5 เม.ย. 2021 เวลา 11:01 • การเมือง
การพยายามแสดงบทบาทนำและขับเคลื่อนกลุ่มเคลื่อนไหว “ต่างสีเสื้อ” ที่มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ จตุพร พรหมพันธุ์ ก็ดี
2
การได้รับอิสรภาพและประกาศจุดยืนทางการเมืองเบื้องต้น ณ สถานการณ์ปัจจุบันอันเชี่ยวกราก ของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็ดี
1
เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ “ม็อบคนรุ่นใหม่” ในนาม “คณะราษฎร” ต้องเว้นวรรคขาดช่วงชั่วคราว ทั้งเพราะบรรดาแกนนำถูกจับกุมคุมขัง และเพราะการปรับรูปขบวนภายใน
1
ด้านหนึ่ง การปรากฏตัวขึ้นของ “ตัวละครทางการเมือง” หน้าเดิมๆ จึงอาจแสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองไทยกำลังหมุนเวียนวนไปซ้ำรอยเก่าๆ
แต่อีกด้านหนึ่ง หนึ่งในตัวละครที่เพิ่งย้อนกลับมาแสดงบทบาทอย่าง ณัฐวุฒิ ก็วิเคราะห์ภาพการเมืองไทยร่วมสมัยเอาไว้อย่างน่าสนใจ ในบทสัมภาษณ์ที่เขาสนทนากับทีมข่าวมติชนทีวี
สถานีคิดเลขที่ 12 : สถานการณ์เดิมๆ ที่ไม่เหมือนเดิม? โดย ปราปต์ บุนปาน
แกนนำคนเสื้อแดงเปรียบเทียบเอาไว้น่าคิดว่า ถ้าพวกเรานอนหลับไปตั้งแต่ยุคที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนเสื้อเหลือง) รวมตัว ขับไล่รัฐบาลฝ่าย ทักษิณ ชินวัตร แล้วเพิ่งลืมตาตื่นขึ้นมา ณ ปัจจุบัน
ภาพที่ถูกมองอย่างเร็วๆ เผินๆ เบื้องแรก ก็ดูจะเป็นภาพเหตุการณ์ชุดเดิมๆ ที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ
นั่นคือ ภาพรวมของสถานการณ์ที่มีรัฐบาล มีกลุ่มมวลชนออกมาขับไล่รัฐบาล ซึ่งอาจนำไปสู่การรัฐประหาร หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรูปแบบอื่นๆ
กล่าวได้อีกแบบว่า หากพิเคราะห์เฉพาะ “รูปแบบและโครงสร้าง” ของเหตุการณ์นั้น สังคมการเมืองไทยแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยในช่วงเวลายาวนานเกินกว่าหนึ่งทศวรรษ
อย่างไรก็ดี ณัฐวุฒิเอ่ยเตือนว่า หากเราค่อยๆ ตั้งสติ แล้วเพ่งพินิจให้ลึกซึ้งกว่านั้น ทุกคนจะพบว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและเดินไปไกลมากๆ แล้ว ก็คือ “วิธีคิด” และ “การเดินทางทางความคิด” ของผู้คนในสังคม จากปี 2548 สู่ปี 2564
แกนนำ นปช.มองว่า “รูปการณ์ทางความคิด” ของคนนี่แหละ ที่เปลี่ยนแปลงไปในระดับ “มาเร็ว มาแรง มาไกล”
จนสามารถกล่าวได้ว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ไม่ได้ย่ำอยู่กับที่ ดังที่หลายคนรู้สึก ในตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา
ณัฐวุฒิยังมองโลกในแง่ดีว่า ถ้าทุกฝ่ายอ่านและแปล “สัญญาณความเปลี่ยนแปลง” นี้ได้ออก กระทั่งมี “ความเข้าใจ” ปัญหาร่วมกัน ทางออกโดยสันติจากสถานการณ์ความขัดแย้งระลอกล่าสุด ก็อาจยังพอมีหลงเหลืออยู่บ้าง
1
ถ้าลองคิดต่อจากมุมมองของ “ตัวละครหน้าเดิม” ที่หวนคืนย้อนมาในฉากการต่อสู้ครั้งใหม่
ก็ค่อนข้างแน่ชัดว่า เครือข่ายผู้มีอำนาจทั้งหลาย ดูจะยัง “ปรับจูน” ตัวเอง เข้ากับ “สัญญาณความเปลี่ยนแปลงทางความคิด” ที่ก่อตัวขึ้น ได้ไม่ค่อยราบรื่นนัก
แต่ก็น่าตั้งคำถาม และน่าจับตาเช่นกันว่า การเคลื่อนไหวครั้งใหม่ของ “แกนนำภาคประชาชนรุ่นเสื้อสี” บางส่วน ที่เริ่มคิกออฟในวันที่ 4 เมษายนนั้น จะเข้าใจ “สัญญาณความเปลี่ยนแปลง” ดังกล่าว มากน้อยเพียงใด?
โฆษณา