5 เม.ย. 2021 เวลา 08:35 • กีฬา
ความพ่ายแพ้ระยะ 100 ไมล์ : ที่ทำให้ SALOMON พัฒนารองเท้าสำหรับวิ่งเทรลระดับแชมเปี้ยน | MAIN STAND
ความพ่ายแพ้ ถือเป็นสิ่งสุดท้ายที่นักกีฬาอยากพบเจอในชีวิต แต่บางครั้ง ความผิดหวังอาจนำมาสู่เรื่องดี ๆ อย่างน่าเหลือเชื่อ
คิลเลียน ฮอร์เน็ต คือนักวิ่งเทรลแชมป์โลกหลายสมัย ที่ครั้งหนึ่งเคยแพ้หมดท่าในบนเส้นทาง 100 ไมล์ ที่สหรัฐอเมริกา แทนจะนั่งร้องไห้เสียใจ เขาเดินทางสู่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อบอกกับใครสักคนว่า "ผมต้องการรองเท้าที่ดีกว่านี้"
1
นี่คือความท้าทายที่แบรนด์ Salomon ตอบรับ และผลิตรองเท้ารุ่นใหม่ที่พาฮอร์เน็ตกลับไปคว้าแชมป์รายการเดิมในปีถัดมา จนทำให้ "Salomon Sense" กลายเป็นรองเท้าวิ่งเทรลที่โด่งดังทั่วโลกอย่างทุกวันนี้
1
รู้จักกับ SALOMON
การวิ่งเทรล คือ การวิ่งสไตล์ผจญภัยบนพื้นที่ธรรมชาติ เช่น ป่า ภูเขา หรือ ทุ่งหญ้า การผลิตรองเท้าสักคู่ที่มีความทนทาน และเหมาะสมกับเส้นที่ยากลำบาก ย่อมต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมเหล่านี้
Photo : runninglikeagazelle.wordpress.com
Salomon คือแบรนด์ที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางหิน ดิน โคลน ในประเทศฝรั่งเศส ตระกูลซาโลมอนเริ่มต้นธุรกิจของพวกเขาเมื่อปี 1947 ในฐานะร้านขายอุปกรณ์เล่นสกีที่เมืองอานซี นครขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาแอลป์ เทือกเขาที่ใหญ่ที่สุดของทวีปยุโรป
1
ธุรกิจของ Salomon เติบโตด้วยดีตลอดศตวรรษที่ 20 พวกเขาจึงเริ่มขายสินค้าใหม่ที่แตกต่างออกไปจากเดิม หนึ่งในนั้นคือ รองเท้าปีนเขา ซึ่งถูกวางขายครั้งแรกในปี 1992 และประสบความสำเร็จมาก ทำให้ Salomon สนใจที่จะเจาะตลาดรองเท้ากีฬาอย่างจริงจัง
วิ่งเทรล จึงเป็นหนึ่งในกีฬาสายธรรมชาติที่ Salomon หมายตาเอาไว้ เมื่อธุรกิจของกิจกรรมดังกล่าวขยายตัว พวกเขาจึงทดลองผลิตรองเท้าวิ่งเทรลตัวแรกของบริษัทขึ้นมาเมื่อปี 2006 โดยใช้ชื่อรุ่นว่า "Speedcross"
Photo : Salomon Running
"มันเป็นรองเท้าที่เฉพาะกลุ่มมากนะ ตอนนั้นเราไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าธุรกิจนี้จะไปต่ออย่างไร ในช่วงแรก เราคาดการณ์ว่าจะขายออกแค่พันคู่ด้วยซ้ำ" เฟลิกซ์ ดีเจย์ ผู้จัดการฝ่ายประเมินผลิตภัณฑ์ ย้อนเล่าจุดกำเนิดรองเท้าวิ่งเทรลรุ่นแรกของแบรนด์
นิตยสาร GQ กล่าวว่า รองเท้ารุ่น Speedcross คือส่วนผสมระหว่างรองเท้าแฟชั่นจ๋าอย่าง Nike Air Max และถุงเท้าดำน้ำ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รองเท้ารุ่นนี้ จะก้าวสู่เวทีแฟชั่นในทศวรรษถัดมา
อย่างไรก็ดี เหตุผลแท้จริงที่ทำให้ Speedcross กลายเป็นรองเท้าขวัญใจนักวิ่งเทรลในทศวรรษ 2000s คือคุณภาพของมันที่แตกต่างจากรองเท้าแบรนด์อื่นในตลาด
Speedcross ถูกออกแบบมาโดยเน้นเรื่องการยึดเกาะบนพื้นที่เปียก และพื้นผิวแบบโคลน กล่าวง่าย ๆ คือ เป็นรองเท้าที่ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของนักวิ่งเทรลทุกประการ
Photo : bestrangers.wordpress.com
"Speedcross คือหนึ่งในรองเท้าที่ประสบความสำเร็จ และเป็นที่จดจำมากที่สุดในวงการวิ่งเทรลทั่วโลก" เอดูอาร์ โคยอน ผู้จัดการสายงานผลิตภัณฑ์ของ Salomon กล่าว
"เพราะฉะนั้นเราพยายามจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราตลอดเวลา เราระมัดระวังเป็นอย่างมากในการรักษาคุณภาพ รูปทรง และความสบายของรองเท้า เพื่อให้มันเป็นที่นิยมมากขึ้น"
คำขอร้องของแชมป์โลก
หนึ่งในนักกีฬาที่เชื่อมั่นในคุณภาพและเลือกใช้เจ้า Speedcross คือ คิลเลียน ฮอร์เน็ต นักวิ่งเทรลสัญชาติสเปน ที่เริ่มต้นสร้างชื่อเสียงตั้งแต่ปี 2007 หลังคว้าแชมป์ Skyrunner World Series ในปีดังกล่าว
Photo : kilianjornet.cat
ฮอร์เน็ตก้าวสู่จุดสูงสุดของอาชีพในปีถัดมา เมื่อเขาคว้ารางวัลชนะเลิศรายการ Ultra-Trail du Mont-Blanc การแข่งขันในฝันของนักวิ่งเทรลทั่วโลก ด้วยเส้นทางยาว 171 กิโลเมตรบนเทือกเขาแอลป์ โดยผู้ชนะต้องวิ่งผ่านสามประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส, อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ ภายในเวลาราว 20 ชั่วโมง
การแข่งขันบนมองบลังค์เมื่อปี 2008 จบลงด้วยชัยชนะของฮอร์เน็ต หลังเขาทำเวลา 20 ชั่วโมง 56 นาทีในการแข่งขัน ชื่อเสียงของนักวิ่งจากแคว้านคาตาลันโด่งดังไปทั่ววงการ เช่นเดียวกับรองเท้าที่เขาใส่ลงแข่งขันในวันนั้น "Speedcross 2"
ฮอร์เน็ตหอบหิ้วรองเท้าคู่ใจลงแข่งขันอีกหลายรายการในปี 2008 ไม่ว่าจะเป็น Zegama, Giir de Mont และ Dolomiti Skyrace เขาชนะทุกรายการที่กล่าวมา โดยใช้รองเท้ารุ่น Speedcross 2 ลงแข่งขันทุกรายการ
Photo : Ultra Trail du Mont Blanc - UTMB
อย่างไรก็ตาม มีหนึ่งการแข่งขันที่ฮอร์เน็ตลงแข่งขันมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เคยเอาชนะได้สักที นั่นคือ Western States Endurance Run เวทีวิ่งเทรลระยะทาง 100 ไมล์ (161 กิโลเมตร) ผ่านเทือกเขาเซียร์ราเนวาดา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
