20 เม.ย. 2021 เวลา 05:00 • กีฬา
Cross country - Road race – Trail running ต่างกันอย่างไร
งานแข่งขันวิ่งในบ้านเราแม้จะมีมากมายหลายสนามในแต่ละปี แต่สำหรับสนามแบบครอสคันทรี่นั้นอาจจะยังไม่แพร่หลายมากนัก ทำให้เราอาจจะเตรียมตัวเตรียมความพร้อมในการลงแข่งขันได้ไม่ถูกต้อง
วันนี้แอดมินจะมาเปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจในแต่ละประเภทให้มากขึ้น จะขอแยกย่อยออกเป็นหัวข้อๆ โดยจะอ้างอิงจากงานที่จัดแข่งขันกันแบบมาตรฐานสากลทั่วโลกและมีมาตรฐานรับรอง ดังนี้
ระยะทาง
สำหรับระยะทางนั้น ถ้าเป็นงานวิ่งถนนมักจะมีระยะทางมาตรฐานที่กำหนดไว้ชัดเจน โดยมีระยะทางตั้งแต่ 5 กิโลเมตรเป็นต้นไป (5 กิโลเมตรคือระยะทางมาตรฐานขั้นต่ำที่มีมาตรฐานรับรองและมีการบันทึกสถิติโลก) ไปจนถึงระยะมาราธอน คือ 42.195 กิโลเมตร และถ้าหากเกินระยะมาราธอนก็จะถือเป็นระยะอัลตร้ามาราธอน ซึ่งอาจจะมีระยะทางถึง 100 กิโลเมตรหรือเกินกว่า 100 กิโลเมตรเลยก็ได้ ซึ่งจะแตกต่างจากงานวิ่งแบบครอสคันทรี่ที่นิยมจัดกันอยู่ทั่วโลก มักจะมีระยะทางอยู่ที่ 10-12 กิโลเมตรเท่านั้น โดยมักจะวิ่งวนในสนามเล็กๆ ที่มีประยะทางประมาณ 1,500 – 2,000 เมตร (อาจจะมีบางสนามที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์นี้ เช่น สนาม Lidingöloppet ในประเทศสวีเดน เป็นต้น) ส่วนสนามเทรลนั้นมักจะนิยมวิ่งกันไกลๆ โดยมักจะเน้นกันที่ระยะอัลตร้ามาราธอนขึ้นไป แต่ก็มีบ้างที่จัดให้แข่งขันในระยะทางที่สั้นกว่านั้น
พื้นผิวของเส้นทาง
ลักษณะพื้นผิวของงานวิ่งถนนจะถูกกำหนดให้เป็นพื้นผิวที่ราบเรียบ ไม่มีอุปสรรคในเส้นทาง เป็นถนนหรือพื้นแข็ง เช่น ซีเมนต์ หรือลาดยางมะตอย และมักจะวิ่งกันในตัวเมืองเป็นหลัก ซึ่งจะตรงกันข้ามกับสนามแบบครอสคันทรี่ที่ถ้าหากเป็นงานระดับชิงแชมป์แล้วนั้นจะไม่อนุญาตให้มีพื้นแข็งแบบซีเมนต์หรือลาดยางมะตอยอยู่ในเส้นทางเลย หากมีก็ต้องนำวัสดุธรรมชาติเช่น หญ้า ดิน หรือ ทราย มาปูหรือกลบไว้ด้านบนด้วย และสนามครอสคันทรี่นั้นยังต้องมีอุปสรรคในเส้นทาง เช่น ขอนไม้ โคลน หรือน้ำ เพื่อเพิ่มความท้าทายได้อีกด้วยทำให้ต้องออกไปวิ่งกันนอกตัวเมืองหรือตามชนบท ซึ่งจะคล้ายๆ กันกับสนามวิ่งเทรล ซึ่งมักจะวิ่งในพื้นผิวที่เป็นธรรมชาติเช่นกัน เพียงแต่สนามวิ่งเทรลยังสามารถที่จะมีพื้นแข็งแบบถนนในเส้นทางแข่งขันได้อยู่ แต่ก็ต้องอยู่ในสัดส่วนที่กำหนดไว้เช่นกัน ทำให้เส้นทางส่วนใหญ่มักวิ่งขึ้นเขาเข้าป่าไปนั่นเอง
สถิติ
สำหรับงานวิ่งถนนนั้นจะมีการบันทึกสถิติต่างๆ เอาไว้รวมถึงสถิติโลกด้วย แตกต่างจากงานครอสคันทรี่และงานเทรลที่อาจจะเป็นการบันทึกสถิติสนามเอาไว้เท่านั้น ไม่มีการบันทึกสถิติอื่นใด เหตุเพราะลักษณะสนามที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถนำสถิติต่างสนามกันมาเทียบระหว่างกันได้
ความชันสะสม
เนื่องจากงานวิ่งถนนมีการเก็บสถิติ ทำให้สนามส่วนใหญ่ก็จะเน้นไปที่ความชันสะสมน้อยถึงน้อยที่สุด เพื่อวิ่งให้ได้ไวขึ้นและมีโอกาสทำลายสถิติเดิมได้ แต่สำหรับสนามคอรสคันทรี่นั้นก็พอให้มีเนินและความชันได้บ้างเพื่อความท้าทาย แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องเป็นความชันในระดับที่ยังวิ่งได้อยู่ และต้องไม่มากจนเกินไป จะแตกต่างจากสนามเทรลที่ยิ่งมีความชันสะสมมากเท่าไหร่ สนามนั้นๆ ยิ่งมีความท้าทายมากเท่านั้น ฉะนั้นความยากของสนามเทรลก็มักจะอยู่ที่ความชันและความชันสะสมเป็นหลักนอกเหนือจากระยะทางที่ไกล
อุปสรรคในเส้นทาง
งานวิ่งถนนจะต้องไม่มีอุปสรรคใดใดในเส้นทางแข่งขัน พื้นผิวจะต้องราบเรียบ เช่นถ้าหากมีบันไดก็อาจจะต้องมีวัสดุมาวางรองให้ทางเป็นแบบพื้นเรียบซะก่อนถึงจะใช้แข่งขันได้ เป็นต้น จะแตกต่างจากสนามครอสคันทรี่ที่อุปสรรคเป็นสิ่งที่สนามประเภทนี้ต้องการ อาจมีการวิ่งข้ามขอนไม้ ข้ามคูน้ำ ลุยโคลน ลุยน้ำ ลุยทราย ก็เป็นได้ แต่จะต้องไม่มีอุปสรรคประเภทที่ต้องให้ก้มให้ลอด ตัวเส้นทางจะต้องปลอดโปร่งเพื่อให้วิ่งทำความเร็วได้เต็มที่ ทำให้สนามครอสคันทรี่มักจะจัดกันในพื้นที่โล่ง หรือในป่าโปร่ง เช่น ป่าสน เป็นต้น จะแตกต่างจากสนามเทรลที่อุปสรรคในเส้นทางก็เป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งซึ่งสามารถให้ก้มให้ลอดได้อยู่นอกเหนือจากการข้าม การลุยอุปสรรคต่างๆ จึงทำให้สามารถเข้าไปวิ่งในป่าที่รกๆ ได้
รองเท้า
เนื่องจากการวิ่งถนนจะต้องวิ่งบนพื้นผิวที่แข็ง ทำให้พื้นรองเท้ามักจะมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อทำให้วิ่งเร็วขึ้นใส่เข้าไปด้วย อีกทั้งในเรื่องของน้ำหนักที่ต้องเบา มีการดูดซัพแรงกระแทก หรือแม้กระทั่งต้องมีความอ่อนนุ่มและยืดหยุ่นสูงเพื่อเพิ่มแรงส่งให้วิ่งได้ไวขึ้นด้วย แต่สำหรับรองเท้าของครอสคันทรี่นั้นมักจะต้องวิ่งบนพื้นผิวที่อ่อนนุ่มจนถึงขั้นเละเหลวเป็นโคลน ทำให้เทคโนโลยีต่างๆ ที่ใส่ลงไปไม่เกิดผลและอาจเป็นภาระด้วย จึงทำให้ต้องลดทั้งขนาดและน้ำหนักลง มีความกระชับมากขึ้น มีความบางและอ่อนนุ่ม อีกทั้งอาจจะต้องติดตั้งเดือยแหลม (spike) เพื่อเพิ่มการยึดเกาะลงไปสำหรับบางสนามด้วย คล้ายๆ รองเท้าสำหรับการวิ่งระยะสั้น เช่น วิ่ง 100 เมตร 200 เมตร หรือเพิ่มในส่วนของดอกยางลงไปแทนเพื่อเพิ่มการยึดเกาะให้มากขึ้น แต่ในส่วนของรองเท้าวิ่งเทรลนั้นอาจจะมีรูปทรงคล้ายกันกับรองเท้าวิ่งถนนแต่ต้องมีดอกยางเพื่อเพิ่มการยึดเกาะใต้ฝ่าเท้าด้วยนั่นเอง ซึ่งดอกยางนี้ก็อาจมีความหนา-บางไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับแต่ละรุ่นเพื่อใช้ในแต่ละสภาพสนามนั่นเอง อาจมีความหนามากกว่าปกติเพื่อป้องกันการเหยียบลงบนหนาม ก้อนกรวด ก้อนหิน รากไม้หรือกิ่งไม้ และอาจจะมีการรองรับแรงกระแทกสำหรับการขึ้น-ลงเขาด้วย แต่เนื่องจากต้องวิ่งในระยะทางไกลทำให้ต้องมีน้ำหนักเบาด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้เป็นภาระหลังจากวิ่งไปได้ในระยะหนึ่งแล้วนั่นเอง ด้านตัวพื้นรองเท้าอาจจะต้องมีความกว้างกว่าปกติเพื่อป้องกันข้อเท้าพลิกด้วยเช่นกัน
สำหรับประเภทของรองเท้าและชนิดของพื้นรองเท้าอาจจะต้องศึกษาเส้นทางที่จะลงแข่งขันก่อนที่จะเลือกใช้รองเท้านั้นๆ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพสนาม จะช่วยให้ได้รับผลการแข่งขันตามที่ตั้งใจไว้และลดความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บในการเลือกรองเท้าที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย คงไม่ดีแน่หากนำรองเท้าวิ่งครอสคันทรี่ไปวิ่งถนน นำรองเท้าถนนไปวิ่งเทรล ก็อาจจะพอวิ่งได้อยู่ แต่ผลที่ได้ก็คงไม่ดีนักและอาจจะได้รับอาการบาดเจ็บกลับไปอีกด้วย
การแต่งกาย
ในส่วนของเสื้อที่ใช้แข่งขันงานวิ่งถนนและครอสคันทรี่นั้น เดิมทีมักจะเป็นเสื้อกล้าม ลักษณะเดียวกันกับเสื้อของนักกรีฑาทั่วไป มีความกระชับแนบลำตัวและเข้ารูป เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ไม่ต้านลม ไม่กินลม สามารถทำความเร็วได้ แต่เนื่องจากสมัยนิยมมีนักวิ่งหลากหลายมากขึ้น ตัวเสื้อจึงทำแบบแขนสั้นออกมาด้วย แต่สำหรับขาแรงและแนวหน้าก็ยังคงนิยมใส่แบบเสื้อกล้ามอยู่เช่นเดิม สำหรับการวิ่งเทรลนั้นส่วนใหญ่มักจะเป็นเสื้อแบบแขนสั้น แต่รูปทรงจะเป็นแบบกระชับแนบลำตัว เพื่อเพิ่มความคล่องตัว จะไม่ค่อยนิยมใส่เสื้อตัวใหญ่เพื่อลดภาระในแข่งขันลงหากต้องการความคล่องตัวและลดการไปเกี่ยวกับกิ่งไม้ที่อยู่ในเส้นทาง แต่ก็มีบ้างที่นิยมใส่แบบเสื้อกล้ามลงแข่งขัน
สำหรับกางเกงนั้น ถ้าเป็นการวิ่งถนนและวิ่งครอสคันทรี่ก็มักจะใส่แบบขาสั้นที่สั้นมาก มีหน้าขาที่กว้างกว่าปกติ เพื่อเพิ่มความคล่องตัว ซึ่งอาจจะมีซับในที่ไว้เพื่อลดการเสียดสีหรือช่วยในส่วนของการรัดกล้ามเนื้อก็เป็นได้ ส่วนของการวิ่งเทรลนั้นอาจจะใช้ขาสั้นแบบเดียวกันหรือเป็นแบบรัดกล้ามเนื้อก็ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะมีได้ทั้งแบบขายาวและขาสั้น
อุปกรณ์ต่างๆ
ในการลงแข่งขันวิ่งถนนและวิ่งครอสคันทรี่ที่ต้องการทำความเร็วนั้น มักจะไม่พกหรือนำสิ่งใดติดตัวไปขณะวิ่งด้วย อีกทั้งจุดบริการน้ำดื่มของทั้งสองประเภทมักจะตั้งอยู่ในระยะที่เหมาะสม ไม่ห่างกันจนเกินไป ซึ่งจะแตกต่างจากการวิ่งเทรลที่จุดบริการแต่ละจุดนั้นอาจจะอยู่ไกลกัน ทำให้ต้องพกอุปกรณ์เช่น เป้น้ำ สายคาดเอว หรือแม้กระทั่งขวดน้ำดื่ม ติดตัวไปด้วย ยิ่งถ้าหากลงแข่งขันในระยะที่เป็นระดับอัลตร้าขึ้นไป อาจจะต้องมีอุปกรณ์อื่นร่วมด้วย เช่น ไฟส่องสว่าง อาหารสำรองที่ให้พลังงาน โทรศัพท์มือถือ พาวเวอร์แบงค์ นกหวีด เป็นต้น
ประเภทการแข่งขัน
โดยปกติแล้วการแข่งขันวิ่งครอสคันทรี่ตามแบบมาตรฐานสากลมักจะมีการแข่งขันทั้งแบบบุคคลและแบบทีมอยู่ในการแข่งขันครั้งนั้นๆ ด้วย อีกทั้งยังมีการแข่งขันแบบผสมและแข่งวิ่งผลัดอีกด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากการวิ่งถนนและวิ่งเทรลที่มักจะนิยมแข่งขันกันแบบบุคคลเท่านั้น
จะเห็นได้ว่าหากวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดของการแข่งขันแต่ละประเภทแล้วนั้น จะสามารถหาความแตกต่างระหว่างการแข่งขันได้โดยง่าย ทำให้สามารถเลือกการอุปกรณ์ การฝึกซ้อม รวมทั้งการแข่งขันที่เหมาะสมให้กับตัวเองได้
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้เพื่อนๆ เข้าใจในการแข่งขันในแต่ละประเภทมากขึ้นนะ และเพื่อไม่ให้พลาดการติดตามข่าวสารข้อมูลในวงการวิ่งทั้งในไทยและต่างประเทศ อย่าลืมกด ”ติดตาม”เพจ MICE Channel ไว้ด้วย อีกทั้งยังมีช่องทางอื่นๆ ให้ติดตามกันอีกด้วยนะ
#MICEchannel
โฆษณา