Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Note sharing
•
ติดตาม
9 เม.ย. 2021 เวลา 02:09 • หนังสือ
ตอนที่ 4 ถอดบทเรียนโค้ชและองค์กร
: แล้วทำไมชุมชนยังแก้ปัญหาไม่ได้
ในตอนที่แล้วเราถอดบทเรียนออกมาเป็นแนวคิด 5 เรื่องที่โค้ชและองค์ควรมีต่อการทำงานชุมชน ซึ่งนำไปสู่การวิเคราะห์ต่อว่า
“แล้วทำไมชุมชนยังแก้ปัญหาไม่ได้”
เท่าที่เราได้สำรวจความคิดของคนในชุมชน เราก็ได้ข้อสรุปว่า
คนในชุมชนรู้ดีว่าชุมชนเผชิญกับปัญหาอะไรบ้างและเกิดจากอะไร
แต่ก็ยังไม่ได้ลุกขึ้นมาแก้ปัญหา
และบางพื้นที่มีคนลุกขึ้นมาพยายามแก้ปัญหาแล้ว แต่ทำไมยังแก้ไม่ได้
กระบวนการถอดบทเรียนช่วยให้เราได้ค้นหาสาเหตุที่ชุมชนยังแก้ปัญหาไม่ได้ หรือ ไม่ได้ทำ
ถอดบทเรียนออกมาได้ว่าเกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้
1. ขาดกลุ่มคนผู้ริเริ่มที่ทำงานต่อเนื่องและแก้ปัญหาจริงจัง
หลายชุมชนมีคนที่ห่วงใยชุมชนอยู่จำนวนมาก
แต่ขาดคนจุดประกายและริเริ่ม
เมื่อใดที่มีคนริเริ่มชวนทำก็จะมีคนอยากร่วมมากมาย
ที่ผ่านมา หลายพื้นที่ มีผู้ริเริ่มชวนคนในชุมชนลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาก็จริง
แต่เมื่อเจอกับสารพัดปัญหาก็ท้อแท้ทำต่อไปไม่ไหว
หรือแบบแผนที่มักเกิดขึ้นบ่อยก็คือ
การรวมกลุ่มคนในชุมชนที่เกิดจากการริเริ่มโดยภาครัฐ
จัดตั้งคนตามนโยบายของรัฐแต่ละยุคแต่ละสมัย กำหนดสั่งการลงมา
การรวมกลุ่มแบบนั้นเมื่อหมดงบประมาณต่างคนต่างก็แยกย้ายกันไป
ยังไม่ได้เริ่มแก้ปัญหาก็ต้องเลิกรากันไป
การทำเช่นนี้จะลดทอนศักดิ์ศรีและความเข้มแข็งของชุมชน
ทำให้ชุมชนกลายเป็นผู้ร้องขอ รอรับความช่วยเหลือ หวังพึ่งพาคนอื่น โดยไม่กระตือรือร้นลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเอง
มีตัวอย่างที่น่าเรียนรู้มากมาย ในชุมชนที่เข้มแข็ง จัดการตนเองได้
หน่วยงานภาครัฐเป็นฝ่ายสนับสนุนไม่ใช่สั่งการ
ริเริ่มโดยคนในชุมชนที่อยากทำ รวมตัวกัน และชวนผู้คนมาทำกิจกรรมในชุมชนกันเป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มช่วยกันแก้ปัญหาแต่ละด้านตามความสนใจและความถนัดประสานร่วมมือกันเป็นเครือข่ายของชุมชนเอง ทุกกลุ่มมามองภาพรวมของชุมชนด้วยกัน จนสามารถจัดการปัญหาในหลายๆ เรื่องได้
เช่น ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายสินธุ์แพรทอง พัทลุง
บ้านหนองเสาธง ต.ควนรู สงขลา
ที่ทีมงานได้เคยถอดบทเรียนมาแล้ว
2. ขาดเจ้าภาพเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือในพื้นที่
การมีเจ้าภาพในการทำงานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คล้ายๆ กับการมีคนหรือกลุ่มคนที่ชวนกันลุกขึ้นมาทำงานให้กับชุมชน
แต่รูปแบบของการมีเจ้าภาพมาชวนกลุ่มคน หน่วยงาน องค์กรในชุมชนทำงานแก้ปัญหาชุมชนนั้น
เจ้าภาพไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรชุมชน แต่เป็นองค์กรที่ต้องการเข้าไปชวนคนในชุมชนมาทำงานเพื่อแก้ปัญหาชุมชนในด้านที่เขาถนัดหรือเขาสนใจจริงๆ
หากมีเจ้าภาพเข้าไปสร้างกระบวนการให้ชุมชนเกิดการรวมกลุ่มรวมตัวกันลุกขึ้นนมาทำงานเพื่อชุมชนและเน้นให้กลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนดำเนินงานอย่างต่อเนื่องก็จะเกิดประโยชน์กับชุมชนได้เช่นเดียวกัน
ยิ่งเจ้าภาพเข้าไปทำงานโดยเริ่มที่คนหรือกลุ่มคนที่มีหัวใจอยากจะทำงานเพื่อชุมชนอยู่แล้ว ยิ่งทำให้การทำงานเพื่อชุมชน ก
ารแก้ปัญหาชุมชนยิ่งทำได้อย่างมีความหวังว่าจะประสบความสำเร็จได้
เพราะจะเป็นการผสมผสานองค์ความรู้ขององค์กรที่เป็นเจ้าภาพกับองค์ความรู้ที่คนและกลุ่มคนในชุมชนมีอยู่แล้ว ก็จะเพิ่มโอกาสในการทำงานได้สำเร็จ
เจ้าภาพจะเป็นองค์กรที่ทำงานทางสังคม หน่วยงานรัฐหรือเอกชนก็ได้ ขอเพียงจริงใจและเข้าใจกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชน ไม่ใช่เข้าไปนำชุมชน
3. หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เดียวกัน ต่างคนต่างทำ ตามภารกิจของตัวเอง
ส่วนนี้ขอยกตัวอย่างพื้นที่ในระดับตำบล และหน่วยงานท้องถิ่นที่คนทำงานเป็นคนในชุมชนมีภารกิจต้องทำงานให้กับชุมชนอยู่แล้ว
ในแต่ละตำบลนั้นพบว่า มีหลายหน่วยงานที่มีกลุ่มเป้าหมายในการทำงานเป็นกลุ่มเดียวกัน แต่การแบ่งหน่วยงานตามภารกิจทำให้เกิดจัดการปัญหาแบบแยกส่วน
ยกตัวอย่างจากงานที่เคยถอดบทเรียนไว้คือ หน่วยงานที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กปฐมวัยและครอบครัวนั้น มีทั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่ทำงานผ่านสภาการศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)
ยกตัวอย่างเช่น เด็กหนึ่งคนในตำบลนั้น ในเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียน
เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของ รพ.สต.
เรื่องการดูแลเหมาะสมหรือไม่เป็นเรื่องของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)
ยิ่งถ้าเด็กและครอบครัวมีปัญหาอื่นๆ ก็จะมีหน่วยงานที่ดูแลเด็กหลายหน่วยงานขึ้นไปอีก
แต่คำถามก็คือว่า ทำไมเด็กถึงเข้าไม่ถึงบริการบางด้านของตำบล หรือการดูแลในบางเรื่องยังทำได้ไม่ดีพอ ตกสำรวจบ้าง ไม่มีข้อมูลปัญหาที่แท้จริงของเด็กบ้าง
หรือไม่ได้แก้สาเหตุของปัญหาเพราะไม่ใช่ภารกิจของหน่วยงานบ้าง
บางครั้งเราอาจจะพบว่าภารกิจต่างๆ ที่เกี่ยวกับเด็กก็มีการทับซ้อนทำให้โยนกันไปโยนกัน
ทำให้เด็กไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็นก็มี
การนำภารกิจของแต่ละหน่วยงานมาดูด้วยกันให้เห็นชัดๆ ว่าเด็กหนึ่งคนจะได้รับการดูแลอย่างไรอย่างเป็นองค์รวมจึงสำคัญอย่างยิ่ง
4. มองความจริงจากคนละด้านทำให้ไม่เห็นภาพรวมของปัญหา
ต่อเนื่องจากข้อ 3 เมื่อแต่ละหน่วยงานมีภารกิจต่างกัน การทำงานก็มุ่งไปเฉพาะด้านและมีข้อมูลเฉพาะด้าน แต่ละหน่วยงานเมื่อมองไปที่เด็กคนหนึ่งก็จะมองเห็นเฉพาะส่วนของตน
เช่น โรงพยาบาลก็จะเห็นแต่เรื่องน้ำหนัก ส่วนสูง การเจริญเติบโตทางร่างกายของเด็ก
แต่ไม่เห็นด้านอื่นๆ ว่า เด็กไม่ค่อยได้เล่นทำให้ไม่มีพัฒนาการ การเรียนรู้ของเด็กช้ากว่าที่ควรจะเป็น หรือเด็กได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม
ส่วนหน่วยงานที่ดูแลอีกด้านก็จะไม่เห็นด้านอื่นๆ เป็นต้น
รวมทั้งภาพรวมของปัญหาครอบครัวของเด็กด้วย เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วปัญหาของเด็กไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวเด็ก แต่เกิดจากสภาพแวดล้อม ฐานะของครอบครัว การเลี้ยงดู การดูแลเอาใจใส่ของครอบครัว ความรู้ความคิดความเชื่อในการดูแลเด็กของครอบครัว เป็นต้น
การมองความจริงของตัวเด็กให้รอบด้านจึงเป็นกระบวนการที่ต้องทำร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก
เพื่อให้ทุกหน่วยงานมีข้อมูลชุดเดียวกัน การจัดการปัญหาก็จะร่วมมือกันได้
สำหรับคำถามที่ว่า “ทำไมชุมชนยังแก้ปัญหาไม่ได้” อาจจะมีคำตอบมากกว่านี้ในการถอดบทเรียนคนในชุมชนกลุ่มอื่น
อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับการให้ข้อมูลของคนในชุมชน แต่ละชุมชนวิเคราะห์ตัวเองหรือมองเห็นตัวเองได้ไม่เท่ากัน
บางครั้งรู้ว่าสาเหตุที่ทำให้ชุมชนของตนเองแก้ปัญหาไม่ได้คืออะไรแต่ไม่พูดออกมา หรือมองข้ามความจริงนั้นไป เหมือนกับที่ไม่อาจยอมรับข้อบกพร่องของตนเอง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นใดก็ตามที่ได้มาจากการถอดบทเรียน
แสดงว่าประเด็นนั้นทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าอยากจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
เห็นร่วมกันว่าเป็นปัญหาอุปสรรค
ในตอนต่อไปเราจะนำประเด็นที่ได้มาจากการถอดบทเรียนนี้
ไปสู่คำถามต่อไปที่ว่า
“แล้วชุมชนต้องทำอย่างไร จึงจะแก้ปัญหาได้”
ขอบคุณภาพประกอบจาก Nok S และ กุลธวัช เจริญผล
3 บันทึก
3
1
8
3
3
1
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย