8 เม.ย. 2021 เวลา 06:10 • กีฬา
จาก 34-0 สู่ประวัติศาสตร์ : โรงเรียนนานาชาติเกียวโต ทีมต่างชาติทีมแรกที่ได้ไปโคชิเอ็ง | MAIN STAND
เมื่อโรงเรียนที่เคยพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ กลายมาเป็นผู้จารึกประวัติศาสตร์ในทัวร์นาเมนต์มัธยมปลาย อันศักดิ์สิทธิ์ของญี่ปุ่น
"ก้าวแรก" อาจจะเป็นสิ่งที่น่าจดจำ เพราะมันคือหมุดหมายที่แสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นในเส้นทางนั้น แต่สำหรับโรงเรียนนานาชาติเกียวโต ก้าวแรกของพวกเขาในเส้นทางเบสบอลมัธยมปลาย น่าจะเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่มีวันลืม
เพราะในการแข่งขันเบสบอลเกมแรกอย่างเป็นทางการ โรงเรียนที่มีต้นกำเนิดมาจากคนเกาหลีแห่งนี้ กลับต้องพ่ายคู่แข่งไปอย่างยับเยินถึง 34-0 ที่ทำให้การแข่งขันต้องจบลงตั้งแต่อินนิ่งที่ 5
อย่างไรก็ดี ในอีก 20 ปีต่อมา พวกเขากลับขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจังหวัด ก่อนจะสร้างประวัติศาสตร์ได้เข้าไปเล่นในโคชิเอ็งได้สำเร็จในปี 2021
1
พวกเขาทำได้อย่างไร ติดตามได้ที่นี่
โรงเรียนของไซนิจิ
ห่างออกไปทางทิศตะวันออก จากสถานีรถไฟเกียวโต อดีตเมืองหลวงของญี่ปุ่น บนเนินที่ห้อมล้อมไปด้วยป่าเขา ไม่ไกลจากศาลเจ้าฟูชิมิอินาริ มีสถานที่ที่ชื่อว่า "โรงเรียนมัธยมนานาชาติเกียวโต" (Kyoto International Junior and Senior High School) แทรกตัวอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน
1
พวกเขาคือโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียนเพียง 130 คน และก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1947 โดยคนเกาหลีที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันว่า "ไซนิจิ" ชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 (รองมาจากจีน) ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการไปยึดครองคาบสมุทรเกาหลีในช่วงปี 1910-1945 ของชาวซามูไร
Photo : rubese.net
ทำให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นเหมือนสถาบันการศึกษาของคนเกาหลีที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งสะท้อนได้จากชื่อเริ่มแรกที่ก่อตั้งในนาม โรงเรียนมัธยมเกาหลีเกียวโต (Kyoto Chosen Jr. High school) ก่อนเปลี่ยนมาใช้โรงเรียนเกาหลีใต้เกียวโต (Kyoto Kankoku) ในปี 1958
1
แต่พวกเขาไม่ใช่โรงเรียนของคนเกาหลีโรงเรียนเดียวในญี่ปุ่น เพราะสถาบันประเภทนี้ต่างกระจายตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ในทั่วประเทศ ภายใต้การสนับสนุนของ มินดัน (Mindan) และ จองรยอน (Chongryon) สององค์กรใหญ่ที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือตามลำดับ
แน่นอนว่าสำหรับ โรงเรียนเกาหลีใต้เกียวโต พวกเขาได้รับการสนับสนุนจาก มินดัน และได้รับการรับรองหลักสูตรจากรัฐบาลเกาหลีใต้มาตั้งแต่แต่ปี 1961 ที่ทำให้นักเรียนที่มาเรียนที่นี่ล้วนเป็นชาวไซนิจิทั้งหมด
Photo : kyoto-kokusai.ed.jp
อย่างไรก็ดี ด้วยสถานะดังกล่าว ทำให้ในตอนแรกพวกเขาเป็นเหมือนโรงเรียนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายของญี่ปุ่น เพราะแม้จะจบมาก็ไม่สามารถนำวุฒิไปเรียนต่อได้
แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็มีทุกอย่าง อย่างที่โรงเรียนญี่ปุ่นเป็น รวมถึงชมรมเบสบอล ที่มอบทั้งความเจ็บปวดและความสุขให้กับพวกเขา
แพ้ยับตั้งแต่เกมแรก
ประวัติศาสตร์ของชมรมเบสบอลโรงเรียนนานาชาติเกียวโต อาจจะไม่ได้เก่าแก่เท่ากับอายุของโรงเรียน เพราะมันเพิ่งก่อตั้งมาไม่ถึง 25 ปี ในสมัยที่สถาบันยังใช้ชื่อว่าโรงเรียนเกาหลีใต้เกียวโต
โดยจุดเริ่มต้นมาจากกลุ่มผู้บริหารเห็นว่า เหล่านักเรียนของพวกเขามีเวลาว่างมากเกินไปหลังเลิกเรียน จึงพยายามเฟ้นหากิจกรรมให้ทำ ก่อนที่สุดท้ายจะมาลงเอยกับ "เบสบอล" ซึ่งเป็นกีฬายอดฮิตของคนญี่ปุ่น
Photo : timely-web.jp
"ผมอยากจะสร้างสถานที่สำหรับนักเรียนหลังเลิกเรียน" คิม อัล อิล รองผู้อำนวยการโรงเรียนนานาชาติเกียวโตกล่าวกับ NHK
และในปี 1999 ชมรมเบสบอลของพวกเขาก็ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีสมาชิกเริ่มต้น 13 คน ซึ่งเป็นคนเกาหลีทั้งหมด และแน่นอนว่าสมาชิกในทีมส่วนใหญ่ต่างเป็นมือใหม่ และไม่เคยมีประสบการณ์ในกีฬาชนิดนี้มาก่อน
"ตอนก่อตั้งชมรม ผู้เล่นส่วนใหญ่ล้วนไม่มีประสบการณ์การเล่นเบสบอลมาก่อน พวกเขาต้องเล่นเบสบอลกับผู้เล่นจากชมรมเทนนิส หรือชมรมอื่น ๆ ผมเคยได้ยินมาว่าผู้เล่นบางคนพอดีบอลได้ ก็วิ่ง (ผิดฝั่ง) ไปเบสสามเลย" อี คังกัง ศิษย์เก่าของโรงเรียนนานาชาติเกียวโตกล่าวกับ Yahoo Japan
ทว่า มีชมรมแล้ว ก็ต้องมีการแข่งขันทดสอบฝีมือ ทำให้ในปีเดียวกัน โรงเรียนได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาพันธ์เบสบอลมัธยมปลายญี่ปุ่น ที่ทำให้พวกเขาเป็นโรงเรียนต่างชาติทีมแรกในสมาพันธ์แห่งนี้
การเป็นสมาชิกสมาพันธ์ฯ ทำให้พวกเขาได้สิทธิ์ลงแข่งในการเบสบอลมัธยมปลายชิงแชมป์ญี่ปุ่น และรอบคัดเลือกระดับจังหวัดของทัวร์นาเมนต์ฤดูร้อน หรือที่เรียกว่า โคชิเอ็ง ก็เป็นเกมแรกอย่างเป็นทางการของพวกเขา
Photo : www.kyoto-np.co.jp
อย่างไรก็ดี มันเป็นเหมือนความโชคร้าย เมื่อพวกเขาต้องชนตอตั้งแต่เกมแรก หลังคู่แข่งที่จับฉลากมาได้คือโรงเรียนเกียวโตเซอิโชะ ทีมสุดแกร่งของจังหวัด ที่เพิ่งคว้ารองแชมป์โคชิเอ็ง เมื่อปี 1998
ในตอนนั้นแทบไม่มีใครหวังว่าจะเอาชนะได้ในเกมนี้ เพราะพวกเขาต่างเป็นมือใหม่ที่เล่นเบสบอลมาได้ไม่ถึงปี แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าพวกเขาจะพ่ายแพ้ไปอย่างยับเยินขนาดนั้น
เพราะลูกแล้วลูกเล่าที่พิชเชอร์ของโรงเรียนเกาหลีขว้างไป ล้วนถูกคู่แข่งตีได้ทั้งนั้น ... แก๊ง ! แก๊ง ! และ แก๊ง ! เสียงไม้กระทบกับลูก ดังอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่สุดท้ายการแข่งขันต้องยุติลงตั้งแต่อินนิ่งที่ 5 (ปกติแข่งกันที่ 9 อินนิ่ง) ด้วยการปราชัยที่มโหฬารถึง 34-0
Photo : yahoo.co.jp
"มันเหมือนกับว่าเราได้บุกแค่ 5 นาที ส่วนอีก 30 นาทีเป็นการบุกของคู่แข่ง คนที่มาเชียร์เราบอกว่า 'พิชเชอร์ แกทำอะไรอยู่' แต่พิชเชอร์ของเราก็แค่เด็กคนหนึ่ง" รองผู้อำนวยการคิมกล่าวถึงเกมนั้น
แต่ความพ่ายแพ้ในเกมนั้น ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาล้มเลิก
นานาชาติ
หลังจากความปราชัยอย่างยับเยิน โรงเรียนเกาหลีเกียวโต ก็ยังลงแข่งในรอบคัดเลือกระดับจังหวัดมาตลอด แต่ผลงานของพวกเขาไม่ค่อยเป็นน่าจดจำเท่าไร เมื่อส่วนใหญ่ต้องลงเอยด้วยการตกรอบแรกด้วยสกอร์ที่ขาดลอยเสมอ
Photo : japanese.joins.com
ไม่ว่าจะเป็นการพ่ายแพ้โรงเรียนเกียวโตโชเออิ 19-0 ที่ต้องยุติการแข่งขันตั้งแต่อินนิ่งที่ 5 ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1999 หรือปราชัยให้กับโรงเรียนเกียวโตกัคคุเอ็น 15-0 ในฤดูร้อนปี 2000 หรือพ่ายให้กับโรงเรียนฮิงาชิยามะ 12-5 ในฤดูใบไม้ผลิ ปี 2001
แม้ว่าหลังจากนั้น โรงเรียนเกาหลีเกียวโตจะเริ่มทำผลงานได้ดีขึ้น หลังเก็บชัยชนะนัดแรกได้ในรอบคัดเลือกฤดูร้อนปี 2001 แต่เวทีระดับชาติก็ยังห่างไกล โดยผลงานที่ดีที่สุดคือรอบก่อนรองชนะเลิศในฤดูใบไม้ร่วงปี 2003
อย่างไรก็ดี จุดเปลี่ยนของพวกเขาก็มาถึง เมื่อในปี 2004 ผู้บริหารตัดสินใจเปลี่ยนโรงเรียนแห่งนี้ให้เป็นโรงเรียนนานาชาติที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงศึกษาฯ ญี่ปุ่น ที่ทำให้มันไม่ได้เป็นสถาบันที่จำกัดเฉพาะคนเกาหลีอีกต่อไป
การเป็นโรงเรียนนานาชาติ ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นได้เข้ามาเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ แต่มันยังทำให้ชมรมเบสบอล ได้ผู้เล่นฝีมือดีเข้ามาเสริมทีม และทำให้ทีมของพวกเขาเริ่มแข็งแกร่งขึ้น
