28 เม.ย. 2021 เวลา 10:47 • ประวัติศาสตร์
พบพระพุทธรูป 1,000 ปี ในถ้ำกลางป่า จ.สุโขทัย
1
Ep.17 หลวงพ่อศิลา อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย
ย้อนกลับไปราวๆ 90 ปีก่อน พระพุทธรูปนาคปรก สมัยขอม(ศิลปะลพบุรี) ถูกค้นพบโดยบังเอิญ จากชาวบ้านที่เข้าไปเก็บมูลค้างคาวเพื่อนำมาขาย
ในสมัยนั้น พื้นที่บริเวณนี้เป็นป่ารกชัฏ ไร้ผู้คนสัญจร ห่างไกลความเจริญ และมีภูเขาอันเป็นที่ตั้งของถ้ำสำคัญแห่งหนึ่ง ถ้ำที่เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์ ของอาณาจักรสุโขทัย
การค้นพบพระพุทธรูปโบราณครั้งนั้น ได้นำไปสู่การตื่นศรัทธาจากชุมชนในระแวกใกล้เคียง อย่างชาวอำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย และชาวอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง
จนนำไปสู่การอัญเชิญ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ลงมาจากโถงลึกของถ้ำแห่งนี้ เพื่อไปประดิษฐานยังวิหารวัดทุ่งเสลี่ยม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2475
อันเป็นจุดกำเนิด ของเรื่องราวการเดินทางข้ามทวีป ของพระนาคปรก ที่ถูกเรียกว่า "หลวงพ่อศิลา"
ถ้ำเจ้าราม อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย ห่างจากตัวเมือง สุโขทัย ประมาณ 60 กิโลเมตร
1
ถ้ำแห่งนี้มีความสำคัญ และมีความทรงคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ เพราะมีการค้นพบโบราณวัตถุ และซากอิฐเก่ามากมาย ในสมัยอาณาจักรสุโขทัยเจริญรุ่งเรือง
เดิมถูกเรียกว่า “ถ้ำพระราม” ปรากฏอยู่ในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ต่อมาชาวบ้านแถบนั้นเรียกเพี้ยนไปเป็น “ถ้ำเจ้าราม”
จากหลักฐานและคำบอกเล่าสันนิษฐานว่าถ้ำเจ้ารามน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับพ่อขุนรามคำแหง อยู่ 2 ประการ
ประการที่ 1 เป็นที่พักผ่อนของพ่อขุนรามฯ เพราะเป็นบริเวณถ้ำที่มีปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สวยงาม
1
ประการที่ 2 เป็นที่หลบภัยจากข้าศึกศัตรู เพราะในบริเวณส่วนกลางของถ้ำเป็นที่โล่งกว้างด้านบนมีปล่องแสงอาทิตย์ส่องลงมาได้ สามารถบรรจุคนได้มากพอสมควร และยังมีแผ่นศิลาจารึกเป็นภาษาสุโขทัยปรากฏอยู่ในถ้ำ
จุดเริ่มต้น ของเรื่องราวหลวงพ่อศิลา
เริ่มขึ้นปี พ.ศ.2472 จากชาวบ้านในละแวกนั้น เข้าไปเก็บมูลค้างคาว เพราะถ้ำเจ้ารามถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ถ้ำค้างคาว" เนื่องจากเป็นแหล่งอาศัยของฝูงค้างคาวจำนวนมหาศาล จนถึงปัจจุบันบริเวณตรงหน้าถ้ำเจ้าราม ได้กลายเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนของชาวสุโขทัย สำหรับชมฝูงค้างคาว กำลังบินออกจากถ้ำในช่วงเวลาพลบค่ำนับล้านตัว
และด้านในส่วนลึกของถ้ำ ชาวบ้านผู้เข้าไปเก็บมูลค้างคาว ได้พบกับพระพุทธรูป ปางนาคปรก ที่สลักด้วยหินทรายสีเทา ตั้งอยู่ ณ ตรงกลางโถง ซึ่งมีขนาดใหญ่เกินจะนำออกมาโดยลำพัง
2
เขาจึงได้นำเรื่องการพบเห็นพระพุทธรูปในถ้ำ ไปบอกกับชาวบ้านคนอื่น ๆ จนนำไปสู่การเตรียมการ เพื่อที่จะอัญเชิญพระพุทธรูปโบราณออกมาให้ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงได้สักการะบูชา
"หลวงพ่ออภัย"ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งเสลี่ยมในช่วงเวลานั้น เป็นผู้เริ่มแนวคิดนี้ และได้หารือกับผู้ใหญ่บ้านว่าจะอัญเชิญหลวงพ่อศิลามาไว้วัดทุ่งเสลี่ยม ด้วยเป็นชุมชนใหญ่ในตอนนั้น แต่ก็ต่อล้มเลิกไป เนื่องจากหลวงพ่ออภัยสูงอายุแล้ว เดินทางไม่ไหว เพราะสมัยนั้นการขนส่ง สัญจรค่อนข้างลำบาก
ความรู้ถึง "ครูบาก๋วน" เจ้าอาวาสวัดแม่ปะหลวง ตำบลแม่ปะ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เป็นชุมชนใหญ่ใกล้เคียงเช่นกัน จึงได้นำชาวบ้านไปอัญเชิญหลวงพ่อศิลาออกจากถ้ำเจ้าราม
เมื่อเข้าไปในถ้ำก็พบพระพุทธรูปปางนาคปรก มีค้างคาวบินวนเวียนมากมาย ครูบาก๋วนจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปออกจากถ้ำเจ้าราม โดยความร่วมมือจากชาวท้องถิ่น ประมาณราวๆ ปี2472-2475 นำออกมาด้วยความลำบาก ผ่านหนองปลาซิว (บ้านห้วยทราย) หนองส้มป่อย (บ้านน้ำดิบ)
อำเภอ ทุ่งเสลี่ยม
เมื่อเคลื่อนผ่านพื้นที่อำเภอทุ่งเสลี่ยม ชาวทุ่งเสลี่ยมที่รู้ข่าว ก็จัดขบวนแห่ต้อนรับ และสักการะพระพุทธรูป ตอนนั้นได้เกิดปาฏิหาริย์ เมื่อท้องฟ้าที่แจ่มใส อยู่ดีดี ก็ถูกบดบังไปด้วยเมฆฝน เกิดฝนตกหนักเป็นเวลานาน เมื่อฝนหยุดตกมีปรากฎฝูงค้างคาวบินวนเหนือบริเวณอำเภอทุ่งเสลี่ยม แล้วบินวนกลับถ้ำเจ้าราม
เมื่อชาวบ้าน ได้เห็นความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูป จึงไม่อยากให้ครูบาก๋วนอัญเชิญกลับไปยังอำเภอเถิน เจ้าอาวาสวัดทุ่งเสลี่ยมจึงหารือกับเจ้าคณะอำเภอสวรรคโลก สุดท้ายจึงตกลงให้พระพุทธรูปศิลาประดิษฐาน ณ วัดทุ่งเสลี่ยม
2
ชาวบ้านตั้งชื่อว่า "หลวงพ่อศิลา"
ส่วนครูบาก๋วน ต่อมาจึงได้จำลองหลวงพ่อศิลา อัญเชิญไปไว้ที่วัดแม่ปะหลวง อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ด้วยใจศรัทธา
1
ปี พ.ศ. 2520 หลวงพ่อศิลา ได้ถูกโจรกรรมออกจากวัดทุ่งเสลี่ยมโดยกลุ่มโจรใจบาป สร้างความเสียใจให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก จากการสูญเสียพระพุทธรูปศักดิ์สิทธ์ อันเป็นสิ่งบูชาสูงสุดของชาวทุ่งเสลี่ยม โดยเหลือไว้เพียงแท่นวางพระพุทธรูปเดิมของหลวงพ่อศิลา
ซึ่งมารู้คร่าวๆ ในภายหลังว่าผู้รับซื้อ เป็นพ่อค้าของเก่า และโบราณวัตถุ ชาวฝรั่งเศส ซึ่งตอนนั้นอาศัยได้อยู่ในกรุงเทพมหานคร
ส่วนกลุ่มโจรที่นำหลวงพ่อไปขายนั้นเป็นผู้ใดไม่ทราบประวัติและความเป็นมา แต่มีเรื่องเล่าจากคนท้องถิ่น ถึงหายนะอันเกิดจากผลกรรม และคำสาปแช่งในครั้งนั้นจากชาวบ้าน ต่างๆนาๆ
เหลือเพียงภาพถ่ายของชาวบ้านบางคนที่ได้เคยบันทึกเอาไว้ เมื่อครั้งหลวงพ่อศิลายังประดิษฐานอยู่ ได้ถูกทำสำเนามาแจกจ่ายให้ชาวบ้าน เพื่อติดบ้านไว้เคารพบูชาและเพื่อระลึกถึง แทนองค์พระที่หายไป
หลังจากหลวงพ่อศิลาหายไป 17 ปี
จนเมื่อพ.ศ. 2537 กลับได้ข่าวของหลวงพ่อศิลาอีกครั้ง จากการจัดแสดงพระพุทธรูปโบราณครั้งแรกที่อังกฤษ โดยกลุ่มคนไทย ที่ใช้ชื่อว่า "กลุ่มอนุรักษ์ชาวไทย"
ได้เขียนหนังสือร้องเรียนผ่านหนังสือพิมพ์มติชนว่าได้พบพระพุทธรูปปางนาคปรก ในหนังสือประมวลศิลปวัตถุ เพื่อประมูลขายของสถาบันโซธบี (Sotheby's Institute) ในกรุงลอนดอน
เมื่อทราบถึงชาวทุ่งเสลี่ยม จึงทำหนังสือร้องเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย และกรมศิลปากรเพื่อให้ทางราชการติดตามทวงถามพระพุทธรูป ในปีเดียวกัน
กรมศิลปากร จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และจัดตั้งคณะติดตามทวงหลวงพ่อศิลา
ต่อมาหน่วยสืบราชการลับอังกฤษได้แจ้งว่า ผู้ประมูลหลวงพ่อศิลาได้เคลื่อนย้ายไปสหรัฐอเมริกาแล้ว โดยทนายความของผู้ครอบครองได้แจ้งให้ทราบว่า ไม่ทราบว่าพระพุทธรูปมาจากโจรกรรมมา
และเขาก็ยินยอมจะคืนให้ แต่จะขอเรียกเงินสองแสนดอลลาร์สหรัฐ ในการคืนพระพุทธรูปครั้งนี้จากรัฐบาลไทย
1
หลังจากหลวงพ่อศิลาหายไป 19 ปี
พ.ศ. 2539 คณะกรรมการติดตามทวงหลวงพ่อศิลา นำโดย ร้อยตำรวจโทเชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางไปตรวจสอบรอยตำหนิ และมอบค่าชดเชยเป็นเงินสองแสนหนึ่งพันดอลลาร์สหรัฐแก่ผู้ครอบครองชาวแคลิฟอร์เนีย
ซึ่งนายธนินท์ เจียรวนนท์ประธานกรรมการในเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายวัลลภ เจียรวนนท์ กรรมการบริหารฯ เป็นผู้พิจารณาสนับสนุนค่าชดเชยเป็นเงินอีก 5 ล้านบาท เพื่อนำพระพุทธรูปล้ำค่ากลับคืนสู่ประเทศไทย
คณะฯ อัญเชิญหลวงพ่อศิลา กลับมาถึงประเทศไทย ณ สนามบินดอนเมือง มีชาวทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ได้เหมารถมาร่วมสิบคันรถ พบภาพมหัศจรรย์ มีฝูงค้างคาวมาบินวนเวียนในสนามบินดอนเมือง (เรื่องราวเหล่านี้ เคยปรากฏ ในหน้าข่าวหนังสือพืมพ์ ในวันนั้นจริงๆ)
พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะการอัญเชิญหลวงพ่อศิลา นำโดย ร้อยตำรวจโท เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ และนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานในเครือเจริญโภคภัณฑ์ นายวัลลภ เจียรวนนท์ กรรมการบริหารฯ เข้าเฝ้าน้อมเกล้าฯถวายหลวงพ่อศิลา เนื่องในปีกาญจนาภิเษกและพระราชทานคืน พร้อมอัญเชิญกลับไปประดิษฐาน ณ วัดทุ่งเสลี่ยม
1
ในระหว่างทางจากกรุงเทพ ถึงจังหวัดสุโขทัย ผู้อัญเชิญได้แวะพักระหว่างทาง เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้สักการะตามวัดต่างๆ 9 วัด แห่ง 9 แห่ง โดยมีประชานที่ทราบข่าว เดินทางมาสักการะ กันอย่างแน่นหนา
2
ในปีพ.ศ. 2540 หลวงพ่อศิลา ได้กลับคืนสู่มาตุภูมิ คือ วัดทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย และต่อมาชาวทุ่งเสลี่ยมจัดงานสมโภชเฉลิมฉลองหลวงพ่อศิลาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกๆปี
วันนั้นข้าพเจ้า ได้เดินทางมายังเขตอำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย และได้แวะมาสักการะ หลวงพ่อศิลา พระนาคปรกหินศิลาจัด ศิลปะสมัยลพบุรี (โดยการวิเคราะห์ด้วยตนเอง) พระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย
โดยเป็นสถานที่ทางผ่าน อยู่บนเส้นทางเดียวกับ บทความใน Ep.16 กำแพงกั้นระหว่าง สุโขทัย - ล้านนา ซึ่งอยู่อำเภอเถิน ห่างกันประมาณ 15 กิโลเมตรเท่านั้น
ตรงมณฑปสีขาวที่ปลูกสร้างสวยงาม ข้างในนั้นข้าพเจ้าได้มองเห็นหลวงพ่อศิลา เป็นพระประธานตั้งตระหง่านอยู่กลางอาคารโล่งกว้าง โดยมีแสงไฟสว่าง ส่องมายังองค์พระ ทำให้มองเห็นลายเส้นของพระพุทธรูปได้อย่างชัดเจน
จนทำให้เกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นมา มันเป็นความรู้สึกถึงความสวยงาม สวยงามอย่างไม่สามารถใช้คำใดๆมาบรรยายในขณะนั้นจริงๆ
ให้ลองนึกภาพ..ถึงการสร้างพระพุทธรูป ที่มีอายุประมาณ 1 พันปีก่อน ย้อนไปในสมัยละโว้ หรือลึกจนถึงสมัยขอมโบราณ พระพุทธรูปองค์นี้ มีความวิจิตรงดงามเกินกว่าภูมิปัญญาในทางงานฝีมือ หรือเทคโนโลยีสมัยนั้น จะสร้างออกมาได้ปราณีต ถึงขนาดนี้ จนนึกสงสัยว่าใครกันนะ? เป็นผู้สร้าง...
ภาพแรกที่ข้าพเจ้าจินตนาการ คือพระแก้วมรกต ที่มีตำนานการสร้างจากเหล่าเทวดา ซึ่งหลวงพ่อศิลานั้นช่างงดงามเกินกว่าจะเชื่อว่ามาจากศิลปะร่วมสมัยเดียวกัน เพราะมีความสมบูรณ์เป็นอย่างมาก หรือเกิดจากการทับถมของมูลค้างคาวนั้นที่ได้รักษา ไม่ให้เกิดการกัดกร่อนของหิน มานับหลายร้อยปี
1
พระพุทธรูป นาคปรก ที่ถูกค้นพบ ว่ามีแหล่งที่มาจากสมัยอาณาจักรสุโขทัย เพราะมีความเกี่ยวข้องกับถ้ำเจ้าราม ที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่กลับค้นพบพระพุทธรูป ศิลปะขอม อาณาจักรละโว้ ?