เส้นทางที่ระยะสั้นกว่าไม่น่าสร้างปัญหาแก่แชมป์มองบลังค์ 2 สมัย (ฮอร์เน็ตคว้าแชมป์อีกครั้งในปี 2009) แต่สภาพเส้นทางที่แตกต่างกลับเป็นปัญหา เพราะการแข่งขันที่เทือกเขาแอลป์เต็มไปด้วยพื้นผิวที่ชื้นแฉะ ในทางกลับกัน สนาม Western States แข่งขันบนภูเขาที่แห้งแล้ง ไม่มีโคลนหรือหิมะแบบยุโรป
1
Photo : www.ultratrail-worldtour.com
หลังล้มเหลวหลายครั้ง ฮอร์เน็ตรู้แล้วว่ารองเท้า Speedcross ไม่ตอบโจทย์กับการแข่งขันที่สหรัฐอเมริกา เขาต้องการรองเท้าคู่ใหม่ที่จะช่วยให้เขาลืมความพ่ายแพ้ และพิชิตชัยชนะบนเส้นทาง 100 ไมล์
ปี 2010 ฮอร์เน็ตเดินทางมาที่บริษัท Salomon พร้อมยื่นคำขาดกับแบรนด์ฝรั่งเศสว่า "ผมจะกลับไปแข่ง (สนาม Western States) อีกครั้งในปีหน้า แต่ผมจะกลับไปเพื่อคว้าชัยชนะเท่านั้น และคุณจำเป็นต้องประเมินรองเท้าของผมใหม่"
กำเนิด SALOMON SENSE
ข้อเรียกร้องของฮอร์เน็ตกลายเป็นงานใหญ่ของ Salomon เพราะโดยทั่วไปแล้ว บริษัทผู้ผลิตรองเท้าจะใช้เวลาราว 2 ปี เพื่อพัฒนาและทดสอบคุณภาพของรองเท้ารุ่นใหม่ แต่ตามเงื่อนไขของนักวิ่งเทรลชื่อดัง พวกเขามีเวลาผลิตรองเท้ารุ่นนี้ไม่ถึง 1 ปี
Photo : www.salomon.com
"ความท้าทายของเราชัดเจนมาก นั่นคือ การสร้างรองเท้าที่พร้อมใช้ลงแข่งขัน และช่วยให้เขากลับไปคว้าชัยชนะที่ Western States ในปีหน้า" แพทริค ลีค ผู้จัดการฝ่ายบริการนักกีฬา กล่าวถึงงานที่เขาต้องลงมือทำ
Salomon จับเข่าคุยกับฮอร์เน็ตหลายครั้ง เพื่อพูดคุยถึงสิ่งที่เขาต้องการในรองเท้ารุ่นใหม่ ฮอร์เน็ตชี้ว่ารองเท้ารุ่นเก่ามีน้ำหนักมากเกินไป เขาไม่สามารถทิ้งหน้าหนักลงบริเวณฝ่าเท้าด้านหน้าตามต้องการ จนทำให้ความเร็วในการวิ่ง และความแม่นยำในการลงจังหวะเท้าลดลง
สิ่งหนึ่งที่รองเท้ารุ่นใหม่ต้องแตกต่างจาก Speedcross คือมันไม่จำเป็นต้องยึดเกาะพื้นดีเท่ารองเท้ารุ่นเก่า เพื่อโฟกัสไปที่น้ำหนักซึ่งต้องเบาลง ทีมออกแบบของ Salomon จึงลดส่วนประกอบที่ไม่จำเป็นบริเวณส้นออกให้หมด และให้ความสำคัญไปกับฝ่าเท้าด้านหน้า
เนื่องจากเวลาที่มีน้อย Salomon นำวัสดุทั้งหมดที่มีในสต็อกมาประกอบกันเป็นรองเท้าคู่ใหม่ ในที่สุด "Sense" รองเท้ารุ่นใหม่ของพวกเขาถือกำเนิดขึ้น และพร้อมจะร่วมทางกับฮอร์เน็ต ในการแข่งขัน Western States ปี 2011
15 ชั่วโมง 7 นาที 4 วินาที คือเวลาที่ฮอร์เน็ตทำได้บนเส้นทาง 100 ไมล์ มันอาจไม่ใช่เวลาที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์การแข่งขัน แต่ก็เป็นเวลาที่ดีพอจะทำให้เขาคว้าชัยชนะการแข่งขัน Western States ปี 2011 ฮอร์เน็ตพิชิตเป้าหมายที่เขาต้องการ พร้อมกับรองเท้าคู่ใหม่ของตัวเอง
Photo : www.irunfar.com
ทันทีที่ชัยชนะครั้งนี้ดังถึงหู Salomon พวกเขาลงมือพัฒนา Sense ต่อทันที และไม่นานนัก มันถูกวางขายในฐานะรองเท้าวิ่งเทรลที่ดีที่สุดในตลาด ภายใต้แนวคิด "One shoe, one athlete, one race." หรือสรุปง่าย ๆ คือ รองเท้าที่ผลิตจากรูปแบบการวิ่งของแชมเปี้ยน
"Sense V7 คือรองเท้าที่ผลิตตามแนวคิดและความตั้งใจเดิมของฮอร์เน็ต แตกต่างแค่ช่วงเวลา ซึ่งทำให้วัสดุ เทคโนโลยี และวิธีการของเราก้าวหน้ากว่าเดิม นั่นทำให้เราผลักคอนเซปต์เดิมไปไกลยิ่งขึ้น" เบนฌาแมง เกร์เน็ต ผู้จัดการการออกแบบรองเท้าของ Salomon กล่าวถึง Sense V7 ที่เปิดตัวเมื่อปี 2019
Salomon Sense คือรองเท้าที่ผลิตมาเพื่อสนองความต้องการของฮอร์เน็ตโดยเฉพาะ ดังนั้น ไอเดียทั้งหมดที่ถูกบรรจุในรองเท้ารุ่นนี้ จึงตอบโจทย์ใครก็ตามที่มีความทะเยอทะยาน และอยากพัฒนาการวิ่งเทรลของตัวเองให้ดีกว่าเดิม
การถือกำเนิดของ Sense กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แบรนด์จากฝรั่งเศสครองตลาดวิ่งเทรลทั่วโลก เพราะก่อนหน้านี้ Speedcross ถือเป็นรองเท้าคลาสสิกของกีฬาวิ่งเทรลจาก Salomon ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในยุโรป มากกว่าปีละหนึ่งล้านคู่
1
Photo : www.roadtrailrun.com
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายเหตุการณ์หรือหลากหลายนวัตกรรมบนโลกนี้ เกิดขึ้นจาก "ความอยากเอาชนะ" ของมนุษย์
เมื่อเราอยากบินเหมือนนก สองพี่น้องตระกูลไรท์สร้างเครื่องบิน เมื่อเราอยากจะหนีจากความมืดมิดยามค่ำคืน เราจึงได้คิดค้นหลอดไฟ เมื่อเราอยากจะเชื่อมต่อทั้งโลกเข้าด้วยกัน มนุษย์ก็สามารถสร้าง อินเตอร์เน็ตขึ้นมาได้
Photo : gearjunkie.com
หากจะกล่าวเช่นนั้น รองเท้าวิ่งของ Salomon ก็สมควรจะถูกนับรวมไปด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย จากความอยากชนะในสนามเเข่ง นำมาสู่การพัฒนาที่กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงของวงการวิ่งได้อย่างงดงาม
จิตวิญญาณของการเป็นผู้ชนะ คือสิ่งสำคัญ สำหรับ Salomon Sense รองเท้าคู่นี้ได้ขยายพรมแดนของการวิ่งเทรลออกไป และถูกวางขายในปัจจุบัน เพื่อตอบโจทย์นักวิ่งเทรลทุกระดับที่อยากสัมผัสประสบการณ์แบบแชมเปี้ยน ... เหมือนดั่งต้นกำเนิดของรองเท้าคู่นี้
บทความโดย ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา