Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Note sharing
•
ติดตาม
21 เม.ย. 2021 เวลา 07:24 • หนังสือ
ตอนที่ 6
ทำไม "การโค้ช" (Coaching) จึงเหมาะสมที่จะนำไปใช้กับการทำงานชุมชน
"การโค้ช" (Coaching) เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ได้รับความสนใจและมีการนำไปใช้กันมากขึ้นเกือบทุกวงการ แม้แต่ในวงการงานพัฒนาชุมชนและพัฒนาสังคม
แน่นอนว่าแต่ละเครื่องมือต้องมีบทเรียนจากผู้ใช้งานจริง นั่นคือ การถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของคนที่ได้นำเครื่องมือนั้นไปใช้แล้วเป็นอย่างไร
แต่ก่อนนำไปใช้ ในช่วงที่เราเลือกเครื่องมือก็สำคัญ
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเครื่องมือที่กำลังจะนำไปใช้นี้ตอบโจทย์เราได้จริง
เราก็คงต้องมาดูอัตถประโยชน์ของเครื่องมือนี้กันก่อน
บทสรุปนี้มาจากการเรียนรู้ของผู้เขียนในหลักสูตร "การโค้ช" (Coaching) ที่อบรมโดยอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ และการถอดบทเรียนจากโครงการที่นำ “การโค้ช” ไปใช้ในการทำงานชุมชน ทำให้เห็นถึงประโยชน์ของการโค้ชต่อการทำงานชุมชนใน 5 เรื่อง ต่อไปนี้
1. จุดประกายความฝันและหล่อเลี้ยงแรงบันดาลใจ
บางครั้งคนทำงานในหน่วยงานต่างๆ ถึงแม้จะมีหน้าที่โดยตรงในการทำงานนั้นๆ และมีใจอยากจะทำงานเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ แต่ก็ยังไม่มีแรงบันดาลใจที่มากพอ
ยิ่งถ้ามีสิ่งมาบั่นทอนแรงใจในการทำงาน ยิ่งทำงานปัญหาก็ยิ่งมากขึ้น ไม่ได้ลดลงเลย หนำซ้ำยังมีปัญหาใหม่ๆ เข้ามาอีก แรงใจที่เคยมีก็ลดน้อยถอยลง บางคนอาจจะหมดไฟ
การมีโค้ชจะช่วยทำให้ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกเหมือนมีเพื่อน ที่จะช่วยจุดแรงบันดาลใจให้ทุกคนอยากลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาในชุมชนให้สำเร็จ เปลี่ยนมุมมองให้เป็นเรื่องท้าทาย
โค้ชจะมีกระบวนการที่ช่วยให้ทีมชุมชนได้สนทนากันเรื่องเป้าหมาย
ทั้งที่เป็นเป้าหมายส่วนตัว และเป้าหมายส่วนรวมที่เป็นเป้าหมายร่วม
มีกระบวนการในการวางเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว
ทำให้ชุมชนอยากเรียนรู้มากขึ้น พัฒนาตนเองให้มีความสามารถเพิ่มขึ้น
อยากลงมือปฏิบัติการพิชิตเป้าหมาย
และทุกคนมีความหวัง มีความฝันที่จะไปให้ถึง
2. ร่วมเดินสู่เป้าหมาย รักษาไม่ให้หลงทิศผิดทาง
หลายคนมีแรงบันดาลใจ มีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน แต่มีความไม่แน่ใจในแนวทางที่จะไปสู่เป้าหมาย
นอกจากโค้ชจะช่วยรักษาพลังใจ ในการทำงานและทำเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้นแล้ว
โค้ชจะช่วยตั้งคำถามให้ทุกคนในทีมได้ช่วยกันวางแนวทางที่จะไปสู่เป้าหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ทำให้ทีมมีเป้าหมายและอยากจะบรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน
โค้ชจะช่วยให้ทีมมองเห็นหนทางและความสามารถของทีม แล้วลงมือทำร่วมกันจนบรรลุผลเป้าหมายระยะสั้น และมุ่งมั่นพิชิตเป้าหมายต่อไปๆ จนสำเร็จเป้าหมายระยะยาวที่วาดหวังไว้
3. หลอมความแตกต่าง ลดช่องว่างคนทำงาน
การมีโค้ชเปรียบเสมือนการมีเพื่อนที่พร้อมจะฟังและสะท้อนความคิดให้กับคนทำงาน
โค้ชมีเจตนารมณ์ที่ดี ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน คนที่เป็นโค้ชจะมีจรรยาบรรณของโค้ชที่ต้องยึดถือ ทำให้โค้ชชี่ไว้ใจได้ว่าโค้ชเป็นผู้ที่ช่วยเหลือด้วยความจริงใจ
โค้ชมีทักษะการตั้งคำถามที่จะช่วยให้ทุกคนในทีมได้ช่วยกันคิดให้ชัดเจนขึ้น และตัดสินใจลงมือทำได้ดีขึ้น
การโค้ชจึงช่วยลดช่องว่างระหว่างคนทำงาน โดยเฉพาะคนทำงานในชุมชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งหน้าที่การงาน วัฒนธรรมองค์กร ความคิด ความเชื่อ และค่านิยม
กระบวนการโค้ชเน้นใช้ทักษะการตั้งคำถามเพื่อให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ โดยไม่มีการตัดสินกัน ทุกคนจะรับฟังกัน ทำความเข้าใจผู้อื่น และนำไปสู่ความเข้าใจกัน
4. เกิดการร่วมมือกันทำงานเป็นทีม
เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ต้องมีโค้ช
หลายคนอาจจะเคยประสบปัญหาว่าแม้แต่คนในหน่วยงานเดียวกัน ทำงานในฝ่ายงานเดียวกันยังทำงานร่วมกันเป็นทีมไม่ได้
หลายหน่วยงานแต่ละคนต่างก็ทำงานตามหน้าที่ที่ตัวเองรับผิดชอบ คิดแค่ว่าตนเองทำหน้าที่ให้ดีที่สุดก็จะช่วยให้ส่วนรวมดี
ในโลกแห่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
การทำงานโดยให้ชุมชนเป็นตัวตั้ง และมีแนวคิดว่าชุมชนมีพลังในการร่วมกันแก้ปัญหาของตัวเอง โค้ชมีส่วนอย่างมากในการสร้างทีม ทำให้ชุมชนเกิดการทำงานเป็นทีม และพัฒนาความสามารถของทีมให้ทำงานแก้ปัญหาในชุมชนได้
ยิ่งคนในทีมมีที่มาที่แตกต่าง หลากหลายแนวคิด โค้ชจะเป็นคนที่ช่วยเชื่อมโยงให้ทุกคนปรับแนวคิดและแนวทางในการทำงานเข้าหากัน มองเห็นสิ่งที่ตนอยากทำให้สำเร็จเป็นเป้าหมาย และลงมือลงแรงทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น
หน้าที่ของโค้ชจะช่วยให้คนที่แตกต่างหลากหลายเหล่านี้ร่วมมือกันเป็นทีมได้ มองเห็นเป้าหมายร่วมกัน แบ่งบทบาทหน้าที่กัน ก้าวข้ามขีดจำกัดที่ตนเคยมี ออกจากกรอบความคิดเดิมได้ และทำอะไรต่างๆ ได้มากกว่าที่เคยทำ
5. ค้นพบศักยภาพภายในตนและของทีม นำไปสู่แนวทางสร้างสรรค์ใหม่ๆ
การทำงานอยู่กับเรื่องราวเดิมๆ หน้าที่เดิมๆ ทำให้บางคนมองไม่เห็นถึงศักยภาพที่เป็นจุดแข็งของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ไม่เห็นจุดอ่อนของตนเอง
เพราะการอยู่กับการทำงานเดิมๆ จะไม่สามารถทำให้สิ่งใหม่ปรากฎขึ้นมาได้
อีกทั้งการทำงานในแบบเดิมๆ ก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายใหม่ๆ ได้
การมีโค้ชจะช่วยแต่ละคนค้นพบศักยภาพของตนเองที่ซ่อนอยู่หรือเคยมองข้าม ให้ได้นำศักยภาพนั้นมาใช้
โค้ชจะช่วยดึงศักยภาพของคนทำงานในชุมชน ให้กล้าออกจากพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone) ตั้งใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมกับทีม
และทำให้อยากเรียนรู้เพิ่มศักยภาพเพื่อให้สามารถทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน
มีการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ตั้งใจพัฒนาตนเองเพื่อให้ทีมทำงานตามเป้าหมายได้สำเร็จ
ร่วมมือร่วมใจกับคนในทีม เพื่อให้สามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้
ขอบคุณภาพประกอบจาก Nok S และ กุลธวัช เจริญผล
บันทึก
4
3
4
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย