนที่ดีสัมพันธ์กับระบบครอบครัว ระบบชุมชน ระบบโรงเรียน และระบบอื่นๆ ในชุมชนท้องถิ่น ในจังหวัด และในประเทศ
การมองชุมชนด้วยสายตาเช่นนี้ หรือมีแนวคิดแบบนี้จะทำให้เราเข้าใจชุมชน
ในตอนต่อไปเราจะมาถอดบทเรียนว่า
ก็ในเมื่อชุมชนมีสิ่งต่างๆ ตามแนวคิดความเชื่อแบบนี้
“แล้วทำไมชุมชนยังแก้ปัญหาชุมชนเองไม่ได้”
ขอบคุณภาพประกอบ : Nok S และ กุลธวัช เจริญผล
2 บันทึก
4
10
2
4
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย