14 เม.ย. 2021 เวลา 06:20 • หนังสือ
ตอนที่ 5 นักพัฒนาผู้ใช้ทักษะโค้ชเพื่อปลุกพลังชุมชนแก้ปัญหาของตนเอง
นักพัฒนาชุมชนหรือคนทำงานทางสังคมรุ่นใหม่ต่างก็คิดค้นวิธีการเพื่อให้ชุมชนลุกขึ้นมาแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ชุมชนเอง
ด้วยแนวคิดความเชื่อดังที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว
คำถามสำคัญก็คือว่า “ถ้าอยากเห็นคนในชุมชนลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาของชุมชนเอง ต้องทำอย่างไร”
การถอดบทเรียนนักพัฒนาผู้ใช้ทักษะโค้ชในการริเริ่มสร้างสรรค์และเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน ทำให้เราค้นพบเส้นทางของการทำงานร่วมกับคนในชุมชน ดังนี้
1. เริ่มต้นจากการเป็นเจ้าภาพชวนคนที่เกี่ยวข้องให้มาร่วมมือกันทำงานเพื่อชุมชน
เมื่อเรามองเข้าไปในชุมชนเราจะเห็นว่ามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในแต่ละประเด็นอยู่แล้ว แต่หน่วยงานเหล่านี้ยังไม่มีใครลุกขึ้นมาริเริ่มเป็นเจ้าภาพที่จะชวนคนอื่นๆ ในชุมชนมาร่วมกัน
การเชื้อเชิญผู้คนเข้ามาจึงต้องมีหน่วยงานกลางที่อยากทำเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ในชุมชนได้ประสานร่วมมือกันจริงๆ มองเห็นประโยชน์ของชุมชนเป็นที่ตั้ง
การมีองค์กรที่ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพจะช่วยให้ชุมชนเริ่มต้นหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยกัน เพื่อสร้างความร่วมมือกันได้
การเป็นเจ้าภาพต้องศึกษาข้อมูลก่อนว่าในชุมชนมีใครหรือหน่วยงานใดเกี่ยวข้องบ้าง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน กลุ่ม ชมรม ต่างๆ ในชุมชน คนที่มีใจอยากจะทำบางอย่างเพื่อชุมชน ล้วนสำคัญยิ่ง
เจ้าภาพหรือองค์กรควรเชื้อเชิญคนจากต่างหน่วยงานนั้นเข้ามาพูดคุยกัน ให้ผู้คนเหล่านี้มีพื้นที่ในการพบปะพูดคุยกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน และบอกถึงเป้าหมายที่อยากจะเห็นว่าต้องการความร่วมมือจากคนที่อยู่ในต่างหน่วยงานให้เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานเพื่อให้ชุมชนดีขึ้นอย่างไร เพื่อจัดการกับปัญหาด้านใดบ้าง
 
ในขั้นตอนนี้เจ้าภาพหรือองค์กรเจ้าภาพต้องแสดงความจริงใจว่าจะเข้ามาเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงการทำงานเพื่ออะไร ให้เห็นว่าเรายึดชุมชนเป็นตัวตั้ง คนที่มาจากแต่ละหน่วยงานมีบทบาท มีความสำคัญ และประโยชน์ที่ได้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ไม่ใช่มาชวนทำโครงการแค่โครงการ ต้องฉายภาพให้เห็นว่าพอหมดโครงการในช่วงนี้แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อ ตรงนี้ต้องบอกกันให้ชัด
แม้ว่าการทำโครงการจะมีวันที่จบลง แต่เจ้าภาพมีความตั้งใจอย่างไร คนที่เข้ามาร่วมมือจะเพิ่มความสามารถ และพัฒนาตนเองไปอย่างไร และผลลัพธ์ของการลงมือทำนั้นเป็นประโยชน์กับคนที่เข้ามาร่วมมือแต่ละหน่วยงานอย่างไร ชุมชนจะได้รับประโยชน์อย่างไรบ้าง
2. ชวนคิดให้เห็นภาพรวมของปัญหาและความจริงรอบด้านร่วมกัน
เมื่อเราเชื่อมโยงคนที่เกี่ยวข้องและสนใจในการจัดการปัญหาทั้งจากหลากหลายหน่วยงาน กลุ่ม ชมรม ต่างๆ เข้ามาแล้ว การนำข้อมูลมาพูดคุยกันเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้แต่ละหน่วยงานได้บอกเล่าถึงข้อมูลที่ตนมีอยู่ สิ่งที่หน่วยงานกำลังทำมีอะไรบ้าง ทำอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร
เมื่อทุกหน่วยงานแลกเปลี่ยนข้อมูลกันแล้ว เราจัดระบบของข้อมูล เราก็จะเห็นความจริงได้อย่างรอบด้าน สามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ และถ้าเรามีข้อมูลไม่พอ เราก็จะมองเห็นว่ามีอะไรบ้างที่เรายังไม่รู้และต้องเก็บข้อมูลเพิ่มเติม
กระบวนการในการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ทำข้อมูลให้เป็นชุดเดียวกัน ก็จะเป็นการเริ่มต้นการทำงานของกลุ่มคนที่เราชวนให้เข้ามาร่วมมือกัน
การได้ทำงานร่วมกันในช่วงแรกจึงเป็นเรื่องของการทำให้เห็นข้อมูลความเป็นจริงร่วมกัน เพื่อจะนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลที่จะนำมาให้ใช้ออกแบบการแก้ปัญหาและทำกิจกรรมสร้างสรรค์
3. นำกระบวนการหลอมใจ สร้างเป้าหมายร่วม
หลายครั้งเรามักมุ่งเป้าหมายไปที่การทำงานแก้ปัญหา ลืมกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ของผู้คน
อย่าลืมว่านี่เป็นการทำงานที่รวมคนจากหลากหลายหน่วยงานให้เข้ามาเป็นทีมเดียวกัน ทำงานร่วมกันได้
คนที่ต่างภารกิจ ต่างวัฒนธรรมองค์กร มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ในการทำงานในหน้าที่ของตนมาพอสมควร
เราจะทำอย่างไร หรือมีกระบวนการอย่างไรให้เขาเหล่านี้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รู้สึกตระหนักต่อปัญหาร่วมกัน เห็นเป้าหมายร่วม แล้วอยากลุกขึ้นมาทำบางอย่างเพื่อจัดการกับปัญหานั้นร่วมกัน
 
กระบวนการทำเป้าหมายร่วมต้องไม่ไปติดอยู่กับวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายร่วมที่เป็นเหมือนคำขวัญ แต่ต้องให้มองเห็นเป็นภาพที่ชัดกว่านั้น ทุกคนมองเห็นตนเองอยู่ในภาพของชุมชนที่ตนปรารถนา ไม่ฝันลอยๆ ชัดเจนว่าชุมชนจะต้องไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้
ภาพฝันที่กระจ่างชัดจะมีพลังมากพอที่จะเข้าไปอยู่ในใจของผู้คน เป็นส่วนหนึ่งของเจตจำนงค์อันมุ่งมั่นของคนที่เข้ามาร่วมกันตรงนี้
เพราะฉะนั้นกระบวนการสร้างเป้าหมายร่วมหรือสร้างภาพฝันอาจจะต้องค่อยๆ ทำ เหมือนเป็นการนำจิ๊กซอว์ของแต่ละคนมาค่อยๆ วางให้ได้ภาพฝันร่วม และทุกคนเป็นเจ้าของเป้าหมายร่วมกัน
 
เมื่อภาพฝันของชุมชนที่ทุกคนอยากเห็นชัดเจนแล้ว ก็มามองภาพนั้นกันทีละเรื่อง เป้าหมายของแต่ละเรื่องนั้นคืออะไร เป้าหมายย่อยนี้จะต้องทำให้สำเร็จภายในช่วงเวลาใด ยกตัวอย่าง
ถ้าเราจะบรรลุเป้าหมายร่วมที่เป็นภาพฝันของชุมชน เราต้องแก้ปัญหาเรื่องอะไรบ้าง เช่น เรื่องเด็กยากจน ปัญหาสุขภาพของเด็ก ปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ครอบครัวมีความรู้ในการดูแลเด็กให้มีพัฒนาการที่ดี เป็นต้น
แก้ปัญหาเด็กยากจนต้องแก้ที่ไหน ต้องมองให้เห็นทั้งระบบ แล้วค่อยวางเป้าหมายย่อยทีละขั้นตอน เมื่อทำสำเร็จแต่ละเรื่อง นำมาเชื่อมโยงกันแล้ว ก็จะนำไปสู่เป้าหมายใหญ่ที่ตั้งไว้ร่วมกันได้ เป็นการมองเห็นภาพของเป้าหมายตลอดเส้นทาง
4. วางแผนและลงมือทำเพื่อภาพฝันชุมชน
เมื่อทีมชุมชนมีเป้าหมายและภาพฝันร่วมกันอย่างชัดเจนแล้ว ขั้นต่อไปก็เป็นเรื่องกระบวนการวางแผนร่วมกันเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายของชุมชน
ในแต่ละขั้นตอนมีเป้าหมายย่อยอะไรบ้าง มีเรื่องใดที่สำคัญต้องทำก่อน ร่วมกันคิดวางแผนเพื่อลงมือปฏิบัติการ แบ่งบทบาทของคนในทีม ใคร ทำอะไร อย่างไร ฯลฯ ลงรายละเอียดให้ทุกคนเห็นภาพการทำงานร่วมกัน
การวางแผนไม่ใช่การตั้งหัวข้อ แต่ต้องทำให้ทุกคนเห็นถึงรายละเอียดในการลงมือปฏิบัติ และอยู่บนพื้นฐานความรู้ ความสามารถ ความถนัด ความต้องการและความพร้อมของคนในทีมที่อยากจะทำด้วย หากส่วนไหนที่ยังขาดความรู้ ความสามารถ ควรเพิ่มเติมความรู้ความสามารถเหล่านั้นได้จากที่ไหนอย่างไร เหล่านี้อยู่ในขั้นตอนการวางแผนและการเตรียมในการลงมือปฏิบัติการ
หลังจากลงมือปฏิบัติการ ควรมีการถอดบทเรียน สรุปบทเรียนเพื่อให้เห็นว่ากิจกรรมที่ทำลงไปนั้น ทำได้สำเร็จหรือไม่สำเร็จเพราะอะไร มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง หากทำกิจกรรมอีกควรปรับปรุงอะไรบ้าง และสิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้วจะพัฒนาอย่างไรให้ดียิ่งขึ้น
พร้อมกันนั้นก็ต้องประเมินตนเอง ว่าเราทำงานถึงจุดไหนแล้ว ใกล้หรือไกลเป้าหมายแค่ไหน เพื่อให้เรานำมาวางแผนการทำงานของเราเพิ่มในขั้นต่อไป ให้เราได้ขยับเข้าใกล้เป้าหมายหรือภาพฝันที่วางไว้
ทั้งหมดนี้ นักพัฒนาสามารถมองเห็นเส้นทางการทำงาน โดยใช้เรื่องของ “การโค้ช” เข้ามาผสมผสานกับการทำงานพัฒนาโดยเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง
เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน
และใช้กระบวนการ “ทำงานเป็นทีม” ให้คนจากต่างหน่วยงานในชุมชนเข้ามาร่วมมือกันเป็นทีม
มีการแบ่งปันและค้นหาข้อมูลเพื่อเข้าใจภาพรวมสถานการณ์ร่วมกัน
มีเป้าหมายร่วม วางแผนการทำงานและลงมือปฏิบัติการร่วมกัน
โดยมีนักพัฒนาเป็น “โค้ช” ให้กับทีมชุมชน
 
ในตอนต่อไป เราจะมาเล่าให้ฟังว่า ทำไม "การโค้ช" (coaching) จึงเป็นกระบวนการที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับการทำงานชุมชน
และเรียนรู้ทักษะกระบวนการโค้ชชิ่ง (coaching) ไปด้วยกัน
ขอบคุณภาพประกอบจาก Nok S และ กุลธวัช เจริญผล
โฆษณา