9 เม.ย. 2021 เวลา 13:08 • สุขภาพ
เพราะนั่งแบบนี้ จึงเจ็บปวด Part3
“ท่านั่งไขว่ห้าง”
ไม่เกี่ยวกับเรื่องมารยาท แต่เกี่ยวกับสุขภาพล้วนๆ
เกิดอะไรขึ้นบ้าง? เมื่อเรานั่งไขว่ห้างนานๆ
ท่านั่งไขว่ห้าง เป็นท่าที่ต้องยกขาขึ้นข้างหนึ่งเพื่อทับลงบนขาอีกข้างหนึ่ง ซึ่งลักษณะท่าแบบนี้จะมีการงอสะโพกเพื่อยกขาขึ้น และหุบสะโพกเข้าเพื่อไขว้ทับขาอีกข้าง
ทำให้กล้ามเนื้อขาหนีบที่ทำหน้าที่หุบสะโพก หดเกร็งค้างตลอดเวลา ส่วนกล้ามเนื้อกางสะโพกที่ทำหน้าที่ตรงข้ามกับกล้ามเนื้อหุบสะโพก ก็จะถูกยืดยาวออกจนอ่อนแรงได้
จากลักษณะของขาที่ต้องยกไขว้ขึ้นมานั้น ยังทำให้ระดับของกระดูกเชิงกรานเอียงไม่เท่ากันอีกด้วย โดยข้างที่ยกขาขึ้นไขว้จะมีระดับเชิงกรานที่สูงกว่า ทำให้กล้ามเนื้อหลังล่างและกล้ามเนื้อข้างลำตัวฝั่งนั้น หดเกร็งค้างตลอดเวลา ส่งผลให้กลัามเนื้อหลังอีกฝั่งหนึ่งถูกบังคับให้ต้องยืดยาวออกโดยอัตโนมัติ และ กล้ามเนื้อลำตัวที่รักษาความมั่นคงของข้อต่ออ่อนแรงลง
ในแง่ของการลงน้ำหนักและผลที่เกิดขึ้นกับข้อต่อ พบว่าการนั่งไขว่ห้างทำให้ลงน้ำหนักที่ก้นไม่เท่ากัน กระดูกเอวต้องโค้งเอียงไปฝั่งก้นที่ลงน้ำหนักน้อยกว่าเพื่อชดเชยให้ร่างกายสมดุล ไม่นั่งแล้วล้มไปอีกฝั่ง ซึ่งในบางคนร่างกายอาจไม่ได้ชดเชยแค่กระดูกเอว แต่ยังชดเชยไปถึงกระดูกอกและคอ ทำให้บ่า 2 ข้างไม่เท่ากัน หรือคอเอียงไปอีกฝั่ง จนเกิดอาการปวดคอ บ่า ไหล่ ได้!!
นอกจากนี้ น้ำหนักที่ไม่สมดุลยังทำให้เกิดแรงเครียดตกที่ข้อต่อกระเบนเหน็บ ข้อสะโพก และข้อของกระดูกสันหลังที่ชดเชยไป จนทำให้ข้อต่อเสียความยืดหยุ่น จนเกิดการปวดขัด ขยับตัว ก้มเงย หรือลุกนั่งได้ลำบาก
1
สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเรานั่งไขว่ห้างนานๆ จะทำให้เรามีอาการเหล่านี้ได้ เช่น ปวดหลังฝั่งเดียว ปวดก้นลึกๆ เจ็บขัดที่กระเบนเหน็บ บางรายเจ็บปวดแล้วมีร้าวลงขา หรือไปที่ขาหนีบ เจ็บเข่าขณะเดินวิ่งหรือก้าวขึ้นบันได กระดูกสันหลังคด เส้นประสาทและหลอดเลือดที่ข้อพับเข่าถูกกดทับ จนทำให้เกิดอาการเหน็บชา หรือขาบวมกว่าอีกข้างได้
วิธีหยุดอาการสารพัดปวดจากท่านั่งไขว่ห้าง คือ
1. หลีกเลี่ยงท่านั่งไขว่ห้าง หรือหากจำเป็นให้หมั่นสลับขาข้างที่ไขว้ทุก 10-15นาที
2.ยืดกล้ามเนื้อที่หดเกร็งค้าง ได้แก่ กล้ามเนื้อหลังล่าง กล้ามเนื้อหลังด้านข้าง กล้ามเนื้อก้น และ กลัามเนื้อขาหนีบ เป็นต้น
3.ออกกำลังกายกล้ามเนื้อที่ยืดยาวอ่อนแรง ได้แก่ กล้ามเนื้อก้นที่ทำหน้าที่กางสะโพก กล้ามเนื้อหลังฝั่งตรงข้ามกับที่หดเกร็งค้าง และกล้ามเนื้อลำตัว เป็นต้น
สุดท้ายนี้ เพื่อแก้ปัญหาอาการปวดในระยะยาว ควรเข้าพบนักกายภาพบำบัด รับคำปรึกษา และตรวจประเมินร่างกาย เพื่อรักษา และออกแบบท่าออกกำลังกายได้อย่างตรงจุด
ยืดเหยียดสันหลังยาว by Mint Physiotherapist อยากเห็นทุกคนแข็งแรง มีสุขภาพดี
เป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตโควิดนี้ให้ได้นะคะ ❤️
โฆษณา