แต่นั่นยังไม่เท่ากับการมาถึงของชายที่ชื่อว่า "โนริตสึงุ โคมากิ"
เขาคือพนักงานธนาคารที่เข้ามาอยู่กับทีมครั้งแรกในปี 2006 ในฐานะโค้ชชั่วคราวที่มาช่วยสอนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ จากคำชักชวนของอดีตเพื่อนร่วมทีมสมัยมัธยม
"ผมมีเพื่อนร่วมชั้นหลายคนที่มาจากโรงเรียนเกาหลีเกียวโต ที่มาเรียนที่เกียวโตเซอิโชะ หลังจากผมเรียนจบ ผมได้รับการติดต่อจากเพื่อนร่วมชั้น มันเริ่มจากตอนที่ผมไปสอนวิธีการเล่น พอเรียนจบมหาวิทยาลัย ผมก็เริ่มทำงานที่ธนาคารในท้องถิ่น ไปพร้อมกับช่วยซ้อม" โคมากิกล่าวกับ Sportiva
Photo : www.hb-nippon.com
อันที่จริงเขาเป็นหนึ่งในสักขีพยานที่ได้เห็นความย่อยยับของโรงเรียนเกาหลีเกียวโตเมื่อปี 1999 เมื่อเขาคือผู้เล่นสำรองของโรงเรียนเกียวโต เซอิโชะ ซึ่งการได้เห็นความพยายามอย่างเต็มที่ของคู่แข่งในวันนั้น ทำให้เขาตัดสินใจรับงานนี้
"ผมยังไม่เคยลืมภาพที่พวกเขาพยายามอย่างเต็มที่ และวิ่งไล่บอลจนถึงวินาทีสุดท้าย" โคมากิบอกกับ NHK
แต่จากงานชั่วคราว ฤดูใบไม้ผลิ 2007 โคมากิ ก็กลายมาเป็นโค้ชของทีมเต็มตัว ก่อนที่เขาจะได้รับการโปรโมตขึ้นมาเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนในเดือนเมษายน 2008
และความรุ่งเรืองของทีมก็เริ่มต้นในตอนนั้น
ผู้เล่นอาชีพคนแรก
"ท่าทีในการเล่นเบสบอลที่ต่างพยายามอย่างเต็มที่ของพวกเขาไม่เคยเปลี่ยนไปเลยนับตั้งแต่วันนั้น ผมเลยอยากให้พวกเขาก้าวไปอย่างมั่นคง" โคมากิกล่าวกับ Asahi
ความประทับใจครั้งนั้น ทำให้เขาอยากจะทำอะไรสักอย่างกับทีมนี้ แต่ในช่วงแรกมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะด้วยความที่ทีมเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้พวกเขาประสบปัญหาขาดแคลนผู้เล่น ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ
Photo : www.hb-nippon.com
"บอกตามตรง ในตอนแรกมันแทบไม่เป็นเบสบอลด้วยซ้ำ มันเพิ่งมาเป็นเบสบอลประมาณ 4-5 ปีก่อนหน้านั้น ในตอนแรกมีแต่นักกีฬาที่เอาแค่เที่ยวเล่น หรือดูแลไม่ไหวเต็มไปหมด" โคมากิ ย้อนความหลังกับ Sportiva
"ตอนแรกผมจึงพยายามอย่างเต็มที่เพื่อสร้างทีมที่สามารถเอาชนะได้"
อันที่จริงก่อนหน้านี้ เขาเคยใช้เวลาในวันหยุด เดินทางไปทั่วภูมิภาคคันไซ เพื่อเสาะหาเด็ก ม.ต้นที่มีแวว และชวนมาเล่นให้กับโรงเรียนนานาชาติเกียวโต แต่ด้วยความเข้าใจผิดว่าโรงเรียนยังเป็นโรงเรียนของคนเกาหลี และอคติทางเชื้อชาติ ทำให้เขาถูกปฏิเสธหมด
