18 เม.ย. 2021 เวลา 13:36 • หุ้น & เศรษฐกิจ
📌Morningstar Rating ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️ เรทติ้งกองทุน มีความหมายอย่างไร📌
[Morningstar ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการจัดอันดับกองทุน “ดาว” มาก ดีอย่างไร?]
หลังจากที่เราได้พูดถึง Sharpe Ratio ซึ่งก็คือ Risk Adjusted Return หรือผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงไปแล้ว วันนี้ #เด็กการเงิน ขอมาเสนออีกหนึ่งตัวช่วยในการเปรียบเทียบกองทุนโดยใช้เครื่องมือจาก Morningstar มาดูว่าเขาทำอย่างไร จนออกมาเป็น Rating หรือ คะแนน หรือ ดาวสีแดงที่เราเห็นกันนั่นเอง และเราสามารถเปรียบเทียบ Rating ที่เห็นได้อย่างไร
เนื่องจากหลักการจัดทำ Morningstar Rating จะมีพื้นฐานมาจาก Risk Adjusted Return (Sharpe Ratio) ดังนั้นใครที่ยังไม่ได้อ่านเรื่องนี้ แนะนำให้ทำความเข้าใจผ่านโพสต์นี้ก่อนค่ะ
1️⃣ ที่มาของการจัดอันดับกองทุน Morningstar Rating
อย่างที่บอกไปว่า Sharpe Ratio เป็นการคำนวณผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง แล้วค่อยนำค่าที่ได้มาเปรียบเทียบกัน แต่เนื่องจากมีบางกรณีที่การวัดผลแบบ Sharpe Ratio จะไม่ถูกต้องเสมอไป ลองมาดูตัวอย่างกันค่ะ
กองทุน A ผลตอบแทน -10% ความผันผวน 3%
กองทุน B ผลตอบแทน -10% ความผันผวน 7%
ตัวอย่างนี้สามารถตอบได้เลยว่า กองทุน A ดูดีกว่าเพราะถึงแม้ผลตอบแทนจะติดลบ 10% เท่ากัน แต่กองทุน A มีความผันผวนต่ำกว่า
แล้วถ้าหากนำตัวเลขนี้มาคำนวณค่า Sharpe Ratio จะเป็นอย่างไร? สมมติให้ Risk Free Rate หรือผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลซึ่งถือว่าไม่มีความเสี่ยงให้ผลตอบแทนที่ 2%
Sharpe Ratio ของกองทุน A = -4 คำนวณมาจาก (-10% - 2%)/3%
Sharpe Ratio ของกองทุน B = -1.71 คำนวณมาจาก (-10% - 2%)/7%
กลายเป็นว่า Sharpe Ratio ของกองทุน B ดีกว่าเฉยเลย เพราะมีค่า Sharpe Ratio มากกว่า (ติดลบน้อยกว่า ถือว่ามากกว่า) ซึ่งในกรณีนี้จะไม่ถูกต้อง
📌 ทาง Morningstar ได้คำนึงถึงประเด็นนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดทำ Morningstar Rating หรือ “ดาวสีแดง” ที่มีตั้งแต่ 1-5 ดาว ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวช่วยพิจารณากองทุนผ่านผลตอบแทนในอดีต
2️⃣ Morningstar คือใคร แล้วทำไมเขาถึงให้ “ดาว” กองทุนได้?
Morningstar เป็นองค์กรที่เปรียบเสมือนคนกลางที่ให้บริการข้อมูลและจัดอันดับกองทุน (Morningstar Rating) ของ บลจ. ต่างๆ โดยนักลงทุนสามารถเข้าไปดูข้อมูลเหล่านี้ได้ฟรีๆ สำหรับในไทยสามารถดูได้ผ่านเว็บไซต์ Morningstar Thailand
Morningstar ได้จัดทำ Morningstar Risk-Adjusted Return (MRAR) ซึ่งเป็น Risk-Adjusted Return ในแบบของ Morningstar และนำเสนอผ่านการจัดอันดับกองทุน Morningstar Rating หรือ “ดาวสีแดง” นั่นเอง
3️⃣ หลักเกณฑ์การจัดทำ Morningstar Rating
กองทุนที่จะนำมาจัดอันดับได้นั้นต้องเป็นกองทุนที่มีผลการดำเนินงานในอดีตติดต่อกันมาอย่างน้อย 3 ปี และแบ่งการจัดอันดับเป็น 3 ช่วงเวลาคือ 3 ปี, 5 ปี และ 10 ปี และจะเปรียบเทียบในกองทุนประเภทเดียวกันเท่านั้น
Morningstar Risk Adjusted Return (MRAR) เป็นการคำนวณผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง ซึ่งมี 3 ขั้นตอนในการคำนวณคือ
1) คำนวณผลตอบแทนรายเดือนของกองทุน
2) นำผลตอบแทนในข้อ 1) มาหักกับ Risk Free Rate
3) คำนวณ MRAR โดยนำทฤษฎีอรรถประโยชน์ (Utility Function) มาใช้ ซึ่งเป็นทฤษฎีที่คำนึงถึงความรู้สึกของนักลงทุน โดยมีสมมติฐานว่า
นักลงทุนส่วนใหญ่นั้นไม่ชอบความเสี่ยง 😨
และนักลงทุน "ไม่ชอบ" ความผันผวนที่เป็นลบ (downside variation) มากกว่าความผันผวนที่เป็นบวก (upside variation) 😨
หรือพูดง่ายๆว่า *รู้สึกแย่กับการสูญเสีย มากกว่า รู้สึกดีกับการได้รับ* 😨
📌 ดังนั้น MRAR จึงให้น้ำหนักความสำคัญกับความผันผวนทางลบ มากกว่า ความผันผวนที่เป็นบวก
📌 ถ้าหากกองทุนใดที่มีความผันผวนทางลบมาก กองทุนนั้นก็จะถูกหักคะแนนมากเช่นกัน
หลังจากนั้นก็จะนำผลตอบแทน MRAR ในข้อ 3) มาจัดอันดับ ซึ่งกองทุนที่มีคะแนนสูงสุดจะได้ ⭐️ มากที่สุด โดยจะมีแบ่งกลุ่ม (Rating Level) โดยอ้างอิงการกระจายตัวแบบระฆังคว่ำ (Bell Curve)
🥇🥈🥉🏅🎖 กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุด 10% แรกจะได้ 5 ดาว (ดีที่สุด) 22.5% ถัดมาจะได้ 4 ดาว 35% ตรงกลางจะได้ 3 ดาว 22.5% ถัดมาจะได้ 2 ดาว และกลุ่ม 10% ที่เหลือจะได้ 1 ดาว
4️⃣ Morningstar Rating ดีหรือไม่ดี ดูอย่างไร?
อย่างที่บอกไปว่ากองทุน 5 ดาวคือกลุ่มที่ได้รับการจัดอันดับดีทีสุด แต่กองทุนแต่ละกองทุนอาจจะได้ดาวในแต่ละช่วงเวลาไม่เท่ากัน เช่น ช่วง 3 ปี อาจจะได้ 5 ดาว แต่ 5 ปีได้ 4 ดาว เป็นต้น เราสามารถดู overall rating แทนได้เพื่อบอกถึง Morningstar Rating เฉลี่ยของกองทุนนั้น
⭐️ใน Infographic ได้ยกตัวอย่างกองทุนกลุ่ม US Equity ที่มีผลตอบแทน 3 ปีย้อนหลังสูงสุด 5 อันดับแรก จะเห็นว่ากองทุน KT-US-A มีผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปีและค่า Sharpe Ratio สูงกว่ากองทุน TMBUSBLUECHIP แต่เมื่อไปพิจารณา Morningstar Rating จะเห็นว่ากองทุน TMBUSBLUECHIP ได้ 4 ดาวตลอดเวลาซึ่งถือว่ามีผลการดำเนินดี มีความงานสม่ำเสมอกว่า เพราะกองทุน KT-US-A ได้ 4 ดาวแค่ช่วงเวลา 3 ปีย้อนหลัง แต่ 5 ปีย้อนหลัง และ Overall ได้เพียง 3 ดาว
1
⭐️จะเห็นได้ว่าการจัดอันดับ Morningstar Rating ได้คำนึงถึง “ผลตอบแทน” “ความเสี่ยง” และ “ความรู้สึกของนักลงทุน” ซึ่งจะเป็นหนึ่งในตัวช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกกองทุนต่างๆได้ ยิ่งกองทุนที่ได้ 4-5 ดาวติดต่อกัน สามารถตีความได้ว่า กองทุนนั้นมีผลงานดีต่อเนื่อง ค่อนข้างสม่ำเสมอโดยดูจากผลงานในอดีต อย่างไรก็ตามนักลงทุนก็ต้องไม่ดูแต่ผลตอบแทนในอดีตเพียงอย่างเดียว การติดตามข่าวสารต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ นำข้อมูลต่างๆ มาพิจารณาร่วมกันจะช่วยให้เราเป็นนักลงทุนที่โปรขึ้นค่ะ⭐️
โฆษณา