ในข้อมูลทางประวัติศาสตร์ สมัยสุโขทัยนั้น ไม่นิยมสร้างพระพุทธรูปบางนาคปรก แม้จะมีปรากฏอยู่บ้างในโบราณสถานของสุโขทัย แต่ก็น้อยมาก และไม่มีความคล้ายคลึงกับหลวงพ่อศิลาเลยแม้แต่น้อย ทั้งความสอดคล้องทางศิลปะ และความประณีตของชิ้นงาน
อีกทั้งหลวงพ่อศิลา กลับมีลักษณะเด่นที่ไม่เหมือนใครในโลก เพราะเป็นการสร้างเหมือนกับศิลปะขอมโบราณ(บายน) กับศิลปะ ขอมละโว้ ลพบุรี ซึ่งยังชี้ชัดไม่ได้เลย ว่าเป็นศิลปะสมัยใดกันแน่
และไม่มีนักวิชาการ ระบุว่า หลวงพ่อศิลา เป็นพระพุทธรูปศิลปะใด อย่างชัดเจน ขนาดข้อมูลบางแหล่ง ยังบอกว่าเป็นของสมัย ทวาราวดี
ก่อนเขียนบทความนี้ ข้าพเจ้าได้อ่านบทความวิทยานิพนธ์ เรื่อง พระนาคปรก ศิลปะลพบุรี ที่พบในประเทศไทย ซึ่งในภาพของงานวิทยานิพนธ์ ไม่ปรากฏ พระนาคปรกองค์ใด ที่มีลักษณะเหมือน สมบูรณ์ และงดงามได้อย่างหลวงพ่อศิลาเลย
โดยมีความคล้ายคลึงทางลายเส้นของเครื่องทรงองค์พระอยู่บ้าง จึงพออนุมาน ว่าใกล้เคียง ศิลปะลพบุรีที่สุด เมื่อเทียบกับความเป็นไปได้ทางประวัติศาสตร์
ความสงสัยถึงความเป็นมาขององค์หลวงพ่อศิลา ทำให้ข้าพเจ้าจินตนาการเพียงลำพัง ว่าพระพุทธรูปองค์นี้ อาจเคยเป็นสมบัติล้ำค่าสิ่งหนึ่งของเชื้อพระวงศ์ แห่งอาณาจักรสุโขทัย ในฐานะของขวัญ หรือเครื่องบรรณาการจากอาณาจักรขอม(ละโว้) ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันทางการเมืองอย่างลึกซึ้งกับสุโขทัย
แต่ความสงสัยในศิลปะ และการสร้างขององค์หลวงพ่อศิลา กลับทำให้ข้าพเจ้ามึนงง เป็นอย่างยิ่ง ถึงแหล่งที่มา ว่าช่างสมัยใดเป็นผู้สร้างกันแน่ ? ทำไมถึงไม่มีเอกลักษณ์ของสมัยใดสมัยหนึ่งเฉพาะตัวไปเลย กลับถูกสร้างมาอย่างผสมผสานแบบนี้
2
และความงดงาม ปราณีต ที่เกินกว่าในยุคร่วมสมัยเดียวกัน หรือเกินจะเชื่อว่าชาวขอมโบราณเป็นผู้สร้าง(ประมาณ1,000ปี) เพราะมีความสมบูรณ์ใหม่ กว่าพระพุทธรูปหินศิลาองค์อื่นๆสมัยนั้น (ความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ)
ก็ได้ทำให้ข้าพเจ้าอยากศึกษาประวัติ ความเป็นมามากขึ้น และได้ล้วงลึกเข้าไปถึงขั้นตอนการตามหา และทวงคืนหลวงพ่อศิลาที่หายไป โดยคณะผู้ตามของรัฐบาลไทยสมัยนั้น
ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งในคณะฯ ได้จัดทำเป็นหนังสือ ได้บอกเล่ารายละเอียดทั้งหมด ไว้อย่างน่าสนใจ ในหนังสือเรื่อง "พระพุทธรูปศิลา กลับสู่มาตุภูมิ"
และเรื่องราวของคณะทำงานน่าสนใจมาก ๆ น่าสนใจว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง....ในห้วงเวลานั้น
ข้อเท็จจริง...เป็นอย่างไรคงไม่สำคัญ เท่ากับการได้สมบัติอันล้ำค่าของชาติกลับคืนมา
แล้วพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นศูนย์รวมจิตใจ ของชาวบ้านทุ่งเสลี่ยม ก็กลับคืนสู่มาตุภูมิ
คำส่งท้าย....
ข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้กระทำกรรมชั่ว...อย่างโจรขโมยพระพุทธรูป อันเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติ ย่อมได้รับความชิบหายตามผลกรรมนั้น อย่างแน่นอน
และผู้กระทำกรรมดี อย่างเจ้าภาพ หรือนายทุนผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในทุกขั้นตอนของการไถ่คืนองค์พระจากผู้ประมูล อย่างเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าของธุรกิจ CP มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดของเมืองไทยคนปัจจุบัน เพราะเขาได้สร้างบุญใหญ่
นั่นคือความลับของคนรวย
ผลกรรมมันเห็นกันได้ในชาตินี้
1
...ไซตามะ....
โฆษณา