เขาจึงกลับมาฝึกฝนผู้เล่นที่มีอยู่ โดยเน้นการฝึกหนัก เพื่อให้ผู้เล่นไม่มีเวลาไปเต็ดเตร่ หรือเถลไถลที่ไหน และทำให้การซ้อมตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นยันพระจันทร์ขึ้นกลายเป็นเรื่องปกติ
"มันอาจจะเป็นแค่ตอนนั้นก็จริง แต่เราก็ซ้อมจนถึงกลางดึกจริง มันเหมือนกับเราซ้อมจนถึง 25:00 น. (ตีหนึ่ง)" ยูกิ อี อดีตสมาชิกชมรมกล่าวกับ Number
Photo : www.asahi.com
นอกจากนี้โค้ชโคมากิ ยังใช้วิธีการฝึกโดยที่เน้นไปที่จุดแข็งของแต่ละคน เพื่อทำให้จุดเด่นของผู้เล่นมีความเฉียบคมยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการรีดศักยภาพลูกทีมออกมาให้ได้มากที่สุดในแบบฉบับของเขา
ซึ่งดูเหมือนว่ามันจะได้ผล เพราะโคมากิ สามารถพาทีมขึ้นไปคว้าอันดับ 3 ในทัวร์นาเมนต์ฤดูใบไม้ผลิของจังหวัดในปี 2008 พร้อมได้สิทธิ์เข้าไปเล่นในระดับภูมิภาคคิงคิ (ภาคตะวันตก) ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทั้งที่มีสมาชิกเพียงแค่ 13 คน
Photo : welovekoshien.blogspot.com
ผลงานดังกล่าว ยังทำให้ ชิน ซุง ฮยุน ดาวเด่นของทีมชุดนั้น กลายเป็นนักกีฬาคนแรกของชมรมที่ถูกดราฟต์จากสโมสรอาชีพ หลังถูกเลือกเป็นอันดับ 4 ในปี 2008 และได้ไปอยู่กับ ฮิโรชิมา คาร์ฟ ทีมดังของเบสบอลลีก
และมันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเขาได้รับการยอมรับ
มหาอำนาจแห่งเกียวโต
การคว้าอันดับ 3 ของจังหวัด และการมีผู้เล่นถูกดราฟต์จากทีมอาชีพ เป็นเหมือนการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อในปีถัดมามีนักเรียนชั้นมัธยมต้น เข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนแห่งนี้เพื่อเข้าชมรมเบสบอลของพวกเขาเป็นจำนวนมาก
การมีตัวเลือกมากขึ้น อาจจะไม่ได้ทำให้ผลงานของทีมดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่มันทำให้พวกเขาสามารถวางรากฐานได้อย่างมั่นคง โดยมีหัวใจสำคัญที่เน้นจุดแข็งของผู้เล่นแต่ละคน ซึ่งโคมากิ ให้เหตุผลว่าเพื่อให้พวกเขาใช้งานได้ในโลกของมืออาชีพ
Photo : yahoo.co.jp
"ผมจะฝึกฝนนักกีฬาให้ใช้งานได้ในโลกข้างบน ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ว่าจะแค่คนเดียวก็ตาม" โคมากิกล่าวกับ Number
"ถ้าไม่ได้ฝึกฝนจนเป็นนักกีฬาที่ใช้งานได้ในโลกข้างบน (มืออาชีพ) คุณก็จะไม่ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง"
และมันก็ทำให้ทีมของพวกเขาเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2013 พวกเขาก็สามารถส่งผู้เล่นไปสู่ระดับอาชีพได้อีกคน นั่นก็คือ คาอิเซอิ โซเนะ ที่ถูกเลือกเป็นอันดับ 3 และได้ไปอยู่ ฟุคุโอกะ ซอฟท์แบงค์
แต่ดูเหมือนว่าโซเนะ จะเป็นคนที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับโรงเรียนนานาชาติเกียวโตได้มากที่สุด เมื่อหลังจากนั้นเขากลายเป็นผู้เล่นระดับแนวหน้าของลีก ที่ทั้งติดทีมยอดเยี่ยมแห่งปี และคว้ารางวัลผู้เล่น MVP ในปี 2017
"ตอนมัธยมต้น โซเนะ แทบไม่ได้ดูเหมือนว่าจะไปถึงการเป็นนักกีฬาอาชีพ แต่เขาพยายามอย่างหนักตอนมัธยมปลาย ที่ทำให้แมวมองของทีมอาชีพเห็นเขา" โคมากิพูดถึงศิษย์เก่ากับ Sportiva
"ตอนปีที่ 4 ของการเล่นอาชีพ เขาติดทั้งทีมออลสตาร์และ MVP แต่จากคนที่เห็นเขาสมัยม.ต้นคงคิดว่า 'เด็กคนนั้นทำมาได้ถึงขนาดนี้เลยนะ'"
"ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้รับความไว้วางใจจากทีมมัธยมต้น ที่ทำให้เด็กเก่ง ๆ มาที่นี่"
Photo : number.bunshun.jp
ก่อนที่หลังจากนั้น มันจะทำให้โรงเรียนนานาชาติเกียวโต สามารถผลิตผู้เล่นสู่ระดับอาชีพได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ริคุยะ ชิมิซุ กับ ฟุคุโอกะ ซอฟท์แบงค์ ฮอค์ค ในปี 2017 เคียเฮอิ อุเอโนะ กับฮอกไกโด นิปปอนแฮม ไฟท์ เตอร์ในปี 2020 หรือ ชินโนซุเกะ ฮายะ ในปี 2021
ในขณะเดียวกัน มันได้ยกระดับให้พวกเขากลายมาเป็นทีมชั้นนำของเกียวโต และขาประจำในทัวร์นาเมนต์ระดับภูมิภาคคิงคิ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
แต่พวกเขายังเหลืออีกสิ่งเดียวที่ยังทำไม่ได้ นั่นก็คือการไปสัมผัสเวทีที่ชื่อว่า "โคชิเอ็ง"
ฝันที่รอคอย
โคชิเอ็ง ถือเป็นสังเวียนศักดิ์สิทธิ์ ที่นักเบสบอลอยากไปเยือนให้ได้สักครั้งในชีวิต โดยในแต่ละปีพวกเขามีโอกาสสองครั้ง นั่นคือโคชิเอ็งฤดูร้อน และ โคชิเอ็งฤดูใบไม้ผลิ ที่มีอีกชื่อว่า "เซมบัตสึ"
แต่สำหรับโรงเรียนนานาชาติเกียวโต แม้ว่าช่วงหลังพวกเขาจะก้าวมาเป็นทีมหาอำนาจของจังหวัด แต่ดูเหมือนว่าสังเวียนแห่งนี้เป็นเหมือนเส้นขนาน เมื่อไม่เคยได้ไปสัมผัสแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ว่าจะเป็นใบไม้ผลิหรือหน้าร้อนตลอด 21 ปีที่ก่อตั้งชมรมมา
Photo : www.hb-nippon.com
ที่ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นรอบคัดเลือกฤดูร้อน 2019 ที่พวกเขาฝ่าฟันไปจนถึงนัดชิงชนะเลิศ แต่กลับต้องพ่ายให้กับโรงเรียนริตสึเมคังอุจิ ไปอย่างน่าเสียดาย 3-2 ในขณะที่หนึ่ง ปีก่อนหน้านั้นก็ทำได้เพียงแค่รอบ 4 ทีมสุดท้าย
แต่แล้วในปี 2020 พวกเขาก็มามีความหวัง เมื่อทำผลงานได้อย่างโดดเด่นทัวร์นาเมนต์ฤดูใบไม้ร่วงของเกียวโต ที่จบในอันดับ 3 ของจังหวัด และได้ผ่านเข้าไปเล่นในทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์ภูมิภาคคิงคิ
ก่อนที่ในทัวร์นาเมนต์ระดับภูมิภาคพวกเขาจะโชว์ฟอร์มสด ด้วยการปราบตัวแทนจากวาคายามะและเฮียวโงะ จนเข้าไปถึงรอบ 4 ทีมสุดท้าย แม้ว่าท้ายที่สุดพวกเขาจะพ่ายให้กับ โอซากา โทอิน อดีตแชมป์โคชิเอ็งหลายสมัยในรอบรองชนะเลิศ แต่มันก็เพียงพอที่ทำให้พวกเขาคว้าตั๋วไปเล่นโคชิเอ็งฤดูใบไม้ผลิในปี 2021 ได้สำเร็จ
"มันเหมือนกับว่าในที่สุดความฝันที่จะได้ยืนในเวทีแห่งนี้เป็นจริงแล้ว" อดีตกัปตันชมรมบอกความรู้สึกกับ Yahoo Japan
Photo : www.tokyo-sports.co.jp
ในขณะเดียวกัน การผ่านเข้าไปเล่นในทัวร์นาเมนต์ฤดูใบไม้ผลิรอบสุดท้าย ไม่ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับโรงเรียนเพียงอย่างเดียว เพราะมันยังทำให้พวกเขากลายเป็นสถาบันที่มีต้นกำเนิดจากคนต่างชาติสถาบันแรกที่ได้ลงเล่นในโคชิเอ็งอีกด้วย
"ตอนแรกผมไม่ได้คิดถึงโคชิเอ็งเลย และคิดว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราน่าจะไปถึง แต่ผมก็คิดว่าถ้าเด็กแสดงให้เห็นสิ่งที่พวกเขาได้สั่งสมมาพวกเขาน่าจะมีโอกาสชนะ" รองผู้อำนวยการคิมกล่าวกับ NHK
และพวกเขาก็ไม่ได้มาเล่น ๆ เมื่อสามารถประเดิมชัยชนะได้ตั้งแต่เกมแรกที่ลงสนามหลังเอาชนะ หลังเอาชนะโรงเรียนชิบาตะ ตัวแทนจากจังหวัดมิยางิไปได้ 5-4 หลังจากต้องต่อเวลาในอินนิ่งที่ 10 ที่ทำให้เพลงประจำโรงเรียนที่เป็นภาษาเกาหลีได้บรรเลงถึง 2 ครั้งในโคชิเอ็ง
Photo : www.sanspo.com
แม้ว่าท้ายที่สุดพวกเขาจะจอดป้ายเพียงแค่รอบ 2 ของการแข่งขัน หลังพ่ายต่อโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยโทไค ตัวแทนจากโตเกียว 5-4 แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขามาไกลแค่ไหน
จริงอยู่ว่าในภาพรวมโรงเรียนนานาชาติเกียวโตอาจจะไม่ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะพวกเขายังเป็นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนเพียงแค่ 130 คน ซึ่ง 40 คนเป็นสมาชิกของชมรมเบสบอล แต่การเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงของพวกเขาก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
สิ่งนี้คือรากฐานที่โค้ชโคมากิได้วางเอาไว้ ที่ทำให้เขาสามารถพาโรงเรียนที่ตัวเองเคยถล่ม 34-0 และมีสมาชิกเริ่มต้นเพียงแค่ 13 คน ขึ้นมายืนหยัดในสังเวียนศักดิ์สิทธิ์อย่างโคชิเอ็ง
ในขณะเดียวกันมันก็เป็นข้อพิสูจน์ว่า ไม่มีอะไรที่เกินฝัน เพราะแม้แต่โรงเรียนขนาดเล็กอย่างพวกเขาทำได้ โรงเรียนอื่นก็มีสิทธิ์ที่จะฝันได้เหมือนกัน
เพียงแต่ต้องฝันแล้วลงมือทำ เหมือนพวกเขาก็แค่นั้นเอง
บทความโดย มฤคย์ ตันนิยม
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา